วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

เร่งช่วยเหลือสาวไทย บ้านถูกไฟป่าในออสเตรเลียไหม้วอดทั้งหลัง

ตามที่ได้เกิดไฟป่าโหมลุกไหม้อย่างหนักในเขตรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย สร้างความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนใน 7 เมือง เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา นั้น ปรากฎว่า ภัยพิบัติคราวนี้มีคนไทยได้รับผลกระทบด้วย 1 ราย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้รับแจ้งจากองค์กร Thai Information and Welfare Association หรือ TIWA ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยชุมชนไทยเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในรัฐวิกตอเรียว่า มีครอบครัวคนไทยรายหนึ่งต้องการความช่วยเหลือเนื่องจากได้รับผลกระทบจากไฟป่า
สถานทูตจึงได้รุดไปตรวจสอบพบว่า ผู้เสียหายรายดังกล่าวเป็นหญิงไทยที่สมรสกับชาวอังกฤษและพำนักอยู่ในออสเตรเลีย ระหว่างเกิดไฟป่าไม่ได้อยู่ที่บ้านแต่ไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศไทย เมื่อกลับมาถึง พบว่าบ้านของตนถูกไฟป่าไหม้วอดหมดทั้งหลัง ต้องกลายเป็นคนไม่มีบ้าน เพื่อนบ้านใกล้เคียงจึงได้นำรถคาราวานมาให้ใช้เป็นที่อาศัยอยู่ชั่วคราว ขณะนี้กำลังดำเนินการขอรับเงินประกันค่าเสียหายจากบริษัทประกันอยู่ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด

สถานทูตและชุมชนไทยในรัฐวิกตอเรียกำลังช่วยกันเพื่อให้ครอบครัวหญิงไทยรายนี้ได้มีที่พักชั่วคราวแห่งใหม่ระหว่างรอเงินประกันทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันรถคาราวานที่อาศัยอยู่ไม่มีไฟฟ้าใช้ สถานทูตรับจะติดต่อกับหน่วยงานของออสเตรเลียเพื่อขอให้จัดหาที่พักใหม่ให้แก่ครอบครัวของหญิงไทยรายนี้เพราะอยู่ในฐานะผู้ประสบภัย

เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ว่าภัยพิบัติเกิดขึ้นได้เสมอและมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบได้กับทุกคน กรณีหญิงไทยรายนี้นับว่าโชคยังดีที่อยู่ในประเทศที่มีชุมชนไทยที่รวมตัวกันเข้มแข็ง เมื่อมีคนไทยต้องประสบความยากลำบากใดๆ ก็จะให้ความช่วยเหลือ ไม่ทิ้งกัน การส่งเสริมให้คนไทยในต่างประเทศมีความรัก ความสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่นแข้มแข็งเป็นอีกนโยบายหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะให้คนไทยในต่างประเทศเข้มแข็งดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตาชาวโลกว่า เราคนไทยรักกัน ช่วยเหลือกันเมื่อยามตกทุกข์ได้ยาก

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา
      : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
       กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ



      


วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

ไฟไหม้ผับที่บราซิล ไม่มีคนไทยเสียชีวิต

ตามที่เกิดโศกนาฎกรรม เพลิงไหม้สถานบันเทิงแห่งหนึ่งในเมือง ซานตา มาเรีย ที่ประเทศบราซิลเมื่อคืนวันที่ 27 มกราคม 2256 และทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากถึงกว่า 230 คน นั้น

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย ได้ตรวจสอบแล้ว ไม่มีรายงานว่ามีคนไทยหรือคนต่างชาติบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว


อยากให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งอุทธาหรณ์สำหรับคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ ให้เห็นว่าภัยมีอยู่รอบตัว และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาจริงๆ ดังนั้นพยายามอย่านำตัวเข้าไปเสี่ยงโดยเฉพาะสถานที่อโคจรที่บางแห่งมีทั้งการค้าประเวณี เป็นแหล่งมั่วสุมของยาเสพติด มีกลุ่มมิจฉาชีพคอยจ้องหาเหยื่อ
เพราะหากโชคร้ายต้องประสบภัยในต่างประเทศ ความยุ่งยากจะเพิ่มมากกว่าปกติหลายเท่า

ด้วยความปรารถนาดีจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย
                           : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                             กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

กงสุลเยี่ยมนักโทษไทยในบาห์เรน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ประเทศบาห์เรน รายงานการเข้าเยี่ยมนักโทษไทยที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรื่อนจำในกรุงมานามา ประเทศบาห์เรน ว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 นายธาตรี เชาวชตา หัวหน้าฝ่ายกงสุลของสถานทูต ได้เข้าเยี่ยมนักโทษไทยทั้งชายและหญิงที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ 2 แห่ง โดยได้มีการนำอาหารแห้ง ของใช้จำเป็น หนังสือพิมพ์และนิตยสารไทยที่สถานทูตได้รับบริจาคจากคนไทยในบาห์เรนไปมอบให้นักโทษไทยด้วย

นักโทษไทยในบาห์เรนขณะนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 12 คน เป็นชาย 1 คน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหามาตกรรม ที่เหลือเป็นหญิง ถูกคุมขังในข้อหายาเสพติดและข้อหาเกี่ยวกับค้ามนุษย์และค้าประเวณี รวมทั้งการอยู่เกินกำหนด (Overstay)

ในบาห์เรนมีคนไทยเข้าไปอาศัยทำมาหากินเป็นจำนวนมาก และมีหลายคนที่เข้าไปประกอบมิจฉาชีพ ทั้งค้าประเวณี ค้ามนุษย์ หลอกลวงคนไทยด้วยกัน สร้างปัญหาต่างๆ มากมาย บาห์เรนจึงเป็นประเทศที่มีคนไทยถูกจับกุมคุมขังอยู่เป็นจำนวนมาก แม้จะมีบางส่วนพ้นโทษไปแล้วแต่ก็มีหน้าใหม่วนเวียนเข้าไปในคุกอีก นับว่าเป็นความเสื่อมเสียภาพพจน์ของประเทศชาติและเกียรติภูมิของคนไทยโดยเฉพาะหญิงไทยที่ทุกวันนี้ถูกชาวต่างชาติมองว่าเป็นพวกค้าประเวณีไปหมดแล้ว

ปัญหานี้เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันอย่าสร้างความเสียหายให้มากไปกว่านี้

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา
        : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
         กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

ซาฮารา ลุกเป็นไฟ แรงงานไทยต้องระวัง

ทะเลทรายซาฮารา ทะเลทรายที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุดในโลก ตั้งอยู่ทางตอนหนือของทวีปแอฟริกา ธรรมชาติของทะเลทรายก็แห้งแล้งทุรกันดาร ยากที่มนุษย์จะอยู่อาศัยได้อยู่แล้ว ยิ่งมาในระยะหลายปีที่ผ่านมา ทะเลทรายอันเงียบสงบกลับต้องมีอุณหภูมิทะลุจนถึงจุดเดือดเมื่อกลุ่มก่อการร้ายย้ายฐานจากแถบตะวันออกกกลางมาลงหลักปักฐานกันอยู่กลางทะเลทรายแห่งนี้ และได้แสดงแสนยานุภาพแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์จับตัวประกันที่โรงแยกก๊าซในประเทศแอลจีเรีย รวมทั้งการก่อกบฎในประเทศมาลีด้วย

กลุ่มผู้ก่อการร้ายโดยเฉพาะที่แตกตัวมาจากกลุ่มอัล กออิดะห์ ที่เคยมีฐานที่มั่นอยู่ในแถบประเทศตะวันออกกลางและอัฟกานิสถานรวมถึงบางส่วนของปากีสถาน หลังจากที่ถูกปราบปรามอย่างหนักก็ได้ย้ายฐานมายังพื้นที่แถบทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาเหนือ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ทุกรกันดารกว้างใหญ่ไพศาล มีอาณาเขตติดต่อกับหลายประเทศแต่ก็เป็นเสมือนเส้นเขตแดนที่แบ่งกันแค่ในแผนที่ เพราะในความเป็นจริงแทบจะไม่มีประเทศใดสามารถควบคุมดินแดนในทะเลทรายอันกว้างขวางได้อย่างเต็มที่  จึงเป็นช่องว่างให้กลุ่มก่อการร้ายเข้ามาอาศัยซ่องสุมกำลังและจัดหาอาวุธและฝึกการโจมตีการก่อการ้ายกันอย่างสะดวก และได้ก่อกรรมทำเข็ญเที่ยวก่อเหตุต่างๆ นาๆ ล่าสุดไปจับตัวประกันในโรงแยกก๊าซในแอลจีเรียที่เป็นข่าวครึกโครม มีการปะทะกันรุนแรงยิ่งกว่าในหนังฮอลลีวู้ด ตัวประกันที่เป็นคนต่างชาติตายกันเป็นเบือ (โชคดีที่ไม่มีคนไทยทำงานอยู่ด้วย) เพราะทางการแอลจีเรียไม่มีนโยบายต่อรองอะไรทั้งสิ้นกับผู้ร้ายพวกนี้ แสดงให้เห็นว่า ต่อจากนี้ไป จะไม่มีการเจรจา ไม่มีการประนีประนอม ต่อไปนี้จะมีแต่การใช้ความรุนแรงอย่างเดียวเท่านั้น ในการจัดการกับปัญหาผู้ก่อการร้าย

สำหรับคนไทย แม้ว่าจะยังโชคดี พระคุ้มครอง ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งที่รุนแรงถึงชีวิตในคราวนี้ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในคราวหน้า และอาจจะถึงคิวที่คนไทยเราต้องกลายเป็นเหยื่อก็เป็นได้ ในเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมิได้นิ่งนอนใจเพราะในประเทศแอลจีเรีย รวมทั้งหลายๆ ประเทศในแถบทะเลทรายซาฮารามีคนไทยทำงานอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย และมักจะทำงานอยู่ในเขตเสี่ยงภัยอีกด้วย ทางบริษัทนายจ้างและสถานทูตไทยทุกแห่งในประเทศแถบนี้กำลังรวบรวมรายชื่อคนไทยทุกคน รวมทั้งสถานที่ทำงานหรือจุดที่พำนักอาศัย   ได้มีการกำชับคนไทยทุกคนให้ระวังตัวให้มากๆ ติดตามข่าวสารตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุด ให้ทุกคนรู้จักการเอาตัวรอดเมื่อถึงเวลาคับขัน

และสำหรับคนไทยที่กำลังคิดหรือมีคนมาติดต่อให้ไปทำงานในประเทศแถบนี้ ขอให้คิดให้ดีๆ ตรวจสอบสถานการณ์ให้ถ้วนถี่ ประเทศในแถบตะวันออกกกลางและแอฟริกาแม้จะมีทรัพยากรมหาศาลแต่ก็มีความเสี่ยงสูงมาก ทั้งภัยพิบัติธรรมชาติและภัยจากสงครามและความไม่สงบทางการเมืองและการก่อการร้าย ซึ่งสามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อไม่มีการเตือนล่วงหน้า งานในประเทศแถบนี้ แม้จะเงินดี แต่อาจไม่คุ้มค่ากับการเอาชีวิตไปเสี่ยง ขอให้ดูกรณีโรงแยกก๊าซที่แอลจีเรียเป็นตัวอย่างว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงจะไม่มีใครช่วยท่านได้ คนงานต่างชาติต้องสังเวยไป 48 ชีวิต และยังมีที่สูญหายไปอีกหลายสิบคน อย่าลืมว่า แนวทางการจัดการกับเหตุการณ์ก่อการร้ายนั้น จะไม่มีการเจรจาต่อรองกันอีกต่อไปแล้ว นั่นหมายถึงตัวประกันจะไม่ได้รับความปลอดภัยเพราะจะตกอยู่ท่ามกลางการปะทะด้วยอาวุธที่ร้ายแรงที่ทั้งสองฝ่ายระดมใส่กันอย่างไม่ยั้งมือ

ฟังดูแล้ว ถ้าจะให้ดี อยู่บ้านเราน่าจะดีกว่านะ อย่าไปเสี่ยงเลย

ด้วยความปรารถนาดีจาก : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                           กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
                                       


 

อียิปต์ ร้อน อีกครั้ง หลังครบรอบปฏิวัติ

ข่าวร้อนช่วงปลายเดือนมกราคม อีกข่าวหนึ่งที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ ก็คือเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงรุนแรงในประเทศอียิปต์
หลังจากประเทศนี้ได้มีการปฎิวัติไปเมื่อ 25 มกราคม 2554 ก็ไม่เคยอยู่ในความสงบอีกเลย มีการชุมนุมประท้วงและเกิดเหตุการณ์รุนแรง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมาโดยตลอด จนเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม มีการประกาศของกลุ่มมวลชนต่างๆ ว่าจะจัดชุมนุมใหญ่ในโอกาสครบรอบ 2 ปี การปฏิวัติ คราวนี้เรียกว่า " งานใหญ่ " เพราะมีการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางทั้งในไคโรและตามหัวเมืองต่างๆ ของประเทศ ทั้งเมืองอเล็กซานเดรีย พอร์ตซาอิด สุเอส และอิสมาเลีย มีผู้เสียชีวิตรวมๆ แล้วหลายสิบคน ผู้บาดเจ็บรวมเป็นพันๆ คน เลยทีเดียว

เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนประธานาธิบดี Mohamed Morsi ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัด คือ พอร์ตซาอิด สุเอส และอิสมาเลีย เป็นเวลา 30 วัน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจากันก่อนที่สถานกาณณ์จะแย่ไปกว่านี้ แต่ดูเหมือนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะไม่ให้ความร่วมมือเพราะยังยื่นข้อเรียกร้องที่ปฏิบัติได้ยากแก่รัฐบาล เช่น ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ให้ปลดรัฐบาลปัจจุบันและตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เป็นต้น

สถานทูตไทยที่ไคโรกำลังติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะมีคนไทยอยู่ในอียิปต์เป็นจำนวนมาก (ประมาณ 2,000 คน ) และเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ดียังไม่มีรายงานคนไทยในอียิปต์ต้องประสบอันตรายใดๆ จากการชุมนุมประท้วง และคนไทยทุกคนในอียิปต์รับทราบและเข้าใจการปฏิบัติตัวในสถานการณ์รุนแรงแบบนี้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังมีรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอยู่เสมอ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนไทยที่ต้องไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง จะหวังให้ทางการของประเทศเจ้าบ้านมาคอยช่วยเหลือคุ้มครองอย่างเดียวคงไม่ทั่วถึง ต้องดูแลตัวเอง และต้องรวมตัวกันรวมกลุ่มกันไว้ เพราะเมื่อถึงคราวที่สถานการณ์คับขันจริงๆ จนไม่สามารถจะอยู่ได้ต่อไปในประเทศนั้นแล้ว การให้ความช่วยเหลือจะได้เป็นไปด้วยความสะดวกเรียบร้อยและรวดเร็ว เพราะสถานทูตจะทราบจำนวนคนไทยและลำดับการดำเนินการอพยพได้ถูกต้อง

ด้วยความปรารถนาดีจาก
              : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร
              : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ทูตไทยที่เดนมาร์กเข้าพบ ผอ. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 ท่านทูตวิมล คิดชอบ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้เข้าพบกับนาย Henrik Grunner ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเดนมาร์ก เพื่อแนะนำตัวในโอกาสที่เข้ารับหน้าที่ และได้ใช้โอกาสนี้หารือแนวทางความร่วมมือในอนาคต โดยท่านทูตได้กล่าวว่าไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองดูแลคนไทยในต่างประเทศเป็นอย่างมาก ในเดนมาร์ก มีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 10,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนต่างชาติชุมชนใหญ่ในประเทศเดนมาร์ก ส่วนใหญ่เป็นหญิงไทยที่สมรสมีครอบครัวกับชาวเดนมาร์ก อาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งทางสถานทูตก็ได้ใช้โอกาสทุกครั้งที่มีการพบปะชุมชนคนไทยเหล่านี้ ย้ำให้เป็นชุมชนต่างชาติที่ดี เคารพกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านเพื่อให้ชุมชนไทยเป็นชุมชนที่มีคุณภาพและเป็นตัวอย่างที่สร้างสรรค์ของชุมชนต่างชาติในเดนมาร์ก

ทางด้านผอ. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แจ้งว่า ที่ผ่านมาชุมชนคนไทยในเดนมาร์กไม่นับเป็นชุมชนที่สร้างปัญหาให้กับสังคมเดนมาร์กแต่อย่างใด และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับสถานทูตในทุกๆ ด้านเพื่อให้การดำรงอยู่ของคนไทยในเดนมาร์กเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง ในปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานได้ได้ออกใบอนุญาตพำนัก ( Residence Permit ) ประเภทการอยู่ร่วมกับครอบครัว ( Family Reunification ) ให้แก่คนไทยจำนวน 579 ราย ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 1 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีจำนวน 395 ราย

ผอ. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยังแจ้งด้วยว่า ขณะนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากและเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน โดยระหว่างนี้ คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาพำนักในเดนมาร์กด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ กันนั้น สามารถดูรายละเอียดข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ที่ http://www.nyidanmark.dk/en-us/frontpage.htm  ซึ่งมีการจัดทำรายละเอียดบางส่วนเป็นภาษาไทยด้วย

เดนมาร์กเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติต้องการเข้าไปพำนักอาศัย รวมทั้งคนไทยด้วย ที่ผ่านมาคนไทย ถือเป็นกลุ่มคนต่างชาติที่มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาคนเดนมาร์ก  คือเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามกฎหมายของเดนมาร์ก ไม่สร้างปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรม คนไทยเป็นผู้ที่ขยันทำมาหากินประกอบอาชีพสุจริต ปรับตัวให้เข้ากับสังคมเดนมาร์กได้ดี

การจะได้มาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของคนชาติอื่นอย่างเช่นกรณีของชาวไทยในเดนมาร์กนั้น ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ นอกจากจะัต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองแล้ว ยังต้องใช้ความรัก ความสามัคคีกันของคนไทยทุกคนด้วย

ข้อมูลดีๆ จาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
                  : กองคุ้มครองและดูแลคนไทยในต่างประเทศ
                    กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
                  : Danish Immigration Services

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

อิหร่านคุมเข้มนำเงินออกนอกประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน รายงานว่า อิหร่านได้ออกระเบียบใหม่ว่าด้วยการถือเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศอิหร่าน โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า ธนาคารกลางอิหร่านประกาศให้ผู้ที่จะเดินทางออกนอกประเทศซึ่งถือเงินสดเกิน 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือเงินตราสกุลอื่นในจำนวนที่เทียบเท่ากัน ต้องกรอกเอกสารสำแดงเงินตรา ( Currency  Declaration  Form ) ที่ธนาคารของอิหร่านที่จ่ายเงินให้ และธนาคารดังกล่าวต้องทำการบันทึกข้อมูลการสำแดงเงินตราดังกล่าวพร้อมออกเอกสารให้กับผู้สำแดง

และสำหรับผู้ที่จะเดินทางออกนอกประเทศอิหร่านที่ถือธนบัตรเกิน 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐหรือธนบัตรเงินตราสกุลอื่นในจำนวนที่เทียบเท่ากัน จำเป็นต้องแสดงเอกสารสำแดงเงินตรา ( Currency  Declaration  Form ) หรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เอกสารแสดงการจ่ายเงินจากบัญชีธนาคารหรือร้านแลกเงินให้เจ้าหน้าที่ๆ สนามบิน ตรวจสอบด้วย

ใครที่จะเดินทางเข้า-ออกประเทศอิหร่านก็ขอให้ปฏิบัติตามนี้ด้วย มิฉะนั้น อาจมีความผิดและถูกอายัดเงิน อย่าลืมว่า อิหร่านเป็นประเทศที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การส่งเงินตราต่างประเทศทำได้ยากและอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง



ข้อมูลจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน
 


ช่วย 2 สาวไทย ถูกใช้งานเยี่ยงทาสในเคนยา


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา รายงานความช่วยเหลือแม่บ้านหญิงไทย 2 ราย ที่ไปทำงานให้กับเศรษฐีชาวเคนยาเชื้อสายอินเดียให้เดินทางกลับประเทศไทย เหตุที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือก็เพราะว่า 2 สาว ทนไม่ไหวกับสภาพการทำงานที่ถูกนายจ้างใช้งานเยี่ยงทาส

2 สาวไทยจากเมืองกาญจน์ เกิดอยากจะไปทำงานเป็น Nanny ( พี่เลี้ยงเด็ก ผู้ดูแลคนป่วย คนชรา) ในต่างประเทศ จึงได้ไปติดต่อแจ้งความประสงค์ไว้กับบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งที่มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่แถวถนนวิทยุ เขตลุมพินี กรุงเทพฯ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในอาคารแมนชั่นแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดนนทบุรี หลังจากนั้นไม่นานทั้งคู่ก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทนายหน้าว่ามีตำแหน่งงานที่เคนยาว่างอยู่ 2 ตำแหน่งพอดี ทั้ง 2 สาวจึงตกลงใจรับข้อเสนอและเดินทางไปเคนยาด้วยความดีใจที่ได้งานทำ

พอไปถึงบ้านของนายจ้าง สาวเมืองกาญจน์ทั้งสองถึงกับตะลึงในความใหญ่โตโอ่อ่า บ้านนี้มีรั้วรอบขอบชิด มีคนสวน มียามรักษาความปลอดภัย ต่างก็ยินดีปรีดาที่จะได้ทำงานในคฤหาสน์หลังโต ทั้งสองคนได้รับมอบหมายแบ่งหน้าที่ให้ดูแลรับใช้ตัวนายจ้างอายุ 50 ปี  และมารดาของนายจ้างอายุ 88 ปี

แต่อยู่ได้ไม่นาน ฝันก็สลาย เมื่อทั้ง 2 สาว พบว่า นายจ้างเป็นคนใจร้ายมาก ใช้งานพวกตนเยี่ยงทาสสมัยโบราณ ทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน ทุกวันไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาพักผ่อน และนอกจากจะดูแลคนชราตามที่ตกลงกันแล้ว ยังมีงานอื่นๆ ที่ถูกนายจ้างจิกหัวใช้ให้ทำอีกมากมายหลายอย่าง จะออกไปข้างนอกแต่ละครั้งก็จะต้องมีคนของนายจ้างประกบไปด้วยทุกครั้ง  รวมทั้งยังถูกดุด่าอย่างหยาบคายเกือบทุกวัน เจอเข้าไปแบบนี้ 2 สาว ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เกิดอาการเครียดจัด มีอาการมึนงง พูดจาไม่รู้เรื่อง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนแอและทำงานไม่ค่อยไหว นายจ้างก็ยิ่งดุด่าหนักเข้าไปอีก อับจนหนทางจนแทบจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง 1 ใน 2 สาว เครียดจนสลบ เพื่อนขอให้นายจ้างพาไปหาหมอ นายจ้างโหดก็ไม่พาไป ขอให้พาไปสถานทูตไทย ก็บอกว่าสถานทูตย้ายไปประเทศอื่นแล้ว

ถึงตอนนี้ 2 สาวก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้ คนทำสวนก็ส่งสายตาหื่นกามคอยจ้องจะเคลมสวาทพวกเธอตลอดเวลา สุดท้ายเธอต้องให้สินบนยามเฝ้าบ้าน จ่ายเงินไปคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,000 บาท ยามจึงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นปล่อยให้ 2 สาว หนีออกมาหาสถานทูตได้

ท่านกงสุลเห็นสภาพของทั้งคู่แล้ว ก็รีบสอบปากคำและดำเนินการให้ 2 สาว ได้กลับเมืองไทยให้ได้เร็วที่สุด จากนั้นก็ได้นำตัวทั้งคู่ไปส่งที่สนามบินด้วย ทั้งสองคนยังมีอาการเครียดจัด ขณะเดินผ่านเครื่องตรวจโลหะที่สนามบิน 1 ใน 2 คน ถึงกับเกิดอาการเกร็ง มือเท้าเย็นเฉียบ ยืนไม่ไหว เพื่อนกับท่านกงสุลต้องช่วยกันประคองไปหาที่นั่งและปฐมพยาบาลหายาหม่องยาดมมาให้เธอและคอยปลอบใจไม่ให้เครียด จนเธอมีอาการดีขึ้นจึงได้พาขึ้นไปส่งถึงบนเครื่อง ทั้งสองสาวก็ได้กลับ้านถึงเมืองกาญจน์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556

ขณะนี้ ทางสถานทูตและกระทรวงการต่างประเทศกำลังตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัทนายหน้าที่ส่งทั้ง 2 สาวไปทำงานที่เคนยา เพราะทั้งคู่ให้การว่าไปทำงานที่เคนยาโดยไม่มีสัญญาจ้าง และใช้วีซ่าท่องเที่ยว ไม่มีใบอนุญาตทำงานใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตามกฎหมาย การส่งคนไปทำงานต่างประเทศจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง และต้องผ่านการเห็นชอบรับรองจากกระทรวงแรงงานหรือกระทรวงการต่างประเทศก่อน
แต่เชื่อได้ว่า บริษัทนายหน้ารายนี้ไม่ได้มีการดำเนินการให้ถูกต้องจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ก็ขอบอกขอเตือนกันอีกครั้งสำหรับคนไทยที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ ถ้าจะติดต่อโดยตรงกับนายจ้างก็ทำได้แต่ก็ต้องแน่ใจว่ามีความสามารถในการดูแลตัวเองได้เวลาเกิดปัญหา อย่างน้อยภาษาอังกฤษต้องพูดได้สื่อสารได้ จะได้รู้ทันนายจ้าง สามารถที่จะถกเถียงโวยวายได้เองหากเกิดปัญหากับนายจ้าง แต่หากรู้ตัวว่าไม่มีความสามารถเช่นนั้น ก็ขอให้ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะกฎหมายไทยมุ่งคุ้มครองคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ โดยสถานทูตไทยและกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ประสานงานเพื่อตรวจสอบนายจ้าง สัญญาจ้าง สภาพการทำงาน ฯลฯ ถ้าเห็นท่าไม่ดีก็จะไม่อนุญาตให้เดินทางออกไป แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือพวกนายหน้าที่เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว จัดการให้คนไทยออกไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าว คนหางานที่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ทันก็จะตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกให้ไปทำงานโดยบอกว่าไม่ต้องมีสัญญาก็ได้ ไม่เป็นไร วีซ่าทำงานเดี๋ยวค่อยไปทำทีหลัง นายจ้างเป็นคนดี จ่ายเงินตรงเวลา มีโอที สารพัดข้ออ้างที่จะยกมาอ้างให้คนหางานหลงเชื่อ และมีคนไทยหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมานักต่อนักแล้ว

เรื่องแบบนี้จะไม่มีวันหมดไปได้ถ้าคนไทยยังหน้ามืดตามัว หลงเชื่อพวกนายหน้าที่ีไม่มีความรับผิดชอบ เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว นายหน้าที่ดีที่สุจริตจะรับผิดชอบปฏิบัติตามกฎหมาย จะต้องตรวจสอบนายจ้างว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ เคยมีประวัติไม่ดีบ้างหรือปล่าว งานที่ทำเป็นงานประเภทใด เป็นงานที่อันตรายเกินไปหรือไม่ หรือเป็นงานที่สกปรกเสี่ยงภัยหรือไม่ สภาพของที่ทำงานเป็นอย่างไร ไม่ใช่ให้คนงานไปพักอยู่อย่างแออัดหรือที่ทุรกันดารเกินกว่ามนุษย์จะอยู่ได้ และยังต้องตรวจสอบตัวคนหางานด้วยว่ามีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงานหรือไม่ ไม่ใช่จะไปเป็นช่างไฟฟ้าแต่ไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าเลย เคยขับแต่รถแทร็กเตอร์แต่สมัครไปขับรถเครน เป็นต้น ส่วนนายหน้ารายใดบอกแต่ว่าไม่เป็นไร ไปได้ วีซ่าทำงานไม่ต้อง ใช้วีซ่าท่องเที่ยวก็ได้ ไม่มีประสบการณ์ทำงานไม่เป็นไร นายจ้างใจดีจะสอนงานให้ แบบนี้ให้รู้ไว้เลยว่า ไม่สุจริต ขี้โกง เห็นแก่ได้ พวกนี้จะเรียกค่านายหน้าในอัตราสูงและไม่ทำอะไรให้ถูกตามกฎหมาย พอไปถึงก็จะเกิดปัญหาสารพัด ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างต้องการตำแหน่งคนขับรถบดถนน แต่ที่ส่งไปขับเป็นแต่รถแทร็คเตอร์ ไปถึงแล้วนายจ้างพบว่าไม่มีความสามารถตามที่บอกไว้ก็ขอให้ส่งตัวกลับและส่งคนใหม่มาแทน บางครั้งก็ปรับลดตำแหน่งให้ไปทำงานในตำแหน่งกรรมกรแทน เงินค่าจ้างก็ต้องลดลงไปด้วย บางรายนายจ้างจะให้ไปขับรถเครน ที่ส่งไปก็เคยขับรถเครนอยู่แล้ว นึกว่าจะไม่มีปัญหา กลับกลายเป็นว่า รถเครนที่จะต้องไปขับเป็นรุ่นใหม่ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัย เจอไปแบบนี้ พี่ไทยก็ต้องถอย ทำไม่เป็นแน่นอนเพราะที่เคยขับที่เมืองไทยเป็นรุ่นเก่าใช้คันโยก

สำหรับกรณีงานเกี่ยวกับแม่บ้าน หรือผู้ดูแลคนชรา พี่เลี้ยงเด็กก็จะมีประเด็นให้ต้องคิดพิจารณากันให้ดีๆ  ก่อน กล่าวคือ งานประเภทนี้ไม่ใช่ตลาดของคนไทย คือถ้านายจ้างต่างชาติต้องการคนไปดูแลคนแก่หรือเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เขาจะพิจารณาคนชาติอื่นๆ ก่อน เช่น ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย คนไทยจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายเสมอ นั่นหมายถึงว่า ถ้ามีตำแหน่งงานประเภทนี้หลุดมาถึงคนไทย นั่นแสดงว่า นายจ้างรายนั้นถูกปฏิเสธจากลูกจ้างชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมาแล้ว คงมีพฤติกรรมที่แย่มากๆ ถึงได้ไม่มีใครอยากไปทำงานด้วย อย่างเช่น นายจ้างชาวเคนยารายนี้ ที่ร่ำรวยแต่มีจิตใจโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม

ด้วยความปรารถดีจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี
                      : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                        กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ





 

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

โปรตุเกสใจดี ออกระเบียบให้คนต่างชาติแลกใบขับขี่ได้

โปรตุเกส ออกกฎหมายอนุญาตให้คนต่างชาติที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ยังมีอายุใช้งานอยู่ และถือใบอนุญาตการมีถิ่นที่อยู่ของโปรตุเกสสามารถแลกเปลี่ยนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของคนชาติกับใบขับขี่รถยนต์ของโปรตุเกสได้ตามประเภทของรถยนต์ที่เหมือนกัน โดยใบขับขี่รถยนต์ของคนต่างชาตินั้นต้องได้รับการรับรองจากสถานทูต / สถานกงสุล ของชาติของตนก่อนว่ายังมีอายุใช้งานได้อยู่

การออกกฎหมายข้างต้นถือว่าเป็นประโยชน์แก่คนต่างชาติ รวมถึงคนไทยที่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่แล้วและมีถิ่นที่อยู่ในโปรตุเกสที่จะได้รับสิทธิขอเปลี่ยนใบอนุญาตขับขี่จากชาติของตนเป็นใบขับขี่รถยนต์ของโปรตุเกส

สำหรับเอกสารที่จะต้องใช้ในการนี้คือ ใบขับขี่ตัวจริงที่ยังไม่หมดอายุ หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัว และ บัตรประจำตัวผู้มีถิ่นพำนักถาวรในโปรตุเกส ( Residency Permit ) โดยให้ยื่นต่อหน่วยงาน Institutoda Mobillidade e dos Transportes Terrestres (IMTT) และต้องเสียค่าธรรมเนียม 30 ยูโรด้วย

คนไทยที่ประสงค์จะไปแลกเปลี่ยนใบขับขี่โปรตุเกสก็ขอให้ตรวจสอบก่อนว่าชื่อ-นามสกุลภาษาอังกฤษที่ปรากฎในใบขับขี่ไทยกับหนังสือเดินทางถูกต้องตรงกัน มิฉะนั้นทางโปรตุเกสจะไม่ยอมรับ เคยมีคนไทยไปทำใบขับขี่โปรตุเกสแต่ตัวสะกดชื่อสกุลในหนังสือเดินทางกับใบขับขี่ไม่ตรงกัน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากโปรตุเกสจะไม่รับพิจารณา ทางออกจึงมี 2 ทางคือ ต้องกลับเมืองไทยมาแก้ไขตัวสะกดชื่อ-สกุล ในเอกสารทั้ง 2 อย่างให้ตรงกัน หรือไม่ก็ต้องไปสอบใบขับขี่โปรตุเกสใหม่ โดยจะต้องเข้าโรงเรียนและทดสอบการขับขี่รถยนต์ก่อน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 900-1000 ยูโร

ข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน

กงสุลไทยที่กวางโจวเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังไทย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว รายงานการเข้าเยี่ยมนักโทษไทยในเรือนจำเมืองกว่างโจวเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 56 ว่า รองกงสุลได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังหญิงจำนวน 15 คน โดยได้นำเงิน จดหมาย หนังสือและสิ่งของที่ได้รับจากญาติของผู้ต้องขังไปให้ รวมทั้งได้นำหนังสือธรรมะและสิ่งของอื่นๆ ไปให้ผู้ต้องขังด้วย

จากการพูดคุยกับผู้ต้องขังทราบว่า ช่วงนี้อากาศที่จีนหนาวมากทำให้ผู้ต้องขังหลายคนป่วยและเจ็บตามร่างกาย ทางเรือนจำให้การรักษาไม่ทั่วถึงเนื่องจากแพทย์ไม่พอและมีผู้ป่วยมากกว่าปกติ ท่านรองกงสุลจึงได้ขอความร่วมมือทางเรือนจำให้ดูแลการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังชาวไทยด้วย

ในจำนวนนี้มีนักโทษ 1 ราย ที่ถูกจับกุมในคดีฉ้อโกงทางโทรศัพท์กำลังจะพ้นโทษในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ทางสถานกงสุลจึงได้จัดเตรียมเอกสารเดินทางและบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อให้เดินทางกลับประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว นักโทษสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ทันทีที่พ้นโทษออกจากเรือนจำ

ปัจจุบันมีนักโทษไทยถูกคุมขังในเรือนจำมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งสิ้น 46 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 33 ราย ส่วนใหญ่ถูกจับกุมในข้อหายาเสพติด โดยเมื่อปีที่แล้ว มีคนไทยถูกจับกุมข้อหายาเสพติดเพียง 1 ราย ซึ่งลดลงจากปีก่อนๆ ที่ถูกจับกุมเฉลี่ยปีละประมาณ 4-5 ราย ทั้งนี้อาจเกิดจากความเข้มงวดของทางการไทยในการตรวจค้นและปราบปรามยาเสพติด ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องให้คนไทยทราบข้อมูลและระมัดระวังตัวไม่ให้ถูกหลอกลวงให้ลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศจีนที่มีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต

ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว


สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐฯ

ด้วยขณะนี้ ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ (flu) ในเกือบทุกมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ทางสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ได้รายงานสรุปสถานการณ์ของโรคระบาดดังกล่าวมาดังนี้

ขณะนี้ การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ได้ขยายตัวไปเกือบครบทุกมลรัฐแล้ว โดยมี 25 มลรัฐอยู่ในระดับที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง เฉพาะใน 4 มลรัฐ ใหญ่ๆ มีผู้ป่วยและเสียชีวิตแล้ว ดังนี้

มลรัฐอิลลินอยส์ (Illinois) มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 370 คน เสียชีวิตแล้ว 27 คน
มลรัฐมินนิโซตา (Minnessota) มีผู้ป่วย 1,121 คน เสียชีวิตแล้ว 27 คน
มลรัฐแคนซัส (Kansas) มีผู้เสียชีวิตแล้ว 460 คน
มลรัฐมิสซูรี (Missouri) เสียชีวิตแล้ว 20 คน

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก คนชรา และคนเร่ร่อน ซึ่งแต่ละมลรัฐกำลังดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันโรคหวัดให้แก่ประชาชนแล้วอย่างเร่งด่วน

ในส่วนของคนไทยที่อยู่ใน 4 มลรัฐดังกล่าว (รวมจำนวนทั้งสิ้น 16,581 คน) ยังไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคหวัดดังกล่าว สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดทำ " ข้อควรรู้เพื่อต่อสู้ไข้หวัดใหญ่ " และเผยแพร่ในเว็ปไซต์ของสถานกงสุลฯ ด้วยแล้ว ( http://thaiconsulatechicago.org) เพื่อเป็นแนวทางการปฎิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งให้ข้อมูลของศูนย์สุขภาพของนครชิคาโกที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย

ด้านสมาคมพยาบาลไทยแห่งรัฐอิลลินอยส์ก็ได้จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่คนไทยในมลรัฐตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ก่อนที่โรคจะระบาดหนัก ซึ่งจนถึงขณะนี้ ทางสมาคมฯ ยังยินดีให้บริการเพิ่มเติมแก่คนไทยที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนด้วย

สถานกงสุลใหญ่ฯ แจ้งด้วยว่าในชั้นนี้ยังไม่ปรากฎข้อมูลว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่และไม่มีรายงานเกี่ยวกับการขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเขตรับผิดชอบของสถานกงสุลใหญ่ฯ

ข้อมูลจาก : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

แผ่นดินถล่มที่ Zhenxiong County มณฑลยูนนาน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุณหมิง รายงานเหตุการณ์แผ่นดินถล่มที่อำเภอ  Zhenxiong เมือง Zhaotong มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 เกิดเหตุแผ่นดินถล่มที่เมืองดังกล่าวนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 46 คน จาก 14 ครัวเรือน จากการถูกดินโคลนถล่มทับหมู่บ้าน
ทางการท้องถิ่นของมณฑลยูนนานได้ระดมความช่วยเหลือทั้งในการขุดค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในโคลน และยังได้ระัดมเงินทุนเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยเป็นเงินจำนวน 11 ล้านหยวน และเคลื่อนย้ายผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบของสถานที่เกิดเหตุดินถล่ม จำนวน 629 คน จาก 136 ครัวเรือน ไปยังสถานที่ปลอดภัยแล้ว อีกทั้งยังได้จัดหาอาหาร น้ำดื่ม และที่พักชั่วคราว และเริ่มดำเนินตามแผนการฟื้นฟูความเสียหายโดยการสร้างที่พักอาศัยใหม่ให้แก่ผู้ประสบภัย



จากการประสานกับมณฑลยูนนาน ยืนยันว่า ไม่มีรายงานชาวต่างชาติหรือคนไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินถล่มในครั้งนี้

เรื่องนี้ถึงแม้ว่าไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ก็น่าจะเป็นอุทธาหรณ์ได้สำหรับคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ก่ออันตรายอาจเกิดได้ตลอดเวลา ดังนั้นคนไทยควรรวมกลุ่มกัน สร้างเครือข่ายส่ยสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามยาก

ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุณหมิง
        : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
         กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

ซีเรียยังถล่มกันไม่เลิก คนไทยต้องหนีตายอีกระลอก


จากการที่ประเทศซีเรียกำลังประสบปัญหาการต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรงมากจนลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองไปแล้ว มีการปะทะต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฎ ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนก็ถูกถล่มจนเสียหายยับเยิน เกินกว่าที่จะอยู่อาศัยได้แล้วในประเทศนี้

คนไทยในซีเรียที่มีอยู่ประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตและสถานกงสุลกิตติมศักดิ์กลับเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่บางส่วนซึ่งเป็นหญิงไทยที่แต่งงานมีครอบครัวยังคงอาศัยอยู่ในซีเรีย จนมาถึงวันนี้ เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นจนชักจะอยู่ไม่ไหว ต้องร้องขอให้สถานทูตไทยที่กรุงริยาด ( มีเขตอาณาดูแลประเทศซีเรีย ) ช่วยเหลือกลับประเทศไทย



ทางสถานทูตซึ่งก็ได้เตรียมพร้อมอยู่แล้วจึงประสานกับกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยที่กรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรียให้จัดหาเที่ยวบินให้คนไทยเหล่านี้เดินทางกลับบ้านโดยเร็วที่สุด ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คนไทย 6 คน เดินทางกลับถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556

ยังมีคนไทยเหลืออยู่อีก 13 คน ที่ยังมีความจำเป็นต้องอยู่ในซีเรียอีกระยะเวลาหนึ่ง ยังไม่สามารถเดินทางออกจากซีเรียในตอนนี้ได้ ทางสถานทูตไทยก็ได้เตรียมการทั้งด้านเอกสารเดินทางและตั๋วเครื่องบินไว้ให้พร้อมแล้ว สามารถเดินทางได้ทันทีที่พร้อม

ที่มา :  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด