วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

งานเสวนาด้านวัฒนธรรมไทย – จีนที่นครเซี่ยงไฮ้

ฯพณฯนายสาโรจน์ ชวนะวิรัช เลขาธิการมูลนิธิไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดการเสวนา"ภายหลัง 35 ปี แห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน : ความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมไทย-จีน ในมุมมองของประชาชน"เมื่อ 14 มิถุนายน 2554 ที่นครเซี่ยงไฮ้


งานเสวนาด้านวัฒนธรรมไทย – จีนที่นครเซี่ยงไฮ้


ฯพณฯนาย สาโรจน์ ชวนะวิรัช เลขาธิการมูลนิธิไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เกียรติกล่าวเปิดการเสวนาด้านวัฒนธรรมไทย - จีน ภายหลัง 35 ปี แห่งความสัมพันธ์ไทย - จีน : ความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมไทย - จีน ในมุมมองของประชาชน ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ East China Normal University จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา

ฯพณฯนาย สาโรจน์ฯ ได้กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีอย่างลึกซึ้งระหว่างประชาชนไทยและจีน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงทางมิติวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสายใยที่ผูกพันของประเทศทั้งสองมาตั้งแต่โบราณกาล ตั้งแต่เริ่มมีการลงบันทึกในประวัติศาสตร์เมื่อสมัยสุโขทัย ประมาณ 700 ถึง 800 ปี มาแล้ว ก่อนที่จะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2518

ความสัมพันธ์ไทยจีนมีวิวัฒนการความคืบหน้าในทุกมิติและทุกระดับอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม อันเป็นเสาหลักของความร่วมมือ ซึ่งมีส่วนสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ไทยจีนเป็นคู่ความสำพันธ์ที่ดีที่สุดในโลกคู่หนึ่ง

นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ของไทยก็ได้ทรงเสด็จมาเยือนจีนอย่างต่อเนื่อง และได้ทรงสร้างคุณูปราการที่สำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ไทยจีน อย่างล้นเหลือ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนจีนแล้ว ถึง 33 ครั้ง ทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกของโลกที่ได้เสด็จเยือนจีนครบทุกมณฑล และทรงได้รับทรงคัดเลือกให้เป็นมิตรนานาชาติ 10 อันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่ความรู้ และความเข้าใจอันดีงาม พระองค์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ได้บ่มเพาะมิตรภาพระหว่างประชาชนไทยและจีนให้แน่นแฟ้นยิ้งขึ้น พระองค์จึงทรงเป็นมิตรของประเทศของจีนอย่างแท้จริง

ด้วยพระอัจจริยภาพทางด้านดนตรีและพระปณิธานที่มุ่งมั่นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ก็ ได้ทรงสนับสนุนการจัดงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดินขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ทรงถ่ายทอดให้เห็นพลังและความงดงามของวัฒนธรรมทางดนตรีของจีนและไทย การจัดงานสามสัมพันธ์สองแผ่นดินครั้งล่าสุดคือ คือครั้งที่ 4 ได้ จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 พระองค์ได้ทรงดนตรีกูเจิงซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโบราณของจีนด้วนพระองค์เอง นับเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการหลอมรวมกันระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีนในด้านศิลปะการแสดงและในด้านดนตรีที่มีคุณค่า และในการงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดินครั้งที่ 5 จะ มีการจัดขึ้นใน เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่ประเทศไทย ซึ่งจะประจวบเหมาะกับโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเดือนธันวาคม ที่ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันที่จะเทิดพระเกียรติให้พระองค์ท่าน

นอกจากความสัมพันธ์ไทย-จีนระดับรัฐบาลแล้ว ความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานและสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและประชาชนจีน ที่เริ่มจากที่ชาวจีนโพ้นทะเลไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยอยู่เป็นจำนวนมากในสมัยโบราณ ได้สร้างครอบครัวและอยู่ร่วมกันกับชาวไทยอย่างร่มเย็นเป็นสุข อันส่งผลให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวจีนได้หล่อหลอมกันเป็นหนึ่งอย่างเดียวกันกับการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทย จนมีคำกล่าวขานกันมาตลอดว่า ไทย-จีนมิใช่อื่นไกลเป็นพี่น้องกัน ซึ่งสะท้องถึงความสัมพันธภาพญาติพี่น้อง ที่สืบเนื่องมาผ่านบรรพบุรุษหลายยุคหลายสมัย ซึ่งความสัมพันธ์ที่พิเศษนี้ เป็นสิ่งที่ทั้งไทยและจีนควรทะนุถนอมและรักษาไว้ และช่วยกันทำนุบำรุงให้งอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป


ที่มา: เว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ http://www.thaishanghai.com/th/shanghai-update/detail.php?news=424

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้จัดงาน Taste of Siam in Shanghai

คุณหรีดชักชวนผู้ชมลองชิมรสชาติอาหารที่ปรุงจากซอสสำเร็จ

รสมือไทยพร้อมปรุงมุ่งสู่อุตสาหกรรม

เชฟมาเอง งานนี้ต้องดูใกล้ๆ และเก็บเคล็ดการปรุงให้ได้

ผู้ชมเนืองแน่น รอชิมรสชาติอาหารไทย

ท่านกงสุลใหญ่พิรุณ ลายสมิตร่วมปรุงอาหารหลายเมนูจากซอสปรุงรสไทย

นักเรียนไทยในนครเซี่ยงไฮ้จัดคณะนาฏศิลป์มาร่วมแสดงด้วย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้จัดงาน Taste of Siam in Shanghai


เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2554 นายพิรุณ ลายสมิต กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นประธานเปิดงาน Taste of Siam in Shanghai ซึ่งจัดโดยห้าง Super Brand Mall และสนับสนุนโดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2554 บริเวณหน้า Lotus Supermarket โดยในงาน คุณหรีด ระพีพรรณ เหลืองอร่ามรัตน์ พิธีกรรายการอาหารชื่อดังของไทย ได้นำสุดยอดเชฟไทย 5 ท่าน ซึ่งชนะการแข่งขันสรรค์สร้างน้ำซ้อสปรุงรสอาหารไทยในโครงการ "รสมือไทยพร้อมปรุงมุ่งสู่อุตสาหกรรม" ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ซ้อสปรุงรสอาหารไทยเป็นสินค้าเชิงอุตสาหกรรม สร้างมาตรฐานให้กับอาหารไทยและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยมีสถานีโทรศัทน์ช่อง 3 มาถ่ายทำรายการ พร้อมทั้งการแสดงนาฏศิลป์ไทยจากนักเรียนไทยในนครเซี่ยงไฮ้ด้วย

ภายในงาน สุดยอดเชฟไทยทั้ง 5 ท่านได้นำเสนอซ้อสปรุงรสที่แต่ละท่านคิดค้นสูตรขึ้นมาเองจนชนะการแข่งขัน อันได้แก่ น้ำจิ้ม, น้ำปรุงรสสำเร็จรูป, น้ำราด-น้ำสลัด, น้ำหมัก และน้ำพริกจิ้ม "Thai Dip" โดยได้แสดงทักษะนำซ้อสปรุงรสสูตรของตนเพียงสูตรเดียวมาดัดแปลงทำอาหารได้หลายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวานไก่ ผัดไทย พระรามลงสรง ซึ่งคุณหรีดได้ใช้ประสบการณ์ที่ช่ำชองของการเป็นพิธีกรรายการอาหารแนะนำวิธีการทำอาหารแต่ละชนิดได้อย่างน่าสนใจ ดึงดูดให้ชาวจีนต่างมารุมชมการสาธิตทำอาหารครั้งนี้อย่างเนืองแน่น และยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ลิ้มลองรสชาติอาหารหลังการปรุงเสร็จอีกด้วย ซึ่งเมื่อชาวจีนได้ชิมแล้ว ต่างติดใจยกนิ้วให้กับความอร่อยของน้ำจิ้มปรุงรสไทย พร้อมถามหาว่าจะสามารถซื้อน้ำปรุงรสได้จากที่ไหน ถือได้ว่างาน Taste of Siam in Shanghai ครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม คุณหรีดยังได้แจ้งว่า ในขั้นต่อไปจะส่งเสริมสูตรน้ำจิ้มปรุงรสให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และจะผลักดันให้น้ำปรุงรสได้ไปขายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่อไป
ที่มา : ภาพและเรื่องจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสมอบภาพเขียนมวยไทยให้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะป้องกันตัวแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา


สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสมอบภาพเขียนมวยไทยให้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะป้องกันตัวแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา


เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2554 นายมังกร ประทุมแก้ว รองกงสุลใหญ่ฯ พร้อมด้วยนายสุรเชษฐ์ จริงจิต ศิลปินภาพวาดและแกะสลักน้ำแข็ง ได้นำภาพเขียนมวยไทย ชื่อว่า “Muay Thai of Ayutthaya” ขนาด 22”x29” ซึ่งเป็นภาพวาดสีน้ำนักชกมวยไทยโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ไปมอบให้แก่ พิพิธภัณฑ์ Martial Arts History Museum (พิพิธภัณฑ์ศิลปะป้องกันตัว) เพื่อจัดแสดงในมุมศิลปะมวยไทยของพิพิธภัณฑ์ร่วมกับสิ่งของอื่น ๆ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมไว้ โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ศิลปะมวยไทยออกสู่สายตาชาวต่างชาติอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้สนับสนุนการมอบภาพวาดมวยไทยดังกล่าวให้แก่พิพิธภัณฑ์ฯ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากนายสุรเชษฐ์ฯ ศิลปินไทยในแคลิฟอร์เนีย พร้อมทั้งได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุนการจัดทำกรอบภาพจากนายมนัส ห่วงวรรณ แห่งร้าน Best Custom Frames ที่ South Pasadena

พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะป้องกันตัวแห่งแรกในอเมริกา ตั้งอยู่ที่ 2319 W. Magnolia Blvd., Burbank, California มีการดำเนินงานในลักษณะขององค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งโดย Mr. Michael Matsuda มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปะป้องกันตัวของประเทศต่างๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ และยังได้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ เหล่านั้นด้วย ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 และขณะนี้ เปิดบริการให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ด้วยแล้ว

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เมื่อญาติหรือเพื่อนฝูงชาวไทยเสียชีวิตในเกาหลี


เมื่อญาติหรือเพื่อนฝูงชาวไทยเสียชีวิตในเกาหลี

เมื่อญาติมิตร เพื่อนฝูงชาวไทยเสียชีวิตที่เกาหลีต้องรีบดําเนินการต่าง ๆ เนื่องจากการเก็บรักษาศพมีค่าใช้จ่ายสูง หากไม่สามารถดําเนินการใด ๆ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเป็นภาระต่อผู้ที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กระบวนการที่ต้องดำเนินการได้แก่

1. แจ้งนายจ้างเพื่อดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น แจ้งตํารวจเพื่อสอบสวนและตรวจสอบที่เกิดเหตุ นําศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาล เก็บศพไว้เพื่อรอการดําเนินการต่อไป หากการเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการทำงานและอยู่นอกโรงงาน (เช่นอบุบัติเหตุต่าง ๆ ทะเลาะวิวาท) ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตํารวจในทันที

2. แจ้งญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตที่อยู่ที่เกาหลีหรือประเทศไทยให้ทราบในทันที เพื่อสามารถดําเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยความรวดเร็ว เช่น การมอบอํานาจการดําเนินการเกี่ยวกับศพ ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เป็นต้น หากไม่รู้จักญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตรีบแจ้งสถานเอกอัครราชทูตฯ

3. ผู้ที่จะดําเนินการใด ๆ เกี่ยวกับศพต้องได้รับการมอบอํานาจจากผู้มีสิทธิในตัวผู้เสียชีวิตก่อน เช่นหากแต่งงานแล้วผู้มีสิทธิมอบอํานาจ ได้แก่ สามีหรือภริยา หากยังไม่แต่งงานผู้มีสิทธิมอบอํานาจได้แก่พ่อหรือแม่ ผู้ได้รับมอบอํานาจต้องแจ้งเรื่องการเสียชีวิตและการมอบอํานาจให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบ ทั้งนี้ หากไม่ได้มอบอํานาจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดดําเนินการ ควรมอบอํานาจให้สถานเอกอัครราชทูตฯเป็นผู้ดําเนินการ

4. ส่วนใหญ่ศพผู้เสียชีวิตจะทําการฌาปนกิจที่เกาหลี เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่างกว่าการส่งศพกลับประเทศไทยมาก โดยสามารถฌาปนกิจได้ที่ฌาปนกิจสถานซึ่งตั้งอยู่ในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยต้องจองวันและเวลาที่จะดําเนินการล่วงหน้า

5. เมื่อฌาปนกิจศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องแจ้งสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อออกมรณบัตรของผู้ตายไว้เป็นหลักฐาน เอกสารประกอบในการยื่นเรื่อง ได้แก่

5.1 ใบชันสูตรศพจากโรงพยาบาล
5.2 ใบฌาปนกิจศพจากฌาปนกิจสถาน
5.3 หนังสือแจ้งการเสียชีวิตจากตํารวจ (หากเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่โรงพยาบาลไม่มีหนังสือแจ้งการเสียชีวิตจากตํารวจ)
5.4 ใบมอบอํานาจจากผู้มีสิทธิมอบอํานาจให้ดําเนินการต่าง ๆ
5.5 บัตรประชาชน/หนังสือเดินทาง (หรือสําเนาที่เห็นรูปถ่ายชัดเจน) ของผู้แจ้ง

หากไม่แจ้งสถานเอกอัครราชทูตฯ การเสียชีวิตของบุคคลนั้น ๆ จะไม่สมบูรณ์ โดยยังคงมีชื่อของบุคคลนั้น ๆ ในสถานะที่ยังมีชีวิตอยู่ในฐานข้อมูลของทางการต่าง ๆ เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน

6. ในกรณีที่ต้องการนําศพกลับประเทศไทย ก่อนที่จะส่งศพกลับต้องแจ้งสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอรับมรณบัตรของผู้ตาย โดยต้องใช้หลักฐานเอกสารต่าง ๆ เช่นเดียวกับข้อ 5

ที่มา: หนังสือ "อยู่สบายๆในเกาหลี" จัดพิมพ์โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล  http://www.thaiembassy.or.kr/th/k_l.pdf 

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Thailand Grand Fair ที่บรูไน


Thailand Grand Fair ที่บรูไน


เมื่อวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2554 สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ร่วมกับ สำนักงานแรงงานไทยในบรูไนฯ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้จัดงาน Thailand Grand Fair 2011 ครั้งที่ 3 ขึ้น ณ Press Conference Hall ศูนย์ ประชุมนานาชาติ (International Convention Centre) ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม โดยงานนี้เป็นส่วน หนึ่งของการจัดงาน Consumer Fair ครั้งที่ 8 ซึ่งมี Pehin Orang kaya Perkema Laila Diraja Dato Paduka Awang Haji Hazair bin Haji Abdullah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และ กีฬา บรูไน มาเป็นแขกเกียรติยศ ในการเปิดงานครั้งนี้

วัตถุประสงค์ของการจัดงานนั้น เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในบรูไน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อกระชับ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและบรูไนฯ ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน ของทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยได้เข้า มาเปิดตลาดสินค้าและบริการในบรูไนฯ

การจัดงานในปีนี้ มีหน่วยงานและผู้ประกอบการไทยในในบรูไนฯ และผู้ประกอบการจากประเทศไทย เข้าร่วมออกซุ้มแสดงและจำหน่ายสินค้าจำนวน 30 ซุ้ม (Booth) โดยมีคนที่เดินทางมาร่วมงาน Consumer Fair ครั้งที่ 8 จำนวนเกือบ 1 แสนคน ซึ่งมีผลให้ผู้ประกอบการไทยมียอดจำหน่ายสินค้าจากงานนี้ประมาณ 120,000 ดอลลาร์บรูไน


ที่มา: จดหมายข่าว สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ประจำเดือนมิถุนายน 2554

กฎหมายบรูไนที่คนไทยควรรู้และข่าวคนไทยถูกดำเนินคดีในประเทศบรูไน



กฎหมายบรูไนที่คนไทยควรรู้และข่าวคนไทยถูกดำเนินคดีในประเทศบรูไน


ในเดือนมิถุนายนนี้ มีหญิงไทยจำนวน 2 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม กองตรวจคนเข้ามือง ดำเนินคดีในข้อหาพำนักอาศัยอยู่ในประเทศบรูไน ดารุสซาลาม เกินกำหนดเป็นเวลา 550 และ 165 วันตามลำดับ โดยอัยการได้นำหญิงไทยทั้งสองขึ้นฟ้องศาลชั้นต้น บันดาร์เสรีเบกาวัน และได้ยอมรับผิดตามข้อกล่าวหา ศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 เดือน 1 สัปดาห์ และ 3 เดือน 1 สัปดาห์


กรมศาสนาบรูไน ได้จับกุมชายชาวบรูไนมุสลิมและหญิงไทยพุทธ ในขณะที่หญิงและชายทั้งสองพักอยู่ภายในห้องนอนกันตามลำพัง ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ที่ห้ามไม่ให้หญิงและชายที่ยังมิได้สมรสกันตามกฎหมายศาสนาอิสลาม พำนักอยู่ด้วยกันตามลำพังในที่ รโหฐาน หรือที่ลับตาคน สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จะถือว่ามีความผิดตามกฏหมายศาสนาอิสลาม Akta Majlis Ugama Islam Section 196 Act 177 (1) และถูกดำเนินคดีต่อไป ส่วนผู้ที่มิได้นับถือศาสนาอิสลามจะไม่ถูกดำเนินคดีในศาลศาสนาอิสลาม (Syaria Court) กรณีเป็นชาวต่างชาติหลังการสอบสวน ณ กองปราบปราม กรมศาสนาแล้ว จะถูกส่งตัวไปยัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อส่งตัวกลับ ประเทศ และถูกนำรายชื่อขึ้นบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อบุคคลห้ามเข้าประเทศ ( ฺBlack List) ต่อไป

ที่มา: จดหมายข่าว สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน

คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น


คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น


ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้เคยประกาศเตือนให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารในการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด นั้น

ในปัจจุบัน แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นมากแล้ว แต่เนื่องจากยังเกิดแผ่นดินไหวตามมา (Aftershock) เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้ผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้แก่ จังหวัดอิวาเตะ จังหวัดมิยางิ และจังหวัดฟุคุชิมะ กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ข้างต้น ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ โดยที่สถานการณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมะ หมายเลข 1 ยังไม่เรียบร้อย กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่รัศมี 60 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฯ และตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับระดับกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่ใกล้เคียงก่อนการเดินทาง ตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

***************************************
28 มิถุนายน 2554

ที่มา: ข่าวสารนิเทศ วันที่ 28 มิถุนายน 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

กงสุลใหญ่ฯ พบชุมชนนักเรียนไทย

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ
(MR.PISANU SUVANAJATA)
 Consul-General 


กงสุลใหญ่ฯ พบชุมชนนักเรียนไทย



สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 เวลา 16.00-18.00 น. นายพิษณุ สุวรรณะชฎ กงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวได้รับเชิญสมาคมนักเรียนไทยในมณฑลกวางตุ้งไปบรรยายเพื่อแนะนำให้เห็นภาพรวมของมณฑลกวางตุ้ง ภารกิจของสถานกงสุลใหญ่ฯ และการให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนนักเรียนไทยในนครกว่างโจวเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวไทยในมณฑลกวางตุ้งในงาน “กงสุลใหญ่ฯ พบชุมชนนักเรียนไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยครูภาคใต้ (South China Normal University)

กงสุลใหญ่ฯได้แนะนำภาพรวมของมณฑลกวางตุ้งในแง่มุมทั้งในส่วนภาคเศรษฐกิจและสังคม สอดแทรกมุมมองทางการทูตเพื่อให้นักเรียนได้เห็นและเข้าใจบทบาทของมณฑลกวางตุ้งและนครกว่างโจวต่อประเทศไทย อันจะทำให้นักเรียนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในด้านต่างๆ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาที่ไทยมีโอกาสเข้าไปร่วมกับมณฑลกวางตุ้งและนครกว่างโจวได้

กงสุลใหญ่ใช้โอกาสนี้แนะนำ "คู่มือคนไทยในมณฑลกวางตุ้งและไห่หนาน” ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ได้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ ซึ่งถือเป็นคู่มือที่ให้กับชุมชนไทยในมณฑลกวางตุ้งและไห่หนาน ตลอดจนผู้ที่จะเดินทางมามณฑลทั้งสองได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญต่างๆ รวมถึงการให้บริการต่างๆ ของสถานกงสุลใหญ่ฯต่อคนไทยในเขตอาณา

นอกจากนี้กงสุลใหญ่ฯ ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักเรียนไทยที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้กับสถานกงสุลใหญ่ฯให้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2554 เวลา 09.00-17.00 น. ซึ่งนักเรียนไทยส่วนใหญ่มีความตื่นตัวในด้านการเมืองอย่างมาก และได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก นอกจากนั้นกงสุลใหญ่ยังได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆของสถานกงสุลใหญ่ฯในโอกาสนี้ด้วย

 กิจกรรมของสมาคมนักเรียนฯในครั้งนี้นับว่าเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนไทย ซึ่งนอกจากทำให้เกิดกิจกรรมแก่สมาชิกของสมาคมฯ และเป็นการเผยแพร่ข่าวสารของสมาคมนักเรียนไทยในมณฑลกวางตุ้งให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นแล้ว การจัดงานในครั้งนี้ยังได้รับความสนใจจากนักเรียนไทยในนครกว่างโจวอย่างมากโดยมีนักเรียนไทยเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คนนักเรียนที่เข้าร่วมต่างแสดงความสนใจในการจัดกิจกรรมครั้งต่อๆไปของสมาคมและได้เชิญกงสุลใหญ่ฯ ให้ไปบรรยายอีกครั้งหนึ่งในการจัดกิจกรรม"กงสุลใหญ่ฯพบชุมชนนักเรียนไทย” ที่กำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ศกนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเปิดเทอมใหม่ของนักเรียนที่เดินทางมาศึกษาต่อยังนครกว่างโจวอีกด้วย


วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

งานอาเซียนเลดี้ ครั้งที่2 ประจำปี2554 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน







งานอาเซียนเลดี้ ครั้งที่2 ประจำปี2554 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน


เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 นางนิศารัตน์ เทพพิทักษ์ ภรรยาเอกอัครราชทูต ในฐานะประธานกลุ่มอาเซียนเลดี้ ได้ร่วมกับ กลุ่มไทยเลดี้ เป็นเจ้าภาพจัดงาน อาเซียนเลดี้ ครั้งที่2 ประจำปี2554 ขึ้น ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต บรรยาการในวันงานมีกิจกรรมมากมายเริ่มต้นด้วย

(1) การรำอวยพรต้อนรับภรรยา และฝ่ายในจากประเทศอาเซียนที่มาร่วมงาน

(2)การสาธิตการนุ่งโจงกระเบนตามด้วยการแข่งขันนุ่งโจงกระเบนที่สร้างความบันทิงให้กับเลดี้ที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก

(3)การสาธิตและการแข่งขันทำลูกชุบในการนี้ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกๆท่านได้มีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการปั้นลูกชุบที่มีสีสันสวยงาม โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนได้รับรางวัลของขวัญเป็นผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นที่ระลึก

(4) การแสดงการร้อยมาลัยให้กับแขกผู้มาร่วมงาน

หลังจากเสร็จกิจกรรมในช่วงเช้าแล้วนั้นผู้เข้าร่วมงานทุกๆท่านได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ต่อจากนั้นฝ่ายไทยได้จัดให้มีการแสดงรำมโนราห์ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ โดยเฉพาะมีท่ารำที่อ่อนช้อย สวยงาม ไห้เหล่าบรรดาเลดี้ได้ชื่นชม

ภายหลังงานเสร็จสิ้น นางนิศารัตน์ ฯ และ กลุ่มไทยเลดี้ได้มอบขนมไทยเม็ดขนุนเป็นของขวัญที่ระลึกให้กับแขกผู้มาร่วมงานติดไม้ติดมือกลับบ้านทุกๆท่าน

ที่มา: ภาพและเรื่องจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

รัฐบาลไทยบริจาคเงินให้มูลนิธิเนลสัน แมนเดลา

นายธฤต จรุงวัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย (ขวามือ) ในนามของรัฐบาลไทย ได้บริจาคเงินจำนวน 3 แสน 5 หมื่นบาท (78,582.92 แรนด์) ให้แก่นาย Achmat Dangor ผู้บริหารมูลนิธิเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela Foundation)



รัฐบาลไทยบริจาคเงินให้มูลนิธิเนลสัน แมนเดลา

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 นายธฤต จรุงวัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ในนามของรัฐบาลไทย ได้บริจาคเงินจำนวน 3 แสน 5 หมื่นบาท (78,582.92 แรนด์) ให้แก่นาย Achmat Dangor ผู้บริหารมูลนิธิเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela Foundation) ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอุดมการณ์และเจตนารมณ์ของอดีตประธานาธิบดีเนสลัน แมนเดลา ของแอฟริกาใต้ โดยในโอกาสดังกล่าว นาย Dangor ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยในนามของมูลนิธิฯ และให้คำมั่นว่าเงินดังกล่าวจะถูกในไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิฯ เพื่อส่งเสริมมนุษยธรรม ความปรองดอง และการพัฒนาสังคม ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของอดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา

สำหรับชาวแอฟริกาใต้ทุกเพศ ทุกวัน อดีตประธานาธิบดีแมนเดลา หรือ “มาดิบา” (Madiba) ของพวกเขา เป็นรัฐบรุษที่เปรียบเสมือนบิดาที่เคารพรักของแอฟริกาใต้ในปัจจุบัน ซึ่งได้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศแอฟริกาใต้ จากยุคนโยบายการปกครองแบบเหยียดผิว (apartheid) เป็นประเทศแห่งสายรุ้ง (Rainbow Nation) ที่สะท้อนความปรองดองระหว่างหลากหลายของชนชาติและวัฒนธรรม ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้นายแมนเดลาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คู่กับอดีตประธานาธิบดี F.W. de Klerk เมื่อปี 2536 นอกจากนี้ ภายหลังพ้นตำแหน่งประธานาธิบดี นายแมนเดลายังได้รับการชื่นชมสำหรับกิจกรรมและโครงการสนับสนุนพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคมต่างๆ ซึ่งนายแมนเดลาได้รณรงค์ผลักดันอย่างต่อเนื่อง

อดีตประธานาธิบดี แมนเดลา เป็นผู้นำระดับโลก ที่ถือเป็นแบบอย่างอันดียิ่งของความอุสาหะสามารถของบุคคลและของมนุษย์ชาติที่จะเผชิญหน้าและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในการดำรงชีวิตของตนเอง และของประชาชนของตน อย่างนุ่มนวลและสง่างาม นายแมนเดลา ได้เคยเยือนไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 และครั้งที่สอง ในฐานะแขกรับเชิญพิเศษของการประชุมนานาชาติด้านโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ซึ่งจัดที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547

มูลนิธิเนลสัน แมนเดลา เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมอุดมการณ์ วิสัยทัศน์ และผลงานต่างๆ ของอดีตประธานาธิบดีแมนเดลา และเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้อุดมการณ์ที่นายแมนเดลาส่งเสริมมาชั่วชีวิต คือ มนุษยธรรม ความปรองดอง และความยุติธรรมทางสังคม คงเป็นส่วนสำคัญของหัวใจของประชาคมระหว่างประเทศต่อไป รัฐบาลไทยจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้บริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิฯ ซึ่งแม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนจากแหล่งอืนๆ จากทุกมุมโลก แต่ก็เป็นการแสดงถึงมิตรภาพและความผูกพันอันใกล้ชิดระหว่างไทยและแอฟริกาใต้ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีแมนเดลาได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริม และยังคงพัฒนาก้าวไกลต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งในปัจจุบัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน อินเดีย จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2554

ที่ทำการสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน

ท่านกงสุลใหญ่ ชาญชัย จรัญวัฒนากิจ กำลังตรวจสอบเอกสารการเลือกตั้ง

ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกำลังหย่อนบัตรลงคะแนน

บรรยากาศในคูหาเลือกตั้งภายในสำนักงานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน อินเดีย จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2554

ด้วยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2554 นายชาญชัย จรัญวัฒนากิจ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจดำเนินการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2554 การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้จัดขึ้น ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน สาธารณรัฐอินเดีย

ผลการจัดการเลือกตั้ง จากจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจาก 4 รัฐ ทางตอนใต้ของอินเดีย ได้แก่ รัฐทมิฬนาฑู (เมืองหลวง คือ เมืองเจนไน) รัฐการณฏกะ (เมืองหลวง คือ เมืองบังคาลอร์) รัฐอานธรประเทศ (เมืองหลวง คือ เมืองไฮเดอร์ราบัด) และรัฐเกรละ (เมืองหลวง คือ เมืองทีรูวานันทะปุรัม(Thiruvananthapuram) ทั้งสิ้น 224 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 94 คน คิดเป็นร้อยละ 41.96 แบ่งเป็นเพศชาย 83 คน และเพศหญิง 11 คน

การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร สามารถมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง

การศึกษาในประเทศโปรตุเกส


การศึกษาในประเทศโปรตุเกส



ประเทศโปรตุเกสมีการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐานให้เด็กที่มีอายุ 6 ปีเต็มได้เข้าศึกษาในโรงเรียน ซึ่งมีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ที่ล้วนอยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการของโปรตุเกส โดยหากเป็นโรงเรียนรัฐบาล รัฐบาลโปรตุเกสก็จะช่วยเหลือในส่วนของเงินค่าเล่าเรียนสำหรับบุตรของผู้ที่จ่ายสวัสดิการสังคมด้วย

การศึกษาภาคบังคับแบ่งออกเป็นสองระดับ คือ

1. ระดับอนุบาล สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี

2. ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น สำหรับเด็กตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปซึ่งแบ่งออกเป็นสามระดับย่อย ที่เรียกว่า ciclo 1, 2 และ 3

2.1 Ciclo 1 คือตั้งแต่ชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่สี่ (ประถมหนึ่งถึงประถมสี่)

2.2 Ciclo 2 คือตั้งแต่ชั้นปีที่ห้าถึงชั้นปีที่หก (ประถมห้าถึงประถมหก)

2.3 Ciclo 3 คือชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (มัธยมหนึ่งถึงมัธยมสาม)

ส่วนระดับการศึกษาส่วนที่สามก่อนระดับอุดมศึกษานั้น เรียกว่า Ensino Secundário หรือ มัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นระดับที่ไม่บังคับ เปิดสอนเพื่อปูพื้นฐานสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย โดยแบ่งออกเป็นสี่สาขา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย คือ

1. Curso de Ciências e Tecnologias สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. Curso de Artes Visuais สาขาศิลปะ

3. Curso de Ciências Sócio-Económicas สาขาเศรษฐศาสตร์

4. Curso de Línguas e Humanidades สาขาภาษาและมนุษยศาสตร์

สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยในโปรตุเกสนั้น มีทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชน โดยนักเรียนที่สนใจจะศึกษาต่อในระดับนี้จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้มีการสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยหลังจากการประกาศผลคะแนนแล้ว นักเรียนจะต้องยื่นผลคะแนนต่อมหาวิทยาลัยที่ตนต้องการจะเข้าศึกษา

มหาวิทยาลัยที่สำคัญในประเทศโปรตุเกส

มหาวิทยาลัยลิสบอน (Universidade de Lisboa)

เป็นมหาวิทยาลัยประจำเมืองหลวงของประเทศโปรตุเกส ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่9 มีนาคม ค.ศ. 1911 ตามประวัติความเป็นมา มหาวิทยาลัยลิสบอนก่อตั้งเป็นครั้งแรกที่กรุงลิสบอน เมื่อปี ค.ศ. 1290 ต่อมาได้ย้ายขึ้นไปที่เมืองโกอิมบรา และหลังจากนั้นไดย้ายมหาวิทยาลัยกลับมาตั้งอยู่ที่กรุงลิสบอนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และได้มีการปิดสถาบันฯไปเป็นพัก ๆ จนในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1911 มหาวิทยาลัยลิสบอนก็ก่อได้รับการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด มหาวิทยาลัยลิสบอนแห่งนี้มีชื่อเรียกว่ามหาวิทยาลัยลิสบอนเก่า (Universidade de Lisboa Clássica) เพื่อมิให้เกิดความสับสนกับมหาวิทยาลัยลิสบอนใหม่ (Universidade de Lisboa Nova) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในกรุงลิสบอนเช่นกันมหาวิทยาลัยลิสบอนประกอบไปด้วย 4 คณะ คือ คณะนิติศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และ คณะอักษรศาสตร์

มหาวิทยาลัยโกอิมบรา (Universidade de Coimbra)

เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดของโปรตุเกส และเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่เป็นอันดับ 3 ของทวีปยุโรป ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1290 โดยกษัตริย์ ดินิช (Dom Dinis) นอกจากนี้ สหพันธ์นักศึกษาแห่งโกอิมบรา หรือ Associação Académica de Coimbra ยังเป็นสมาพันธ์นักศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศโปรตุเกส ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1887 ปัจจุบันมีนักศึกษาประมาณ 20,000 คน โดยเป็นนักศึกษาต่างชาติประมาณ 10 % ซึ่งมาจากกว่า 70 ประเทศมหาวิทยาลัยโกอิมบราประกอบไปด้วย 8 คณะ คือ คณะนิติศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ประเพณีประจำปีที่สำคัญของมหาวิทยาลัย คือประเพณี Queima das Fitas หรือประเพณีการเผาริบบิ้นสีประจำคณะ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ก่อนการสอบปลายภาค เป็นระยะเวลาทั้งหมด 8 วัน โดยนักศึกษาจะออกมาเฉลิมฉลองบริเวณใจกลางเมืองกันอย่างสนุกสนาน

มหาวิทยาลัยปอร์ตู้ (Universidade do Porto)

เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ที่เมืองปอร์ตู้ ทางภาคเหนือของโปรตุเกสก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1911 มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาเข้าเรียนต่อปีเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศโปรตุเกส มีคณะทั้งหมด 14 คณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เพื่อโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะจิตแพทยศาสตร์และครุศาสตร์ และสถาบันชีววิทยาและการแพทย์


ทุนการศึกษา

ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติ (รวมทั้งนักศึกษาไทย) ที่มีความสนใจในภาษาและวัฒนuธรรมโปรตุเกส

ทุนประเภทต่างๆ ของโปรตุเกส

1. Short Term Scholarships

เป็นทุนระยะสั้นที่ดำเนินการโดยหน่วยงาน Fundação Oriente ให้นักศึกษาต่างชาติไปศึกษาหรืออบรมในโปรตุเกส ในทางกลับกัน ทุนนี้ก็ให้กับนักศึกษาโปรตุเกสที่จะมาศึกษาในต่างประเทศด้วยเช่นกัน สำหรับช่วงเวลาของทุน มีตั้งแต่น้อยที่สุด15 วัน ไปจนถึงนานที่สุด 90 วันทุนนี้จะให้เฉพาะผู้ที่ศึกษาในสาขาวิชาดังต่อไปนี้ Plastic Arts, History of Art, Cultural Herritage, Design, Photography, Architecte, Museum Science, Conservation and Restoration

2. Scholarships for Year-long Courses to Develop Knowledge of The Portuguess Language and Culture and Oriental Language and Cultures

เป็นทุนที่ให้กับนักศึกษาในประเทศทางตะวันออกไกลที่ต้องการไปศึกษาด้านภาษา และวัฒนธรรมของโปรตุเกสที่มหาวิทยาลัยในโปรตุเกส โดยวัตถุประสงค์ของทุนนี้ก็เพื่อเปดิ โอกาสใหผู้ที่ได้รับทุนสามารถศึกษาในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมได้อย่างสมบูรณ์ในสภาพแวดล้อมและสถานที่จริง โดยเวลาของการศึกษาจะเป็นช่วงภาคการศึกษาปกติของโปรตุเกส มีทั้งภาคระยะสั้นไปจนถึงมากที่สุดไม่เกิน 3 ปีเงื่อนไขในการให้ทุน ผู้ให้จะกำหนดตามสภาพของความเป็นจริงของค่าเล่าเรียนประจำปีตามมาตรฐานของสถาบันของรัฐที่สอนด้านภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกส โดยจะมีตั๋วเครื่องบินไปกลับให้ด้วย

3. Scholarships for Artistic Development

เป็นทุนที่ให้กับนักศึกษาในตะวันออกไกลที่ต้องการศึกษาด้านงานฝีมือและศิลปะในโปรตุเกส ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความชื่นชอบทางด้านนี้โดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็ให้กับชาวโปรตุเกสที่ต้องการไปศึกษาในสาขาเดียวกันในประเทศตะวันออกไกลด้วยสำหรับเวลาศึกษาปกติประมาณ 12 เดือน อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณีที่ต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เกิน 24 เดือน เงื่อนไขในการให้ทุนเป็นลักษณะเดียวกับประเภทที่ 2 และมีตั๋วเครื่องบินไป – กลับให้ผู้ได้รับทุนด้วยเช่นกัน

4. Scholarships for Doctorates and Master’s Degrees

ทุนนี้ให้กับอาจารย์หรือผู้ทำวิจัยในประเทศตะวันออกไกลไปศึกษาในระดับปริญญาเอกและปริญญาโทที่โปรตุเกสในสาขาของผู้รับทุน นอกจากนี้ ทางหน่วยงานให้ทุนยังมีทุนในการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับปริญญาเอกและปริญญาโทด้วย สำหรับช่วงเวลาศึกษาวิจัยนั้น เวลาปกติของทุนจะอยู่ประมาณ 12เดือน แต่มีกรณียกเว้นที่สามารถขยายเวลาออกไปได้ แต่ไม่เกิน 36 เดือน สำหรับปริญญาเอก และไม่เกิน 24 เดือน สำหรับปริญญาโท

5. Research Scholarships

เป็นทุนสำหรับการไปทำงานวิจัยในโปรตุเกสตามสาขาของผู้ขอทุน รวมทั้งสาขาที่ทางผู้ให้ทุนกำหนด คือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเวลาปกติของงานวิจัย คือ 12 เดือน ซึ่งอาจมีการขยายในเงื่อนไขบางกรณีออกไป เป็นไม่เกิน 36 เดือน สำหรับเงื่อนไขการให้ทุนนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ให้ทุนเช่นกันนอกจากทุนเหล่านี้แล้ว ยังมีทุนของสถาบันของรัฐ คือ INSTITUTO CAMÕES ซึ่งให้ทุนภาษา-วัฒนธรรม (สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ http://www.insitiuto-camoes.pt/  และทุนของหอสมุดแห่งชาติของโปรตุเกส ซึ่งให้ทุนวิจัย มีรายละเอียดใน http://www.bn.pt/ )

หลักฐานในการสมัครขอรับทุน

- หลักฐานผลการศึกษาอย่างละเอียด

- หนังสือรับรองาจากสถาบัน หรือหน่วยงาน ในกรณีที่เป็นการศึกษาระยะสั้น ในสาขาต่าง ๆ นอกเหนือจากภาษาและวัฒนธรรม

- รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรที่จะไปศึกษา และระยะเวลาในการศึกษา

- บุคคลอ้างอิงในสถานศึกษาของผู้ขอทุนที่เป็นที่ยอมรับ 2 คน

- มีวีซ่าที่มีอายุใช้งาน

รายละเอียดอื่นๆ ดูได้ในเว็บไซต์ http://www.foriente.pt/  หรือติดต่อไปยังฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย โทร. (66) 0-2234-0372 ต่อ 113

ที่มา: คู่มือคนไทยในโปรตุเกส จัดทำโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน http://www.mfa.go.th/internet/document/5807.pdf

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ข้อมูลการเลือกตั้งอีกส่วนหนึ่งติดไว้ที่บอร์ดเพื่อความสะดวกในการตรวจค้นของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

โต๊ะข้อสนเทศการเลือกตั้ง สำหรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเข้ามาตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงคะแนนเสียง

บรรยากาศที่น่าประทับใจในวันเลือกตั้ง

ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกำลังยื่นบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางแสดงตน ลงลายมือชื่อ แล้วรับบัตรเลือกตั้งเข้าไปลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง

ท่านทูตสมชัย จรณะสมบูรณ์ (ขวามือ) ติดตามอำนวยการทุกขั้นตอน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และตรวจสอบได้

เข้าคิวรอรับบัตรลงคะแนน บางท่านใช้ช่วงเวลาที่รอเปิดดูข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตที่จะลงคะแนนเสียง

ในคูหาเลือกตั้ง

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร


เมื่อวันที่ 13 – 14 มิ.ย. 2554 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ได้จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรขึ้นที่เมืองมุสซาฟาห์ ชานกรุงอาบูดาบี ซึ่งมีคนไทยพำนักอาศัยและทำงานอยู่หลายร้อยคน อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานเอกอัครราชทูตฯ จำนวน 7 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ คนไทยที่ลงทะเบียนแสดงความประสงค์ในการใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยได้มีคนไทยจำนวน 688 คน มาลงคะแนนใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ต่อมา ระหว่างวันที่ 17 – 19 มิถุนายน 2554 สถานเอกอัครราชทูตฯได้เดินทางไปจัดการเลือกตั้งฯ ที่เมืองฮัพชานและรูเวส ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลทรายฝั่งตะวันตกของรัฐอาบูดาบี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไทยประมาณ 1,500 คน ที่ทำงานอยู่ห่างไกลเมืองหลวงและได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิฯ ไว้ ทั้งนี้ มีผู้มาลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ จำนวน 819 คน รวมยอดผู้มาลงคะแนนจากการจัดการเลือกตั้งเคลื่อนที่ 1,507 คน

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งสุดท้าย ณ ที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูตฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2554

ที่มา: ภาพและเรื่องจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี

การเลือกตั้งที่นิวซีแลนด์

ท่านทูตนภดล เทพพิทักษ์หย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง

ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเข้าแถวรอรับบัตรลงคะแนน

ในคูหาเลือกตั้ง

โต๊ะประชาสัมพันธ์

ทำความเข้าใจก่อนเข้าไปรับบัตรลงคะแนนเสียง

แสดงบัตรประชาชน ลงลายมือชื่อ รับบัตรลงคะแนนเสียง แล้วเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่นิวซีแลนด์ 


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ได้จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรสำหรับคนไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 12-26 มิถุนายน 2554 ที่เมืองต่างๆดังนี้ Dunedin, Napier, Auckland, Palmerston North, Blenheim, Christchurch และ Wellington โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งปรากฏในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จำนวน 1,707 คน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้ง เพื่อการลงคะแนน จำนวน 1,074 คน คิดเป็นร้อยละ 62.91 แบ่งเป็นการลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง จำนวน 840 คน ลงคะแนนทางไปรษณีย์ จำนวน 234 คน ผู้ลงคะแนนเพศชาย 434 คน เพศหญิง 640 คน

ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ณ ประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งมีชาวไทยมาใช้สิทธิกันอย่างคึกคัก

ที่มา: ภาพและข่าวโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คณะนักกีฬาไทยเดินทางถึงกรุงเอเธนส์

ท่านทูตพฤทธิพงศ์ กุลทนันทน์ (ซ้ายมือ) ต้อนรับผอ.รัชนีวรรณ บุลกุลและคณะนักกีฬาที่สนามบินนานาชาติกรุงเอเธนส์

คณะนักกีฬาพิเศษทีมชาติไทย

บรรยากาศที่สนามบิน

ผอ.รัชนีวรรณฯ รายงานกำหนดการของนักกีฬาให้ท่านทูตทราบ

คณะนักกีฬาไทยเดินทางถึงกรุงเอเธนส์


เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2554 นายพฤทธิพงศ์ กุลทนันทน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ได้ไปต้อนรับคณะนักกีฬาไทยซึ่งจะเข้าร่วมการแข่งขัน Special Olympics World Summer Games ATHENS 2011 ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2554 คณะนักกีฬาไทยมีน.ส.รัชนีวรรณ บุลกุล ผู้อำนวยการคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิกแห่งประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะประกอบด้วยนักกีฬาพิเศษ 32 คน และเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอน 15 คน

คณะนักกีฬาไทยมีกำหนดจะเดินทางไปพักที่เกาะโรดส์เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนในเกาะดังกล่าวและจะเดินทางกลับมาแข่งขันกีฬาที่กรุงเอเธนส์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา 5 ชนิดกีฬา ได้แก่ กรีฑา(ประเภทลู่ลาน และ ฮาล์ฟมาราธอน) ว่ายน้ำ บอชชี่ ฟุตบอลหญิง และเทเบิลเทนนิสซึ่งมีนักกีฬากว่า 7,500 คน จาก 180 ประเทศทั่วโลกร่วมชิงชัย

ช่วงระหว่างการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากกิจกรรมทางกีฬา และ การบริการตรวจสุขภาพของนักกีฬาพิเศษที่จัดขึ้นอย่างหลากหลายแล้วนั้น สเปเชียลโอลิมปิคสากลจะมีการประชุมสัมมนาเชิงนโยบายเพื่อพิจารณาเกี่ยวความท้าทาย และการเพิ่มโอกาสของผู้พิการทางปัญญาในประเทศต่างๆทั่วโลก โดยในการประชุมครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความพิการทางปัญญาของประเทศไทยแพทย์หญิงเรือนแก้ว กนกพงษ์ศักดิ์ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 20 นักวิชาการทั่วโลกเข้าร่วมการหารือด้วย

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี จัดงาน Thai Travel Mart ที่ห้างสรรพสินค้า Park towers


สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี จัดงาน Thai Travel Mart ที่ห้างสรรพสินค้า Park towers


ด้วยเมื่อวันที่ 10-11 มิถุนายน 2554 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน ได้ร่วมกับบริษัทการบินไทยมหาชน จำกัด สำนักงานเมืองการาจี จัดงาน Thai Travel Mart ที่ห้างสรรพสินค้า Park towers โดยนายอุดม สาพิโต กงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ด้วยการตัดริบบิ้นเปิดงานร่วมกับผู้จัดการการบินไทย และประธานสมาคมมิตรภาพ ปากี – ไทย

การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทยและใช้บริการสายการบินไทย และงานนี้สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ออกบูทประชาสัมพันธ์ จัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนการฉายวิดีทัศน์ที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ตลอดงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวของไทย และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวีซ่าและฝ่ายเศรษฐกิจคอยให้ข้อมูลและตอบคำถามของผู้เข้าร่วมงานที่สนใจ ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก และให้ความสนใจบูทของสถานกงสุลใหญ่ฯ โดยการสอบถามประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการท่องเที่ยว

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่คูเวต

กรรมการเลือกตั้งกำลังช่วยกันจัดเอกสาร

ประธานกรรมการเลือกตั้งหน่วยเลือกตั้งที่ 2 กำลังรายงานผลการจัดเลือกตั้งให้ท่านอัครราชทูตที่ปรึกษาสุรพล โครตศรีเมือง ที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยและให้กำลังใจคณะกรรมการ

กรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 2 ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับท่านอัครราชทูตที่ปรึกษาสุรพล โครตศรีเมือง

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่คูเวต



สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต รายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2554 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มอบให้ท่านอัครราชทูตที่ปรึกษาสุรพล โครตศรีเมืองไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจหน่วยลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรหน่วยที่ 2 (หน่วยที่ 1 อยู่ที่ สถานเอกอัครราชทูตฯ) สำหรับบริการผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นแรงงานไทยผู้อยู่ห่างไกลจาก สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยตั้งขึ้นที่อาคารที่พักแรงงานไทยบริษัท Kharafi National w.l.l. ตำบล Fintas

กรรมการประจำที่เลือกตั้งหน่วยที่ 2 เป็นสมาชิกสมัชชาแรงงานไทยในคูเวตและเป็นแรงงานไทยในคูเวตทุกคน โดยมี สถานเอกอัครราชทูตฯเป็นพี่เลี้ยง ในการนี้ กรรมการประจำที่เลือกตั้งและแรงงานไทยได้ร่วมกันใส่เสื้อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สีชมพู แสดงออกถึงความจงรักภักดีในโอกาสนั้นอย่างพร้อมเพรียงกัน มีผู้มาลงคะแนนเฉพาะหน่วยนี้จำนวน 388 คน

ที่มา: ภาพและเรื่องจากสถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สารแสดงความยินดีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ


สารแสดงความยินดีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ


ตามที่ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีกรีซ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ซึ่งได้มีการแต่งตั้งนาย Stavros Lambrinidis เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซขึ้นใหม่ แทนนาย Dimitris Droutsas นั้น

ในการนี้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีสารแสดงความยินดีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ดังนี้


BEGIN

“Excellency,

I have the honour to extend to Your Excellency my congratulations and warmest wishes on Your Excellency’s appointment as Minister for Foreign Affairs of the Hellenic Republic.

I sincerely hope that the existing ties of friendship and cooperation between our two countries, both bilaterally and multilaterally, will be further strengthened in the years ahead. I wish Your Excellency every success in all your endeavors.

Accept, Excellency, the assurances of my highest consideration.

Kasit Piromya
Minister of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand”

END

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและกงสุลสัญจรของ สกญ. ณ เมืองมุมไบ





การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและกงสุลสัญจรของ สกญ. ณ เมืองมุมไบ



เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 นายทอมวิชย์ ชาญสรรค์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ นำคณะเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ประกอบด้วยนายธีระพงษ์ วนิชชานนท์ รองกงสุลใหญ่ นางสาวกมลวรรณ ศรีโพธิ์ศิลป์ กงสุล และ นางอรพินท์ ศรีรู้ญา กงสุล ไปจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุดในเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ฯ (รัฐมหาราษฏระ รัฐกัว รัฐคุชราต และรัฐมัธยประเทศ) โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 100 คน และพนักงานของบริษัทไทยที่ลงทุนในเมืองปูเน่ เช่น บริษัทซีพีและพนักงานนวดสปา อีกจำนวน 20 คน โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ จัดการเลือกตั้งขึ้นที่ร้านอาหารไทย ชื่อ Thai House ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนไทยรู้จักและสามารถเดินทางมาสะดวก

โดยที่การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ในช่วงปิดภาคเรียนส่งผลให้นักศึกษาส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับประเทศไทยไปแล้วและเลือกที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งที่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้เดินทางกลับเมืองไทย โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกือบทั้งหมดที่ยังอาศัยอยู่จำนวน 32 คน ในโอกาสดังกล่าว กงสุลใหญ่ฯ ได้พบปะพูดคุยกับนักศึกษาไทย รวมทั้งนักเรียนทุนในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่พึ่งเดินทางมาศึกษาที่เมืองปูเน่ด้วย โดยได้สอบถามถึงสภาพความเป็นอยู่ รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่คนไทยประสบ พร้อมกับได้เลี้ยงอาหารกลางวันด้วย นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ซึ่งมีมาผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ นอกจากคนไทยได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วยังเป็นโอกาสที่ได้มาพบปะทำความคุ้นเคยระหว่างกันด้วย