วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานทูตไทยในมาเลเซียเตือนแรงงานไทยอย่าหลงเชื่อเมื่อถูกชักชวนให้ไปทำงานต้องห้าม 4 ประเภท


สถานทูตไทยในมาเลเซียเตือนแรงงานไทยอย่าหลงเชื่อเมื่อถูกชักชวนให้ไปทำงานต้องห้าม 4 ประเภท

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียรายงานว่า ปัจจุบันมีหญิง-ชายไทยถูกหลอกและตั้งใจไปทำงานประเภทนวดและงานเสิร์ฟร้านอาหารในมาเลเซียโดยไม่ทราบข้อเท็จจริงเป็นสาเหตุให้ถูกจับกุมจำนวนมาก

ทางการมาเลเซียไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทำงาน 4 ประเภทได้แก่
1. พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.)
2. พนักงานนวด
3. พนักงานเก็บเงิน (แคชเชียร์)
4. พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร

สำหรับการเดินทางเข้าไปทำงานโดยถูกกฎหมายนั้นนายจ้างจะต้องขอโควตานำเข้าแรงงาน และดำเนินการขอวีซ่าให้แรงงานก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้าไปทำงาน ซึ่งตามปกติเมี่อนายจ้างได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวแล้ว แรงงานจะต้องไปขอวีซ่าจากสถานทูตมาเลเซียในกรุงเทพฯ ก่อนออกเดินทาง ดังนั้นการที่แรงงานเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียไปก่อนโดยถือหนังสือเดินทางหรือใบผ่านแดนโดยไม่มีวีซ่าสำหรับทำงานจึงไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งหากแรงงานไทยเข้าไปทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะถูกทางการมาเลเซียจับกุมดำเนินคดี

การที่นายจ้างมาเลเซียจะนำเข้าแรงงานต่างด้าวนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายภาษีล่วงหน้า 1 ปี เป็นเงิน 1,200 ริงกิต (ประมาณ 14,000 บาท) สำหรับงานก่อสร้างและบริการ และ 350 ริงกิต (ประมาณ 4,000 บาท) สำหรับงานเกษตร โดยส่วนใหญ่นายจ้างจะออกเงินค่าภาษีให้ก่อนแล้วมาทยอยหักจากลูกจ้างภายหลัง

ค่าจ้างแรงงานในมาเลเซียโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 30 ริงกิต (ประมาณ 350 บาท) ต่อวัน โดยอาจมีเงินค่าล่วงเวลา แต่งานล่วงเวลานั้นมีไม่แน่นอน ดังนั้นหากแรงงานได้รับชักชวนให้เดินทางไปมาเลเซียโดยบอกว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูงและมีงานล่วงเวลาตลอด ขอให้สัญนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นการหลอกลวง อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ที่ถูกชักชวนพิจารณาด้วยว่า แม้ค่าจ้างจะสูง แต่ค่าครองชีพในมาเลเซียก็สูงมากด้วยเช่นกัน

การที่แรงงานเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานแรงงานไทยในมาเลเซีย หรือกรมการจัดหางาน เมื่อเดินทางไปถึงแม้นายจ้างจะสามารถขอใบอนุญาตทำงานให้ได้ก็ตาม แต่แรงงานไทยมักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดสำหรับการจ้างแรงงานไทย นอกจากนี้นายจ้างมักไม่ได้ทำประกันให้แรงงาน กรณีเกิดอุบัติเหตุจะถูกนายจ้างทอดทิ้ง รวมทั้งการได้รับสิทธิประโยชน์ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน หรือบางรายนายจ้างไม่ขอใบอนุญาตทำงานให้ต้องลักลอบทำงาน เมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถไปร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานของมาเลเซียได้ ทำให้ยากต่อการติดตามเงินค่าจ้างค้างจ่าย หรือบังคับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

กฎหมายมาเลเซียเกี่ยวกับการเข้าเมืองกำหนดบทลงโทษสำหรับแรงงานผิดกฎหมายไว้หนัก ดังนี้
- ผู้ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต (ประมาณ 116,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษถูกเฆี่ยนสูงสุด 6 ที

- แรงงานต่างชาติที่มีหนังสือเดินทางถูกต้อง แต่ใบอนุญาตทำงานหรือวีซ่าหมดอายุ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

- สำหรับนายจ้างที่จ้างคนงานผิดกฎหมายจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 50,000 ริงกิต (116,000 – 580,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับและมีโทษเฆี่ยน ไม่เกิน 6 ที

สถานเอกอัครราชทูตฯ รายงานว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยถูกจับกุมและคุมขังอยู่ตามเรือนจำและสถานกักกันทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 คน

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 ตุลาคม 2554 เวลา 17:51

    แล้วถ้าถูกบังคับไปล่ะ

    จะต้องทำไงดี

    ตอบลบ