วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

มีวีซ่าเยอรมันแล้ว ระวัง อาจถูกยกเลิก



เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา กงสุลไทยที่นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ก็มีอันต้องแจ้นไปที่สนามบินนานาชาติที่นครแฟรงก์เฟิร์ต เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีนักศึกษาหญิงไทยคนหนึ่งถูก ตม. เยอรมนีปฏิเสธไม่ให้เข้าเมืองและกักตัวไว้ทั้งที่มีวีซ่าถูกต้อง

เมื่อไปถึงพบว่าหญิงไทยรายดังกล่าวเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี เดินทางไปฝึกงานที่ประเทศไทยเป็นเวลา 6 เดือน ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะต้องกลับเข้าศึกษาต่อที่เยอรมนี แต่มาถูกกักตัวและไม่อนุญาตให้เข้าเมืองทั้งที่มีวีซ่าถูกต้องทุกอย่างและวีซ่าก็ยังไม่หมดอายุด้วย

กงสุลจึงได้สอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้กับทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ปรากฏว่า วีซ่าของนักศึกษาไทยรายนี้แม้จะยังไม่หมดอายุก็จริงแต่ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากตามกฎหมายเยอรมนี หากเดินทางออกจากเยอรมนีติดต่อกันเกินกว่า 6 เดือน วีซ่าจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ

เจอเข้าไปแบบนี้ ก็ต้องยอมกลับประเทศไทย กงสุลจึงได้ประสานกับทางสถานทูตเยอรมนีในประเทศไทยให้อนุเคราะห์ออกวีซ่าให้นักศึกษาไทยรายนี้เป็นกรณีเร่งด่วน เนื่องจากต้องรีบกลับไปศึกษาให้ทันภายในวันที่ 23 เม.ย. 55 พร้อมกันนี้ ก็ได้ช่วยอำนวยความสะดวกประสานกับการบินไทยส่งตัวกลับประเทศไทยในวันเดียวกันนั้นเอง นักศึกษารายนี้จึงต้องเสียเงินค่าเครื่องบินไปฟรีๆ และยังต้องเสียเวลากลับมาทำวีซ่าอีก
งานนี้ ไม่รู้จะโทษใคร ก็ใครจะไปรู้ได้ว่าวีซ่าจะถูกยกเลิกกลางอากาศแบบนี้ ส่วนทาง ตม. เยอรมนี แม้ว่าเขาจะเห็นใจแต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่อาจผ่อนปรนให้ได้

เรื่องนี้ก็ฟังไว้เป็นอุทธาหรณ์ว่า เดินทางไปต่างประเทศ ตรวจสอบเรื่องหนังสือเดินทางและวีซ่าให้ดี อย่าให้หมดหรือใกล้หมดอายุ แต่ถ้าตรวจสอบดีแล้วและยังโชคร้ายเหมือนนักศึกษาไทยรายนี้ก็ขอให้ทำใจ เพราะอย่างที่เห็นว่า แม้กงสุลจะเข้ามาช่วยดูแลช่วยเจรจาแต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก

ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต


อาร์เจนตินาคุมเข้มแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ





สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา รายงาน ว่า ตามที่รัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศใช้มาตรการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้สถานบันการเงินที่ซื้อขายเงินตราต่างประเทศทุกแห่งต้องรายงานการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและจำนวนเงินเพื่อขออนุมัติจากส่วนกลาง
มาตรการดังกล่าวสร้างความไม่สะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั่วไปพอสมควร ดังเช่นนักท่องเที่ยวชาวไทยรายหนึ่งที่ได้แลกเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินเปโซของอาร์เจนตินาโดยไม่มีหลักฐานหรือใบเสร็จ และเมื่อจะแลกคืน ปรากฏว่าไม่สามารถแลกได้ สถานทูต จึงฝากเตือนมายังคนไทยที่จะเดินทางไปอาร์เจนตินา ว่า ควรแลกเงินกับสถาบันการเงินที่ออกใบเสร็จให้ได้เท่านั้น และแลกในจำนวนเท่าที่จำเป็น และถ้าเป็นไปได้อาจใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตซึ่งจะสะดวกกว่าเพราะสถานประกอบการต่างๆ ส่วนใหญ่รับบัตรเครดิตอยู่แล้ว อีกทั้งร้านค่าหลายแห่งยังรับเงินสดสกุลดอลลร์สหรัฐด้วย จึงอาจไม่จำเป็นต้องเงินเปโซมากเกินไป

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

ชาวใต้แห่ใช้บริการรับรองเอกสารที่สำนักงานหนังสือเดินทางหาดใหญ่



จากการที่กรมการกงสุลได้ขยายบริการด้านการรับรองเอกสารไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อให้บริการกับประชาชนที่ประสงค์จะใช้บริการรับรองเอกสารต่างๆ ประชาชนก็ได้รับทราบและมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ. สงขลา (หาดใหญ่) ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีผู้มาขอใช้บริการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากเดิม ทางด้านประชาชนผู้มาใช้บริการต่างก็บอกว่าได้รับความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายและเวลาเป็นอย่างมากเพราะไม่ต้องเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ

นายเอกอรรถ ทิตาราม หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ. สงขลา ยังแจ้งด้วยว่า สำนักงานฯ มีเขตติดต่อใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย ผู้มาขอใช้บริการ ทั้งหนังสือเดินทางและการรับรองเอกสารส่วนใหญ่จึงเป็นคนไทยในจ.สงขลารวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่จะมาขอบริการรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร์/ทะเบียนครอบครัว หนังสือให้ความยินยอมของบิดามารดาเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ เอกสารราชการอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีชาวมาเลเซียที่ติดต่อค้าขายอยู่แถบภาคใต้ของไทยนำเอกสารเกี่ยวกับการค้า การก่อตั้งนิติบุคคล มารับการประทับตรารับรองด้วย

หัวหน้าสำนักงานยังได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่มีหญิงไทยจำนวนมากที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือยื่นขอรับรองเอกสารประเภทหนังสือรับรองความเป็นโสดและทะเบียนสมรสที่ออกให้โดยสำนักงานอำเภอในเขตจังหวัดสงขลาและจังหวัดอื่นๆ พร้อมคำแปล เพื่อใช้ประกอบการขอจดทะเบียนสมรสกับชาวมาเลเซียหรือในทางกลับกันชายชาวมาเลเซียจะยื่นคำร้องขอให้รับรองหนังสือรับรองความเป็นโสดเพื่อใช้ประกอบการจเทะเบียนสมรสกับหญิงไทย เรื่องนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีขบวรการค่าแรงงานในประเทศมาเลเซียที่ใช้การจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทยเพื่อขอวีซ่าเข้าไปทำงานในมาเลเซีย (เรื่องหญิงไทยที่มาเลเซียนี้ได้เคยนำเสนอมาแล้ว)

ที่มา : สำนักงานหนังสือเิดินทางชั่วคราว จ. สงขลา
       : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
         กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

ระทึก นักท่องเที่ยวไทยติดค้างในเขตสู้รบที่ปากีสถาน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ได้รับการติดต่อจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 3 คน ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในเขตเมือง Gilgit ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถาน และติดค้างอยู่ไม่สามารถเดินทางออกจากเมืองนี้ได้เนื่องจาก เกิดเหตุการปะทะกันของชุมชุนมุสลิมต่างนิกายและเกิดจลาจลขึ้น จนทางการปากีสถานต้องประกาศภาวะฉุกเฉินและห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน (เคอฟิว) 

ทางสถานทูตได้ติดตามสอบถามรายละเอียด ทราบว่า ตำรวจปากีสถานได้อพยพนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในเมือง Gilgit มาไว้รวมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งและไม่อนุญาตให้เดินทางออกจากเมืองเพื่อความปลอดภัย สถานทูตจึงได้ประสานกับทางการท้่องถิ่นขอให้ช่วยดูแลความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยทั้ง 3 คน ต่อมา ทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ได้จึงได้ขอให้นักท่องเที่ยวทั้งหมดเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยทหารปากีสถานได้จัดเครื่องบินลำเลียงไปรับนักท่องเที่ยวทั้งหมดรวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมายังกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวง 

จากการสอบถามนักท่องเที่ยวทั้งสามคน ทราบว่า เดินทางเข้ามาเที่ยวในเขตภูเขาภาคเหนือของปากีสถานซึ่งมีภูมิประเทศที่สวยงาม โดยมีกำำหนดจะเดินทางกลับประเทศไทยหลังสงกรานต์ แต่มาเกิดเหตุการณ์รุนแรงเสียก่อน ทางสถานทูตจึงได้อำนวยความสะดวกเรื่องอาหารและที่พักในกรุงอิสลามาบัดและจัดให้คนไทยทั้งหมดเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 55 

เรื่องนี้นับเป็นอุทธาหรณ์ที่ดีสำหรับคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาความมั่นคงปลอดภัย กรณีนี้ คนไทยทั้งสามคนเป็นฝ่ายโทรศัพท์มาแจ้งแก่สถานทูตเพื่อขอความช่วยเหลือ แสดงให้เห็นว่า มีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานทูตในประเทศที่ตนจะเดินทางไปซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และทำให้อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่นกรณีนี้ ยังพอจะติดต่อขอให้สถานทูตช่วยเหลือได้ คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ อย่างน้อยก็ควรจะมีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานทูต/สถานกงสุลติดตัวไว้ด้วยนะครับ และอีกเรื่องหนึ่ง คือ ก่อนจะเดินทางไปประเทศใดก็ตาม ควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลเสียก่อน ทั้งเรื่องสภาพอากาศ และสถานการณ์ทั่วไปในประเทศนั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยไม่ต้องไปตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ

ภูมิประเทศที่สวยงามของเขตภูเขาทางเหนือของปากีสถาน

แต่ก็มักจะมีเหตุการณ์ปะทะกันของชุมชุนมุสลิมต่างนิกายเป็นประจำ
มีผู้คนเจ็บตายกันเป็นจำนวนมาก




ทางการต้องส่งกำลังติดอาวุธมารักษาความสงบเรียบร้อย

 ทหารปากีสถานต้องส่งเครื่องบิน C130 ไปรับนักท่องเที่ยวออกมาจากพื้นที่

ด้วยความปรารถนาดี จาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด
                                        : กองคุ้มครองและดูแลผลผประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                                          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

สถานทูตไทยที่วอชิงตันประกาศเตือนเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร

งานเข้า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้รับจดหมายตีกลับฉบับหนึ่ง ซึ่งพบว่าเป็นจดหมายที่มีผู้ปลอมแปลงโดยลงลายมือชื่อของเอกอัครราชทูต เพื่อแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อคนไทยคนหนึ่งในลักษณะข่มขู่ให้คนไทยคนนี้ยุติการทำงานที่ผิดกฎหมายและขอให้เดินทางออกจากสหรัฐฯ
สถานทูตจึงต้องออกประกาศเตือนคนไทยที่อาจได้รับจดหมายในลักษณะเดียวกันนี้ และยังได้ประสานผ่านวัดไทย/สมาคมคนไทย ต่างๆ เพื่อให้คนไทยในสหรัฐฯพิจารณาใช้ความระมัดระวังหากได้รับจดหมายลักษณะดังกล่าวขอให้ตรวจสอบกับสถานทูตก่อนและอย่าได้หลงเชื่อ พร้อมกับย้ำว่าสถานทูต ไม่มีหน้าที่ดำเนินการที่ส่งผลให้เกิดการจับกุมคนไทยแต่อย่างใด  




จดหมายปลอมที่ส่งถึงคนไทยในสหรัฐอเมริกา 

เรื่องนี้ ก็ขอย้ำกันอีกครั้งว่า หน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งสถานทูต/สถานกงสุลไทยทุกแห่ง คือการให้ความดูแล คุ้มครองคนไทยและผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน ไม่ว่าคนไทยผู้นั้นจะอยู่ในต่างประเทศในสถานะใด และไม่มีทางเลยที่จะดำเนินการใดๆ เช่นออกหนังสือราชการหรือเอกสารใดๆ ในเชิงข่มขู่หรือบีบบังคับผู้ใด 
หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถตรวจสอบกับสถานทูต/สถานกงสุล หรือกระทรวงการต่างประเทศได้ตลอดเวลา อย่าหลงเชื่อข้อมูลที่มิจฉาชีพนำไปเผยแพร่

ที่ีมา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน
        : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
         กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ


กงสุลสัญจร ณ กรุงคาร์ทูม ประเทศซูดาน




ปัจจุบัน คนไทยเราเดินทางไปพำนักอาศัยและท่องเที่ยวทำงานอยู่ทั่วทุกมุมโลก บางครั้งก็อยู่ในประเทศหรือเมืองที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนไทยเดินทางไปหรือไปพำนักอาศัยเป็นจำนวนมาก เพราะแม้แต่ชื่อประเทศหลายคนยังไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป
คนไทยที่ไปพำนักอาศัยในประเทศหรือเมืองที่ไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยตั้งอยู่ ก็อาจจะประสบกับความไม่สะดวกในหลายด้านโดยเฉพาะด้านเอกสารและการติดต่อกับหน่วยงานราชการของประเทศนั้นๆ เนื่องจากการดำเนินการใดๆ ก็ตามมีความจำเป็นต้องใช้เอกสารหรือต้องมีการรับรองเอกสารต่างๆ ซึ่งเมื่อไม่มีสถานทูตสถานกงสุลของไทยตั้งอยู่ก็จะต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสถานทุตหรือสถานกงสุลที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อรับบริการต่างๆ
กระทรวงการต่างประเทศ เล็งเห็นถึงปัญหาความไม่สะดวกของพี่น้องชาวไทยที่พำนักในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือเมืองที่ไม่มีสถานทูต/สถานกงสุลของไทยตั้งอยู่ จึงได้มีนโยบายให้สถานทูต/สถานกงสุลทุกแห่ง จัดการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไทยเหล่านี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้ โดยให้สถานทูต/สถานกงสุลส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังเมืองหรือประเทศในเขตอาณาที่อยู่ห่างไกลและมีคนไทยพำนักอาศัยอยู่ เพื่อเยี่ยมเยือนสอบถามสารทุกข์สุกดิบและบริการงานด้านกงสุล ซึ่งจะต้องจัดเป็นประจำทุกปี และที่ผ่านมาสถานทูต/สถานกงสุลต่างๆ ก็ได้ให้ความสำคัญและจัดกิจกรรม กงสุลสัญจร ได้จัดการเดินทางไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทยที่อยู่ในเขตอาณาความดูแลของตนอย่างสม่ำเสมอ
ประเทศซูดาน ที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งแม้จะเป็นประเทศที่แห่งแล้งกันดาร แต่ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีคนไทยไปพำนักอาศัย ทั้งทำงานและศึกษา อยู่เป็นจำนวนนับร้อยชีวิต คนไทยที่นี่ต้องอยู่ด้วยความยากลำบากต้องอดทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนสุดๆ บางช่วงของปีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 50 องศาเซลเซียส การสาธารณสุขของประเทศนี้ก็ยังไม่ได้มาตรฐาน และประเทศนี้ขาดแคลนแทบจะทุกอย่าง ค่าครองชีพก็สูงมากเพราะต้องนำเข้าสินค้าแทบทุกชนิด อีกทั้งบางพื้นที่ของประเทศยังมีการสู้รบกันแบบดุเดือดนองเลือดจนสหประชาชาติต้องส่งทหารจำนวนมากเข้าไปรักษาสันติภาพซึ่งก็มีทหารไทยร่วมอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง


ความแห้งแล้งกันดารและความอดอยากแร้นแค้นพบเห็นได้ทั่วไปในซูดาน

การสู้รบรุนแรงยังคงมีอยู่ เป็นการรบแบบล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายทารุณ



กองกำลังเฉพาะกิจ 980 ของไทยที่ปฏิบัติภารกิจที่เมืองมุกจา ประเทศซูดาน ภายใต้สหประชาชาติ
มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวซูดาน


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งมีเขตอาณาดูแลประเทศซูดานด้วย ก็ได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรเพื่อให้บริการแก่คนไทยพันธุ์อึดที่อาศัยในประเทศนี้อยู่เป็นประจำทุกปี ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 28-30 มีนาคม ที่ผ่านมา สถานทูตได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ของสถานทูต นำโดยท่านอัครราชทูต ชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ ไปให้บริการงานด้านกงสุลและเยี่ยมเยือนคนไทยที่พำนักในกรุงคาร์ทูม ประเทศซูดาน   ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี โดยนอกเหนือจากการให้บริการด้านกงสุล อาทิ การทำหนังสือเดินทาง การออกสูติบัตร การจดทะเบียนสมรส  และการออกหนังสือรับรองขอผ่อนผันการเข้ารับการตรวจเลือกทหาร แล้ว คณะฯ ยังได้เยี่ยมเยียนและสอบถามปัญหาความเป็นอยู่ ตลอดจนให้คำแนะนำปรึกษาในเรื่องต่างๆ แก่คนไทยและนักศึกษาไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงคาร์ทูมด้วย นอกจากนี้คณะเจ้าหน้าที่จากสถานทูตยังได้มีโอกาสหารือกับ รองอธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศของ ซูดาน เกี่ยวกับปัญหาของคนไทย และสภาวะการเมือง/เศรษฐกิจของซูดานในปัจจุบันอีกด้วย  
การให้บริการด้านกงสุลแก่คนไทย ณ ที่ทำการสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม


คณะฯ เยี่ยมชมที่ทำการสมาคมมิตรภาพไทย-ซูดาน


การเยี่ยมเยียนและหารือกับพนักงานร้าน Vimol Physio-Therapy Center


การหารือกับคณะกรรมการชมรมนักศึกษาไทยในซูดาน

และนี่ก็เป็นอีกบทบาทที่สำคัญของกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูต/สถานกงสุล ของไทยที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกคนไทยทุกคนแม้ว่าจะอยู่ในประเทศที่ห่่างไกลหรือแห้งแล้งกันดารขนาดไหน ก็ยังดั้นด้นไปให้ความดูแลอำนวยความสะดวกและเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคน

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร
        : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

นวดไทย ในมัลดีฟส์




ต้องยอมรับว่า ชื่อเสียงของ Thai Massage/Thai Spa นั้น สามารถขายได้ทั้วโลกจริงๆ แม้แต่ประเทศที่มีทะเลสวยเปรียบได้กับสวรรค์บนดินอย่างประเทศมัลดีฟส์ ยังต้องใช้บริการหมอนวดไทย
แต่การทำงานบนสวรรค์ อาจตกสวรรค์ได้ง่ายๆ...
เมื่อปลายเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ที่ดูแลมัลดีฟส์ได้รายงานเข้ามาว่า ได้รับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากหญิงไทยที่ไปทำงานนวดสปาที่ประเทศมัลดีฟส์จำนวน ๗ ราย แจ้งว่าถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทางไว้ และไม่จ่ายค่าจ้าง โดยอ้างว่าต้องหักเป็นค่าเดินทางและค่าขอใบอนุญาตทำงาน
ระหว่างการทำงาน หญิงไทยเหล่านั้นถูกบังคับให้อยู่แต่ในที่พัก บางรายมีความยากลำบากในเรื่องอาหารการกิน บางรายเกรงจะถูกข่มขืน จนในที่สุดได้หลบหนีออกมาและมาขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ
การเดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เช่น การทำงานโดยอาศัยวีซ่าท่องเที่ยว หรือทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หญิงไทยตกเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการถูกใช้งานอย่างหนักโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายกับนายจ้างหรือนายหน้าได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐาน ไม่มีสัญญาจ้างงานที่ถูกต้อง รวมถึงเหยื่อเองที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถฟ้องร้องนายจ้างได้

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
        กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ


หญิงไทยกับนักโทษคดียาเสพติดที่อินเดีย



        เรื่องราวของหญิงไทยในฐานะนักโทษคุมขังคดียาเสพติดมีอยู่ในทุกภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย กัมพูชา พม่า จีน หรือไกลข้ามโลก เช่น ในลาตินอเมริกา หรือแอฟริกา เป็นต้น แต่คราวนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย...
        สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้รายงานการเดินทางเข้าเยี่ยมนักโทษไทย ที่เรือนจำทิหาร กรุงนิวเดลี ว่า ในปัจจุบัน มีนักโทษไทยที่จำคุกอยู่เรือนจำแห่งนี้จำนวน 7 ราย โดยทั้งหมดเป็นเพศหญิง ที่ถูกจับกุมในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งนักโทษหญิงไทยดังกล่าว ส่วนใหญ่จะถูกชายชาวไนจีเรียหลอกให้ขนยาเสพติดข้ามชาติ โดยเฉพาะเฮโรอีน ในรูปแบบการ
ฝากถือของโดยแวะมาเปลี่ยนเครื่องบินเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศอื่น หรือขนยาเสพติดเข้าประเทศ จึงถูกตำรวจอินเดียจับกุมในที่สุด
        นักโทษไทยที่ถูกกุมขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะถูกกุมขัง "เพื่อรอการพิจารณาคดี" จากศาลอินเดียประมาณ 4-5 ปี โดยยังไม่ได้รับการตัดสินความผิด และยังไม่ทราบว่าเมื่อไหร่คดีของตนจึงจะได้รับการตัดสิน บางรายอาจต้อง "รอ" นานกว่านั้น อีกทั้งครอบครัวของผู้ต้องขัง ยังต้องเสียเงินค่าทนายเพื่อสู้คดีเป็นจำนวนหลายแสนบาท จนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยโทษของการนำเข้าสารเสพติดมาประเทศอินเดีย คือจำคุกไม่เกิน 20 ปี
        เรื่องราวของยาเสพติด ไม่ใช่ทำร้ายแต่เฉพาะผู้เสพเท่านั้น ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ส่ง รวมทั้งใครก็ตามที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถถูกยาเสพติด "ทำร้าย" ได้ไม่ต่างกัน... เช่น นักโทษหญิงไทย 7 รายข้างต้นนี้ ที่ยังไม่ทราบว่าอนาคตของตนจะเป็นอย่างไร

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
         กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

นักการทูตไทยถูกฉกกระเป๋าที่เบลเยี่ยม




ยุโีรป เป็นทวีปที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากต่างทวีปรวมแล้วนับหลายสิบล้านคนเข้าไปเที่ยวในดินแดนแห่งนี้ รวมทั้งคนไทยเราด้วย  และที่ใดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเที่ยวกันมากๆ เหล่าบรรดามิจฉาชีพก็จะไปรวมตัวกันเพื่อประกอบอาชญากรรมกับนักท่องเที่ยวหรือคนต่างชาติ ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติต้องประสบเคราะห์ร้ายถูกหลอก ถูกลักทรัพย์ หรือถูกฉกชิงวิ่งราวทรัพย์สิน นักท่องเที่ยวชาวไทยก็ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพพวกนี้มานับไม่ถ้วน

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ นักการทูตสาวไทยที่ประจำอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ขณะกำลังขับรถกลับบ้านแล้วติดไฟแดงอยู่ที่แยกแห่งหนึ่ง คนร้ายสองคนขับขี่จักรยานยนต์มาประกบด้านข้างแล้วใช้ของแข็งทุกกระจกรถและฉกกระเป๋าถือ จากนั้นหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว นักการทูตไทยรายนี้ นอกจากจะสูญเงินและทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งเอกสารสำคัญที่อยู่ในกระเป๋าแล้ว ยังต้องเสียสตางค์ไปซ่อมกระจกรถยนต์ที่แตกละเอียดอีกด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกับเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการไทยที่ประจำอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ลักวิ่งชิงปล้น บุกรุกทำลายทรัพย์สินนับครั้งไม่ถ้วน ข้าราชการของสถานทูตไทย "โดน" กันมาเกือบทุกคน โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้นกับเจ้าหน้าที่ไทยถึง 7 ครั้ง แม้แต่ทำเนียบเอกอัครราชทูต (บ้านพักเอกอัครราชทูต) ก็ยังเคยถูกคนร้ายบุกรุกเข้ามาขโมยทรัพย์สินถึงห้องนอนของท่านทูตเลยทีเดียว จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฝ่ายกงสุลของสถานทูตไทยที่เบลเยี่ยมจะต้องได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ถูกโจรกรรมทรัีพย์สิน หรือถูกฉกชิงวิ่งราวทรัพย์ จนเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

บรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยี่ยมเป็นเมืองที่มีผู้อพยพจากแอฟริกาเหนือและยุโรปตะวันออกเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง อาศัยเลี้ยงชีพโดยการประกอบอาชญากรรม ซึ่งเป้าหมายของมิจฉาชีพพวกนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนมีสตางค์ คนต่างชาติ เช่นนักการทูต นักท่องเที่ยว อาชญากรรมในเบลเยี่ยมนับวันจะรุนแรงขึ้น ทางการของเบลเยี่ยมเองก็อ้างว่าไม่มีกำลังบุคคลากรเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ อีกทั้งกฎหมายของเบลเยี่ยมก็ลงโทษคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินนี้ในสถานเบา เหล่ามิจฉาชีพจึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย ปัญหานี้จึงกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นอย่างมาก

คนไทยที่จะเดินทางไปยุโรป โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างบรัสเซลส์ ขอให้ระมัดระวังตัวเองและทรัพย์สินของท่านให้ดี แต่ถ้าเกิดเหตุขึ้นมาก็ติดต่อขอคำแนะนำจากสถานทูตไทยได้ แต่อย่าหวังว่าจะได้ทรัพย์สินคืน เพราะอย่างที่ได้กล่าวแล้ว แม้แต่นักการทูตและสถานทูตเองก็ยังไม่รอด

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
        : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

แนะนำ เรื่องเล่าจากแดนภารตะ




การเดินทางไปต่างประเทศในยุคนี้ กลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่าย ดังเช่นสโลแกนของบางสายการบินที่บอกว่า ใครๆ ก็บินได้ การเดินทางเป็นเรื่องง่ายก็จริง แต่การดูแลตัวเองและการแก้ปัญหาเวลาที่เราต้องไปประสบภัยหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน ลองคิดดูนะครับ ถ้าเรากำลังเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในต่างประเทศและเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นกับเราหรือผู้ที่ร่วมเดินทางไปกับเรา เราจะแก้ปัญหาอย่างไรดี บ้านเมืองก็ไม่คุ้นเคย ภาษาก็สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ถ้าประเทศไหนที่มีสถานทูต สถานกงสุลไทยตั้งอยู่ก็อาจจะพออุ่นใจได้บ้าง แต่บางประเทศ บางเมือง ไม่มีสถานทูต สถานกงสุลไทยตั้งอยู่ แล้วจะทำอย่างไรกันดี

เรื่องราวของคนไทยที่ต้องไปประสบปัญหาในต่างประเทศมีมานาน ปัญหาบางอย่างเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซึ่งผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศน่าจะได้ศึกษาเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น เผื่อว่าวันหนึ่ง เราหรือคนใกล้ชิดอาจจะตกเป็นผู้ประสบกับเคราะห์ร้ายนั้นเสียเอง จะได้มีความรู้และไม่ตกใจจนทำอะไรไม่ถูก

หนึ่งในประเทศที่มีคนไทยไปตกทุกข์ได้ยากกันมาก ก็คือประเทศอินเดีย ประเทศที่มีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวและศึกษาต่อกันมาก  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย เข้าใจปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้จัดพื้นที่ในเวปไซต์ของสถานทูต เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนไทยที่จะเดินทางไปประเทศอินเดีย มีทั้งข้อมูลเกี่ยวกับ การศึกษาต่อในอินเดีย การเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดีย การบริการประชาชน รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับพุทธศานาและวัดไทย และที่น่าสนใจอ่านสนุกเห็นจะเป็น "สารพันเรื่องอยากเล่า" ที่บรรดาเจ้าหน้าที่สถานทูต ช่วยกันเขียนเกี่ยวกับสาระน่ารู้เกี่ยวกับอินเดีย และบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ได้ไปประสบเคราะห์ร้ายในประเทศอินเดีย หากท่านใดสนใจก็คลิกเข้าไปดูกันได้ที่  http://www.thaiemb.org.in ข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่คนไทยที่จะไปอินเดียแล้ว ยังสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ควรมีที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของสถานทูต สถานกงสุล ในประเทศที่ท่านจะเดินทางไป หรือการทำประกันภัยก่อนการเดินทาง เป็นต้น

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
        : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ทนสภาพไม่ไหว หมอนวดไทยในอิหร่านขอเลิกสัญญากับนายจ้าง



สถานเอกอัครราชทุต ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน รายงานว่า ได้ให้ความช่วยเหลือส่งตัวหมอนวดไทยจำนวน 6 คน ให้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา เนื่องจากคนไทยทั้ง 6 คน ไม่สามารถทนต่อสภาพการทำงานที่ยากลำบากได้
จากการสอบถามหมอนวดไทย ทั้งหมดบอกว่า พวกตนมีความเครียดจากการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ในอิหร่านที่ยากลำบากขึ้นทุกขณะจากการที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเดือนไม่พอจ่าย อีกทั้งในขณะนี้ นายจ้างไม่สามารถที่จะหาเงินตราสกุลดอลล่าร์สหรัฐ มาจ่ายเงินเดือนให้พวกตนได้ตามกำหนด เพราะประสบปัญหากับมาตรการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลอิหร่าน และวิตกกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในช่วงที่ีมีความไม่แน่นอนเพราะมีข่าวว่าอยู่ตลอดเวลาว่าอิหร่านจะถูกโจมตีจากต่างประเทศ
ด้วยสภาพที่เลวร้ายดังกล่าว คนงานไทยจึงตัดสินใจขอเลิกสัญญาและกลับบ้าน แต่เนื่องจากคนงานไทยเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา จึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างกันเอง กรณีนี้ น่าจะได้เป็นอุทธาหรณ์ให้คนไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ว่าสิ่งที่ต้องพิจารณา คิดใครครวญให้ดีคือเรื่องปัญหาทางการเมือง ความปลอดภัยของประเทศที่ตนจะไป บางประเทศมีงานให้ทำจริง เงินเดือนก็ดี แต่มีความไม่ปลอดภัยสูงมาก ต้องอยู่อย่างเสี่ยงภัยมีอันตรายรอบตัว แบบนี้ก็ไม่ควรจะตัดสินใจไปทำงาน เพราะอาจจะต้องกลับบ้านก่อนเวลา หรือบางทีอาจกลับด้วยอาการไม่ครบ 32 หรือถ้าเลวร้ายกว่านั้น อาจจะต้องกลับมาโดยไม่มีลมหายใจ ไม่คุ้ม ไม่คุ้ม

ด้วยความปราถนาดี จาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน
                                          กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                                          กรมการกงสุล

สาวไทยถูกจับข้อหายาเสพติดที่แคเมอรูน




นางสาว ก. (นามสมมติ) ถือหนังสือเดินทางไทย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแคเมอรูนจับกุมในข้อหายาเสพติด และได้นำตัวไปคุมขังอยู่ที่เรือนจำที่ประเทศแคเมอรูน
 นางสาว ก. ได้ให้การว่า ตนได้พบ นาย O (นามสมมติ) ชายผิวดำชาวแอฟริกันที่ประเทศไทย และได้รับการชักชวนให้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศแคเมอรูน โดย นาย O เป็นผู้ออกค่าบัตรโดยสารเครื่องบินให้ เมื่อเดินทางถึงแคเมอรูน นางสาว ก. ได้พบกับนาย O และพักอยู่ด้วยกัน
ต่อมาได้พบกับชายชาวแอฟริกันอีกหนึ่งคนซึ่งอ้างว่าเป็นพี่ชายของนาย O ซึ่งได้พาตนไปพักที่อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งประมาณ 2 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นนางสาว ก. ได้ขอเดินทางกลับประเทศไทย แต่โดยที่กระเป๋าเดินทางชำรุด จึงได้ร้องขอให้พี่ชายของนาย O ช่วยซื้อกระเป๋าเดินทางให้ใหม่และนำไปส่งให้ที่สนามบิน ขณะที่นางสาว ก. เข้าห้องน้ำอยู่ที่สนามบิน มีผู้แอบนำยาเสพติดประเภทโคเคน น้ำหนัก 2,050 กรัม ซุกซ่อนไว้ในกระเป๋าเดินทางดังกล่าว อันเป็นเหตุให้นางสาว ก. ถูกจับกุมที่สนามบินนานาชาติประเทศแคเมอรูน ในเวลาต่อมา
กรณีดังกล่าว เป็นการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดครั้งสำคัญ โดยยาเสพติดที่จับกุมได้ มาจากต้นทางที่กรุงเทพฯ และมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งจะรับช่วงส่งจำหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป
ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                                   กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ