วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เตือนแรงงานไทยไปคูเวตระวังถูกหลอก เพราะผู้ขอวีซ่าทำงานต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี


เตือนแรงงานไทยไปคูเวตระวังถูกหลอก เพราะผู้ขอวีซ่าทำงานต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี


สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวตรายงานว่า ปัจจุบันรัฐบาลคูเวตได้ออกกฎหมายใหม่มาตั้งแต่ต้นปี 2553 กำหนดให้ผู้ขออนุญาตทำงานต้องมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป และต้องมีใบรับรองประวัติจากทางการตำรวจซึ่งผ่านการกระทำนิติกรณ์ จากสถานเอกอัครราชทูตคูเว็ตประจำประเทศไทย (รับรองเอกสารที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศก่อน แล้วไปยื่นขอรับการรับรองเอกสารจากสถานเอกอัครราชทูตคูเวต) ทั้งนี้คำร้องขอวีซ่าทำงานจะใช้เวลาในการพิจารณานานพอสมควร

มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศคูเวตโดยวีซ่าประเภทธุรกิจ (Business Visit Visa) ซึ่งได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศได้นาน 30 วัน โดยเชื่อว่านายจ้างจะสามารถเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าทำงานให้ได้ แต่ในความเป็นจริงนายจ้างจะไม่สามารถทำวีซ่าทำงานให้ได้เนื่องจากเงื่อนไขตามกฎหมายใหม่ดังกล่าว และแรงงานที่พำนักอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมายเมื่อจะเดินทางออกนอกประเทศจะต้องเสียเงินค่าปรับอีกด้วย

มีแรงงานบางรายหลงเชื่อคำชักชวนของนายหน้าว่าเมื่อเดินทางไปถึงคูเวตแล้วจะสามารถทำเอกสารปลอมเพื่อยื่นขอวีซ่าทำงานในคูเวตได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวกลับจะยิ่งทำให้แรงงานประสบปัญหามากขึ้น เพราะหากทางการคูเวตตรวจสอบได้ว่าเอกสารที่นำไปยื่นเป็นเอกสารปลอมอาจต้องถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลานานกว่าคดีจะสิ้นสุด

สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอเตือนให้แรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในคูเวตตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้รับวีซ่าทำงานถูกต้องก่อนเดินทางไปทำงานในประเทศดังกล่าว

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเมืองยอกยาการ์ตาจนกว่าสถานการณ์ภูเขาไฟระเบิดจะสงบ


เตือนนักท่องเที่ยวชาวไทยให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเมืองยอกยาการ์ตาจนกว่าสถานการณ์ภูเขาไฟระเบิดจะสงบ

นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ว่าตามที่ภูเขาไฟเมราปีบนเกาะชวาระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 เวลาประมาณ 17.00 น. และ 17.23 น. โดยมีกลุ่มควันร้อนสีดำขนาดใหญ่พวยพุ่งขึ้นมาจากปากปล่องภูเขาไฟทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 20 คน โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่พื้นที่ทางด้านใต้ของภูเขาไฟได้แก่หมู่บ้านคินาเจโร และคังกินัง จังหวัดชวากลาง หมู่บ้านสเลมัน จังหวัดยอกยาการ์ตา

นายจักรฯ แถลงว่า โดยที่พื้นที่เมืองยอกยาการ์ตาและเมืองโซโลเป็นศูนย์กลางการศึกษาของนักเรียนไทยซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยได้ติดตามเฝ้าระวังสถานภาพความปลอดภัยของนักเรียนไทยมาโดยตลอดช่วงที่ภูเขาไฟเริ่มปะทุ และในเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งนี้มีรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตาว่าได้ติดต่อกับนายยาซูลี บินดุเล็ม ผู้ประสานงานนักศึกษาไทยในยอกยาการ์ตาเพื่อสอบถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักศึกษาไทยในเมืองยอกยาการ์ตาและเมืองโซโล ซึ่งนายยาซูลีแจ้งว่าได้โทรศัพท์ถึงกลุ่มนักศึกษาไทยทั้งสองเมืองแล้วทราบว่าทุกคนปลอดภัยและไม่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟเมราปีแต่อย่างใด เนื่องจากนักศึกษาไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตตัวเมืองของเมืองยอกยาการ์ตาและเมืองโซโล

อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ มีความห่วงใยกรณีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปเมืองยอกยาการ์ตาเพื่อนมัสการเจดีย์บุโรพุทโธซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวไทย เพราะนักท่องเที่ยวอาจจะไม่ตระหนักว่าเจดีย์บุโรพุทโธซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองยอกยาการ์ตานั้นอยู่ห่างภูเขาไฟเมราปีเป็นระยะทางเพียง 35 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งการระเบิดของภูเขาไฟดังกล่าวในช่วงนี้อาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกในด้านต่างๆต่อนักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเดินทางไปเมืองยอกยาการ์ตาได้

อธิบดีกรมการกงสุลได้แถลงเตือนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองยอกยาการ์ตาในช่วงนี้ให้ใช้ดุลพินิจก่อนตัดสินใจ และหากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนควรพิจารณาเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์การระเบิดของภูเขาไฟจะสงบลง

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผู้แทนสมาคมมิตรภาพไทย – ปากีสถานเข้าเยี่ยมรัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศ

ท่านทูตมารุต จิตรปฎิมาร่วมกับนายสมรรถ ขามเขตต์ นายกสมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถานและคณะถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับนายนาวับซาดา มาลิก อามัด คาน รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศ
นายนาวับซาดา มาริก อามัด คาน หารือข้อราชการกับคณะผู้แทนสมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถาน
นายนาวับซาดา มาริก อามัด คาน รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศทักทายต้อนรับท่านทูตมารุต จิตรปฎิมา




ผู้แทนสมาคมมิตรภาพไทย – ปากีสถานเข้าเยี่ยมรัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2553 เอกอัครราชทูต มารุต จิตรปฏิมา นำคณะผู้แทนสมาคมมิตรภาพไทย – ปากีสถานนำโดย นายสมรรถ ขามเขตต์ นายกสมาคมฯ เข้าเยี่ยมคารวะ นาย Nawabzada Malik Amad Khan รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศ เนื่องในโอกาสที่คณะผู้แทนสมาคมฯ เดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือชาวปากีสถานที่ประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วม ที่เมือง Nowshera และ Chersada เขต Khyber Pakhtunkhwa

ปัญหาความไม่ปลอดภัยในกรุงบัวโนสไอเรส

การชุมนุมบริเวณจตุรัสเมโย กรุงบัวโนสไอเรส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553

ปัญหาความไม่ปลอดภัยในกรุงบัวโนสไอเรส


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินารายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ญาติของผู้ตกเป็นเหยื่อความไม่ปลอดภัยในกรุงบัวโนสไอเรสจำนวนหลายพันคนได้นัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่จตุรัสเมโย เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและเรียกร้องให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น ภายหลังข่าวกรณีฆาตรกรรมวัยรุ่นชายวัย 16 ปี ซึ่งถูกกลุ่มคนร้ายลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ และกรณีนายแบบชาวอาร์เจนตินาถูกยิงเสียชีวิตระหว่างที่คนร้ายพยายามจี้รถหน้าบ้านพักบริเวณชานกรุงบัวโนสไอเรส

ครอบครัวของผู้เสียชีวิตประกาศในการปราศรัยระหว่างการประท้วงว่าการชุมนุมมิได้มีจุดประสงค์ทางการเมือง หากแต่ต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินซึ่งมีอยู่ทั่วไปทั้งในเมืองหลวงและเมืองอื่นๆในอาร์เจนตินา ซึ่งเสียงเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้สวนทางกับท่าทีของรัฐบาลที่ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่มีปัญหาความไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านพยายามผลักดันความรู้สึกว่าสังคมไม่ปลอดภัยเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง

อย่างไรก็ตามการชุมนุมของกลุ่มญาติผู้ตกเป็นเหยื่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่กำลังขยายตัวในอาร์เจนติมาในครั้งนี้สะท้อนถึงความไม่พอใจของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อท่าทีและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย

ทั้งนี้เสียงของสาธารณชนส่วนใหญ่เห็นว่าความไม่ปลอดภัยในสังคมเกิดขึ้นเนื่องจากกฎหมายและมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยที่ไม่เข้มงวด อาทิ หากผู้กระทำผิดยังไม่บรรลุนิติภาวะมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวและมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวในชั้นศาลหากหลักฐานไม่แน่นหนาเพียงพอ เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประกอบกับการที่รัฐบาลปัจจุบันปฏิเสธปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยมาโดยตลอดในหลายโอกาส อาทิ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลเคยกล่าวถึงความไม่ปลอดภัยว่าเป็น “ความรู้สึก” ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในสังคมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อาจมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของรัฐบาลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในปี 2554

สถิติตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 เป็นต้นมาปรากฏว่ามีคนไทยในกรุงบัวโนสไอเรสติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตเนื่องจากถูกคนร้ายชิงทรัพย์/ลักทรัพย์รวม 4 ราย แต่ไม่มีกรณีคนไทยถูกทำร้ายร่างกายเพื่อชิงทรัพย์

ไซโคลนกิรีพัดขึ้นฝั่งพม่า คนไทยปลอดภัย


ไซโคลนกิรีพัดขึ้นฝั่งพม่า คนไทยปลอดภัย

นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ตามที่พายุไซโคลนกิรีพัดขึ้นฝั่งพม่าทางถาคตะวันตกบริเวณรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นผลให้บ้านเรือนของราษฎรได้รับความเสียหายหลายพันหลัง และมีผู้เสียชีวิตในท้องที่อำเภอเมย์บนและอำเภอมินเบียรวม 27 ราย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งได้ตรวจสอบกับทางการพม่าแล้ว ไม่ปรากฏว่าคนไทยได้รับผลกระทบใดๆจากวาตภัยดังกล่าว

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทบาทไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

คุณชัญชนิฐ มาร์โทเรล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทยรับมอบเช็กจากท่านกงสุลใหญ่ฯ
ท่านกงสุลใหญ่ฯ กล่าวมอบเช็กเงินสดแก่ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทย
ผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่าร้อยคนในวันนั้น
ท่านกงสุลใหญ่ดำรง ใคร่ครวญ กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่ CSUN เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553



บทบาทไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 กงสุลใหญ่ดำรง ใคร่ครวญ ได้มอบเช็คมูลค่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐแก่นางชัญชนิฐ มาร์โทเรล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทย เพื่อเป็นเงินสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์ฯ ในการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อชาวไทยในคดีการค้ามนุษย์ซึ่งบริษัท Global Horizons Manpower บริษัทจัดหางานในสหรัฐฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหา

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นฟ้องต่อศาลในรัฐฮาวายกล่าวหาบริษัท Global Horizons Manpower ว่าหลอกลวงแรงงานไทยมากกว่า 1,100 คนไปทำงานในไร่เกษตรกรรมในรัฐฮาวายและรัฐอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ในระหว่างปี 2547-2548 โดยแรงงานไทยที่ตกเป็นเหยื่อต้องเสียค่านายหน้าจำนวนมากให้แก่บริษัทฯ เพื่อให้ได้ไปทำงานในสหรัฐฯ และส่วนใหญ่ต้องกู้ยืมมาจากแหล่งเงินนอกระบบ ทั้งนี้ เมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐฯ แล้ว แรงงานไทยกลับพบว่างานไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ซึ่งทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอเพื่อนำไปชำระหนี้ดังกล่าว

กลสุลใหญ่ดำรงฯ กล่าวว่า สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสพร้อมจะประสานให้เหยื่อในคดีการค้ามนุษย์ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย และรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ

ในวันเดียวกัน กงสุลใหญ่ดำรงฯ ได้ไปร่วมกล่าวในงานสัมมนาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่ California State University Northridge (CSUN) ซึ่่งมีอาจารย์และนักศึกษาร่วมฟังกว่าหลายร้อยคน กงสุลใหญ่ดำรงฯ ชี้ให้เห็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการร่วมมือกับองค์กรเอกชนและประชาคมระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขจัดความยากจนรวมทั้งการส่งเสริมการศึกษาในกลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งย้ำว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งในแถวหน้าที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานเอกอัครราชทูตไทยที่เคนยาจัดกิจกกรมกงสุลสัญจรไปที่ประเทศสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย


สถานเอกอัครราชทูตไทยที่เคนยาจัดกิจกกรมกงสุลสัญจรไปที่ประเทศสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย


ระหว่างวันที่ 26 กันยายน 2553 - 1 ตุลาคม 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยาได้ส่งคณะผู้แทนซึ่งมีนายสมศักดิ์ เตรียมแจ้งอรุณ อัครราชทูตที่ปรึกษาเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่ประเทศสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการงานด้านกงสุลแก่คนไทยที่พำนักอยู่ในแทนซาเนียและแซนซิบาร์ และติดตามสอบถามทุกข์สุขของพี่น้องคนไทย รวมทั้งนำข่าวสารเกี่ยวกับบ้านเมืองไปแจ้งให้ชุมชนไทยได้ทราบและจัดทำทะเบียนรายชื่อคนไทยในประเทศดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการติดต่อให้ความช่วยเหลือ

ในการให้บริการกงสุลครั้งนี้มีผู้ติดต่อขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ จำนวน 1 ราย จดทะเบียนเกิดจำนวน 2 ราย และลงทะเบียนรายงานตัว จำนวน 21 ราย จำแนกเป็นที่เมืองดาเอสซาลัม 10 ราย และที่แซนซิบาร์ 11 ราย

สถานที่จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายน 2553 ได้รับความอนุเคราะห์ด้านสถานที่จากนายประยูรย์ พงศ์ตระกูล นักธุรกิจไทยซึ่งพำนักอยู่ในเมืองดาเอสซาลัมมานานกว่า 30 ปีแล้ว ปัจจุบันประกอบอาชีพซื้อขายอัญมณีทั้งแบบแร่ดิบและแบบแปรรูป โดยตั้งเป็นรูปบริษัทชื่อ Gramac (T) Ltd. มีลูกจ้างคนไทย 2 คน ช่วยคัดเลือกและเจียระไนอัญมณี นอกจากนั้นยังมีธุรกิจร้านอาหารไทยชื่อ Thai Village และมีโครงการจะเปิดร้านขายเครื่องประดับที่เมืองอะรุชาเร็วๆนี้อีกด้วย

คณะเจ้าหน้าที่ไทยได้เข้าเยี่ยมชมแผนกสปาของโรงแรมคิลิมันจาโร เคมปินสกี้ ในเมืองดาเอสซาลัม และได้พบนางสาวนวรัตน์ อาดัม ผู้จัดการแผนดสปา พร้อมพนักงานสปาไทยอีกจำนวน 4 คร ซึ่งได้รับทราบว่า พนักงานทั้งหมดได้รับการคัดเลือกจากบริษัทอนันต์ธาราสปาประเทศไทย เพื่อส่งไปทำงานงานตามโรงแรมในเครือของโรงแรมเคมปินสกี้ทั่วโลก โดยพนักงานทุกคนได้รับการฝึกฝนทั้งด้านภาษาและการนวดมาเป็นอย่างดี จึงไม่มีปัญหาในการทำงานแต่อย่างใด ส่วนเงินเดือนบริษัทอนุนต์ธาราสปา ประเทศไทย จะนำเข้าบัญชีของแต่ละคน อุปกรณ์ที่ใช้และของตกแต่งในแผนดสปาทั้งหมดนำมาจากประเทศไทย พร้อมทั้งได้นำเจ้าหน้าที่ชมแผนกสปา แต่ละห้องจัดแต่งไม่เหมือนกันเพื่อความหลากหลายและความพอใจของลูกค้าที่มารับบริการจะสามารถเลือกได้ตามใจชอบ ทั้งนี้ผู้จัดการแผนกสปาแจ้งด้วยว่าสปาแห่งนี้ประธานาธิบดีแทนซาเนียและบุคคลสำคัญเคยมารับบริการด้วยแล้ว

ในค่ำวันที่ 27 กันยายน 2553 คณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นัดพบปะคนไทยในแทนซาเนียที่ร้าน Thai Village เมืองดาเอสซาลัม โดยนายประยูรเป็นผู้ประสานงานนัดหมายให้คนไทยจำนวน 30 คนมาพบกับคณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต คนไทยเหล่านี้ประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการทำเมืองอัญมณี พ่อค้าซื้อขานอัญมณี เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ พนักงานสปา พ่อครัว/แม่ครัวร้านอาหารไทยและร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโรงแรมชั้นนำในเมืองดาเอสซาลัม ทั้งนี้มีบางคนเดินทางมาเป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตรเพื่อมาร่วมงานพบปะสังสรรค์ครั้งนี้ ทั้งนี้คณะผู้แทนฯ ได้แจ้งให้ชุมชนไทยทรายถึงความห่วงใยของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งให้ความสนใจอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของคนไทยในต่างประเทศ และได้สอบถามถึงสภาพความเป็นอยู่ ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ซึ่งทุกคนแจ้งให้ทราบว่าไม่มีปัญหาเดือดร้อนในการทำงานแต่ประการใด มีความเป็นอยู่สุขสบาย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในระดับหนึ่ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 คณะผู้แทนฯ ประกอบด้วยนายธวัช ขวัญจิตและนายพงษ์ศักดิ์ นิ่มกำเหนิด เลขานุการโทได้เดินทางไปเยี่ยมคนไทยตามสถานที่ต่างๆในแซนซิบาร์ อาทิ โรงแรมเนปจูนซึ่งมีพนักงานสปาคนไทยจำนวน 2 คน ทำงานมา 3 ปีแล้วโดยคนหนึ่งทำงานเป็นผู้จัดการแผนกสปา โรงแรมดรีมออฟแซนซิบาร์มีพนักงานสปาคนไทยจำนวน 2 คน โรงแรมมาเปนซี บีช คลับ มีพนักวานสปาคนไทยเพียงคนเดียวซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้จัดการแผนกสปาพึ่งทำงานมาได้เพียง 2 เดือน ประสบปัญหายังไม่ได้รับการตรวจลงตราประเภททำงานและได้รับเงินเดือนล่าช้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองได้ช่วยเจรจากับผู้บริหารของโรงแรมในเรื่องดังกล่าว โรงแรมลา เกมมา เดเล มีพนักงานสปาคนไทยจำนวน 2 คน ซึ่งแจ้งว่าทำงานอย่างมีความสุขและไม่มีปัญหาจากการทำงาน โรงแรมซามานี เตมปินสกี โฮเตล มีพนักงานสปาไทย 4 คน โดยมีนางสาวอรฑิกา ทวีพันธ์เป็นผู้จัดการแผนกสปา ขณะนี้กำลังขยายพื้นที่ให้บริการแผนกสปา เนื่องจากเป็นแผนกที่ทำรายได้เข้าโรงแรมเป็นอันดับสองรองจากภัตาคาร โรงแรม บรีซ บีช คลับแอนด์สปา โรงแรมปาล์ม โฮเตล และโรงแรมบาราซา รีสอร์ท แอนด์สปา มีพนักงานสปาคนไทยจำนวน 5 คน โดยอยู่ที่โรงแรมแห่งแรก 3 คน และที่โรงแรมอีกสองแห่งๆละ 1 คน ซึ่งต่างพอใจสภาพการทำงาน

จากการเดินทางไปเยี่ยมพนักงานสปาไทยตามโรงแรมที่มีชื่อเสียงในประเทศแทนซาเนียครั้งนี้พบว่าค่าตอบแทน และเงินเดือนสำหรับพนักงานสปาที่ได้รับสุทธิในแต่ละแห่งอยู่ระหว่าง 550 – 900 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่รวมเงินรางวัลจากผู้ใช้บริการ ซึ่งนับว่ารายได้สูง อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานทักษะอาทิ พ่อครัว/แม่ครัวอาหารไทย พนักงานสปา ช่างเจียระไนอัญมณี ในประเทศแทนซาเนียยังมีโอกาสอีกมาก โดยหากมีการบริหารจัดการที่ดีในประเทศไทยน่าจะทำให้ได้แรงงานคุณภาพเข้าไปทำงานในแทนซาเนียอย่างยั่งยืน

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานทูตที่สเปนสนับสนุนการสอนภาษาไทย

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด

สถานทูตที่สเปนสนับสนุนโครงการสอนภาษาไทย


ในปีงบประมาณ 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปนได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมไทยในประเทศสเปน โดยกลุ่มครอบครัวไทย-สเปน นครบาร์เซโลนา มีกำหนดเวลาดำเนินโครงการ 41 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2553

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยในเขตนครบาร์เซโลนาได้รับการอบรมด้านภาษา วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อปลูกฝังความเป็นไทย และสร้างความสามัคคีระหว่างชาวไทยที่อาศียอยู่ในนครบาร์เซโลนา

ทั้งนี้กลุ่มครอบครัวคนไทย-สเปนได้จัดตั้งโรงเรียนสามัคคีไทย (Escuela Thai Solidario) ขึ้นในจังหวัดบาร์เซโลนา โดยโรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการส่งเสริมภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในประเทศสเปนจากสถานเอกอัครราชทูตในปีงบประมาณ 2553 มีนางดวงหทัย เร็วการ เป็นผู้บริหารและผู้สอนและมีนางสุจรีย์ เฮแลนเดอร์และนายศักรินทร์ สูงปานเขา เป็นผู้ร่วมสอน เปิดสอนทุกวันเสาร์ระหว่างเวลา 16.30 – 18.00 น. ระหว่าง 8 พฤษภาคม - 19 มิถุนายน 2553 มีนักเรียนจำนวน 6 คน อายุระหว่าง 7-13 ปี โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีความรู้ภาษาไทยขั้นพื้นฐาน 2. กลุ่มที่ยังไม่มีความรู้ภาษาไทย

ด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนนั้น โรงเรียนสามัคคีไทยได้จัดซื้อหนังสือประกอบการเรียนการสอนจากประเทศไทย ได้แก่หนังสือเรียนและแบบฝึกภาษาไทยพื้นฐานเพื่อเตรียมทักษะเบื้อต้นสำหรับเยาวชนไทยในต่างแดนโดยอาจารย์ สาลี่ ศิลปสธรรม หนังสือคุณหนูหัดอ่าน โดย ผศ. สรรณา สุติวิจิตร สาระการเรียนรู้ภาษาไทยระดับปฐมวัย (อนุบาล 2 ) โดยธนพร ปางวิรุฬรักษ์ Home Study Primary โดย รศ. วดี ชาติอุทิศ แบบฝึกทักษะพื้นฐานภาษาไทย คัด เขียน อ่าน ภาษาไทย โดยวิไลลักษณ์ ศรีโพธิ์ หลัก๓ษาไทย โดย รศ. จินตนา งามเขียว เอกสารการสอนภาษาไทยจาก International School of Bangkok และหนังสือเรียนภาษไทย ดรุณศึกษา ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช นอกจากนี้โรงเรียนยังได้ใช้สื่อวีดิทัศน์ประกอบการสอนอีกด้วย

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการสรุปว่า นักเรียนในกลุ่มที่ 1 จำนวน 4 คน ซึ่งมีความรู้ภาษไทยขั้นพื้นฐานสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ในระดับพอใช้ (ร้อยละ 40) และสามารถพูดและฟังได้ในระดับดี (ร้อยละ 60) นักเรีบยนกลุ่มที่ 2 จำนวน 2 คน ซึ่งไม่มีความรู้ภาษาไทยเลย สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ในระดับต่ำ (ร้อยละ 10) และสามารถฟังและพูดได้ในระดับพอใช้ (ร้อยละ 30) ทั้งนี้โรงเรียนได้แนะนำให้ผู้ปกครองใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับนักเรียนซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการภาษาไทยของนักเรียนได้

โครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยของกลุ่มครอบครัวไทย-สเปนเป็นกิจกรรมของคนไทยในต่างประเทศที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย ทำให้เยาวชนไทยในต่างประเทศมีความรู้และเกิดความผูกพันต่อภาษาและวัฒนธรรมไทย ประกอบกับการที่โรงเรียนมีแผนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดกลุ่มนักเรียนตามความรู้ภาษาไทย และใช้สื่อการสอนที่หลากหลาย ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะภาษาไทยในทุกด้าน นักเรียนของโรงเรียนสามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยได้ในระดับที่น่าพอใจ

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานทูตไทยที่บังกลาเทศเตือนประกันภัยรถยนต์จ่ายน้อยมาก


สถานทูตไทยที่บังกลาเทศเตือนประกันภัยรถยนต์จ่ายน้อยมาก


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศรายงานว่ากฎหมายบังกลาเทศเกี่ยวกับการประกันภัยบุคคลที่สามสำหรับผู้โดยสารรถยนต์ในบังกลาเทศกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยต่ำมาก กล่าวคือไม่ว่าในกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ได้รับค้าชดเชยไม่เกิน 20,000 ตากา (1 บาท = 2.35 ตากา) เพราะบริษัทประกันรถนรค์จะจ่ายค่าเสียหายให้กับรถยนต์เป็นหลักไม่ใช่ผู้โดยสาร ดังนั้น หากผู้โดยสารต้องการได้ค่าชดเชยที่สูงกว่านี้ก็จะต้องทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตแยกต่างหาก

ในทำนองเดียวกันแม้ผู้ทำประกันรถยนต์จะทำประกันชั้นหนึ่ง แต่ตามกฎหมายบังกลาเทศก็เป็นการประกันตัวรถมิใช่เป็นการประกันบุคคลที่โดยสารในรถแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับการทำประกันชั้นหนึ่งในนานาประเทศทั่วโลก

คนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจที่บังกลาเทศจึงพึงสังวรว่าหากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในบังกลาเทศจะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายตามกฎหมายเพียงไม่เกิน 20,000 ตากา (ไม่ถึง 10,000 บาท) เท่านั้น

กิจกรรมกงสุลสัญจรของสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย


กิจกรรมกงสุลสัญจรของสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย


ในช่วงปีงบประมาณ 2553 (1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2553) สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเปได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมืองไถจงและเมืองเกาสงอย่างสม่ำเสมอตลอดปีเพื่อให้บริการแก่คนไทยและแรงงานไทยจำนวนกว่า 35,000 คน ที่พำนักอยู่ในเขตภาคกลางและภาคใต้ของไต้หวัน

กิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมืองไถจง:
สำนักงานการค้าฯ จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรเมืองไถจงทุกวันพุธแรกและพุธที่สามของเดือน(และพุธที่ห้า หากมี) โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานการค้า 3 คน เดินทางไปให้บริการ ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 – กันยายน 2553 ในการบริการกงสุลสัญจรไถจงได้ออกวีซ่าท่องเที่ยวจำนวน 3,012 ราย ทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 1,145 ราย บันทึกรายการหนังสือเดินทาง 1,145 ราย บริการงานทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนครอบครัว และนิติกรณ์จำนวน 118 ราย ออกหนังสือสำคัญประจำตัว (C.I.) จำนวน 33 ราย นอกจากนี้ยังได้ให้คำปรึกษาเรื่องงานคุ้มครองดูแลคนไทยแก่ผู้ที่ไปสอบถามด้วย

กิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมืองเกาสง:
สำนักงานการค้าฯ จัดกงสุลสัญจรเมืองเกาสงทุกวันพฤหัสบดี โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการค้าฯ 4 คนเดินทางไปให้บริการ ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 – กันยายน 2553 ในการบริการกงสุลสัญจรเกาสงได้ออกวีซ่าท่องเที่ยวจำนวน 12,103 ราย ทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 971 ราย บันทึกรายการหนังสือเดินทาง 968 ราย บริการงานทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนครอบครัว และนิติกรณ์จำนวน 142 ราย ออกหนังสือสำคัญประจำตัว (C.I.) จำนวน 45 ราย นอกจากนี้ยังได้ให้คำปรึกษาเรื่องงานคุ้มครองดูแลคนไทยแก่ผู้ที่ไปสอบถามด้วยเช่นกัน

กิจกรรมกงสุลสัญจรของสำนักงานการค้าฯ ที่เมืองไถจงและที่เมืองเกาสงซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่องทุกสัปดาห์เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว เป็นที่ชื่นชมและพอใจของผู้รับบริการทั้งชาวไทยและชาวไต้หวัน โดยเฉพาะคนไทยและแรงงานไทยในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากกิจกรรมดังกล่าวนั้น ต่างรู้สึกได้ว่าทางราชการไทยดูแลให้ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเมื่อต้องการความช่วยเหลือจากทางราชการประการใด ก็สามารถพบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการค้าฯ ได้ในช่วงที่มีกิจกิจกรรมกงสุลสัญจร และการให้บริการตรวจลงตราแก่ชาวไต้หวันในระหว่างกิจกรรมกงสุลสัญจรก็มีส่วนช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันจากภาคกลางและภาคใต้ของประเทศเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น

พายุไต้ฝุ่นเมกิเช้าฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม คนไทยปลอดภัย


พายุไต้ฝุ่นเมกิเช้าฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 17-18ตุลาคม คนไทยปลอดภัย


นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ตามที่พายุไต้ฝุ่นเมกิ ซึ่งมีความเร็วแรงลมประมาณ 260 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน เมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2553 ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายทั่วไป อาทิ น้ำท่วมฉับพลันและโคลนถล่ม บ้านเรือนที่อยู่อาศัย พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำท่วมขัง และได้รับความเสียหาย ไฟฟ้าดับ การคมนาคมทางอากาศและทางเรือติดค้าง โดยมีรายงานว่าชาวฟิลิปปินส์เสียชีวิตจำนวน 7 ราย

สถานเอกอัครราชทูตณ กรุงมะนิลารายงานว่า ได้ออกประกาศเวียนเตือนชุมชนไทยให้ระมัดระวังตัวจากผลความเสียหายของพายุไต้ฝุ่นและขอให้ติดตามรับฟังข่าวสาร ข้อแนะนำ/มาตรการต่างๆจากหน่วยงานฟิลิปปินส์ ทั้งนี้จากการตรวจสอบของสถานเอกอัครราชทูตฯ กับชุมชนไทยซึ่งทำงานหรืออาศัยอยู่ในเกาะลูซอนบริเวณที่พายุพัดผ่านอาทิ พนักงานคนไทยของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ฟาร์มปลาและกุ้ง) บริษัท SCG (โรงงานผลิตกระดาษ) รวมทั้งนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัย CLSU ปรากฏว่าทุกคนปลอดภัย แต่มีรายงานว่าฟาร์มเลี้ยงปลาของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์บางส่วนได้รับความเสียหายจากความแรงของลมพายุ

นายประสิทธิพรฯ กล่าวว่าโดยทั่วไปฟิลิปปินส์จะประสบภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นปีละประมาณ 20 ลูก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม ดังนั้นคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาดังกล่าวควรตรวจสอบสภาพภูมิอากาศด้วยเพื่อความปลอดภัย

ปัจจุบันมีคนไทยพำนักอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ประมาณ 550 คน โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงมะนิลาและเกาะลูซอนประมาณ 300 คน และเกาะเซบูประมาณ 200 คน ที่เหลือพำนักอยู่ตามเกาะต่างๆกระจัดกระจาย

กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ให้การต้อนรับคณะผู้แทนฮัจย์ไทย และหน่วยแพทย์ พยาบาลไทย

ก่อนอำลาเจ้าภาพคณะจากประเทศไทยถ่ายภาพร่วมกับท่านกงสุลใหญ่และภริยา พร้อมด้วยข้าราชการประจำสถานกงสุลใหญ่ฯ
แขกสุภาพสตรีถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับภริยาท่านกงสุลใหญ่ฯ
ท่านกงสุลใหญ่ฯ ร่วมรับประทานอาหารกับแขก
ภริยาท่านกงสุลใหญ่ฯดูแลแขกในระหว่างการตักอาหารเพื่อรับประทาน
เจ้าภาพแยกกันสนทนากับแขก
ท่านกงสุลใหญ่ชาลี สกลวารี กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนฮัจย์ไทยและหน่วยแพทย์ พยาบาลไทย



กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ให้การต้อนรับคณะผู้แทนฮัจย์ไทย และหน่วยแพทย์ พยาบาลไทย


เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 ระหว่างเวลา 19.00 – 22.00 น. นายชาลี สกลวารี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ และภริยา ได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนฮัจย์ไทย คณะแพทย์ พยาบาล และตัวแทนการบินไทย พร้อมทั้งจัดเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะฯ ที่บ้านพักกงสุลใหญ่ฯ ในโอกาสที่คณะดังกล่าวเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญชาวไทยที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี 2553 ณ เมืองมักกะห์ และมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวต้อนรับคณะฯ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้แสวงบุญชาวไทย เพื่อให้การประกอบพิธีฮัจย์ของผู้แสวงบุญชาวไทยเป็นไปอย่างราบรื่น

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

งาน “แฟนตาซีการกุศล สู่เยาวชนภาคใต้”

หลังงานเลิกเราก็ชักรูปไว้เป็นที่ระลึกความสามัคคีของคนไทยในนิวซีแลนด์
วงสตริงกิตติมศักดิ์สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ
โต๊ะวีไอพี ท่านทูตและภริยา(นั่งตรงข้าม) และแขกผู้มีเกียรติ
ท่านเอกอัครราชทูตนพดล เทพพิทักษ์ กล่าวคำปราศรัยเปิดงาน



งาน “แฟนตาซีการกุศล สู่เยาวชนภาคใต้”

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ร่วมกับสมาคมคนไทยในนิวซีแลนด์ ได้ร่วมกันจัดงานบุฟเฟ่ต์การกุศล ภายใต้ชื่อ “แฟนตาซีการกุศล สู่เยาวชนภาคใต้” เพื่อจัดหารายได้ สร้างห้องสมุดโรงเรียนบ้านม่วงทวน ต.หารเทา อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง

งานดังกล่าว ได้รับความสนใจจากชุมชนชาวไทยที่พำนักในกรุงเวลลิงตันและเมืองใกล้เคียงมาร่วมกว่า 200 คน นอกจากจะเป็นงานการกุศลแล้ว งานดังกล่าวยังเป็นเวทีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ กับชุมชนชาวไทยอีกด้วย

สรุปยอดเงินบริจาคที่ได้จากการจัดงานฯ ทั้งสิ้น จำนวน 5,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ นอกจากนั้น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปีโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้สมทบทุนบริจาคอีกจำนวน 100,000 บาท

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ จัดให้บริการกงสุลสัญจรครั้งที่ 5/2553 ที่เมืองตาอิฟ ซาอุดีอาระเบีย

ท่านกงสุลใหญ่ฯ รับฟังปัญหาและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าของกิจการ
ท่านกงสุลใหญ่ฯ เยี่ยมช่างทองและอัญมณี
ท่านกงสุลใหญ่ฯ ชาลี สกลวารีแวะเยี่ยมแรงงานไทย
กำลังบริการทำเล่มหนังสือเดินทางใหม่



สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ จัดให้บริการกงสุลสัญจรครั้งที่ 5/2553 ที่เมืองตาอิฟ ซาอุดีอาระเบีย

ระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2553 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ โดยนายชาลี สกลวารี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางไปให้บริการกงสุลสัญจรที่เมืองตาอิฟ (อยู่ห่างจากเมืองเจดดาห์ ประมาณ 200 กิโลเมตร) ซึ่งมีชุมชนชาวไทยมุสลิมที่ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชาวไทยจากภาคอื่นๆ พำนักอาศัยอยู่ที่เมืองนี้ประมาณ 600 คน

โดยที่มีคนไทยในชุมชนดังกล่าวจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางไปขอรับบริการที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ที่เมืองเจดดาห์ได้ เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตถิ่นที่อยู่ที่ถูกต้อง จึงไม่สะดวกในการเดินทาง สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงได้จัดหน่วยกงสุลสัญจรเดินทางไปให้บริการถึงพื้นที่เพื่อเป็นการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทยกลุ่มดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 วัน มีชาวไทยไปขอรับบริการเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิคส์ ขอสูติบัตร รับรองเอกสาร และขอคำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านกงสุล

ในโอกาสเดียวกันนี้ กงสุลใหญ่ฯ พร้อมคณะ ได้พบปะแกนนำและชุมชนไทย ตลอดจนเข้าเยี่ยมชมสถานที่ทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพช่างทองและอัญมณี ประมาณ 40 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ประกอบอาชีพนี้มากกว่า 20 ปี และยังได้มีโอกาสพูดคุยกับนายจ้าง เพื่อรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ด้วย

ชุมชนชาวไทยในพื้นที่ได้แสดงความขอบคุณพร้อมทั้งร้องขอให้สถานกงสุลใหญ่ฯ จัดให้บริการกงสุลสัญจรในลักษณะนี้อย่างสม่ำเสมอ

สถานทูตไทยในบรูไนเข้าร่วมงานสัปดาห์ไทยที่ UBD

แล้วก็ออกมาเป็นส้มตำ ของอร่อย
สาธิตกันแบบล้วงลึก บอกเคล็ดวิชากันเลย
ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสัปดาห์ไทย
พิธีกรแนะนำคุณชนันศิริ ฟู เจ้าของร้านสวัสดี เฮ้าส์ที่มาสาธิตการทำอาหารไทยจานเด็ด
ผู้อำนวยการศูนย์ภาษา UBD ท่านอุปทูตฯ และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตที่ไปร่วมงาน
ท่านอุปทูตฯธวัช สุมิตรเหมาะ ดร.ยาบิต อาลัส ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาของ UBDและนักศึกษาถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก




สถานทูตไทยในบรูไนเข้าร่วมงานสัปดาห์ไทยที่ UBD


เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2553 เวลา 15.00 น. สอท.ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน โดย นายธวัช สุมิตรเหมาะ อุปทูตฯ และ น.ส.พิมพ์เดือน นาควิโรจน์ เลขานุการโท ได้เข้าร่วมกิจกรรมงานสัปดาห์ไทย (Thai Week) ที่ University Brunei Darussalam (UBD) จัดโดย สวัสดีคลับ ซึ่งเป็นชมรมของนักศึกษา UBD โดย ดร.Yabit Alas ผู้อำนวยการศูนย์ภาษา UBD ให้การต้อนรับ มีนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 50 คน

ในงาน ได้รับเกียรติจากคุณชนันศิริ ฟู เจ้าของร้าน Sawaddee House มาเป็นผู้สาธิตการทำอาหารไทย ได้แก่ ต้มยำกุ้ง และส้มตำอย่างละเอียด โดยเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆ จนถึงขั้นตอนการลงมือทำจริง เมื่อปรุงเสร็จก็ได้แจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนได้ชิมรสชาติอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการแกะสลักผลไม้เป็นลวดลายงดงามต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างยิ่ง โดยคุณชนัญศิริได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้มีโอกาสทดลองลงมือปรุงอาหารจานเด็ดดังกล่าวด้วยตนเอง พร้อมกับการเรียนรู้การแกะสลักผลไม้เบื้องต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมต่างมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ที่ได้สัมผัสและรู้จักอาหารยอดนิยมและวัฒนธรรมอันงดงามของไทยได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

ชมรมสวัสดีคลับ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 โดยกลุ่มนักศึกษา UBD และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าร่วมให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ ชมรมฯ กำหนดจะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศไทยทุกวันพุธ (ระหว่างวันที่ 3 ต.ค. - 10 พ.ย.2553) รวมทั้งสิ้น 5 สัปดาห์ โดยในครั้งต่อไปจะเป็นการสาธิตการทำว่าว

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานทูตไทยในมาเลเซียเตือนแรงงานไทยอย่าหลงเชื่อเมื่อถูกชักชวนให้ไปทำงานต้องห้าม 4 ประเภท


สถานทูตไทยในมาเลเซียเตือนแรงงานไทยอย่าหลงเชื่อเมื่อถูกชักชวนให้ไปทำงานต้องห้าม 4 ประเภท

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียรายงานว่า ปัจจุบันมีหญิง-ชายไทยถูกหลอกและตั้งใจไปทำงานประเภทนวดและงานเสิร์ฟร้านอาหารในมาเลเซียโดยไม่ทราบข้อเท็จจริงเป็นสาเหตุให้ถูกจับกุมจำนวนมาก

ทางการมาเลเซียไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทำงาน 4 ประเภทได้แก่
1. พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.)
2. พนักงานนวด
3. พนักงานเก็บเงิน (แคชเชียร์)
4. พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร

สำหรับการเดินทางเข้าไปทำงานโดยถูกกฎหมายนั้นนายจ้างจะต้องขอโควตานำเข้าแรงงาน และดำเนินการขอวีซ่าให้แรงงานก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้าไปทำงาน ซึ่งตามปกติเมี่อนายจ้างได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวแล้ว แรงงานจะต้องไปขอวีซ่าจากสถานทูตมาเลเซียในกรุงเทพฯ ก่อนออกเดินทาง ดังนั้นการที่แรงงานเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียไปก่อนโดยถือหนังสือเดินทางหรือใบผ่านแดนโดยไม่มีวีซ่าสำหรับทำงานจึงไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งหากแรงงานไทยเข้าไปทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะถูกทางการมาเลเซียจับกุมดำเนินคดี

การที่นายจ้างมาเลเซียจะนำเข้าแรงงานต่างด้าวนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายภาษีล่วงหน้า 1 ปี เป็นเงิน 1,200 ริงกิต (ประมาณ 14,000 บาท) สำหรับงานก่อสร้างและบริการ และ 350 ริงกิต (ประมาณ 4,000 บาท) สำหรับงานเกษตร โดยส่วนใหญ่นายจ้างจะออกเงินค่าภาษีให้ก่อนแล้วมาทยอยหักจากลูกจ้างภายหลัง

ค่าจ้างแรงงานในมาเลเซียโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 30 ริงกิต (ประมาณ 350 บาท) ต่อวัน โดยอาจมีเงินค่าล่วงเวลา แต่งานล่วงเวลานั้นมีไม่แน่นอน ดังนั้นหากแรงงานได้รับชักชวนให้เดินทางไปมาเลเซียโดยบอกว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูงและมีงานล่วงเวลาตลอด ขอให้สัญนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นการหลอกลวง อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ที่ถูกชักชวนพิจารณาด้วยว่า แม้ค่าจ้างจะสูง แต่ค่าครองชีพในมาเลเซียก็สูงมากด้วยเช่นกัน

การที่แรงงานเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานแรงงานไทยในมาเลเซีย หรือกรมการจัดหางาน เมื่อเดินทางไปถึงแม้นายจ้างจะสามารถขอใบอนุญาตทำงานให้ได้ก็ตาม แต่แรงงานไทยมักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดสำหรับการจ้างแรงงานไทย นอกจากนี้นายจ้างมักไม่ได้ทำประกันให้แรงงาน กรณีเกิดอุบัติเหตุจะถูกนายจ้างทอดทิ้ง รวมทั้งการได้รับสิทธิประโยชน์ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน หรือบางรายนายจ้างไม่ขอใบอนุญาตทำงานให้ต้องลักลอบทำงาน เมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถไปร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานของมาเลเซียได้ ทำให้ยากต่อการติดตามเงินค่าจ้างค้างจ่าย หรือบังคับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

กฎหมายมาเลเซียเกี่ยวกับการเข้าเมืองกำหนดบทลงโทษสำหรับแรงงานผิดกฎหมายไว้หนัก ดังนี้
- ผู้ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต (ประมาณ 116,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษถูกเฆี่ยนสูงสุด 6 ที

- แรงงานต่างชาติที่มีหนังสือเดินทางถูกต้อง แต่ใบอนุญาตทำงานหรือวีซ่าหมดอายุ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

- สำหรับนายจ้างที่จ้างคนงานผิดกฎหมายจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 50,000 ริงกิต (116,000 – 580,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับและมีโทษเฆี่ยน ไม่เกิน 6 ที

สถานเอกอัครราชทูตฯ รายงานว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยถูกจับกุมและคุมขังอยู่ตามเรือนจำและสถานกักกันทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 คน

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แหล่งชุมนุมแรงงานไทยในสิงคโปร์


แหล่งชุมนุมแรงงานไทยในสิงคโปร์

สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2553 หนังสือพิมพ์ The Straits Times ได้ลงพิมพ์สกู๊บข่าวรายงานว่า ผู้นำชุมชนบริเวณกำปง กะลัมมีแผนที่จะหาสถานที่แห่งใหม่สำหรับเป็นที่ชุมนุมในช่วงวันหยุดงานของแรงงานไทยในสิงคโปร์ โดยสถานาที่แห่งใหม่เป็นที่ดินว่างผืนหนึ่งชื่อฮาร์โมนี่ ปาร์ก อยู่ติดกับศูนย์การค้าโกลเดน ไมล์ โดยชุมชนกำปง กะลัมได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจำนวน 4 แสนดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับโครงการปรับปรุงชุมชนของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเพื่อเป็นค่าก่อสร้างรั้วและปรับปรุงภูมิทัศน์ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงสนามเซปักตะกร้อ สนามฟุตบอลเล็ก และศาลาที่พัก โดยในปลายปี2553 นี้จะมีการจัดซุ้มอาหารและจัดฉายภาพยนตร์ไทยให้ชมในเวลากลางคืนด้วย ทั้งนี้ผู้บริหารชุมชนกำปง กะลัมคาดว่าสวนฮาร์โมนี่ ปาร์ก จะมีรายได้เลี้ยงตัวเองจากการเก็บค่าเช่าจากร้านค้าเพื่อนำมาเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่

ที่ผ่านมานอกจากแรงงานไทยจะชุมนุมกันภายในศูนย์การค้าโกลเด้น ไมล์ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ลิตเติ้ล ไทเลนด์แล้ว แรงงานไทยจำนวนมากมักจับกลุ่มสังสรรค์กันในพื้นที่สาธารณใกล้แฟลตที่พักอาศัยตรงข้ามอาคารโกลเด้น ไมล์ ซึ่งบางครั้งก่อความรำคาญให้แก่ผู้พักอาศัยเนื่องจากมีการร้องรำทำเพลงส่งเสียงดัง มีการดื่มสุรา และทิ้งขยะบริเวณดังกล่าว


สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังติดตามความคืบหน้าการจัดพื้นที่สำหรับแรงงานไทยและกำลังประสานกับฝ่ายบริหารของชุมชนกำปง กะลัมเพื่อศึกษาหาแนวทางในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยในอนาคต

น้ำท่วมและโคลนถล่มที่ปาปัวตะวันตก อินโดนีเซีย คนไทยปลอดภัย


น้ำท่วมและโคลนถล่มที่ปาปัวตะวันตก อินโดนีเซีย คนไทยปลอดภัย


นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ตามที่เกิดเหตุน้ำท่วมและโคลนถล่มที่จังหวัดปาปัวตะวันตก ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางทิศตะวันออก 3,000 กิโลเมตร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2553 ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 86 ราย บาดเจ็บ 61 ราย และไม่มีที่อยู่อาศัยประมาณ 3,000 ราย นั้น ขณะนี้ทางการอินโดนีเซียได้จัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กองทัพบก และกองกำลังตำรวจพร้อมด้วยอาหาร น้ำ เวชภัณฑ์และเครื่องยังชีพต่างๆเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว โดยในชั้นนี้รัฐบาลอินโดนีเซียยังมิได้ประกาศขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศแต่อย่างใด

นายประสิทธิพรฯ กล่าวด้วยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตาได้ประสานไปยังผู้แทนชุมชนไทยในอินโดนีเซียแล้ว ได้รับแจ้งว่าไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมและโคลนถล่มในพื้นที่ดังกล่าว และจากข้อมูลจำนวนคนไทยที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซียซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เคยตรวจสอบและบันทึกไว้นั้น ไม่มีคนไทยพำนักอาศัย ทำงาน หรือศึกษาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คนไทยเดินทางกลับจากบาห์เรน


คนไทยเดินทางกลับจากบาห์เรน

นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ตามที่ทางการบาห์เรนออกกฎหมายอภัยโทษผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมาย โดยต้องเข้ามอบตัวต่อทางการในระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2553 นั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ประเทศบาห์เรนรายงานว่าตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ทางการบาห์เรนให้อภัยโทษปรากฏว่ามีบุคคลสัญชาติไทยที่พำนักอยู่ในบาห์เรนโดยไม่มีวีซ่าได้ติดต่อขอเดินทางกลับประเทศไทยโดยใช้ประโยชน์จากการอภัยโทษดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 341 คน

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในชั้นแรกทางการบาห์เรนจะได้กำหนดระยะเวลาในการให้อภัยโทษไว้เพียง 3 เดือน ( มิถุนายน – สิงหาคม 3553) แต่เมื่อครบกำหนดแล้วทางการบาห์เรนยังไม่มีการประกาศยกเลิก จึงคาดว่าทางการบาห์เรนอาจยีดเวลาการอภัยโทษออกไปอีก กรมการกงสุลจึงขอให้ผู้ที่มีญาติทำงานอยู่ในบาห์เรนโดยผิดกฎหมาย(ไม่มีวีซ่า) ชักชวนให้ญาติถือโอกาสช่วงที่ทางการบาห์เรนให้อภัยโทษนี้เดินทางออกจากประเทศบาห์เรนโดยเร็ว เพราะหากทางการบาห์เรนยกเลิกกำหนดการให้อภัยโทษแล้วหากถูกจับด้จะถูกลงโทษและปรับอย่างหนัก” นายประสิทธิพรฯ กล่าว

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานทูตไทยในปากีสถานจัดกิจกรรมกงสุลสัมพันธ์

ผู้แทนชมรมนักศึกษาไทยและคุณภาณุทัต ยอดแก้วถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
ผู้มาเยือนร่วมรับประทานอาหารกับนักศึกษา
นักศึกษาไทยรับมอบของฝากจากสถานเอกอัครราชทูต


สถานทูตไทยในปากีสถานจัดกิจกรรมกงสุลสัมพันธ์

เมื่อระหว่างวันที่ 24 – 27 มิถุนายน 2553 นายภาณุทัต ยอดแก้ว เลขานุการโท ได้เป็นผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด นำผู้แทนชมรมนักศึกษาไทยในกรุงอิสลามาบัด เดินทางไปเยี่ยมนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (Maddrassa) ที่เมืองราวัลปินดี กุจราช และละฮอร์ ตามโครงการกงสุลสัมพันธ์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับงานด้านกงสุลต่างๆ ตลอดจนประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร พร้อมกันนี้คณะได้นำยารักษาโรคต่างๆ อุปกรณ์การกีฬา ข้าวสาร และอาหาร มอบให้แก่นักศึกษาไทยในโอกาสดังกล่าวด้วย

นายภาณุทัต ยอดแก้ว ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ถือโอกาศนี้พูดคุยกับครูใหญ่และนักศึกษาไทย เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาและการใช้ชีวิตของนักศึกษาไทยรวมถึงสภาพความเป็นอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาที่เมืองละฮอร์

ปัญหาแรงงานไทยเก็บผลไม้ป่าของบริษัท Lom Berry (Lomsjo Bar AB) ที่ประเทศสวีเดน


ปัญหาแรงงานไทยเก็บผลไม้ป่าของบริษัท Lom Berry (Lomsjo Bar AB) ที่ประเทศสวีเดน

1. ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2553 แรงงานไทย จำนวน 157 คนได้รับการชักชวนให้เดินทางไป เก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนกับบริษัท Lom Berry (Lomsjo Bar AB) โดยไปทำงานและพักที่เมือง Aesere ภาคเหนือของสวีเดน (ห่างจาก Stockholm 8 ชม.ทางรถยนต์) โดยมีสายของบริษัท ( นายภูมิคชา นาคคำ ) ไปชักชวนว่าภายหลังการทำงาน ทุกคนจะได้รับเงินประกันรายได้คนละ 140,000 บาท โดยทุกคนได้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาคนละ 85,000 บาทเพื่อเป็นค่าเดินทางระหว่างประเทศและภายในสวีเดนและค่าวีซ่า

2. เมื่อแรงงานไทยเดินทางถึงในวันที่ 1 สิงหาคม 2553 แรงงานไทยพบว่า บริษัท ฯ ให้แรงงานไทย เริ่มทำงานในวันที่ 7 สิงหาคม ช้ากว่าแรงงานไทยของบริษัทอื่นที่เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 และแรงงานจะได้รับรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 16,372 โครนสวีเดน แต่จะต้องเสียภาษีร้อยละ 25 ของเงินเดือน และค่าใช้จ่ายสำหรับค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าอีกวันละ 190 โครน รวม 9,793 โครนเหลือรายได้ 6,579 โครนหรือประมาณ 29,605.00 บาท(อัตราแลกเปลี่ยน 1 โครน เท่ากับ 4.5 บาท) และระยะเวลาทำงานเพียง 2 เดือน ( ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553) ทำให้พวกตนไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่พวกตนเสียไป กอปรกับ ในปีนี้ จำนวนผลไม้ป่าในสวีเดนมีจำนวนน้อยแม้จะมีราคาสูง ทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเก็บผลไม้ได้มาก ( บริษัท ฯ ประกันเงินเดือนขั้นต่ำโดยคำนวณจากปริมาณผลไม้ที่เก็บได้ หากเก็บผลไม้ป่าได้น้อยกว่ามูลค่าเงินเดือนขั้นต่ำ จะจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำ แต่หากเก็บผลไม้ป่าได้มากกว่าเงินเดือนขั้นต่ำ จะจ่ายให้แรงงานไทยเพิ่มตามจำนวนน้ำหนักของผลไม้ที่เก็บได้ )

3. วันที่ 28 กันยายน 2553 คณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ( รองอธิบดีกรมการกงสุล มธุรพจนาฯ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชน และอทป. สอท. ณ กรุงสต็อกโฮล์ม) เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยของบริษัทดังกล่าว เพื่อรับฟังปัญหาและได้หารือ กับผู้บริหารของเมือง Aesere และบริษัท ฯ เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาของแรงงานไทย โดยข้อเรียกร้อง ของแรงงานไทยได้แก่ ขอให้บริษัท ฯ จ่ายค่าจ้างทั้งหมดเพราะตั้งแต่เดินทางถึง บริษัทจ่ายให้เพียง 6,000 โครน และขอให้บริษัทจ่ายเงินประกันตามที่สายคนไทยได้แจ้งแก่คนงานไทยก่อนการเดินทางไป คนละ 140,000 บาท โดยภายหลังคณะผู้แทน ฯ เดินทางกลับได้รับทราบว่า ประธานบริษัท ฯ จะเดินทางมาพบแรงงานไทยเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในวันที่ 29 กันยายน 2553

4. วันที่ 29 กันยายน 2553 แรงงานไทยได้รับทราบว่า ผู้แทนบริษัทและนายภูมิคชา ฯ ได้หลบหนี ไม่ยอมชำระค่าจ้าง แรงงานไทยจึงได้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ

5. วันที่ 1 ตุลาคม 2553 นายอรรณพ บุราณเศรษฐ อทป. ประจำสอท. ณ กรุงสต็อกโฮล์ม เดิน ทางไปเมือง Aesere เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยและดำเนินการจัดหาอาหารแก่แรงงานไทย และได้ ประสานกับเทศบาลเมือง Aesere และสหภาพแรงงานท้องถิ่น เพื่อจัดรถยนต์ส่งแรงงานไทยไปสนามบิน ที่เมือง Stockholm โดยถึงขณะนี้ คนงาน 118 คนพร้อมจะเดินทางกลับไทยในวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม 2553 โดยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG 961 ถึงกรุงเทพฯ ในวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม เวลา 05.50 น. ทั้งนี้ กรมการกงสุลและกรมการจัดหางานจะจัดเจ้าหน้าที่ไปรับที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสำหรับแรงงานไทยอีก 38 คนยังยืนยันที่จะอยู่ในสวีเดนเพื่อต่อสู้คดีกับบริษัท

6. ขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูต ฯ กำลังศึกษาแนวทางการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทLomberry ต่อไป

7. ข้อมูลเพิ่มเติม : แรงงานไทย 157 คนที่ไปกับบริษัท Lomberry ถือเป็นแรงงานที่เดินทางไปทำงานที่สวีเดน โดยตนเอง ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานในต่างประเทศของกรมการจัดหางาน โดยมีบริษัท Lomberry ฟินแลนด์ เป็นนายจ้างในขณะที่แรงงานไทยอีก 3,012 คนเป็นแรงงานไทยที่มีนายจ้างไทยพาไปทำงานที่สวีเดน


กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
3 ตุลาคม 2553

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ทูตไทยเตือนระวังตกเป็นเหยื่อขบวนการขนยาเสพติดเข้าอินโดนีเซีย


ทูตไทยเตือนระวังตกเป็นเหยื่อขบวนการขนยาเสพติดเข้าอินโดนีเซีย

ทูตไทยในอินโดนีเซีย เผย ช่วงเดือน ก.ย.พบสาวไทย โดนจับฐานลักลอบนำเข้ายาเสพติดถึง 5 ราย ล้วนอ้างโดนหลอกให้ไปเที่ยว ใช้เงินล่อใจ ที่พักฟรี แต่แอบยัดยาไอซ์ในเป้ ก่อนถูกรวบได้ที่สนามบิน ชี้ โทษถึงประหารชีวิต เตือนอย่าหลงเชื่อ หวั่นผู้บริสุทธิ์เข้าเมืองอิเหนายากขึ้น

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบหญิงไทยที่เดินทางเข้ามายังประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 5 ราย อายุประมาณ 25-28 ปี พื้นเพเป็นชาวอีสาน ถูกจับกุมในข้อหานำเข้าสิ่งเสพติด ประเภทยาไอซ์ โดยพฤติกรรมที่ตรวจพบเหมือนกันทุกราย คือ หญิงสาวเหล่านี้จะมีเพื่อนสาวคนไทย ซึ่งมีสามีเป็นชาวต่างชาติผิวดำ ไม่ทราบสัญชาติ โดยในครั้งแรกจะเพียงแค่ชวนให้เดินทางมาเที่ยวเท่านั้น แต่ในครั้งที่ 2 จะจูงใจด้วยการให้เงินจำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมตั๋วเครื่องบิน และที่พักฟรี ซึ่งภายในกระเป๋าเป้ที่นำเข้ามาจะซุกซ่อนยาไอซ์ จำนวน 2 กิโลกรัม เอาไว้ และเมื่อเดินทางมาถึงอินโดนีเซีย ก็จะถูกตรวจจับที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน ซึ่งมีโทษถึงขั้นประหารชีวิตทั้งหมด

“จากการสอบสวนพบว่า มีการทำกันเป็นขบวนการ โดยจะมีการขนยามาพักไว้ที่อินโดฯ จากนั้นจะรวบรวมเพื่อส่งต่อไปยังออสเตรเลีย ทั้งนี้ ทางสถานทูตจึงอยากฝากให้หญิงไทยอย่าหลงเชื่อกระบวนการดังกล่าว” เอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซีย กล่าว

นายธนาธิป กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวที่สุจริตใจ ประสบปัญหา และเดินทางเข้าอินโดนีเซียได้ยากขึ้น เพราะต่อไปจะมีการตรวจเข้มอย่างหนัก โดยเฉพาะกับหญิงคนไทย และยังกระทบต่อภาพพจน์ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน
(ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 5 ต.ค. 2553 http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000140015)

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คณะกรรมาธิการการแรงงานฯ วุฒิสภา จัดการประชุมสัมมนา “ปัญหาแรงงานไทย ใครจะแก้ ?”

คุณพีระ มานะทัศน์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ(คนที่สอง)กล่าวปิดการประชุมสัมมนาแทนประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม
คุณพีระ มานะทัศน์ วุฒิสมาชิกกล่าวปิดการประชุม
วิทยากรประกอบด้วยคุณจาตุรงค์ สุขเอียด กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทถอดรหัส จำกัด คุณโชคชัย ศรีพยง ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน คุณประเสริฐ ลีลาประเทือง กรรมการผู้จัดการบริษัทประเสริฐสุขโยธา จำกัด และ ดร.สมคิด ผ่องเนตร นักวิชาการอิสระและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา โดยมี พล.ต.ต. สุเทพ สุขสงวน สมาชิกวุฒิสภาและรองประธานคณะกรรมาธิการแรงงานฯ (คนที่สาม)เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

คณะกรรมาธิการการแรงงานฯ วุฒิสภา จัดการประชุมสัมมนา “ปัญหาแรงงานไทย ใครจะแก้ ?”

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 เวลา 08.30 – 13.30 น. คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา ได้จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง “ปัญหาแรงงานใครจะแก้?” ณ ห้องคริสตัล บอลรูม 2 อาคาร E ศูนย์การค้าคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาของแรงงานที่ถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 180 คน

กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการของไทยจับมือร่วมกันพัฒนาศักยภาพให้แก่นักเรียน และนักศึกษาไทย

ท่านทูตพิทักษ์ พรหมบุบผาประธานในพิธีลงนามถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับผู้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ
พิธีลงนามเริ่มด้วยการกล่าวสุนทรพจน์แจ้งเจตนารมณ์ของการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้
ผู้แทนหน่วยงานไทยและผู้ประกอบการบรูไน ดารุสซาลาม รวม 6 ราย
ผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ



กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการของไทยจับมือร่วมกันพัฒนาศักยภาพให้แก่นักเรียน และนักศึกษาไทย

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 นายพิทักษ์ พรหมบุบผา เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวันได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย (วิทยาลัยการอาชีพพล และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น) กับผู้ประกอบการ 6 รายในบรูไน ดารุสซาลาม เพื่อรับนักเรียนระดับอาชีวศึกษา และนักศึกษาจากประเทศไทยได้มีโอกาสเดินทางไปฝึกทักษะการทำงานกับผู้ประกอบการในประเทศบรูไน ในสาขาต่างๆ ได้แก่ ช่างเครื่องยนต์ การเกษตร การเงิน และคอมพิวเตอร์กราฟฟิค โดยมี อท.แวซง ดาเล็ง เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และสำนักงานแรงงานไทยในบรูไน ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมในงานเป็นจำนวนมากทั้งชาวบรูไนและชาวไทย อาทิ ผู้อำนวยการองค์กรอาชีวศึกษาอาเซียน SEAMEO VOCTECH คณบดีคณะภาษาศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน นายกสมาคมชาวไทยในบรูไน กรรมการบริหารสมาคมฯ ผู้ประกอบการไทย เป็นต้น

การลงนามในบันทึกความเข้าใจอันเป็นดำริของสำนักงานแรงงานในประเทศบรูไนร่วมกับการสานต่อของสถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวันในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญยิ่งในการขยายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยกับผู้ประกอบการในประเทศบรูไนให้เพิ่มขึ้นในอนาคต และเพื่อช่วยส่งเสริมโอกาสให้ลูกหลาน นักเรียน/นักศึกษาไทยสามารถเดินทางไปฝึกทักษะการทำงานเพื่อพัฒนาฝีมือและความสามารถจากประสบการณ์การทำงานจริง โดยได้รับค่าจ้างจริง ซึ่งหากมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ก็อาจได้รับการว่าจ้างให้ปฏิบัติงานประจำต่อไปได้ และยังสามารถพัฒนาไปจนถึงระดับการเป็นเจ้าของกิจการของตนเองได้ในอนาคตด้วย ซึ้งเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินความเป็นจริง เพราะมีตัวอย่างผู้ประกอบการในบรูไนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายจากจุดตั้งต้นเล็กๆ เท่านั้น

ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างสรรค์แนวทางที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนากำลังคน กำลังแรงงาน และพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยแล้ว ยังจะสามารถขยายตัวพัฒนาไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนต่อไปได้ด้วย