วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ระวัง....อย่านำยาลดอ้วนเข้าเกาหลีใต้

สำนักข่าว MBC และ No Cut News ได้เสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับการลักลอบนำยาลดความอ้วนจากประเทศไทยเข้าเกาหลีใต้เพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภคโดยตรง ยาดังกล่าวเป็นยาที่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งทางด้านศุลกากรของเกาหลีใต้จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจค้นผู้โดยสารที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางกลับจากประเทศไทย รวมทั้งการตรวจสอบสี่งของที่จัดส่งทางไปรษณีย์ด้วย

เรื่องนี้ สถานทูตไทยที่เกาหลีใต้ได้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากศุลกาณเกาหลีใต้ พบว่า มีกฎระเบียบให้ผู้เดินทางเข้าเกาหลีใต้ต้องสำแดงยาลดความอ้วนที่นำเข้า โดยศุลกากรจะพิจารณาเป็นยกรณไปว่าผิดกฎหมายหรือไม่โดยในกรณีที่นำเข้าเพื่อบริโภคส่วนตัวและในปริมาณที่เหมาะสมพอดีกับระยะเวลาที่จะพำนักในเกาหลีใต้ และควรต้องมีสำแดงใบสั่งแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย และหากเป็นร้านค้าต้องการนำเข้ายาดังกล่าวเพื่อจำหน่ายจะต้องขออนุญาติจากองค์การอาหารและยาของเกาหลีใต้ก่อน ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการตามที่กล่าวข้างต้น ศุลกากรจะยึดสิ่งของและ/ปรับเงิน หรืออาจนำเรื่องส่งฟ้องเป็นคดีอาญากับผู้นำเข้าด้วย

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

นิวซีแลนด์เฝ้าระวังภูเขาไฟระเบิด

ศูนย์วิทยาศาสตร์ธรณีวิทยาของนิวซีแลนด์ของนิวซีแลนด์ (Geological and Nuclear Sciences-GNS) ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ภูเขาไฟ Tongario ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของเกาะเหนือใกล้กับภูเขาไฟ Ruapehu (ซึ่งเป็นยอดภูเขาไฟที่สูงที่สุดในนิวซีแลนด์) อาจปะทุขึ้นได้หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวใต้พื้นผิวบริเวณฐานที่ตั้งลึกลงไปประมาณ 2-7 กิโลเมตร ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ได้เกิดแผ่นดินไหวในบริเวณดังกล่าวแล้วกว่า 20 ครั้ง ซึ่งนักธรณีวิทยาด้านภูเขาไฟเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง

ศูนย์ฯ รายงานด้วยว่า แม้ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะมีขนาดเพียง 2.5 ริกเตอร์ ซึ่งถือว่าไม่รุนแรงก็ตาม แต่เนื่องจากเกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะเวลาที่ใกล้กันอาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาใต้พื้นผิวโลกในบริเวณฐานที่ตั้งของภูเขาไฟซึ่งอาจส่งผลให้ภูเขาไฟดังกล่าวระเบิดขึ้นได้ ขณะนี้ ทาง GNS ได้ยกระดับการแจ้งเตือนจากระดับ 0 เป็นระดับ 1 (สูงสุดคือ 5) ขณะเดียวกันได้ปรับ aviation colour code จากปกติสีเขียวเป็นสีเหลือง (หากรุนแรงขึ้นจะปรับเป็นสีส้มและสีแดงตามลำดับ) ทั้งนี้ ภูเขาไฟ Tongario นี้ มีประวัติการปะทุอย่างรุนแรงมาแล้วถึง 5 ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1855-1897

สถานทูตไทยในนิวซีแลนด์ก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในนิวซีแลนด์โดยเฉพาะเกาะเหนือให้ทราบการแจ้งเตือนของทางการนิวซีแลนด์พร้อมทั้งติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดด้วย

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

ไปเซี่ยงไฮ้ระวังถูกหลอก

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ฝากประชาสัมพันธ์เตือนคนไทยที่ไปเที่ยวที่เซี่ยงไฮ้ให้ระมัดระวังตัว อย่าหลงตกเป็นเหยื่อร้านบริการบังคับให้จ่ายค่าบริการเกินจริง

ตามที่ได้เคยนำเสนอข่าวคราวเกี่ยวกับหนุ่มไทยที่โดนอาหมวยนั่งดริงค์ในร้านคาราโอเกะที่เซี่ยงไฮ้ร่วมมือกับเจ้าของร้านรีดเงินค่าบริการเกินราคา ทางสถานกงสุลไทยที่เซี่ยงไฮ้ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงวิธีการหรือเทคนิคในการต้มตุ๋นผู้คนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวของบรรดาร้านบริการ หรือร้านนั่งดริงค์ในเซี่ยงไฮ้ว่า พวกนี้จะมีหลากหลายวิธีที่จะชักจูงเหยื่อให้เข้าไปใช้บริการในร้านและจะเรียกค่าบริการที่เกินจริงมาก เช่นทำทีเป็นนักท่องเที่ยวด้วยกันแล้วเข้ามาตีสนิท จากนั้นก็จะออกอุบายว่ากระหายน้ำและอยากนั่งพักจึงพาเหยื่อเข้าไปยังร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านถนน Nanjing East และสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมทั้งคะยั้นคะยอให้เหยื่อร่วมดื่มด้วยจนเหยื่อมีอาการมึนเมา พอถึงตอนจ่ายเงินทางร้านคิดค่าบริการถึง 2,987 หยวน (ประมาณ 14,000 บาท) ซึ่งเหยื่อนักท่องเที่ยวไทยรายนี้ก็ยอมจ่ายด้วยการรูดบัตรเครดิต หลังจากนั้น ยังถูกสาวจีนชักชวนให้ไปใช้บริการต่อที่ร้านคาราโอเกะพร้อมสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และพยายามคะยั้นคะยอให้เหยื่อดื่มจนมีอาการมึนเมา พอเหยื่อเริ่มรู้สึกตัวและพยายามหาทางออกจากร้านก็ถูกชายฉกรรจ์ 4 คน ใช้กำลังลากตัวกลับไปในร้านอีกและบังคับให้ชำระเงินค่าบริการเป็นจำนวน 36,000 หยวน ซึ่งเหยื่อจำใจต้องรูดบัตรเครดิตไปอีก แต่เหยื่อก็แกล้งเซ็นต์ชื่อไม่ให้ตรงกับบัตรและโทรแจ้งอายัติบัตรเครดิตทั้งสองใบให้ธนาคารงดการจ่ายเงินค่าบริการทั้งสองรายการ จากนั้นสถานกงสุลได้พาเหยื่อไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ทางร้านพอเห็นตำรวจก็เสนอจะคืนเงินให้ 36,000 หยวน แต่เหยื่อไทยก็ปฏิเสธไม่รับเนื่องจากเกรงว่าจะถูกลอบทำร้ายหลังจากนั้น อีกทั้งได้แจ้งอายัติไว้กับธนาคารแล้ว

ชาวไทยมุสลิมจากภาคใต้ที่พูดภาษายาวีก็ยังไม่รอดจากการถูกพวกนี้หลอก โดยแก็งค์มิจฉาชีพพวกนี้ก็จะพูดภาษายาวีได้ด้วย เข้ามาตีสนิทชักชวนให้ไปนั่งคุยกันที่ร้านเครื่องดื่มและเรียกค่าบริการเกินราคา

บางทีพวกแก็งค์มิจฉาชีพก็จะใช้หญิงหน้าตาดีเิดินปะปนไปกับนักท่องเที่ยวตามท้องถนน จากนั้นก็จะเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้าไปใช้บริการและเรียกเก็บเงินในอัตราสูงเกินจริง พอเหยื่อไปแจ้งตำรวจจะกลับมาเอาเรื่อง พวกนี้ก็ปิดร้านหนีไปแล้ว

ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้



วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หนุ่มไทยถูกศาลมะกันจำคุก 78 เดือน ข้อหาหิ้วหนังโป๊เด็กเข้าประเทศ

สื่อมวลชนไทยในอเมริกา ลงข่าวการตัดสินลงโทษจำคุกหนุ่มไทยวัย 52 ปี ข้อหามีไว้ในครอบครองและนำเข้าวัตถุลามกผู้เยาว์ (Child Pornography) เป็นเวลา 78 เดือน และคุมความประพฤติตลอดชีวิต
โดยหนุ่มไทยรายดังกล่าวได้เดินทางจากประเทศไทยมายังสนามบินแม็คคาร์เรนของลาสเวกัส โดยสายการบินเกาหลีเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองเซ็นต์จอร์จ รัฐยูทาห์ ซึ่งเขาและญาติมีร้านอาหารอยู่ที่นั่น แต่ถูกเจ้าหน้ที่จับกุมหลังตรวจพบว่าแผ่นซีดีที่หนุ่มไทยรายนี้ซื้อมาจากเมืองไทยจำนวน 36 แผ่น มีบางส่วนเข้าข่ายสื่อลามกเกี่ยวกับเด็ก
หนุ่มไทยคนดังกล่าวยอมรับสารภาพต่อศาลแต่โดยดีและให้คำสาบานว่าจะไม่กระทำเยี่ยงนี้อีกและขอให้ศาลส่งตัวกลับประเทศไทยแทนการจำคุก โดยจะบวชเป็นพระตลอดชีวิต แต่ผู้พิพากษาปฏิเสธคำร้องดังกล่าวและตัดสินจำคุกหนุ่มไทย 78 เดือน 
โทษที่ได้รับ คือจำคุก 78 เดือนนี้ นับว่าศาลปราณีลงโทษสถานเบาแล้ว เนื่องจากปกติ อเมริกาจะเข้มงวดจริงจังกับคดีทางเพศของเด็ก มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี และกรณีของหนุ่มไทยคนนี้อัยการที่ฟ้องได้ร้องขอให้ศาลลงโทษจำคุก 12 ปี จึงนับว่าเป็นโชคดีของหนุ่มไทยที่โดนไปเพียง 78 เดือน

  กรณีที่คนไทยถูกจับกุมตัวระหว่างเดินทางเข้าประเทศอเมริกา เพราะมีแผ่นดีวีดี หรือวีซีดีลามกเกี่ยวกับเด็กนั้น ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง
          กงสุลบรรณา วังวิวัฒน์ กงสุลด้านกฎหมายแห่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส เคยกล่าวกับสยามทาวน์ฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2011 ว่าในช่วงที่ผ่านมา มีคนไทยถูกจับข้อหามีวัตถุลามกเกี่ยวกับเด็กในอเมริกาอย่างน้อย 5-6 คน ทั้งที่แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และที่อื่นๆ
          “ก็ควรเตือนๆ กันว่าก่อนที่คุณจะเข้ามา ถ้ามีก็ควรจะล้างเครื่องคอมพิวเตอร์ทิ้งซะก่อน จริงๆ แล้วกรมสารนิเทศก็เตือนนะ ถ้าจะว่าไป แต่คนไม่ดู มันต้องลงเป็นใบปะก่อนเข้ามาอเมริกามาเลย โทษของคดี Child pornography มันแรงมาก คนไทยควรรู้ เพราะเมืองไทย ถ้ามีอยู่ในเครื่องมันไม่ผิดนะ จะผิดก็ต่อเมื่อจำหน่ายจ่ายแจกเท่านั้น มันต่างกัน” กงสุลบรรณา วังวิวัฒน์ กล่าว
          ทั้งนี้ เหตุการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะสื่อลามกประเภทนี้ บางจังหวะมีวางขายอย่างเปิดเผยตามแผงข้างถนน หรือในห้างสรรพสินค้าของไทย คนไทยในอเมริกาบางคนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงซื้อติดมือกลับมา และกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีอุกฉกรรจ์ของอเมริกา ซึ่งเอาจริงกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำทารุณกรรมทางเพศกับเด็ก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการเอาผิดทั้งผู้ผลิต จำหน่าย เผยแพร่ และมีไว้ในครอบครองอย่างรุนแรง อีกทั้งมีกฎหมายว่าด้วยการเอาผิดชาวอเมริกันที่เดินทางไปกระทำผิดทางเพศกับเด็กในต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานอิมมิเกรชั่น หรือ ICE (Immigration and Customs Enforcement) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มีการสร้างปฏิบัติการพิเศษที่เรียกว่า Operation Predator ขึ้นมาเมื่อปี 2003 เพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานรักษากฎหมายทุกระดับของประเทศ รวมถึงนานาชาติด้วย.

ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
        :น.ส.พ.สยามทาวน์

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ระวังถูกหลอกไปทำงานในประเทศออสเตรเลีย

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่าเครือรัฐออสเตรเลียมีความต้องการแรงงานไปทำงานในรัฐนอร์ทเทิร์นเทร์ริทอรี เครือรัฐออสเตรีย จำนวนกว่า 36,000 คน โดยไปทำงานใน 17 สาขาอาชีพ และกระทรวงศึกษาธิการจะจัดฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้ก่อนเดินทางนั้น กรมการจัดหางานได้ร่วมหารือเกี่ยวกับโครงการจัดส่งแรงงานไปทำงานในเครือรัฐออสเตรเลียกับกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 ขณะนี้ การดำำเนินงานโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างหารือและยังไม่มีการเปิดรับสมัครไปทำงานประเทศออสเตรเลียแต่อย่างใด
สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด หรือศูนย์มิตรไมตรี โทร. 1694

ที่มา : กรมการจัดหางาน

ระวัง สายเถื่อนหลอกไปทำงานสร้างสนามบินในเกาะกวม


กรมการจัดหางานเตือนคนหางานให้ระวังกลุ่มคนหรือสายนายหน้าเถื่อนชักชวนให้สมัครไปทำงานต่างประเทศกับบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งอ้างว่ามีนายจ้างต่องการแรงงานไทย 2,500 อัตรา ไปทำงานก่อสร้างสนามบิน โรงแรม และถนนกับนายจ้างที่เกาะกวม ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น วิศวกร ช่างไม้ ช่างปูน กรรมกร เป็นต้น โดยจะได้รับเงินเดือนในอัตราสูง ทำให้คนงานหลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้ไปโดยอ้างว่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายล่วงหน้า เช่นค่าแปลเอกสาร ค่ามัดจำวีซ่า ค่าตรวจสุขภาพ เป็นต้น จากนั้นจึงเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางาน หากคนหางานรายใดหลงเชื่อยอมจ่ายเงินไปให้สาย/นายหน้าจัดหางานดังกล่าวก็ไม่สามารถส่งไปทำงานที่เกาะกวมได้ตามที่สัญญาไว้ เนื่องจากสหรัฐอนุญาตให้คนต่างชาติเข้าไปทำงานเฉพาะสาขาอาชีพที่ขาดแคลนและวิชาชีพเฉพาะเท่าันั้น

หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีต้องการแจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทรศัพท์ 02 245 1025 หรือศูนย์มิตรไมตรี โทร. 1694

ที่มา : กรมการจัดหางาน

เตือนแรงงานไทยที่จะไปทำงานในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย


รัฐบาลมาเลเซียและรัฐบาลส่วนท้องถิ่นของรัฐซาราวัก กำลังดำเนินตามแผนนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายไปลงทะเบียนเพื่อขอรับการนิรโทษกรรม แต่ขั้นตอนการรายงานตัวเพื่อขอรับการนิรโทษกรรมดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้น ปัจจุบันแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายจึงไม่สามารถรายงานตัวขอรับนิรโทษกรรมได้แล้ว และทางการมาเลเเซียและรัฐซาราวักกำลังปฏิบัติการกวาดล้างอย่างเข้มงวดทั้งกับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายและนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจ และทหาร ร่วมปฏิบัิติการดังกล่าว
กรมการจัดหางานจึงขอเตือนประชาชน/คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ให้งดเว้นการเดินทางเข้ามาเลเซียอย่างไม่ถูกต้อง หรือเดินทาเข้าไปแล้วลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มิฉะนั้นจะถูกทางการมาเลเซียจับกุมและดำเนินคดี และถูกเนรเทศออกจากมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ด้วย ทั้งนี้ หากต้องการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้ติดต่อลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จะเดินทางไปทำงานยังประเทศมาเลเซียที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ฝ่ายส่งเสริมตลาดแรงงานในต่างประเทศ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 6708  

ที่มา :  กรมการจัดหางาน

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แรงงานประกาศปิดตำนานค้าหัวคิวค่าแรงงานไทยในอิสราเอล


นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวในการเป็นประธานพิธีปิดตำนานค่าหัวคิวแรงงานไทยที่ไปทำงานอิสราเอล พร้อมทั้งให้โอวาทกับแรงงานไทยที่ได้รับการคัดเลือกส่งไปทำงานภาคการเกษตรอิสราเอลจำนวน 101 คนเมื่อวันที่ 26  มิถุนายนว่า ที่ผ่านมาแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานอิสราเอลถูกเรียกเก็บค่าหัวคิว ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 3-4 แสนบาทต่อคน   ดังนั้น ประเทศไทยโดยกระทรวงแรงงาน จึงได้ร่วมมือกับประเทศอิสราเอลและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) คัดเลือก  โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มคัดเลือกแรงงานไทย และหากผ่านสัมภาษณ์ก็จะจัดส่งไปทำงานที่อิสราเอล โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่เกินคนละ 70,000 บาท
              ทั้งนี้  ทางการอิสราเอลแจ้งว่านายจ้างอิสราเอลต้องการจ้างงานคนไทย 357 อัตรา ซึ่งก่อนหน้านี้มีแรงงานไทยมาสมัคร 6,596 คน และในจำนวนนี้ได้มีการนำรายชื่อผู้สมัครลำดับที่ 1- 1,000 ไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและประวัติบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศอิสราเอล โดยมีผู้ผ่านการตรวจสอบทั้งหมด 900 คน  ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์และตรวจโรค 101 คน   ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงจะจัดส่งแรงงานไทยกลุ่มนี้ไปทำงานอิสราเอลช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ โดยกลุ่มแรกมี 22 คน จะเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลวันที่ 27 มิ.ย.
              "ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานพยายามแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงานอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง  วันนี้ถือเป็นการปิดตำนานค่าหัวคิวแรงงานอิสราเอล ทั้งนี้ แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศถือเป็นนักรบเศรษฐกิจ นำเงินกลับเข้าประเทศไทย จึงขอให้แรงงานทุกคนที่ได้ไปทำงานอิสราเอล ทำให้นายจ้างเชื่อมั่นในศักยภาพของแรงงานไทย เพื่อเสร้างโอกาสให้แรงงานรุ่นต่อไปสามารถเข้าไปทำงานที่อิสราเอลได้ง่ายขึ้น  รวมทั้งขอให้นึกถึงคนที่บ้าน  ทำตัวอยู่ในระเบียบวินัย ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสุรา ยาเสพติดและการพนัน เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บมากที่สุด  ส่วนผลการสอบสวนการเรียกเก็บค่าหัวคิวจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้”รมว.แรงงานกล่าว
                ด้านนายอิตซ์ฮัก โชฮัม  เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานด้านการเกษตรอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 27,000 คน โดยมีแรงงานไทยหมุนเวียนไปทำงานที่อิสราเอลปีละ 5,000 คน
                นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้นางผจงสิน วรรณโกวิท รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานอิสราเอลว่าปฏิบัติถูก ต้องตามระเบียบหรือไม่ ได้รายงานสรุปผลการสอบสวน โดยระบุว่านายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน( กกจ.)ได้ลงนามอนุญาตจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานอิสราเอลไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่ ระเบียบกำหนดไว้ และการทำหน้าที่ของนายสุทธิ สุโกศล ผอ.สำนักงานบริหารงานแรงงานไทยไปต่างประเทศก็เป็นไปตามที่ระเบียบกำหนดไว้ เช่นกัน และไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ใดๆให้แก่บริษัทจัดหางาน จึงไม่มีความผิดใดๆ

ที่มา : สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สาวไทยถูกจับ “แอบค้าประเวณีในร้านสปา” ที่อินเดีย



สปาไทยเดี๋ยวนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ชาวต่างชาติต่างติดใจนักติดใจหนา นักธุรกิจหลายรายเริ่มสนใจลงทุนธุรกิจสปาไทยในต่างประทศ ซึ่งก็ไม่ต่างจากหญิงไทยเองที่ต่างก็อยากไปเป็นพนักงานนวดสปาไทยในต่างประเทศ เพราะต่างก็เล่ากันปากต่อปากว่า “รายได้ดี” จนหลายคนได้ยินแล้วถึงกับตาลุกวาว ดิ้นรนหาทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ไปทำงานสปาในต่างประเทศ
หากแต่นิสัยคนไทย ชอบทำอะไร “เอาง่ายเข้าว่า” เมื่อจะเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าวิธีการไหนก็ขอให้ได้ไป จะผิดกฎหมายก็ช่าง หรือแม้แต่การทำงาน ขอทำงานอะไรก็ได้ ตราบใดที่ได้เงินดี...
กรณีล่าสุดเกิดขึ้นอีกแล้ว ที่ประเทศอินเดีย พนักงานสปาไทย 7 คน ถูกตำรวจเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ (รัฐทางตะวันตกของประเทศอินเดีย มีเมืองมุมไปเป็นเมืองหลวง) จับในข้อหา “ค้าประเวณี” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียได้วางแผนไปล่อซื้อบริการทางเพศที่สปาแห่งหนึ่ง แล้วพบว่ามีการค้าประเวณีจริง จึงได้จำคุกสาวไทย 7 นาง ที่เรือนจำ และสั่งฟ้องข้อหา “ลักลอบทำงานผิดศีลธรรม”
เจ้าของร้านสปาดังกล่าวอ้างว่า ตนไม่เคยทราบมาก่อนถึงพฤติกรรมการลักลอบค้าประเวณีของพนักงานไทยเหล่านี้ แต่ได้ยืนยันว่า กฎของการทำงานที่นี่คือห้ามค้าประเวณี ที่ผ่านมาตนเคยจับได้ว่ามีการลักลอบค้าประเวณีภายในร้านสปาของตน จึงได้ส่งตัวพนักงานเหล่านั้นกลับประเทศไทย
งานนี้เลยร้อนถึง สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ที่ต้องหาทนายความไปประกันตัวกับพนักงานไทยทั้ง 7 และดำเนินการสู้คดีต่อไป
เหตุการณ์และพฤติกรรมดังกล่าวได้สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสปาไทยและชื่อเสียงของพนักงานสปาไทยที่ตั้งใจเดินทางไปทำงานอย่างนวดสปาอย่างสุจริตใจอีกด้วย...

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
        กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บาห์เรนจัดทำ"คู่มือการทำงานของคนงานต่างชาติ"


หน่วยงาน Labour Market Regulatory Authority - ( LMRA ) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการทำงานของคนต่างด้าวในบาห์เรนได้จัดทำ "คู่มือการทำงานของคนงานต่างชาติ" (Foreign Employees' Guide) สำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานหรือประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศบาห์เรน โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ได้ร่วมมือทำการแปลเป็นภาษาไทยเพื่อประโยชน์แก่พี่น้องชาวไทยที่กำลังทำงานหรือประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศบาห์เรน 
ทาง LMRA จะจัดทำเป็นแผ่นพับเพื่อแจกจ่ายทั้งที่ท่าอากาศยานและท่าเรือ รวมทั้งจะจัดทำเป็นแผ่นพับเผยแพร่ต่อไป ในชั้นนี้ อาจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ของ LMRA ที่ www.imra.bh 
ข้อมูลเบื้องต้นมีดังนี้
บริการต่างๆที่ LMRA ให้แก่แรงงานต่างชาติ
  • ออก หรือต่ออายุวีซ่าทำงาน (work visa) และกำกับดูแลการย้ายงานจากนายจ้างเดิมเพื่อไปทำงานกับนายจ้างอื่น
  • ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบถิ่นที่อยู่(residence permit) , วีซ่าเข้า/ออก และบัตรประจำตัวแก่ แรงงานต่างชาติและครอบครัว (entry, re - entry visas , ID cards)
  • ประสานกระทรวงสาธาณสุขในการกำหนดวันตรวจสุขภาพ และออกใบรับรองสุขภาพ
คำแนะนำที่สำคัญก่อนเดินทางไปบาห์เรน
  1. ตรวจดูสถานะวีซ่าที่ได้รับ ผ่านทางเว็บไซท์ของ LMRA คือ www.lmra.bh โดยการ enter ข้อมูลจาก วีซ่าทำงานที่ได้รับ
  2. ท่านต้องมีหลักฐานเหล่านี้ติดตัวไป
    • หนังสือเดินทาง ที่มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
    • สำเนาวีซ่าทำงานที่ออกโดย LMRA 1 ชุด
    • สำเนาสัญญาการจ้างงาน 1 ชุด
    • ต้นฉบับทะเบียนสมรส (ในกรณีที่นำครอบครัวไปด้วย)
    • ใบอนุญาติขับขี่รถยนต์ (ถ้ามี)
    • หลักฐานการศึกษา และใบรับรองประสพการณ์การทำงานต่างๆ (ถ้ามี)
  3. ท่านอาจทำการตรรจสุขภาพเพื่อขอใบรับรองจากสถานพยาบาลในประเทศไทยก่อนเดินทางไป บาห์เรนก็ได้ โดยสามารถดูรายชื่อสถานพยาบาลที่ทางการบาห์เรนกำหนดจากเว็บไซท์ http//:cIinics.lmra.bh
ทันทีที่เดินทางถึงสนามบินบาห์เรน
ให้ท่านติดต่อสำนักงาน LMRA ซึ่งตั้งอยู่ภายในสนามบินเพื่อยื่นแสดงวีซ่าทำงาน (work visa) และหนังสือเดินทาง เจ้าหน้าที่ LMRA จะติดต่อหนวยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกบัตรประจำตัวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่แก่ท่าน และจะกำหนดนัดหมายวันให้ท่านไปรับการตรวจสุขภาพ เจ้าหน้าที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูปท่านไว้ หากท่านมิได้ติดต่อสำนักงาน LMRA ที่สนามบินเมื่อเดินทางมาถึง ท่านจะต้องไปดำเนินการข้างต้นนี้ภายในเวลา 1 เดือน นับจากวันเดินทางถึงบาห์เรน
หมายเหตุ ในกรณีที่ท่านนำครอบครัวมาอยู่ด้วย ท่านควรเดินทางพร้อมกัน หรือครอบครัวอาจเดินทางมาภายหลัง (มิใช่เดินทางมาก่อน) สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนควรถือหนังสือเดินทางคนละเล่ม
ภายหลังจากที่เดินทางเข้าบาห์เรนแล้ว
ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฏหมายและเพื่อทำให้ท่านสามารถทำงานต่อไปในบาห์เรน
  • ทำงานตรงตามงานที่ระบุในสัญญาจ้าง ทำงานกับนายจ้างที่ระบุในสัญญาจ้าง และทำงาน ณ สถานที่ทำงานที่ ระบุในวีซ่าทำงาน
  • ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของ LMRA และ นายตรวจ (inspectors)
  • เก็บรักษาหนังสือเดินทางของตนไว้ตลอดเวลา อย่ามอบให้ผู้อื่น เว้นเสียแต่ว่าท่านจะยินดีมอบให้นายจ้าง เก็บรักษาไว้ให้
  • ปฏิบัติหน้าที่ให้ครบถ้วนตามสัญญาจ้าง
  • อย่าจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งวีซ่าทำงาน หรือ เพื่อเปลี่ยนนายจ้าง
  • ปฏิบัติตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบาห์เรน
  • อย่าขาดงานมากกว่า 15 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายจ้าง
  • หากมีปัญหาด้านแรงงานใดๆกับนายจ้าง ให้ติดต่อกระทรวงแรงงาน (โทร.17873777
  • อย่าทำงานโดยไม่ได้รับวีซ่าทำงาน หรือการต่ออายุวีซ่าทำงานจาก LMRA
  • ต้องการข่าวสารเพิ่มเติม โปรดโทรฯ ติดต่อ LMRA Call Center 17 50 60 55 หรือทางเว็บไซท์ www.lmra.bh ท่านสมารถตรวจสอบสถานะด้านวีซ่าของท่านผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยพิมพ์หมายเลขบัตรประจำตัวของท่าน(CPR) ดังนี้ พิมพ์ CPR ตามด้วยหมายเลข CPR ของท่าน ..to : Batelco 90168 หรือ ZAIN 77070
การเปลี่ยนนายจ้าง
ตามกฎหมายแรงงานของบาห์เรนมาตรา 25 จากพระราชกฤษฎีกา ที่ 19 ค.ศ.2006 กำหนดว่า แรงงานต่างชาติมีสิทธิ์ที่จะเคลื่อนย้ายไปทำงานกับนายจ้างคนอื่นได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากนายจ้างเดิม แต่ทั้งนี้ โดยมิได้เป็นการละเมิดสิทธิ์ของนายจ้างเดิมตามที่ระบุในกฎหมายแรงงานของบาห์เรนเกี่ยวกับสัญญาการจ้างงานที่สองฝ่ายทำขึ้น
ประการแรก : ในช่วงที่วีซ่าทำงานยังไม่หมดอายุ
เมื่อแรงงานต้องการจะเปลี่ยนนายจ้างในช่วงที่วีซ่าทำงานยังไม่หมดอายุ หรือก่อนการยกเลิกวีซ่าทำงาน แรงงานผู้นั้นจะต้องแจ้งให้นายจ้างทราบโดยทางจดหมายลงทะเบียน ซึ่งมีใบรับจดหมายที่แสดงว่านายจ้างได้รับจดหมายแล้ว ภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างงาน หรือตามกฎหมายแรงงานของบาห์เรน ซึ่งไม่เกิน 3 เดือน นับจากวันที่แรงงานประสงค์จะย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่ นายจ้างคนใหม่จะต้องดำเนินการติอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอวีซ่าทำงานใหม่ให้แก่แรงงานผู้ประสงค์จะย้ายงานและเปลี่ยนนายจ้าง โดยแนบสำเนาจดหมายของแรงงานที่แจ้งให้นายจ้างเดิมทราบเรื่องความต้องการเปลี่ยนนายจ้าง พร้อมทั้งหลักฐานใบรับจดหมายลงทะเบียนของแรงงาน
ประการที่สอง : กรณีที่วีซ่าทำงานได้หมดอายุ หรือ วีซ่าทำงานถูกยกเลิก
หากวีซ่าทำงานหมดอายุ หรือถูกยกเลิกโดยนายจ้าง ด้วยเหตุผลใดก็ตาม แรงงานผู้นั้นต้องแจ้งให้ เจ้าหน้าที่ LMRA ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ถึงความประสงค์ของแรงงานที่จะย้ายงานและเปลี่ยนนายจ้าง ก่อนที่วีซ่าทำงานจะหมดอายุ หรือ 5 วันก่อนที่นายจ้างจะแจ้งยกเลิกวีซ่าทำงาน ในกรณีนี้ แรงงานจะได้รับการอนุญาตให้เตรียมตัว เป็นเวลา 30 วัน ในการย้ายไปทำงานกับนายจ้างคนใหม่ แต่ไม่อนุญาตให้แรงงานรับจ้างทำงานอื่นใดในช่วงนี้
ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา
          Labour Market Regulatory Authority - ( LMRA )

ไปฟิลิปปินส์อย่าลืมตั๋วขากลับ



สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา รายงานมาว่า ทางการฟิลิปปินส์แจ้งเวียนให้ทราบทั่วกันว่า ผู้ที่เดินทางเข้้าประเทศฟิลิปปินส์เป็นการชั่วคราวโดยไม่ขอรับการตรวจลงตราล่วงหน้าซึ่งมีสิทธิพำนักอยู่ในฟิลิปปินส์ได้ 21 วัน นั้น จะต้องมีบัตรโดยสารเครื่องบินที่มีการยืนยันการเดินทางขากลับหรือเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม มิฉะนั้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ และสายการบินที่นำผู้โดยสารดังกล่าวมายังประเทศฟิลิปปินส์จะถูกปรับตามกฎหมายด้วย

ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งใน 22 ประเทศ ที่คนไทยสามารถเดินทางเข้าไปได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า ซึ่งโดยปกติเงื่อนไขการที่จะต้องมีตั๋วเครื่องบินหรือเอกสารเดินทางเที่ยวกลับหรือที่จะใช้เดินทางไปประเทศที่สามได้นั้น เป็นเงื่อนไขที่มีกันมาเนิ่นนานแล้ว ประเทศไทยเราเอง ทางตรวจคนเข้าเมืองก็ใช้เงื่อนไขเดียวกันนี้กับคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน แต่จากการที่ปัจจุบันการเดินทางระหว่างประเทศมีปริมาณมากขึ้น และยังมีสายการบินราคาถูกหรือโลว์คอสท์แอร์ไลน์ที่จำหน่ายตั๋วเครื่องบินเป็นเที่ยวๆ ไม่ได้ขายแบบไป-กลับ อีกทั้งการจำหน่ายตั๋วโดยสารในปัจจุบันก็ใช้ระบบออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ตซึ่งบางครั้งไม่มีตั๋วจริงที่เป็นกระดาษเหมือนเมื่อก่อน หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศต่างๆ จึงมักจะผ่อนปรนไม่เข้มงวดกับการตรวจสอบตั๋วขากลับหรือตั๋วเดินทางไปยังประเทศที่สามมากนัก แต่อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ยังไม่ได้ล้มเลิกไป 

เพราะฉะนั้น พี่น้องชาวไทยทุกท่านที่ประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการท่องเที่ยวก็ดี หรือไปเพื่อทำกิจธุระ ถือว่าเป็นการเข้าประเทศชั่วคราว ไม่ว่าจะไปประเทศใดก็ควรมีการเตรียมพร้อมในเรื่องตั๋วเครื่องบินหรือเอกสารเดินทางให้พร้อม โดยเฉพาะตั๋วขากลับหรือตั๋วที่จะใช้เดินทางไปยังประเทศที่สามได้ 

นอกจากนี้ ก่อนการเดินทางควรตรวจสอบให้ดีถึงข้อกำหนดเรื่องการเข้าเมืองของประเทศที่จะเดินทางไป เพราะแต่ละประเทศจะมีข้อกำหนดหรือรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

รายชื่อประเทศหรือเขตปกครองที่คนไทยที่ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถเดินทางเข้าไปโดยไม่ต้องขอวีซ่า


ประเทศ
สามารถพำนักอยู่ได้ (วัน)
1.
อาร์เจนตินา
90
2.
บาห์เรน
15
3.
บราซิล
90
4.
บรูไน
14
5.
กัมพูชา
14
6.
ชิลิ
90
7.
เอกวาดอร์
90
8.
ฮ่องกง
30
9.
อินโดนีเซีย
30
10.
เกาหลีใต้
90
11.
ลาว
30
12.
มาเก๊า
30
13.
มองโกเลีย
30
14.
มาเลเซีย
30
15.
มัลดีฟ
30
16.
เปรู
90
17.
ฟิลิปินส์
21
18.
รัสเซีย
30
19.
ซีเชลส์
30
20.
สิงคโปร์
30
21.
แอฟริกาใต้
30
22.
เวียดนาม
30


ข้อมูลจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา
                : กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ  

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

KSKS- เรื่องจริงจากญี่ปุ่น


อย่างที่พอจะทราบกันว่า ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีหญิงไทยเดินทางเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก บ้างก็ไปทำงานร้านอาหาร บ้างไปเป็นพนักงานเสริ์ฟ บ้างแต่งงานกับสามีชาวญี่ปุ่น และ.... บ้างก็ถูกหลอกไปทำงานค้าบริการทางเพศ….
ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หญิงไทยที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อไปทำงานค้าบริการ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา จึงได้ประสานกับหน่วยงาน International Organization for Migration (IOM) และบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์-ค้าประเวณี และหาทางแก้ไขเพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานดังกล่าว อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
หญิงไทยส่วนมากจะเดินทางไปทำงานผ่านนายหน้า ด้วยความ สมัครใจ เพื่อไปทำงานตามเงื่อนไขที่นายหน้าเสนอให้ เช่น การทำงานในบาร์ ทำงานในร้านอาหาร พนักงานนวด โดยจะได้รับเงินเดือนจากการทำงาน และรายได้พิเศษเป็นเบี้ยบ้ายรายทางบ้าง ตามความพอใจของแต่ละคน
แต่ความเป็นจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น....

เมย์ เดินทางไปทำงานในบาร์ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยผ่าน กี๋ นายหน้า ซึ่ง กี๋ เป็นธุระจัดการให้ เมย์ เดินทางไปญี่ปุ่นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซักบาท อีกทั้งยังสามารถจัดการให้ เมย์ เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมาย โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว
เมื่อ เมย์ เดินทางไปถึง ก็ได้พบกับ ไอซ์ หญิงไทยอีกคนหนึ่งที่ไปรับ เมย์ ที่สนามบินกรุงโตเกียว ซึ่งได้บอกกับ เมย์ ว่า เมย์ จะต้องทำงานชดใช้หนี้เป็นจำนวน 4,000,000 เยน หรือประมาณ 1,600,000 บาท ซึ่ง ไอซ์ อ้างว่าเป็นค่าเดินทาง ค่าทำวีซ่า ค่าติดต่อประสานงาน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมย์ ไม่มีทางเลือก... จึงจำเป็นต้องทำตามที่ ไอซ์ สั่ง ด้วยการไปทำงานที่ร้านกินดื่มที่ จ.กุมมะ และถูกบังคับให้ขายบริการเพื่อใช้หนี้ก้อนโต ก่อนที่ร้านกินดื่มที่ เมย์ ทำงาน จะถูกตำรวจญี่ปุ่นบุกเข้าทลายในเวลาต่อมา
การที่ เมย์ เดินทางเข้าไปทำงานด้วยวีซ่าท่องเที่ยว... ซึ่งเป็นความผิดข้อหาแรกที่เธอได้รับเมื่อถูกตำรวจจับ นอกเหนือจากข้อหาทำงานผิดกฎหมาย (ขายบริการทางเพศ) ของเธอ เมย์ จึงถูกจำคุกและเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาล เพื่อชดใช้ความผิด 2 กระทงนี้
ปัจจุบัน เมย์ อาศัยอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน จ.กุมมะ เพื่อรอการพิจารณาคดีของเธอ ในฐานะเหยื่อค้ามนุษย์ และเป็นพยานปากสำคัญของคดีการบุกจับร้านกินดื่ม ที่เป็นฉากบังหน้าของขบวนการค้าประเวณีในประเทศญี่ปุ่น

เมย์ ยังเป็นหญิงไทยอีกคนหนึ่งที่ตัดสินการเดินทางของชีวิตของเธอในครั้งนี้ เพื่อหารายได้ที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวที่เมืองไทย
เธอคาดหวังว่า หากเธอสามารถลืมตาอ้าปากได้ในประเทศญี่ปุ่น เธอจะพาลูกชายวัย 8 ขวบ ของเธอมาอยู่ด้วย... แต่สิ่งที่เธอไม่เคยรู้ คือ ลูกชายที่เธอจะพามาอยู่ด้วยนั้น จะกลายเป็นเด็กมีปัญหา เพราะเด็กที่ได้เติบโตอยู่กับตา-ยาย ที่ประเทศไทย นั้น จะไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของญี่ปุ่น บางครั้งก็ไม่พร้อมที่จะเริ่มต้นคบเพื่อนใหม่ๆ สังคมวัฒนธรรมใหม่ๆ ของญี่ปุ่น ที่สำคัญ คนที่เลี้ยงลูกชายเธอมาคือคุณตาคุณยาย ดังนั้นเด็กจะไม่มีความผูกพักกับแม่ และไม่เคยทราบว่าแม่บังเกิดเกล้าของตัวเองทำอาชีพอะไร แต่เมื่อมารับรู้ความจริงทีหลัง ก็จะขาดความเคารพแม่ ต่อต้านแม่ และครอบครัวใหม่ของแม่ด้วย
อีกทั้ง การที่เด็กไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมญี่ปุ่นได้ และการที่ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคนท้องถิ่น ทำให้เด็กที่โตขึ้นมา ไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก หางานยาก เนื่องจากคุณสมบัติไม่เพียงพอ จึงมักจบลงด้วยการทำงานแรงงาน เป็นหมอนวด เข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติด หรือแม้แต่การทำอาชีพขายบริการเช่นเดียวกับแม่ของตัวเอง....

เรื่องของ เมย์ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ในหลายๆ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น
กรมการกงสุลจึงอยาก ขอร้องท่านผู้อ่านทุกท่าน ฝากเตือนไปยังลูกหลานของท่าน ให้คิดให้รอบคอบก่อนที่ตัดสินใจ เชื่อ คนใกล้ตัว โดยเฉพาะการถูกชักจูงให้มาทำงานขายบริการเช่นนี้ เพราะผลที่ได้รับมักจะไม่คุ้มค่ากับทางเดินชีวิตที่ต้องเสียไป....

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล



วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จาก “เกลั้ง” สู่ภัยร้ายของหญิงไทยที่ไม่คาดคิด



หากใครเคยมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวที่ประเทศสิงคโปร์ คงจะเคยได้ยินกิตติศัพท์ของ “ย่านเกลั้ง” ซึ่งนอกจากจะเป็นย่านสถานเริงรมย์ที่นิยมของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังขึ้นชื่อว่าเป็นย่านโสเภณีถูกกฏหมาย ที่จะสามารถพบหญิงขายบริการมากมายหลายชาติพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหญิงไทย และบ่อยครั้งที่หญิงไทยเหล่านี้ได้กลายเป็นเหยื่อราคะที่ “เกลั้ง”

เมื่อไม่นานนี้ หญิงไทยสองคนได้รับการชักชวนผ่านนายหน้าเพื่อไปทำงานเป็นพนักงานขายเครื่องดื่มในย่านบันเทิงดังกล่าว และไม่ว่าจะด้วยค่าตอบแทน สวัสดิการ หรือข้อตกลงอันจูงใจประการใดก็ตาม ทำให้เธอทั้งสองตกลงใจเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ทันทีโดยไม่ได้ตรวจสอบและศึกษาข้อมูล รายละเอียดของงานให้รอบคอบเสียก่อน ผลลัพธ์ของพวกเธอจึงไม่ต่างจากของเหยื่อค้าประเวณีรายอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น

เธอทั้งสองถูกบังคับให้ขายบริการวันละหลายรอบ และบางครั้งต้องรับแขกถึง 125 คน เพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าดำเนินการเกี่ยวกับบัตรอนุญาตทำงาน (Work Permit) ซ้ำร้าย ลูกค้าที่มาใช้บริการเหล่านั้นยังทำร้ายร่างกายพวกเธออีกด้วย เมื่อความอดทนอดกลั้นต่อการถูกทารุณกรรมทั้งกายและใจถึงขีดสุด เธอจึงตัดสินใจหลบหนีออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัคราชทูต ณ สิงคโปร์ เพื่อประสานกับทั้งสำนักงานแรงงานไทยและตำรวจสิงคโปร์ให้ความช่วยเหลือเหยื่อสาวทั้งสองราย

ในท้ายที่สุด สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับแจ้งว่า นายจ้างของเหยื่อทั้งสองได้ตกลงจัดการเรื่องค่าโดยสารเครื่องบินและเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่เพื่อให้ทั้งสองได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้เธอทั้งสองจะกลับสู่บ้านอย่างปลอดภัย แต่มิได้หมายความว่าจะไม่มีเหยื่อรายต่อไป...หากหญิงไทยยังตัดสินใจ “กระโจน” เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบเสียก่อน


กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเท 

การจับตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติในเขตไซไนของอียิปต์


     แหลมไซไน ดินแดนที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปแอฟริกา เป็นจุด "ร้อน" อีกแห่งหนึ่งของโลกเนื่องจากตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เป็นรอยต่อของโลกอาหรับกับอิสราเอลที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูงมาก บริเวณนี้ ยังมีคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางลัดสำหรับเดินเรือ ยิ่งทำให้แหลมไซไนเป็นพื้นที่ๆ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงทุกรูปแบบตลอดเวลา
     แต่แม้ว่าจะมีความอ่อนไหวและความไม่ปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ดินแดนแถบนี้ก็มีความสวยงาม มีประวัติความเป็นมาที่ีน่าสนใจและเป็นจุดท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศอียิปต์ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวนับล้านคนเดินทางไปท่องเที่ยวยังพื้นที่แถบแหลมไซไน ส่วนใหญ่มักจะเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่หนีความหนาวเย็นมาพักผ่อนตามชายหาดที่สวยงามและอากาศที่อบอุ่น
แหลมไซไน จุดเชื่อมต่อแอฟริกาและเอเชีย
และยังตั้งอยู่ในเขตที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
ระหว่างอาหรับและอิสราเอลอีกด้วย
         อาณาบริเวณแหลมไซไนนั้น เป็นแหล่งที่อยู่ของชาวเบดูอิน เป็นกลุ่มชนเร่ร่อนที่อาศัยพื้นที่แถบแหลมไซไนและตะวันออกกลางมาตั้งแต่โบราณ จนเมื่อมีการแบ่งเขตประเทศต่างๆ ตามแบบรัฐสมัยใหม่ ชนเผ่าเบดูอินบางกลุ่มจึงประสบปัญหากลายเป็นพวกไร้สัญชาติและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ได้จึงไม่ยอมรับอำนาจหรือไม่ยอมอยู่ใต้กฎหมายของรัฐสมัยใหม่ซึ่งก็คืออียิปต์ ทุกวันนี้ชาวเบดูอินในแหลมไซไนยังคงดำรงชีวิตตามวิถีของตนเช่นเดียวกับที่เป็นมาแต่โบราณและมักจะมีการกระทบกระทั่งกับฝ่ายปกครองของอียิปต์อยู่เสมอๆ ทำให้รอยร้าว ความไม่เข้าใจกันระหว่างชาวเบดูอินและฝ่ายรัฐบาลอียิปต์เกิดขึ้นอยู่เสมอมา บางครั้ง ชาวเบดูอินกระทำผิดกฎหมายของบ้านเมืองและถูกจับกุมคุมขัง แต่คนเหล่านี้ก็จะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาได้กระทำลงไปเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็จะมีการ "เอาคืน" โดยใช้ความรุนแรง และผู้ที่มักจะได้รับผลกระทบโดยที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยก็คือ นักท่องเที่ยว ที่ผ่านมา มีทั้งการกราดยิงนักท่องเที่ยว การลักพาตัวนักท่องเที่ยว เกิดขึ้นเสมอๆ  





ชายหาดที่สวยงามที่มีอยู่มากมายหลายจุด บนแหลมไซไน
       
       ล่าสุด ทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้รายงานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติถูกชาวเบดูอินจับตัวไปอีกแล้ว
      โดยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังภูเขาเซนต์แคทเธอรีน (สถานที่ที่เชื่อกันว่าศาสดาโมเสสขึ้นไปรับบัญญัติ 10 ประการจากพระเจ้าและเป็นที่มาของคัมภีร์ในศาสนาคริสต์) และระหว่างกำลังจะเดินทางกลับไปยังกรุงไคโรนั้นเองได้มีชาวเบดูอิน 3 คน พร้อมอาวุธครบมือหยุดรถทัศนาจรและจับนักท่องเที่ยวไป 1 คน ซึ่งทางสถานทูตของนักท่องเที่ยวผู้โชคร้ายรายนี้ก็ได้ประสานการเจรจาต่างๆ ด้วยความยากลำบาก จนในที่สุด ชาวเบดูอินก็ยอมปล่อยตัวนักท่องเที่ยวรายนี้  
      จากการสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทราบว่า การจับตัวชาวต่างชาติของชาวเบดูอินมิได้ประสงค์ต่อทรัพย์ แต่มุ่งจับตัวชาวต่างชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับทางการอียิปต์ให้ปล่อยตัวเพื่อนชาวเบดูอินที่ถูกตำรวจอียิปต์จับกุมตัวไปก่อนหน้านี้ในข้อหามีอาวุธร้ายแรงในครอบครอง ตอนที่ถูกจับนั้น ไกด์ชาวอียิปต์ได้ยื่นเงินให้และยังเสนอตัวเองเป็นตัวประกันแทนแล้ว แต่ชาวเบดูอินก็ไม่ยอม

สภาพถนนในแหลมไซไน
     เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์ลักษณะนี้จะยังคงเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างแน่นอน นั่นหมายถึง นักท่องเที่ยวจะยังคงเสี่ยงต่อการถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง อีกทั้งทางการอียิปต์เองก็ยังไม่มีระบบหรือช่องทางที่จะจัดการกับปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสถานทูตจึงขอเตือนให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวยังแหลมไซไนให้เข้าใจถึงสภาพปัญหาของพื้นที่และใช้ความระมัดระวังให้มากด้วย

เชื่อกันว่าศาสดาโมเสสขึ้นไปรับบัญญัติ 10 ประการ
บนยอดเขาไซไน

นักท่องเที่ยวนิยมเดินเท้าขึ้นบนยอดเขาไซไน
เพื่อตามรอยศาสดาโมเสส


































โบสถ์เซนต์แคทเธอรีน ตั้งอยู่ทางขึ้นไปยังยอดเขาไซไน




ชาวเบดูอินในแหลมไซไน
ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
        : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร