วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สุรา พาวิบัติ..แีรงงานไทยในอิสราเอลตีกันปางตาย




 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล รายงานว่า ศาลตัดสินจำคุกและปรับคนงานไทยในข้อหาทำร้ายร่างกายเพื่อนคนงานไทยด้วยกันถึง 3 คน โดย 1 คน มีอาการสาหัสมาก


คนงานที่ก่อเหตุทำงานอยู่ในฟาร์มเกษตรแห่งหนึ่งในเมืองเมตูลา ประเทศอิสราเอล โดยในวันที่เกิดเหตุมีการชำแหละเนื้อวัวแจกจ่ายกันในหมู่คนงานไทย และมีคนงานไทยหลายคนดื่มสุราจนมึนเมา หนึ่งในนั้นคือนายหนึ่ง (นามสมมติ) คนงานผู้ก่อเหตุ พอมีอาการเมาสุราจนได้ที่ก็ไปว่ากล่าวหาเรื่องกับนายสอง (นามสมมติ) คนงานอีกคนหนึ่ง นายสองเห็นว่านายหนึ่งเมาสุราไม่ต้องการทะเลาะด้วยและได้เสนอให้นายหนึ่งชกหน้าตนเพื่อจะได้หายโกรธและจะได้เลิกรากันไป นายหนึ่งจึงชกหน้านายสองจนนายสองฟันหัก


หลังจากนั้น เพื่อนคนงานคนอื่นๆ เห็นว่ามีการชกต่อยกันจึงพยายามเข้ามาห้ามปราม โดยนายสาม (นามสมมติ) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้มีหน้าที่ดูแลและเป็นหัวหน้าคนงานได้เข้ามาไกล่เกลี่ยและขออย่าให้ทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กน้อย ต่อจากนั้นคนงานทุกคนต่างก็แยกย้ายกันไปนอนพักผ่อน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงผ่านไป นายหนึ่งผู้ก่อเหตุยังไม่หายเมาและไม่ยอมเลิกรา บุกเข้าไปยังห้องพักของนายสามลากนายสามออกมาจากที่นอนและใช้มีดสปาร์ตาที่ใช้ทำสวนอินทผลัมฟันนายสามหลายครั้งจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและสลบไป โดยมีบาดแผลถูกฟันที่ศีรษะ ใบหน้าถูกดวงตาซ้ายแตกและไม่สามารถมองเห็นได้ มีดยังฟันถูกนิ้วมือขวาขาดอีก 2 นิ้ว นายสามถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยทางเฮลิคอปเตอร์ และแม้ว่าแพทย์จะเย็บนิ้วคืนให้ได้แต่นายสามก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวนิ้วทั้งสองได้ รวมทั้งยังสูญเสียดวงตาข้างซ้ายด้วย


และที่ต้องประสบเคราะห์ร้ายไปด้วยคือนายสี่ (นามสมมติ) ที่พักอยู่ห้องเดียวกับนายสาม โดยก่อนนายหนึ่งจะลากนายสามออกมาจากห้องได้ใช้มีดฟันที่ขาของนายสี่จนได้รับบาดเจ็บมาก แม้จะรักษาจนทุเลาดีแล้วแต่นายสี่ก็ยังเดินได้ไม่สะดวกเหมือนเดิม


นายหนึ่งถูกนำตัวขึ้นศาลซึ่งศาลเห็นว่านายหนึ่งกระทำความผิดฉกรรจ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนายสามที่ถูกทำร้ายถึงสลบและต้องนำตัวไปรักษาโดยเฮลิคอปเตอร์ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีนายสามอาจถึงตายได้ ศาลอิสราเอลจึงลงโทษนายหนึ่งอย่างหนักเป็น 3 กระทงความผิด ดังนี้
 1. กรณีทำร้ายร่างกายนายสาม ถูกลงโทษจำคุก 13 ปี 
    และให้จ่ายค่าเสียหายให้นายสามเป็นเงิน 100,000 เชคเกล (ประมาณ 800,000     
    บาท)
 2. กรณีทำร้ายร่างกายนายสี่ ถูกลงโทษจำคุก 2 ปี และให้จ่ายค่าเสียหายให้นายสี่   
    50,000 เชคเกล (ประมาณ 400,000 บาท)
 3. กรณีทำร้ายร่างกายนายสอง ถูกลงโทษจำคุก 6 เดือน


นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหาแรงงานไทยที่ดูเหมือนจะแก้ยังไงก็ไม่หาย เป็นข้อเสียที่ทำให้ภาพลักษณ์ของคนไทยเสียหายเป็นอย่างมาก แรงงานไทยมีชื่อเสียงที่ดีในเรื่องของความขยันและทักษะในการทำงาน เชื่อฟังนายจ้างไม่เรียกร้องงองแงเหมือนคนงานบางสัญชาติ แต่ข้อเสียใหญ่ๆ มี 2 อย่างคือ ชอบเล่นการพนัน และชอบดื่มเหล้า เมาสุราอาละวาด พอขาดสติก็ทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ก่อความเดือดร้อนรำคาญไปจนถึงก่อคดีอุกฉกรรจ์ด้วยความขาดสติไม่คำนึงว่าการกระทำของตนจะทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อนแสนสาหัสขนาดไหน ตัวเองก็ต้องติดคุก ในบางประเทศลงโทษหนักถึงประหารชีวิต ผู้ที่ตัวเองไปทำร้ายก็ต้องจบชีวิตหรือพิการจนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ลำบากไปถึงครอบครัวอีกด้วย ทั้งครอบครัวผู้ก่อเหตุและผู้เสียหาย อย่างกรณีนายหนึ่งเองก็มีมารดาชราที่ต้องเลี้ยงดู 


จึงขอฝากเตือนคนไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศให้ปฏิบัติตนให้ดี อยู่ห่างจากอบายมุขทั้งปวงโดยเฉพาะการดื่มสุราเพราะจะทำให้ขาดสติซึ่งจะเป็นต้นเหตุของการก่อปัญหาอื่นตามมา โปรดคำนึงอยู่เสมอว่า ทุกคนที่ไปทำงานก็เพื่อหาเงินมาสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเองและครอบครัว การกระทำที่ขาดสตินอกจากจะเป็นการทำลายอนาคตตัวเองแล้วยังทำลายอนาคตผู้อื่นด้วย 


ด้วยความปรารถนาดีจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ
                                 : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ  
                                   กรมการกงสุล  กระทรวงการต่างประเทศ
                                          

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มาเลเซีย เข้ม ต่อเนื่อง จับจริง ปรับจริง เข้าเมืองผิดกฎหมาย





จากการที่ประเทศมาเลเซียกำลังดำเนินนโยบายปราบปรามการเข้าเมืองและการทำงานโดยผิดกฎหมายของคนต่างด้าว ซึ่งมีรายงานข่าวการจับกุมคนต่างด้าวอย่างต่อเนื่องและมีคนไทยถูกจับกุมดำเนินคดีรวมจำนวนนับร้อยราย นั้น


เรื่องนี้ สถานทูต สถานกงสุลไทย ในประเทศมาเลเซีย ยังคงได้รับแจ้งทั้งจากทางการมาเลเซียและคนไทยที่ถูกจับกุมเพื่อขอรับการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งล่าสุด สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ต้องทำงานอย่างหนักในการติดต่อกับสถานีตำรวจท้องถิ่นถึง 10 แห่ง รวมทั้งสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในรัฐกลันตันเพื่อตรวจสอบว่ามีคนไทยถูกจับกุมดำเนินคดีอยู่หรือไม่ สาเหตุที่ทำให้สถานทูต สถานกงสุลไทยในมาเลเซียต้องประสบความยากลำบากในการให้ความช่วยเหลือคนไทยเนื่องมาจากการที่คนไทยที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อจริง นามสกุลจริง ไม่ต้องการให้ทางการไทยเข้ามายุ่งเกี่ยว ทำให้การประสานกับหน่วยงานของมาเลเซียเกิดข้อยุ่งยากเนื่องจากการติดต่อกับทางการมาเลเซียจะต้องอ้างอิงชื่อ-นามสกุล จริงเท่านั้น ทางการมาเลเซียจึงจะยินยอมให้เข้าเยี่ยมหรือประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือต่างๆ ได้ 


สถานกงสุลใหญ่ฯ รายงานด้วยว่า นับแต่ปลายปีที่แล้ว (2554) จนถึงขณะนี้ คาดว่ามีคนไทยที่ถูกจับกุมในรัฐกลันตันด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายกว่า 20 คดี ส่วนใหญ่เป็นคนไทยจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เดินทางเข้ามาเลเซียโดยไม่มีเอกสารเดินทางซึ่งหากทางการมาเลเซียจับได้จะส่งตัวขึ้นศาลและถูกปรับในอัตราสูงถึง 50,000 -100,000 บาท ต่อคน และหากไม่มีเงินชำระค่าปรับ ผู้ต้องหาจะถูกจำคุกอย่างต่ำ 3-6 เดือน ที่ผ่านมา สถานกงสุลฯ ช่วยได้เพียงเจรจาขอลดหย่อนโทษและค่าปรับลงได้เล็กน้อยเท่านั้น


สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอฝากเตือนคนไทยโดยเฉพาะพี่น้องคนไทยจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้ระมัดระวังอย่าเดินทางเข้าหรือทำงานในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย เพราะช่วงนี้ มาเลเซียเอาจริง จับจริง ปรับจริง 


ที่มา :  สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู
        : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บาห์เรนอภัยโทษนักโทษหญิงไทยรวดเดียว 9 คน




สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานานมา ประเทศบาห์เรน รายงานว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ  11 ปี ของการเปลี่ยนจากรัฐบาห์เรน (State of Bahrain) เป็นราชอาณาจักรบาห์เรน (Kingdom of Bahrain) รัฐบาลบาห์เรนได้อภัยโทษปล่อยตัวนักโทษทั้งชาวบาห์เรนและชาวต่างชาติ จำนวน 291 คน โดยในจำนวนดังกล่าวนี้มีนักโทษหญิงไทยได้รับอภัยโทษด้วย รวม 9 คน โดยทางการบาห์เรนและสถานทูตจะทยอยให้ความช่วยเหลือส่งตัวหญิงไทยทั้ง 9 คน ให้เดินทางกลับประเทสไทยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนมีนาคม ศกนี้ เป็นต้นไป

การอภัยโทษดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ มีผู้ต้องขังที่เป็นคนไทยที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอีก 5- 6 คน และมีนักโทษชายไทยเพียงคนเดียวที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต (ซึ่งยังไม่มีกำหนดพ้นโทษ)

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สถานกงสุลไทยในเซี่ยงไฮ้ช่วยหมอนวดไทยกลับบ้าน



เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่งไฮ้ ได้ช่วยเหลือหญิงไทย 3 ราย ให้เดินทางกลับประเทศไทย โดยหญิงไทยทั้งสามคนเดินทางไปทำงานนวดสปาที่ีเซี่ยงไฮ้ตามคำแนะนำของเพื่อนซึ่งอ้างว่าเป็นการทำงานที่มีสัญญา 3 เดือน เงินเดือนๆ ละ 30,000 บาท มีอาหารครบ 3 มื้อ มีที่พัก น้ำ-ไฟฟ้า ใช้ฟรี

แต่เมื่อเดินทางถึงเซี่ยงไฮ้ (โดยวีซ่าท่องเที่ยว) ไม่เป็นไปตามที่พูด เงินเดือนที่ได้รับเพียงหมื่นกว่าบาท และยังถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ เวลาทำงานมากกว่าพนักงานชาวจีน 4 ชั่วโมง ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วยตนเอง จึงทำให้เกิดความท้อแท้อยากกลับประเทศไทย จึงขอให้สถานกงสุลช่วยเหลือส่งตัวกลับประเทศไทย

ธุรกิจสปาในประเทศจีนกำลังได้รับความนิยม คนไทยที่สนใจจะเดินทางไปทำงานต้องตรวจสอบนายจ้างให้ดีก่อน สัญญาต้องชัดเจน มีทั้งภาษาจีนและอังกฤษ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานของไทยด้วย คือต้องให้สถานทูต สถานกงสุลของไทย ประทับตรารับรองในสัญญาจ้างก่อนที่จะเดินทางไปทำงาน

ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
       : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
         กรมการกงสุล
         กระทรวงการต่างประเทศ

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไทย-อินเดีย เร่งอำนวยความสะดวกวีซ่าเข้าเมือง




จากการที่ไทยและอินเดียมีความผูกพันทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน วัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยว  ในแต่ละปีมีคนไทย-อินเดีย เดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างสองประเทศเป็นจำนวนมาก สถานทูตและสถานกงสุลของไทยในประเทศอินเดียต่างก็ต้องตรวจรับคำร้องขอรับการตรวจลงตรา (ขอวีซ่า) จากชาวอินเดียที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยในแต่ละวันนับเป็นพันๆ คน ซึ่งบางช่วงเวลาอาจเกิดความล่าช้าเพราะการอนุญาตให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย (ให้วีซ่า) จะต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดในทุกกรณี

จากปัญหาผู้ร้องที่มีเป็นจำนวนมากนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน จึงได้ทำความตกลงมอบหมายให้บริษัท VFS ประเทศอินเดีย เป็นผู้มีอำนาจในการตรวจรับคำร้องขอรับการตรวจลงตราจากชาวอินเดียที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยทางบริษัทจะมีศูนย์รับคำร้องอยู่ในเมืองต่างๆ กระจายอยู่ 4 แห่งในภูมิภาคตอนใต้ของอินเดีย อำนวยความสะดวกแก่ชาวอินเดียทำให้ไม่ต้องเดินทางมายื่นคำร้องด้วยตัวเองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ บริษัทจะรับคำร้องและคัดกรองเอกสารหลักฐานต่างๆ ในชั้นหนึ่ง จากนั้นจะส่งเอกสารคำร้องมายังสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อให้พิจารณาออกวีซ่าให้ต่อไป ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชาวอินเดียดังกล่าวแล้ว ยังช่วยลดภาระแก่สถานกงสุลใหญ่ฯ ในการตรวจสอบเอกสารเพื่อออกวีซ่าด้วย

บริษัท VFS นี้ ยังเป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยเช่นเดียวกันในการรับคำร้องขอรับการตรวจลงตราให้แก่ชาวไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปประเทศอินเดีย ดังนั้น ชาวไทยท่านใดที่ประสงค์จะขอวีซ่าเข้าประเทศอินเดีย โดยเฉพาะนักธุรกิจหรือคนไทยที่จะเข้าไปทำงานให้กับบริษัทไทยในอินเดียที่จำเป็นต้องขอวีซ่าประเภท Employment Visa อาจติดต่อกับสำนักงานของบริษัท VFS ที่กรุงเทพฯ โดยตรงเพื่อจะได้ช่วยบรรเทาปัญหาข้อยุ่งยากในเรื่องเอกสารที่จำเป็นที่ต้องใช้ยื่นประกอบคำขอวีซ่าเข้าอินเดีย ที่อยู่ของสำนักงานบริษัท VFS ในประเทศไทย คือ


                            Indian Visa Application Center
                            1 Glas Haus Building, 15th floor
                            Unit 1503, สุขุมวิท 25,
                            เขตวัฒนา, กทม. 10110
                            ผู้รับผิดชอบ คือ 
                            Ms. Charmi Rijhwani
                            Manager - Operations


ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
                                                       

คนไทย 4 คน ถูกจับกุมที่ตุรกีในข้อหายาเสพติด







เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี ได้รับรายงานว่ามีคนไทย 4 คน ถูกจับกุมตัวที่ท่าอากาศยานนานาชาติอตาเติร์ก นครอิสตันบูล 


โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 มีหญิงไทย 3 คน เดินทางโดยสายการบินตุรกีแอร์ไลน์จากเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล เพื่อต่อเครื่องบินไปยังประเทศเวียดนาม เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานอตาเติร์ก ขณะรอต่อเที่ยวบินอยู่ในบริเวณห้องพักผู้โดยสาร ตำรวจตุรกีได้ขอตรวจค้นและพบว่ามีโคเคนซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าของบุคคลทั้งสาม คนละ 3 กิโลกรัม จึงควบคุมตัวไว้ในข้อหามียาเสพติดประเภทโคเคนไว้ในครอบครอง และส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำนครอิสตันบูลเพื่อดำเนินคดีต่อไป หญิงไทยที่ถูกจับกุมให้การในเบื้องต้นว่า เดินทางไปประเทศบราซิล 11 วัน ในวันที่จะเดินทางกลับมีเพื่อนมาฝากกระเป๋าคนละ 1 ใบ เพื่อนำไปให้พี่ชายของเพื่อนที่ประเทศเวียดนาม แต่มาถูกจับกุมที่นครอิสตันบูลเสียก่อน รายงานแจ้งด้วยว่า มีผู้ต้องหาหญิงไทยในกลุ่มนี้คนหนึ่งตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนแล้ว 


จากนั้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ได้มีชายไทยอีก 1 ราย เดินทางมาจากเมืองเซาเปาโลเพื่อต่อเครื่องบินที่นครอิสตันบูลเช่นเดียวกันกับกรณีหญิงไทย 3 คน แรก ตำรวจได้เข้าตรวจค้นและพบโคเคน 3 กิโลกรัมในกระเป๋าเิดินทาง จึงควบคุมตัวและส่งไปอยู่ในการควบคุมดูแลของตำรวจปราบปรามยาเสพติดเพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป


สถานทูตคาดว่า คนไทยที่ถูกจับกุมทั้ง 4 ราย เป็นผู้ที่ได้รับการว่าจ้างโดยขบวนการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศให้ขนยาเสพติดประเภทโคเคนจากประเทศในอเมริกาใต้ ผ่านตุรกี ไปประเทศเวียดนาม


จะเห็นได้ว่า ยังมีข่าวคนไทยถูกจับกุมในข้อหายาเสพติดในต่างประเทศอยู่เป็นระยะๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จึงขอเตือนคนไทยว่าอย่ารับฝากกระเป๋าหรือสิ่งของใดๆ จากผู้อื่น แม้ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนหรือคนรู้จัก เพราะสิ่งของนั้นอาจเป็นของผิดกฎหมายหรือมีของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ 


ด้วยความปราถนาดี จาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา
                                        : กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ 



วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มาเลเซียประกาศกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย

จากที่ได้เสนอข่าวเกี่ยวกับคนไทยถูกจับกุมข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซียมาเป็นระยะๆ นั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้มีรายงานเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ ทางการมาเลเซียระดมหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรม การพนัน และขบวนการนอกกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งกวาดล้างคนต่างด้าวที่พำนักอยู่ในประเทศมาเลเซียอย่างผิดกฎหมายและใช้วีซ่าผิดวัตถุประสงค์ด้วย 


โดยเมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2555 ตำรวจกองปราบปรามมาเลเซียได้บุกเข้าตรวจค้นสถานบันเทิง ร้านอาหารที่มีหญิงขายบริการแอบแฝงย่าน Bukit Bintang Pudu และ Serdang จับกุมหญิงต่างชาตได้เกือบ 150 คน เป็นหญิงไทย 39 คน ที่ทำงานในสถานบันเทิง โคโยตี้ นั่งชั่วโมงเชียร์ดื่ม รวมทั้งเข้าสถานบันเทิงโดยไม่มีสามี ส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหาค้าประเวณี ทำงานดดยไม่ได้รับอนุญาต บางคนมีวีซ่านักเรียนในมาเลเซียแต่ไปทำงาน หรือบางคนมีวีซ่าทำงานแต่ทำงานไม่ตรงตามสถานที่ ๆ ระบุไว้



มาเลเซียได้ประกาศจะดำเนินการกวาดล้างทุกวันอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของเมืองหลวงคือกรุงกัวลาลัมเปอร์ และจะขยายแผนปฏิบัติการดังกล่าวในเมืองอื่นๆ ต่อไป 

สถานทูตไทยจึงขอฝากเตือนคนไทย โดยเฉพาะหญิงไทยอย่าได้เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียเพื่อจะไปทำงานผิดกฎหมาย หรือเข้าไปเที่ยวตามสถานบันเทิงโดยไม่มีสามี หากมีวัตถุประสงค์เดินทางเข้ามาเลเซียเพื่อการท่องเที่ยวจริง ขอให้พักในโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว การเช่าบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่มอาจถูกตั้งข้อสงสัยว่าค้าประเวณีแบบบริการส่งถึงบ้าน (Delivery Prostitute )การทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตหรือค้าประเวณีมีโทษทั้งจำและปรับ อย่างน้อยจะต้องถูกควบคุมตัวเพื่อรอการสอบสวน 1-4 สัปดาห์ก่อนจะนำตัวส่งฟ้องศาล

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บัวแก้วปรับแผนรับมือสถานการณ์ตึงเครียดในซีเรีย ..



สถานการณ์ความรุนแรงในซีเรียยังไม่มีทีท่าจะยุติหรือลดความรุนแรงลง ตรงกันข้ามกลับยิ่งเลวร้าย รุนแรง และตึงเครียดมากขึ้น โดยฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดี Bashar-al-Assad ยังคงปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้านอย่างหนักตามที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้

ความขัดแย้งที่รุนแรงนี้ เริ่มขยายตัวไปยังประเทศใกล้เคียงคือที่เลบานอน อิรัก จอร์แดน และตุรกี ด้วย โดยที่เลบานอนมีการปะทะกันของกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรียกับกลุ่ม Alawites ที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรียใกล้กับชายแดนซีเรีย-เลบานอน นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวว่ามีกองกำลังติดอาวุธญิฮาดจากอิรักนำอาวุธเข้ามาสนับสนุนกองกำลังต่อต้านรัฐบาลซีเรียด้วย การปะทะกันด้วยอาวุธเกิดขึ้นทั่วไปและลุกลามเข้ามาใกล้กรุงดามัสกัต เมืองหลวงของซีเรียเข้ามาทุกทีอีกด้วย

สถานเอกอัครราชทูตไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศใกล้เคียงซีเรีย คือสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ กำลังร่วมกันติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปรับแผนการอพยพคนไทยในซีเรียที่ขณะนี้มีเหลืออยู่ประมาณ 50-60 คน หากจำเป็น โดยคนไทยส่วนหนึ่งเดินทางออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยและบางส่วนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว คนไทยที่ยังเหลืออยู่ในซีเรียขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นคู่สมรสของชาวซีเรียและพำนักอยู่ในประเทศนี้มาเป็นเวลานาน ทุกคนมีการติดต่อกับสถานทูตและสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในดามัสกัตตลอดเวลา และมีความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นต้องอพยพก็สามารถดำเนินการตามแผนปฎิบัติการที่ได้ซักซ้อมไว้แล้ว

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน
          สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด
          สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ที่ปรึกษาของยูเอ็นถูกยิงเสียชีวิตในอียิปต์



หนังสือพิมพ์อียิปต์รายงานข่าวว่ามีหญิงชาวอียิปต์ถูกยิงเสียชีวิตขณะขับรถอยู่ในย่านธุรกิจของกรุงไคโร  ตำรวจแจ้งว่าหญิงเคราะห์ร้ายคนดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับกองทุนเพื่อสตรีของหน่วยงาน สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ในกรุงไคโร ถูกกระสุนปืนเข้าที่ศีรษะขณะขับรถอยู่ในย่านโมฮันดีซีนซึ่งเป็นย่านธุรกิจ ธนาคาร และเป็นที่ตั้งของสถานทูตหลายแห่ง (สถานทูตไทยก็ตั้งอยู่ในย่านนี้ด้วย) สาเหตุน่าจะมาจากถูกลูกหลงมากกว่าถูกฆาตกรรม เนื่องจากปัจจุบันอียิปต์กำลังประสบกับวิกฤตการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยในสังคม โดยหลังจากการประท้วงใหญ่ในประเทศอียิปต์เมื่อเดือนมกราคม 2554 เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก กลไกการบังคับใช้กฎหมายของประเทศนี้ก็เรียกได้ว่าล้มเหลว เนื่องจากตำรวจไม่ได้รับความเชื่อถือและถูกเกลียดชังจากประชาชนทั่วไปเนื่องจากถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของเผด็จการ และเป็นหน่วยงานที่มีการฉ้อราษฏ์บังหลวงมากที่สุด ในยุคการปกครองของมูบารักประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากตำรวจเป็นอย่างมาก ในช่วงการปฏิวัติ 18 วัน เห็นได้ชัดว่าตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดีได้สำเร็จแล้ว ประชาชนจึงแสดงออกถึงความเกลียดชังตำรวจอย่างโจ่งแจ้งและไม่เชื่อฟังตำรวจอีกต่อไป ทำให้กลไกการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ 





ทุกวันนี้ ตามท้องถนนในกรุงไคโร ผู้ขับขี่ยวดยานต่างก็ไม่เคารพกฎจราจร และเมื่อถูกตำรวจเรียกตักเตือนหรือจะเข้าจับกุม ออกใบสั่งปรับ หรือดำเนินคดี ก็จะไม่ยอมรับ บางครั้งถึงกับยกพวกเข้าห้อมล้อมและทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มี



ปัญหาอาชญากรรมก็เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ลักวิ่งชิงปล้น กรรโชกทรัพย์ ไปจนถึงไล่ฆ่ากันเพื่อล้างแค้น บางกรณีถึงขั้นนำตัวฆาตกรที่ฆ่าญาติของตนมาผูกกับเสาไฟฟ้ากลางเมืองแล้วเผาก็มี บางครั้งตำรวจไปจับกุมผู้กระทำผิดมาได้ บรรดาญาติพี่น้องเพื่อนบ้านก็ยกพวกมาปิดล้อมโรงพักกดดันให้ตำรวจปล่อยตัว ก็เรียกว่ากฎหมายไม่มีความหมายเพราะไม่มีใครเชื่อฟังหรือปฏิบัติตาม ทำให้สังคมอียิปต์ทุกวันนี้ต้องอยู่กันอย่างระแวดระวังตัวเองกันมากขึ้น 



ในส่วนของการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญของอียิปต์ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยนอกจากนักท่องเที่ยวจะลดจำนวนลงอย่างมากแล้ว ยังมีข่าวการลักพาตัวนักท่องเที่ยวโดยพวกเบดูอินในแถบแหลมไซนายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือกดดันให้ปล่อยตัวญาติที่ถูกตำรวจควบคุมตัวอยู่

คนไทยที่จะไปอียิปต์ก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยให้ดี แต่ถ้าสุดวิสัยเกิดปัญหาขึ้นมาก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยได้ตลอดเวลา  และขอให้คำนึงอยู่เสมอว่าในอียิปต์นักท่องเที่ยวต่างชาติคือเป้าหมายหรือเหยื่ออันโอชะของเหล่ามิจฉาชีพ นักท่องเที่ยวทุกคนที่ไปอียิปต์จะต้องได้รับประสบการณ์ถูกต้มตุ๋น หลอกลวง ฉ้อโกง บ้างไม่มากก็น้อย แต่หลายคนก็บอกว่าถึงจะถูกหลอกถูกโกงไปบ้างแต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะอียิปต์เป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยว ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวของอียิปต์จัดว่าควรค่าแก่การไปเยี่ยมชมสักครั้งในชีวิต 









ที่มา : thedailynewsegypt.com
        : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล  กระทรวงการต่างประเทศ

ไต้หวันขยายเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติ

สภานิติบัญญัติของไต้หวันได้มีมติรับรองร่างแก้ไขกฎหมายการจ้างงาน (Employment Services Act) บางมาตราซึ่งมีผลให้แรงงานต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ผู้อนุบาล ผู้ช่วยแม่บ้าน และการประมงนอกชายฝั่ง ได้รับการขยายเวลาการทำงานในไต้หวันจากเดิมที่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานในไต้หวันรวมระยะเวลาได้ไม่เกิน 9 ปี เพิ่มเป็น ไม่เกิน 12 ปี คาดว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้




แรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวันซึ่งปัจจุบันมีกว่า 67,000 คน และส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย สามารถอยู่ทำงานในไต้หวันต่อไปได้อีกจนครบ 12 ปี หากนายจ้างยังจ้างงานอยู่


ที่มา : สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย