วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

นักล้วงเวียด...เต้นระบำหลอกนักท่องเที่ยว



                แม้ว่า “เมษายน” จะเป็นเดือนที่คนไทยต้องอดทนกับอุณหภูมิที่ร้อนระอุอย่างที่สุด แต่ก็เป็นเดือนแห่งความสุขที่คนไทยทุกคนต่างรอคอย เพราะมีวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศจึงเป็นกิจกรรมยอดนิยมในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การท่องเที่ยวในแถบภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพราะเดินทางไปง่าย และเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก
                มีคำเตือนถึงนักท่องเที่ยวไทยที่จะไปเวียดนามเล็กน้อยว่า เมื่อไม่นานมานี้มีกรณีนักท่องเที่ยวชาวไทยถูกกลุ่มมิจฉาชีพเวียดนามที่มักจะเตร็ดเตร่รอเหยื่ออยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆขโมยทรัพย์สินไปจนแทบหมดตัว ไม่ว่าจะเป็น กล้องถ่ายภาพ เลนส์ และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่าประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ บาท มิจฉาชีพกลุ่มนี้ใช้อุบายทำทีมาร้องเพลงเต้นรำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของนักท่องเที่ยว พอได้ทีตอนเผลอก็ได้ขโมยทรัพย์สินหลบหนีไป แต่งานนี้คนไทยยังโชคดีที่คนร้ายเอาของที่ขโมยได้ไปขายที่โรงจำนำแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถติดตามไปจับกุมคนร้ายได้ทั้งแกงค์รวม ๔ คน และคืนของกลางให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้ทั้งหมด
เรื่องนี้เห็นทีจะต้องชมเชยฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจเวียดนามว่าดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเอาใจใส่และมี
ประสิทธิภาพ...แต่ก็อย่างว่า ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีเสมอไป ดังนั้น เทศกาลสงกรานต์นี้ หากจะไปท่องเที่ยวที่ไหน อย่างไร ก็
ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง อย่าพกเงินสดหรือของมีค่าติดตัวไปมากนัก...ไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้ ยังไงก็มีมิจฉาชีพจ้องรอ
ตะครุบเหยื่อนักท่องเที่ยวทั้งนั้นค่ะ

                                                                                                                เรื่องโดย นางสาวรัตนา บุตรดี
นางสาวสุจิตรา ศิริพาณิชย์

(กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ)

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

พึงตระหนัก ... ก่อนไปทำงานที่ลิเบีย (ตอนจบ)


          สถานทูตไทย ณ กรุงตริโปลี รายงานข้อมูลล่าสุดของเดือนมีนาคม  ๒๕๕๗ ว่า มีพี่น้องแรงงานไทยประมาณ  ๒,๑๐๐  คน  กำลังทำงานอยู่ในลิเบีย  ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยทำงานในประเทศนี้มาก่อนแล้ว  พอมีประสบการณ์และคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นพอสมควร  พวกเขาจึงพอจะเอาตัวรอดได้และพร้อมจะเสี่ยงทำงานในสภาพการณ์ดังกล่าว  แต่หากเป็นคนงานที่เพิ่งจะเดินทางไปครั้งแรก แถมยังไปแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็เห็นจะต้องระมัดระวังตัวให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ  เพราะคนงานอาจต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ จนปรับตัวกับสภาพแวดล้อมไม่ได้
สังคมของประเทศลิเบียในช่วงหลังการโค่นล้มระบอบกัดดาฟีได้เกิดกระแสความรู้สึกหวาดระแวงต่อคนต่างชาติขึ้นในหมู่ประชาชน   บางพื้นที่อาจถึงขั้นเกลียดชังคนต่างชาติเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นพวกที่เคยเกื้อหนุนอดีตผู้นำของเขา  ชาวต่างชาติบางประเทศจึงตกเป็นเป้าหมายถูกทำร้ายร่างกาย  ถูกปล้นสะดมชิงทรัพย์  กระทั่งถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
แม้ว่าสถานการณ์จะยากลำบากและอันตราย  แต่ความพยายามที่จะนำแรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานในลิเบียก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน  เพราะสำหรับนายทุนผู้ประกอบการแล้วการแย่งชิงธุรกิจจากโครงการเร่งด่วนของรัฐที่แม้จะมีความเสี่ยงสูงแต่รายได้ก็มีมหาศาลจากความได้เปรียบในภาวะไร้คู่แข่ง  แรงงานไทยของเราซึ่งส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม แรงงานกึ่งฝีมือและแรงงานมีฝีมือ  รวมทั้งบางคนอาจเข้าขั้นเป็นแรงงานวิชาชีพ ประเภทวิศวกร สถาปนิก หรือ ผู้ควบคุมงาน  จึงเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของประเทศนี้อย่างมาก  บางครั้งยังไม่ทันมีงานให้ทำบรรดานายจ้างท้องถิ่นก็พยายามหาหาเหตุพาคนงานเข้าไปรอไว้ก่อน จนกลายเป็นปัญหาหลอกลวง ลอยแพคนงานในภายหลัง
ดังนั้นใครก็ตามหากคิดจะไปทำงานที่ลิเบียต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบเพื่อประกอบการตัดสินใจ  และต้องเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อม อย่าได้เสี่ยงโดยไม่จำเป็น  ..  และอย่าเพิกเฉยต่อข้อมูลที่สถานทูตไทยกรุณาเตือนสติมาให้ฉุกคิดข้างต้นเด็ดขาด  ... 

                                            



                                                       .................................................
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

พึงตระหนัก ... ก่อนไปทำงานที่ลิเบีย (ต่อ)












                พี่น้องแรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบียจำเป็นต้องรู้ข้อมูลสำคัญที่สถานทูตไทยประจำกรุงตริโปลี รายงานสรุปมาให้ทราบ ดังนี้
        1. ต้องระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  เพราะหลายเมืองในประเทศลิเบีย ไม่ว่ากรุงตริโปลี  ซึ่งเป็นเมืองหลวง หรือเมืองสำคัญอื่น ๆ อาทิ  เบงกาซี  ชินตัน  มิซาราตา ฯลฯ  ยังเต็มไปด้วยกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งตกลงกันเรื่องผลประโยชน์ไม่ได้ พร้อมจะก่อสถานการณ์ความรุนแรงได้ทุกขณะ
        2. ประชาชนลิเบียและชุมชนชาวต่างชาติ  ยังไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติเหมือนเมื่อช่วงก่อนเกิดสงครามกลางเมือง
       3. โครงการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทต่างชาติส่วนใหญ่ประสบปัญหาชะงักจนไม่อาจดำเนินการได้
       4.  การโอนเงินจากธนาคารของประเทศลิเบียกลับประเทศไทยหรือโอนไปยังประเทศที่สามมีความยุ่งยากและไม่สะดวกอย่างมาก  คนงานส่วนใหญ่ต้องไปใช้บริการผ่าน Western Union  หรือ   Money Gram ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมในอัตราค่อนข้างสูงและจำกัดวงเงินที่จะส่ง
      5.  หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  กฎระเบียบขาดความชัดเจน  ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากการต้องรอรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งภายหลังการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ทั้งนี้การรอคอยรัฐบาลใหม่อาจยาวนานไปถึงสิ้นปีนี้ หรือต้นปี ๒๕๕๘  ไม่มีอะไรแน่นอน

ปัจจุบันทุกข์ของพี่น้องแรงงานไทยในประเทศลิเบียจึงมีอย่างไม่จบสิ้น  ...  จะขอรายงานต่อในตอนหน้า
ผู้อำนวยการสุวัฒน์ แก้วสุข
ผอ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ




                                                                        ..........................................

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

คิดให้รอบคอบ ... ก่อนไปทำงานที่ลิเบีย





ควันหลงจากการอพยพแรงงานไทยเมื่อครั้งเกิดสงครามกลางเมืองที่ประเทศลิเบียเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔  ยังคงปรากฎให้เห็นเป็นระยะ  แรงงานบางรายเดือดร้อนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะมีหนี้สินจากการกู้เงินเป็นค่าใช้จ่ายก่อนไปทำงาน  บางคนมีปัญหานายจ้างค้างจ่ายค่าแรงไม่รู้จะไปทวงคืนกับใคร บ้างก็หอบเงินสกุลพื้นเมืองลิเบียกลับมาเมืองไทยแล้วไม่สามารถแลกเป็นเงินไทยได้เพราะรัฐบาลเดิมล่มสลายไปแล้ว  ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานไทยต้องตระหนัก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ  กรมการกงสุล พยายามส่งเจ้าหน้าที่ออกเดินสายพบปะกับประชาชนในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านในชนบทยากจน นิยมเสี่ยงโชคไปหางานทำในต่างแดน  เจ้าหน้าที่ก็พยายามบอกเล่าเหตุการณ์ความทุกข์ยากต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยทั่วโลก ให้ทั้งข้อแนะนำการใช้ชีวิต ข้อควรระมัดระวัง และวิธีติดต่อกับเจ้าหน้าที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยเมื่อต้องการความช่วยเหลือ 



แต่ปัญหาเดิม ๆ ยังเกิดขึ้นวนเวียนอย่างซ้ำซาก  เช่น  ในกรณีประเทศลิเบียที่หลายคนคงไม่ลืมว่า เมื่อสามปีก่อนรัฐบาลไทยต้องช่วยอพยพแรงงานนับหมื่นรายอย่างทุลักทุเลออกจากสมรภูมิสงครามราวกับคลื่นมนุษย์  แต่กระนั้นในปัจจุบันกลับพบข้อมูลว่ามีแรงงานไทยเดินทางกลับเข้าไปทำงานในประเทศนี้มากถึงกว่า  ๒,๐๐๐  ราย  ทั้งๆ ที่สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยดีนัก คนงานหลายคนไปถึงแล้วต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย อาทิ ความเป็นอยู่ลำบาก  ค่าครองชีพสูง  ไม่มีงานจะให้ทำ  ได้รับเงินค่าจ้างล่าช้า ฯลฯ  จนกระทั่งทนไม่ไหวต้องตัดสินใจกลับเมืองไทยโดยที่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็มี  เรื่องนี้ยังต้องว่ากันอีกยาว
ปัญหาจะเป็นอย่างไรนั้น ...  จะสรุปรายละเอียดให้ทราบในตอนต่อไป...

                                                .............................................................


กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

สงกรานต์ ... เที่ยวต่างแดนต้องระวังสุขภาพด้วย

                  



                                อากาศยามนี้ร้อนระอุไปทั่วประเทศและใกล้เทศกาลสงกรานต์เข้ามาเต็มทีแล้ว  ความที่เป็นเทศกาลหยุดยาว  หลายคนอาจวางแผนจะพาครอบครัวเดินทางไปพักผ่อนที่ยุโรป อเมริกา และในหลายประเทศย่านเอเชีย  บางคนใช้บริการของบริษัทท่องเที่ยว  บ้างก็ไปกันเองแบบส่วนตัว  เรียกว่าในช่วงสงกรานต์อย่างนี้บรรดาสายการบิน  โรงแรม ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่างรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างคึกคักทีเดียว




                                กรมการกงสุลจึงขอฝากข้อคิดสำหรับพี่น้องชาวไทยที่ประสงค์จะไปต่างประเทศในช่วงนี้  ดังนี้
        อย่าลืมตรวจสอบวันหมดอายุของหนังสือเดินทาง   ต้องให้มีอายุใช้งานอย่างน้อย ๖ เดือนขึ้นไปจึงจะใช้เดินทางไปต่างประเทศได้
        ตรวจสอบสภาพอากาศและสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศที่จะไปอย่างรอบคอบ  เพราะในขณะที่บ้านเรากำลังร้อนจัด  อากาศในประเทศอื่นอาจหนาวเย็น   ฝนตก หรือ อากาศแปรปรวนไม่แน่นอน  ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
         ควรทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพก่อนเดินทาง  เรื่องนี้ขอย้ำว่าสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนมากประสบปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วยในต่างประเทศ  ต้องชำระค่ารักษาพยาบาลในราคาแพงกว่าบ้านเราหลายสิบเท่า  ทั้ง ๆ ที่เป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย
        ประการสุดท้าย  อย่าลืมพกหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ของสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศที่จะเดินทางไปติดตัวไว้ด้วย  เพราะหากประสบเหตุร้ายแรงไม่คาดคิด...  เจ้าหน้าที่กงสุล จะได้คอยช่วยเหลือ ดูแลทุกข์สุขได้ทันท่วงที  ตรวจสอบข้อมูลได้ที่  www.mfa.go.th 


ด้วยความปรารถนาดีจากกรมการกงสุล  กระทรวงการต่างประเทศ
                ....................................

 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052







วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

ไปทำงานต่างแดน ... ระวังเป็นหนี้สินท่วมตัว



        
          ในช่วงเดือน มีนาคมที่ผ่านมา อาจารย์ ดร. ดุษฎี อายุวัฒน์ พร้อมด้วยทีมงานคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ลงพื้นที่ร่วมกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ที่ตำบลพรหมเทพ และตำบลหนองเมธี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจัดโครงการเสริมสร้างทักษะแรงงานอีสานก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศ จุดมุ่งหมายก็เพื่ออบรมให้ความรู้เชิงลึกแก่ชาวบ้านและผู้นำชุมชน หาทางป้องกันปัญหาชาวบ้านถูกหลอกลวงและตกระกำลำบากในต่างแดน
           ในอดีต จำนวนพี่น้องชาวสุรินทร์ที่เดินทางจากบ้านเกิดไปทำงานในต่างประเทศมีไม่มาก นัก แต่ละปีไม่เกินร้อยคน แต่เมื่อปี ๒๕๕๖ ตัวเลขกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า ๒๐๐ คนเศษ ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในชนบทห่างไกล ซึ่งแม้ว่าฐานะความเป็นอยู่ของพวกเขาไม่ได้ยากลำบากนักก็ตาม แต่ความที่สมาชิกในชุมชนมีค่านิยมเดินทางไปทำงานในต่างแดน เพราะเชื่อกันว่าจะได้รับค่าแรงสูง งานสบาย แถมยังได้ออกไปเปิดหูเปิดตาหาประสปการณ์ด้วย ส่วนใหญ่จึงตามเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องไปต่างแดนกันแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สมัครไปกับบริษัทจัดหางานบ้าง พาซื่อไปกับนายหน้าบ้าง กระทั่งซื้อตั๋วเครื่องบินไปกันเองเลยก็มี
          โอกาสตกเป็นเหยื่อถูกหลอก ลวงของชาวชนบทในอีสานจึงมีค่อนข้างสูง เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยจะได้รู้ข้อมูลเตือนภัยจากทางราชการมากนัก ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือพวกเขาต้องเป็นหนี้สินจากการกู้ยืมเงิน นายทุนนอกระบบเพื่อนำไปชำระเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บางคนต้องกู้เงินโดยนำที่นาไปจำนองไว้ บางคนเผลอเซ็นสัญญายืมเงินที่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ต้องเป็นหนี้ บางคนกู้เงินแบบเซ็นสัญญาฝากขายที่ดินโดยไม่รู้ตัว ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินกำลัง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว สูญเสียที่ดินทำกินจากกลโกงสารพัดรูปแบบ เป็นเรื่องยากที่ใครจะเข้าไปช่วยเหลือได้ มีแต่คนงานเองเท่านั้นที่ต้องรอบคอบ ระมัดระวังตัวอย่าให้เขาหลอกได้ และต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่า รายได้จากการไปทำงานคุ้มค่าพอที่จะเสี่ยงตัดสินใจไปต่างประเทศหรือไม่ ... เพราะทุกวันนี้ปัญหาหลอกลวงคนไทยมีมากเหลือเกิน

เพิ่มเติม https://www.facebook.com/photo.php?fbid=477321409038500&set=a.181779465259364.31523.181726898597954&type=1&relevant_count=1

............................................... 
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052