วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความผิดที่ไม่ได้ก่อ : การทำประมงผิดกฎหมาย

           
                 
                อาชีพพื้นบ้านของคนไทยนอกเหนือจากชาวไร่ชาวนาแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำอาชีพประมงก็เป็นหนึ่งในอาชีพพื้นบ้านที่คนไทยประกอบอาชีพกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เมื่อมีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น การทำประมงก็สามารถทำรายได้เป็นกอปเป็นกำจากการจับปลาที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแรงงานประมงก็ยิ่งเป็นที่ต้องการทำให้มีการล่อลวงคนลงเรืออยู่บ่อยครั้ง มีทั้งคนที่รู้และผู้ที่ถูกหลอกลวงให้ลงเรือเพื่อทำประมงผิดกฏหมาย เพราะรายได้ดีนายหน้ารับปากจะส่งเงินให้ครอบครัว ลงเรือไม่กี่ปีก็สามารถซื้อบ้านซื้อรถให้อยู่สุขสบาย กรณีที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้ต้องหวนคิดใหม่สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจลงเรือ
                เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ได้เข้าพบกับรองอัยการ ประจำ จ. เกียนยาง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีเรือไทยกระทำความผิดฐานลักลอบค้าน้ำมันกลางทะเล ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเวียดนามเพื่อหารือผลการพิจารณาคดีพร้อมยื่นหนังสือขอให้พิจารณาคดีลูกเรือทั้ง 8 คน ด้วยความเห็นใจและขอจ่ายค่าปรับเพื่อปล่อยตัวลูกเรือ ทางฝ่ายอัยการได้ให้ข้อมูลว่า ได้สรุปสำนวนเสร็จแล้ว ซึ่งในความผิดนี้ลูกเรืออาจได้รับโทษทั้งจำและปรับ โดยโทษขั้นต่ำตั้งแต่ 12 ปีถึงตลอดชีวิต อัยการได้แจ้งว่า ลูกเรือทั้งหมดได้ยอมรับสารภาพต่อตำรวจสืบสวน จ. เกียงยางว่าได้กระทำการมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ ประกอบกับ ลูกเรือที่กระทำผิดข้างต้นเป็นคนต่างชาติไม่ทราบกฎหมายเวียดนาม สนง. อัยการ จ. เกียงยาง จะนำเสนอต่อศาลเพื่อขอให้ลูกเรือได้รับการพิจารณาโทษสถานเบา สำหรับทรัพย์สินที่ยึดได้มาพร้อมเรือ ทางการ จ. เกียงยาง ได้ขายน้ำมันเถื่อนของกลางในเรือเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาทไทย ยังไม่นับรวมตัวเรือที่ยึดไว้และยังไม่ได้ประเมินราคา มาตราการตอบโต้การกระทำผิดกฎหมายทางทะเลของชาติอื่นเช่น ทางการอินโดนีเซียที่จมเรือประมงไทยทิ้งกว่า 10 ลำกลางทะเล ทางการเวียดนามได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของเรือมาติดต่อเพื่อนำเรือคืน จึงได้แจ้งไปว่าอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนจำเป็นต้องยึดไว้เป็นของกลาง หากพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็อาจจะให้คืนเรือ โดยชำระค่าปรับ สถานกงสุลใหญ่ฯ ยืนยันเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือลูกเรือกลุ่มนี้โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และจะประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
                ข้อสังเกตจากสถานกงสุลใหญ่ฯ
1.     เรื่องนี้เป็นการกระทำผิดกฎหมายของบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่ส่งผลกระทบเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศและชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง ลูกเรือที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะฐานะยากจนจึงมาประกอบอาชีพเสี่ยงภัยและบางรายเสียชีวิตเพราะสภาพความเป็นอยู่ในคุก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ
2.     พฤติการณ์ของนายหน้ามักจะหลอกหลวงว่าจะพาไปลงเรือประมงลากอวนหาปลา จากปากคำของลูกเรือผู้ตกทุกข์เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือว่าเป็นเรือน้ำมันขนาดใหญ่ มีเรือแม่อยู่ประเทศสิงคโปร์ โดยจะค้าน้ำมันในแถบประเทศเพื่อนบ้าน
3.     ลูกเรือทั้งหมดแจ้งว่าได้รับการชักชวนให้ไปทำงานบนเรือ โดยลงเรือเล็กจากแพปลาข้างเทศบาลสงขลา ออกทะเลไปประมาณ 2 วัน จึงไปขึ้นเรือใหญ่กลางทะเล พบว่ามีการเปลี่ยนลูกเรือชุดเดิมกลางทะเล มีเพียงบางคนทราบว่าจะไปทำงานบนเรือค้าน้ำมัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าเรือดังกล่าวเป็นเรืออะไร และไม่ทราบผู้ว่าจ้างที่แท้จริง รวมทั้งเอกสารประจำเรือไม่มีเอกสารตัวจริง จึงอาจตั้งเป็นหนึ่งในข้อสังเกตสำหรับผู้ที่ประสงค์จะลงเรือประมงทำงานได้ว่า หากเรือลำใดไม่มีเอกสารตัวจริงประจำเรือให้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่าท่านอาจกำลังถูกหลอกลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์                                                      4.      ลูกเรือเกือบทุกคนมีประสบการณ์ทำงานบนเรือ ก่อนหน้าที่จะลงเรือครั้งนี้ ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป หรือว่างงาน เมื่อมีผู้ชวนไปทำงานบนเรือจึงตกลงรับงาน  
(ขอบคุณภาพจาก http://www.theguardian.com/)



สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
http://www.thaiembassy.org/hochiminh

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular


การขอวีซ่าทำงาน (Work Visa) ประเทศติมอร์-เลสเต

             ด้วยกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี ประเทศติมอร์-เลสเต เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ว่า ปัจจุบัน คนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศติมอร์-เลสเตสามารถทำ Visa on Arrival ที่สนามบินกรุงดิลี ประเทศติมอร์-เลสเต โดยมีค่าธรรมเนียมประมาณ 30   ดอลล่าร์สหรัฐ และสามารถขอต่ออายุได้อีก 30-60 วัน โดยพำนักอยู่ได้คราวละไม่เกิน 90 วัน อย่างไรก็ดี ขณะนี้คนไทยที่ต้องการเดินทางมาทำงานที่ประเทศติมอร์-เลสเต หลังจากทำ Visa on Arrival แล้ว ต้องรีบดำเนินการเพื่อขอ Work Visa ภายใน 90 วัน โดยต้องเตรียมเอกสารสำคัญจากไทยมายื่นประกอบ ดังนี้ 1. ใบรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2. ใบรับรองแพทย์ 3. หนังสือจากบริษัทที่ว่าจ้างจากประเทศติมอร์  -เลสเต ซึ่งได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือของประเทศติมอร์-เรสเต หลังจากนั้น กรมตรวจคนเข้าเมืองจะดำเนินการตรวจ     ลงตราให้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เข้มงวดมากขึ้นในปี 2559

ดังนั้น เพื่อความสะดวกรวดเร็ว หากผู้ยื่นเอกสารเตรียมเอกสารขอตรวจลงตรามาจากประเทศไทยให้เรียบร้อยเสียก่อน ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องความล่าช้าได้ดียิ่งขึ้น 


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี
http://www.thaiembassy.org/dili/th/home

กองคุ้มครอง
และดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular

ไปเมืองนอก “ประกันการเดินทาง” จำเป็นจริงหรือ ?

ปัจจุบัน คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวหรือพักผ่อนระยะสั้น ๆ ในต่างประเทศเป็นจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเริ่มวางแผนการเดินทางก็  คือ ซื้อประกันการเดินทางดีหรือไม่  


หลายคนถามญาติ หลายคนถามผู้ที่เคยมีประสบการณ์การเดินทางไปต่างประเทศมาก่อนว่า ประกันการเดินทางมีความสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ ซึ่งคำตอบก็มักหลากหลายกันไป คนที่ดวงเฮง บินสิบครั้งไม่เคยเจอเหตุการณ์แปลก ๆ เลยก็มีไม่น้อย แต่หากเป็นผู้ที่เคยตกทุกข์มาก่อนซึ่งจำนวนตัวเลขพุ่งสูงขึ้นทุกปีนั้น ย่อมต้องให้เลือกทำประกันไว้ก่อน เข้าตำรากันไว้ดีกว่าแก้แน่ ๆ มิเช่นนั้นอาจเจอกับเรื่องไม่คาดฝันสองเด้งในคราวเดียวแบบกรณีที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เป็นได้

ด้วยเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ประจำประเทศญี่ปุ่น ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ Hotline ศูนย์ดำรงธรรมฯ ว่า คุณป้าและสามีซึ่งเป็นคนไทยทั้งคู่ ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดโตเกียว ในระหว่างการท่องเที่ยว จู่ๆ สามีของคุณป้ามีอาการเหนื่อยมาก หายใจไม่ออก จึงนำส่งโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องทำการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตโดยด่วนที่สุด คุณป้าจึงเซ็นต์อนุญาตให้ทำการผ่าตัด ขณะนี้ การผ่าตัดผ่านพ้นไปด้วยดี แต่อย่างที่เกริ่นไปตอนแรก เรื่องไม่คาดฝันเรื่องที่สองก็ตามมาจี้หลังคุณป้าแบบติดๆ นั่นคือเรื่อง ใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการรักษาจากโรงพยาบาล ซึ่งมียอดรวมราว 2,400,000 เยน ซึ่งคุณป้าแจ้งว่าตนมีเงินไม่พอที่จะจ่ายเต็มจำนวน ซึ่งทางโรงพยาบาลยืนยันให้ชำระในครั้งเดียว เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืนเต็มจำนวน สถานกงสุลใหญ่ฯ ใช้เวลาในการเจรจาต่อรองเป็นเวลาถึงครึ่งวัน ทางโรงพยาบาลจึงยอมรับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบผ่อนส่งเป็นสองงวด โดยขอให้ผู้ป่วยโอนเงินให้หลังจากเดินทางกลับประเทศไทย ภายใน 2 เดือน

จะเห็นว่า จากทริปท่องเที่ยวพักผ่อนสั้นๆ กลับกลายเป็นบทเรียนความทรงจำฝังใจไปเสียแล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับคนไทยในลักษณะเดียวกับกรณีนี้ ขอแนะนำให้นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศจัดทำประกันการเดินทางให้ครอบคลุมอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย เพื่อลดภาระทางการเงินในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย อีกทั้งบางกรมธรรม์ยังคุ้มครองผู้ทำประกันกรณีเกิดความเสียหาย หรือสูญเสียสัมภาระในการเดินทาง ความล้าช้าในการเดินทาง กระเป๋าเดินทางมาถึงช้า เงินและเอกสารสูญหาย เป็นต้น ซึ่งเบี้ยประกันก็ไม่แพงเลย อีกทั้งมีความหลากหลายเพื่อให้ตรงกับลักษณะการเดินทางและงบประมาณของเราด้วย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา
http://www.thaiconsulate.jp/th

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular