วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

เตือนคนไทยให้ระมัดระวังถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตรวจลงตราที่สนามบินประเทศเคนยาเกินกว่าอัตราที่กำหนด


เตือนคนไทยให้ระมัดระวังถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตรวจลงตราที่สนามบินประเทศเคนยาเกินกว่าอัตราที่กำหนด


เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2553 นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุลได้แถลงเตือนคนไทยที่เดินทางไปประเทศเคนยาให้ระมัดระวังการไปขอรับการตรวจลงตรา (Visa on Arrival) ที่สนามบินโจโม เคนยัตตา (Jomo Kenyatta International Airport) กรุงไนโรบี เพราะอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงกว่าอัตราที่ทางการเคนยากำหนด โดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน

เรื่องนี้สถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงไนโรบีได้รับการร้องเรียนจากคนไทยที่เดินทางไปประเทศเคนยาโดยสายการบินเคนยา แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ KQ 887 เมื่อเมื่อวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2553 โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองช่อง 3 ได้เก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราจำนวน 1200 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่มีการออกใบเสร็จรับเงิน ต่อมาคนไทยรายดังกล่าวได้รับทราบจากเพื่อคนไทยที่ไปรับที่สนามบินว่าอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราเพียง 25 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น คนไทยรายดังกล่าวจึงเดินทางไปร้องเรียนที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไนโรบี เพื่อขอให้แจ้งให้คนไทยอื่นๆทราบถึงพฤติกรรมดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเคนยาเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการคอรัปชั่นรายต่อไป ซึ่งกรณีดังกล่าวสถานเอกอัครราชทูตไทยได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่กระทรวงการต่างประเทศเคนยาเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองต่อไปแล้ว

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทต่างๆที่สนามบินนั้นทางการเคนยากำหนดอัตราจัดเก็บไว้ดังนี้
1. ประเภทเดินทางผ่าน 10 ดอลลาร์สหรัฐ
2. ประเภทท่องเที่ยว (1 ครั้ง) 25 ดอลลาร์สหรัฐ
3 ประเภทใช้เดินทางได้หลายครั้ง (รวมถึงประเภทธุรกิจ) 55 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ผู้ที่ขอรับการตรวจลงตราจะต้องชำระค่าธรรมเนียมเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

เกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเคนยานี้สถานเอกอัครราชทูตได้เปิดเผยด้วยว่า ในบางเที่ยวบินจะมีเจ้าหน้าที่ที่สนามบินคอยสังเกตผู้เดินทางขาเข้าซึ่งจะต้องกรอกเอกสารในการเข้าเมือง (embarkation card) แต่ไม่สามารถกรอกข้อความได้ และเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการกรอกเอกสารดังกล่าวแล้วเรียกร้องเงินตอบแทน

หรือในบางครั้งจะมีการประกาศให้ผู้โดยสารขาเข้าที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงว่าผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองมาแล้วให้มาติดต่อเจ้าหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะยึดหนังสือเดินทางของผู้โดยสารนั้นไว้แล้วเรียกรับเงินในอัตราที่สูงโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศในทวีปแอฟริกาหรือเดินทางออกจากประเทศในทวีปแอฟริกาเท่านั้นที่จำเป็นต้องมีหนังสือสำคัญเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่สนามบินประเทศปลายทาง

กรมการกงสุลเตือนนักพนันที่ข้ามไปเล่นพนันในกัมพูชา


กรมการกงสุลเตือนนักพนันที่ข้ามไปเล่นพนันในกัมพูชา


เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้แถลงเตือนประชาชนที่เข้าไปเล่นการพนันในบ่อนหรือสถานคาสิโนกัมพูชาว่า ปัจจุบันมีนักพนันจำนวนไม่น้อยที่นิยมเดินทางข้ามไปเล่นการพนันในบ่อนพนันกัมพูชา โดยในจำนวนนี้มีกลุ่มหนึ่งที่เสียพนันแล้วไม่ยอมเลิกแต่ได้ไปขอกู้เงินจากบริษัทปล่อยเงินกู้เพื่อนำเงินมาทำทุนเล่นต่อไปอีกโดยหวังจะได้เงินที่เสียไปคืน ซึ่งหากนักพนันที่กู้เงินไปต่อทุนเล่นจนหมดตัวและไม่มีเงินใช้หนี้ บริษัทที่ปล่อยกู้ก็จะกักกันนักพนันไว้และรอติดต่อญาติให้นำเงินไปชดใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย

บริษัทเหล่านี้บางบริษัทก็ตั้งอยู่ในบ่อน บางบริษัทก็ตั้งอยู่นอกบ่อนพนัน และส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้จะมีผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าของกิจการอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชาได้รับการติดต่อจากคนไทยให้ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากมิใช่เป็นกรณีจับกุมดำเนินคดีโดยเจ้าพนักงานของรัฐ อีกทั้งเมื่อสอบถามโดยตรงไปที่บ่อนหรือสถานคาสิโนเจ้าหน้าที่ก็จะปฏิเสธอ้างว่าไม่เคยทราบเรื่อง

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ญาติต้องนำเงินไปชดใช้คืนให้บริษัทปล่อยเงินกู้เหล่านี้ เพราะหากไม่ยอมชดใช้ภายในเวลาที่กำหนดหรือเก ดเรื่องอื้อฉาวขึ้น ลูกหนี้จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างรวดเร็วในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับ

กรมการกงสุลจึงขอเตือนให้นักพนันที่เดินทางข้ามไปเล่นการพนันในกัมพูชาระมัดระวังและไม่ควรกู้ยืมเงินจากสถานประกอบการใดๆ ทั้งในและนอกบ่อนการพนันของกัมพูชา

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในต่างประเทศ


แนวทางการช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในต่างประเทศ

• ปัจจุบันมีภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้นในประเทศต่างๆบ่อยครั้ง อาทิ สึนามิ แผ่นดินไหว หิมะถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม พายุหมุน เฮอริเคน ภูเขาไฟระเบิด ไฟป่า ส่งผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากรวมทั้งทำลายสิ่งก่อสร้างและทรัพย์สิน แม้จะมีความพยายามที่จะดำเนินการเตือนภัยล่วงหน้าแต่ก็มักไม่ทันการณ์

• ขณะนี้มีคนไทยพำนักอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆอยู่ประมาณเกือบหนึ่งล้านคน นอกจากนั้นยังมีคนไทยเดินทางออกนอกประเทศด้วยจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวและประกอบธุรกิจถึงปีละประมาณ 2 ล้านคน โดยคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยประสบหรือรับทราบเกี่ยวกับภัยพิบัติบางอย่างมาก่อนเลย อาทิ หิมะถล่ม พายุหมุน ภูเขาไฟระเบิด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศ

• ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ให้การช่วยเหลือคนไทยที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศต่างๆอย่างเต็มที่โดย
- สำรองเงินทดรองเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศปีละประมาณ 15 ล้านบาท
- สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกจัดทำแผนอพยพคนไทยในกรณีต่างๆ รวมทั้งกรณีเกิดภัยธรรมชาติ
- สั่งการให้สำรวจจำนวนคนไทยในประเทศต่างๆ เป็นระยะๆ
- ส่งเสริมให้คนไทยสร้างเครือข่ายมีแกนนำกลุ่มประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยเพื่อจุดประสงค์ในการประชาสัมพันธ์กระจายข่าวสารหรือส่งข่าวสารกลับมายังสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่

อย่างไรก็ตาม โดยที่ภัยพิบัติธรรมชาติมักเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉับพลันทันทีโดยสามารถแจ้งเตือนกันเพียงระยะสั้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่คนไทยในต่างประเทศหรือผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศเป็นการชั่วคราวควรจะได้รับทราบแนวทางการช่วยเหลือตนเองเพื่อรักษาชีวิตเป็นการเบื้องต้นก่อนที่หน่วยงานไทยในต่างประเทศจะให้การช่วยเหลือได้

กระทรวงการต่างประเทศจึงขอประกาศให้คนไทยที่พำนักอยู่ในต่างประเทศและที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศให้ทราบถึงแนวทางช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นทั้งก่อนและหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติดังนี้

ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ
• ควรศึกษาสภาพแวดล้อมภูมิประเทศและความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติของประเทศที่ท่านพำนักอยู่หรือที่กำลังจะเดินทางไป โดยเฉพาะเหตุภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นในอดีตว่ามีความรุนแรงหรือบ่อยครั้งเพียงใด

• ศึกษาและให้ความสำคัญกับมาตรการเตือนภัยและปฏิบัติตามอย่างเคคร่งครัดต่อวิธีการป้องกันภัยในแต่ละประเทศที่กำหนด อาทิ ในหลายประเทศมีแผ่นดินไหวหรือพายุจะมีการแจ้งประกาศเตือนภัยด้วยหมายเลขหรือสี การเตือนภัยด้วยเสียงไซเรน รวมถึงติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ในขณะที่ท่านพำนักหรือเดินทาง และหากเป็นไปได้ควรสอบถามชาวท้องถิ่นที่สามารถให้ข้อมูลเตือนภัยแก่ท่านได้

• คนไทยทั้งที่พำนักในต่างประเทศเป็นการถาวรและเดินทางไปชั่วคราว ควรพกติดตัวหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทย และหมายเลขโทรศัพท์ช่วยเหลือฉุกเฉินของหน่วยงานท้องถิ่นในประเทศที่พำนัก

• เมื่อเดินทางถึงหรือพำนักในประเทศใด ควรลงทะเบียนไว้ที่สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศเพื่อที่หน่วยงานไทยจะได้สอบถามความเป็นอยู่ หรือประสานงานให้ความช่วยเหลือท่านได้ในยามฉุกเฉิน และสำหรับในประเทศที่ไม่มีสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ไทย ควรรายงานตัวกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย (หากมี) หรือสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ไทย ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศที่ท่านพำนักอาศัย ซึ่งตรวจสอบได้กับกระทรวงการต่างประเทศก่อนออกเดินทาง

• คนไทยทั้งที่พำนักในต่างประเทศเป็นการถาวรและเดินทางไปชั่วคราวควรให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องแนวทางการหลบภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและอยู่ในตึกสูงจะต้องหมอบอยู่ใต้โต๊ะ หรือสิ่งที่สามารถกำบังร่างกายหรือศีรษะได้ หรือเมื่อเกิดปรากฏการณ์สึนามิจะต้องรีบวิ่งขึ้นสู่ที่สูง

• คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ควรแจ้งให้ญาติพี่น้องได้ทราบถึงกำหนดการเดินทาง โรงแรมที่พัก ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ในต่างประเทศที่ติดต่อได้ เพื่อให้ญาติสามารถแจ้งให้ทางการไทยดำเนินการตรวจสอบในกรณีเกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อระบบการสื่อสารชำรุด

• คนไทยที่พำนักในต่างประเทศควรรวมตัวกันเป็นเครือข่ายมีแกนนำ ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติภัยธรรมชาติจะได้ช่วยเหลือกันเองได้ก่อน และแจ้งให้หน่วยงานไทยและหน่วยงานท้องถิ่นทราบเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

หลังเกิดภัยพิบัติ
• หากท่านปลอดภัยหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ รีบแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ไทยที่ใกล้ที่สุดหรือแจ้งหน่วยงานท้องภิ่นให้แจ้งหน่วยงานไทยทราบ เพื่อแจ้งให้ญาติในประเทศไทยทราบต่อไป หรือเพื่อขอรับการช่วยเหลือโดยด่วนที่สุด หรือหากท่านพบคนไทยได้รับบาดเจ็บมากและไม่สามารถให้การช่วยเหลือด้วยตนเองได้หรือเสียชีวิต ควรรีบแจ้งให้หน่วยงานไทยทราบเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

• ในกรณีของภัยพิบัติระบบการสื่อสารมักจะขัดข้องไม่สามารถติดต่อได้ หรือไม่มีหน่วยงานไทยในประเทศที่เกิดภัยพิบัติ ขอให้ท่านติดต่อขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ของมิตรประเทศของไทย หรือขอให้หน่วยงานเหล่านี้แจ้งต่อกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ไทยต่อไป อาทิ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศในกลุ่มสมาคมอาเซียนซึ่งอาจมีระบบหรือช่องทางการสื่อสารพิเศษ ล่าสุด กรณีเกิดแผ่นดินไหวที่เฮติเมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ขอความร่วมมือไปยังมิตรประเทศเพื่อให้ช่วยเหลือคนไทยที่ประสบภัยพิบัติในเบื้องต้นด้วย

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
5 มีนาคม 2553

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

กรณีแผ่นดินไหวในตุรกี


กรณีแผ่นดินไหวในตุรกี


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกีรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวทางตะวันออกของตุรกี โดยมีศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ที่จังหวัด Elazig (ห่างจากกรุงอังการาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 770 กม.) มีความรุนแรงประมาณ 6 ริกเตอร์ โดยมีรัศมีการสั่นสะเทือนประมาณ 21 กม. มี aftershock กว่า 40 ครั้ง แรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบต่อ 6 หมู่บ้านในเขตจังหวัดดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตจำนวน 51 คน และบาดเจ็บกว่า 50 คน ประชาชนไร้ที่พักอาศัยกว่า 100 คน แต่แรงสั่นสะเทือนไม่มีผลกระทบต่อเขื่อนกั้นแม่น้ำยูเฟรติสหลายเขื่อนทางตะวันออกของตุรกี


รัฐบาลตุรกีและกาชาดตุรกีได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยโดยการแจกเต๊นต์ จำนวน 230 หลัง ผ้าห่ม 2,000 ผืน อาหารและเครื่องยังชีพที่จำเป็น ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีตุรกีได้สั่งการให้การเคหะจัดสร้างบ้านใหม่ให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายที่สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวโดยเร็ว


ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในครั้งนี้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภัยภิบัติครั้งก่อนๆที่เกิดขึ้นในตุรกีและในประเทศอื่นๆ แต่ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากเนื่องจากบริเวณที่ได้รับผลกระทบอยู่ในท้องถิ่นชนบทที่ยากจน การสร้างบ้านดินแบบดั้งเดิมไม่แข็งแรง จึงพังทับผู้อาศัยขณะนอนหลับในเวลาเช้าตรู่ ซึ่งผลจากภัยพิบัติในครั้งนี้ทำให้ทางการตุรกีจะเริ่มการพัฒนาชนบทในด้านที่พักอาศัยเพื่อป้องกันภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในอนาคต


ในระหว่างเกิดอุบัติภัยในครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้โทรศัพท์ติดต่อกับคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ ซึ่งมีคนไทยอยู่ 2 คน ปรากฏว่าคนไทยทั้งสองปลอดภัยดี

แรงงานไทยภาคการเกษตรถูกจับกุมที่ประเทศโปแลนด์


แรงงานไทยภาคการเกษตรถูกจับกุมที่ประเทศโปแลนด์


เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอซอร์ ประเทศโปแลนด์ ได้รับแจ้งจากแรงงานไทย 20 คน (หญิง 18 คน ชาย 2 คน) ว่าถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (Border Guard) โปแลนด์จับกุม

จากการตรวจสอบพบว่าแรงงานกลุ่มนี้ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศโปแลนด์โดยผ่านบริษัทจัดหางานในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2552 โดยมีสัญญาจ้าง 1 ปี และถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโปแลนด์จับกุมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ที่เมือง Zielona Gora ในข้อหาไม่มีใบอนุญาตทำงาน และทำงาน ข้ามเขต โดยใบอนุญาตทำงานระบุสถานะงานว่า เป็นงานแปรรูปผลไม้ (Fruit Processing) แต่บริษัทฯ นำไปทำงานในฟาร์มเห็ด

แรงงานไทยทั้งหมดได้ถูกนำขึ้นฟ้องร้องในศาลปกครองประจำจังหวัด Lubuskie เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 และศาลมีคำพิพากษา (Administrative Order) ให้หน่วย Border Guard ดำเนินการส่งตัวแรงงานกลุ่มนี้กลับประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยแรงงานไทยถูกแยกขัง 3 แห่ง

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอซอร์ ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยดังกล่าว โดยส่งเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์กักกันเมื่อวันที่ 22, 27 และ 28 กุมภาพันธ์ 2553

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งให้ทางการโปแลนด์ทราบว่า แรงงานไทยที่ถูกจับกุมได้เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศโปแลนด์อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ภายใต้สัญญาจ้างกับบริษัทจัดหางานของโปแลนด์ และถูกส่งไปทำงานยังแหล่งงานต่าง ๆ ตามที่มีผู้ว่าจ้าง หากมีความผิดฟลาดเกิดขึ้น ย่อมเป็นความผิดของบริษัทฯ ไม่ใช่เป็นความผิดของแรงงานไทย แรงงานไทยจึงกลายเป็นเหยื่อของบริษัทนายหน้าชาวโปแลนด์ที่จัดหางานเพื่อเรียกค่านายหน้าแล้วพาไปเร่ร่อนหางานทำโดยไม่มีงานเป็นหลักแหล่งอย่างแท้จริง

หน่วย Border Guard โปแลนด์ กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องร้องบริษัทจัดหางานของโปแลนด์ ฐานทำผิดกฏหมายแรงงานโปแลนด์ในกรณีดังกล่าว สำหรับแรงงานไทยที่ถูกจับกุมคาดว่าจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทยภายในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2553

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโปแลนด์ ได้แจ้งให้ทางการโปแลนด์ทราบว่า แรงงานไทยที่ถูกจับกุมเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศโปแลนด์อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ภายใต้สัญญาจ้างกับบริษัทจัดหางานของโปแลนด์ และถูกส่งไปทำงานยังแหล่งงานต่าง ๆ ตามที่มีผู้ว่าจ้าง หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ย่อมเป็นความผิดของบริษัทฯ ไม่ใช่เป็นความผิดของแรงงานไทย แรงงานไทยจึงกลายเป็นเหยื่อของบริษัทนายหน้าชาวโปแลนด์ที่จัดหางานเพื่อเรียกค่านายหน้าแล้วพาไปเร่ร่อนหางานทำโดยไม่มีงานเป็นหลักแหล่งอย่างแท้จริง

หน่วย Border Guard โปแลนด์ กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องร้องบริษัทจัดหางานของโปแลนด์ ฐานละเมิดกฏหมายแรงงานโปแลนด์ในกรณีดังกล่าว สำหรับแรงงานไทยที่ถูกจับกุมคาดว่าจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทยภายในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2553

กรณีนักเรียนไทย 52 คน ถูกจับกุมในไมอามี


กรณีนักเรียนไทย 52 คน ถูกจับกุมในไมอามี

มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 2 และ 3 มีนาคม 2553 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐอเมริกาได้จับกุมนักเรียนไทยในนครไมอามี มลรัฐฟลอริดาจำนวน 52 ราย ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง เนื่องจากกลุ่มนักเรียนไทยดังกล่าวได้ลงทะเบียนเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสอนภาษา Florida Language School ซึ่งละเมิดกฎระเบียบเกี่ยวกับสถานศึกษาตามกฎหมายของสหรัฐฯ กล่าวคือ ไม่เข้มงวดให้นักเรียนผู้ได้รับสถานะการตรวจลงตราประเภทเอฟ 1 (วีซ่า F-1) ซึ่งต้องเป็นนักศึกษาเต็มเวลา (Full-Time Student) ไปเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยในขณะนี้โรงเรียนสอนภาษาดังกล่าวได้ถูกปิดลงไปแล้ว สำหรับนักเรียนที่ถูกจับกุมในครั้งนี้นอกจากนักเรียนไทยแล้ว ยังมีนักเรียนชาติอื่นๆ ด้วย(อาทิ ซีเรีย ฮอนดูรัส เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โคลัมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เตอร์กเมนิสถาน เคอร์กิสถาน ตุรกี อินโดนีเซีย เวเนซูเอลา และบราซิล) รวมทั้งหมดประมาณ 100 ราย

ในการช่วยเหลือนักเรียนไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐอเมริกา โดยได้รับแจ้งว่าขณะนี้นักเรียนไทยทั้ง 52 คน ยังอยู่ในความดูแลของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ ซึ่งทางการสหรัฐฯ ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว และมีกำหนดที่จะถูกส่งตัวขึ้นศาลคดีความผิดเกี่ยวกับการเข้าเมืองเพื่อพิจารณาคดีเป็นรายบุคคลในลำดับต่อไป ทั้งนี้ นักเรียนอาจขอเดินทาง กลับประเทศไทยโดยสมัครใจ หรือจะอยู่ต่อสู้คดีในศาลต่อไปก็ได้

อย่างไรก็ดี หากเป็นคดีที่ซับซ้อนมาก ศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวและจะพิพากษาลงโทษในขั้นตอนต่อไป สำหรับนักเรียนผู้อยู่ในข่ายถูกจับกุมตัวแต่ยังไม่ถูกจับนั้น ควรเดินทางกลับประเทศไทยในโอกาสแรกเพื่อจะได้ไม่ถูกจับกุมตัวดำเนินคดี ทั้งนี้ ขอให้แจ้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (เบอร์โทรศัพท์ +1 202 944 3600) ทราบเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งเตือนคนไทยที่ต้องการไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เพิ่มความระมัดระวังในการคัดเลือกโรงเรียนสอนภาษาที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามกฎหมายสถานศึกษาของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกานักเรียนที่ได้วีซ่าเข้าประเทศเพื่อเรียนภาษาอังกฤษจะต้องมีชั่วโมงการเรียนไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 18 ชั่วโมง และสำหรับคนไทยที่พำนักอาศัยในสหรัฐอเมริกา นั้น ควรเลือกประเภทการตรวจลงตราให้ถูกจุดประสงค์ของการพำนักเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ถูกจับกุมดำเนินคดีในที่สุด

(11 มีนาคม 2553)
ปรับแก้: 17 มิถุนายน 2553

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ญาติของคนไทยที่เสียชีวิตในต่างประเทศรับมอบเงินสิทธิประโยชน์

รองอธิบดีมธุรพจนา อิทธะรงค์ (เสื้อสีเหลือง) สนทนาสอบถามทุกข์สุขของครอบครัวทายาทแรงงานไทยที่เดินทางมารับมอบเงินสิทธิประโยชน์
รองอธิบดีมธุรพจนา อิทธะรงค์ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับทายาทแรงงานไทยที่เสียชีวิตในต่างประเทศซึ่งเข้ารับมอบเงินสิทธิประโยชน์


ญาติคนไทยที่เสียชีวิตในต่างประเทศรับมอบเงินสิทธิประโยชน์



เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2553 เวลา 11.00 น.นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานในพิธีมอบเงินชดเชยสำหรับแรงงานไทยซึ่งเสียชีวิตในต่างประเทศให้แก่ทายาท ครั้งที่ 3/2553 ณ ห้องประชุมกรมการกงสุล อาคารสำนักงานกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ

ในพิธีดังกล่าวมีทายาทของแรงงานผู้เสียชีวิตต่างประเทศจำนวน 5 รายมารับมอบเงินสิทธิประโยชน์อันพึงได้ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต /สถานกงสุลใหญ่ และกรมการกงสุลสามารถติดตามเรียกร้องมาได้เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 3, 256, 137.67 บาท และในโอกาสนี้รองอธิบดีกรมการกงสุลได้ขอให้ทายาทที่ได้รับเงินชดเชยนำเงินที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และขอให้ช่วยเผยแพร่ในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ด้วยว่า การเดินทางไปทำงานในต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฏหมายหากเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุให้ต้องเสียชีวิตยังสามารถเรียกร้องเงินสิทธิประโยชน์จากทางการของประเทศที่ไปทำงานได้อีกด้วย และผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองเดินทางไปทำงานในต่างประเทศโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็สามารถติดต่อสอบถามกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หรือที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้โดยตรง ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิพึงมีพึงได้ของตนเองในต่างประเทศ

นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 กรมการกงสุลได้ทำการมอบเงินสิทธิประโยชน์อันพึงได้แก่ญาติของแรงงานไทยที่ไปเสียชีวิตในต่างประเทศแล้ว จำนวน 15 ราย (รวมครั้งนี้ด้วย) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 15, 454, 628.13 บาท(สิบห้าล้านสี่แสนห้าหมื่นสี่พันหกร้อยยี่สิบแปดบาทสิบสามสตางค์)