วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กงสุลใหญ่ปีนังเยี่ยมชุมชนไทยที่บัตเตอร์เวิร์ธเพื่อชี้แจงสถานการณ์ในเมืองไทย

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง

กงสุลใหญ่ปีนังเยี่ยมชุมชนไทยที่บัตเตอร์เวิร์ธเพื่อชี้แจงสถานการณ์ในเมืองไทย


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2553 นายวรเดช วีระเวคิน กงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียและคณะเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชุมชนไทยที่วัดโพธิเจริญธรรม (วัดไทยสุไหงปูยู) เมืองบัตเตอร์เวิร์ธ โดยมีพระสงฆ์ไทย ครอบครัวคนไทยประมาณ 30 ครอบครัวและนางสุนันท์ ตัน เครือข่ายชุมชนไทยให้การต้อนรับพบปะสนทนากับกงสุลใหญ่ฯ อย่างอบอุ่น

นายวรเดชฯ ได้แจ้งให้ชุมชนไทยทราบว่า สถานกงสุลใหญ่ฯ มีแผนที่จะเยี่ยมพบปะกับชุมชนชาวไทยอยู่เสมอเพื่อรับรู้รับทราบปัญหาของชุมชน และในโอกาสนี้ได้ชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทย และได้เชิญชวนคนไทยลงทะเบียนเลือกตั้งนอกอาณาจักรด้วย ทั้งนี้กงสุลใหญ่ฯ ได้ขอความร่วมมือชุมชนไทยให้แจ้งข้อมูลคนไทยที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากปฏิบัติการใดๆที่ไม่เป็นธรรม หรือจากการเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ให้สถานกงสุลใหญ่ฯ ทราบเพื่อจะให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

จากการสนทนากับประชาชนที่ไปต้อนรับสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ทราบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของชุมชนไทยคือปัญหาเอกสารทะเบียนราษฎร์-ทะเบียนครอบครัว การต่ออายุหนังสือเดินทาง การเข้าเมืองผิดกฎหมาย และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาการพนันและการดื่มสุราในกลุ่มคนไทยเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ชาวบ้านจะเข้าวัด-ทำบุญบ้าง แต่ส่วนใหญ่มุ่งมาในเรื่องไสยศาสตร์

ในโอกาสดังกล่าวกงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าเยี่ยมชมห้องเรียนภาษาไทยด้วย ซึ่งได้รับรายงานว่าห้องเรียนสามารถรับนักเรียนได้มากถึงจำนวน 30 คน แต่มีนักเรียนเข้าเรียนไม่ถึง 10 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุ 4-5 ขวบ โดยมีนางสุนันท์ฯ เป็นครูเพียงคนเดียว สำหรับหนังสือเรียน ผู้สอนทำสำเนาจากหนังสือแบบเรียนรุ่นเก่าของไทย ทั้งนี้กงสุลใหญ่ฯ เคยขอรับบริจาคแบบเรียนรุ่นเก่าจากผู้มีจิตกุศล และได้มอบให้นางสุนันท์ฯ เพื่อใช้ประโยชน์ก่อนหน้านี้ด้วยแล้ว

เตือนคนไทยที่เดินทางไปเมืองมุมไบ

ย่านชุมชนแออัดเมืองมุมไบ


เตือนคนไทยที่เดินทางไปเมืองมุมไบ


นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ว่า สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดียรายงานว่าในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 มีรายงานว่ามีชาวอินเดียเสียชีวิตจากไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ในเมืองมุมไบแล้ว จำนวน 6 ราย ซึ่งรวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ 6 เดือน และเด็กอายุ 1 ขวบ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานคนต่างชาติป่วยติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวแต่ประการใด

อธิบดีกรมการกงสุลเตือนให้คนไทยที่มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปเมืองมุมไบใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตนเองจากการติดโรคหวัดสายพันธุ์ใหม่ด้วย เนื่องจากช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน ในประเทศอินเดียเป็นช่วงฤดูลมมรสุมและปกติจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้นตามฤดูกาลอยู่แล้ว

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เตือนนักขุดทองระวังโดนหลอก


เตือนนักขุดทองระวังโดนหลอก

นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับรายงานจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมอีก 9 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก รวมทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งที่คุ้นเคยกันในชื่อประเทศคองโก ได้รับการร้องเรียน/ปรึกษาปัญหาจากนักธุรกิจไทยที่เข้ามาทำการค้าขายแร่ทองคำจำนวนสองรายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ความคล้ายคลึงการของนักธุรกิจทั้งสองราย คือ รู้ตัวว่าน่าจะโดนคู่ค้าทางธุรกิจ ซึ่งเป็นคนแอฟริกาหลอกลวงทั้งเงินทั้งสินค้าไปเป็นมูลค่ามหาศาล

นายประสิทธิพรฯ แจ้งรายละเอียดของทั้งสองกรณีว่า รายแรกเป็นการตกลงซื้อทองจากประเทศคองโกผ่านตัวแทนซึ่งเป็นชาวเคนยาซึ่งพบเจอกันในสถานที่สาธารณะแห่งหนึ่ง จากการรู้จักกันมาระยะเวลาหนึ่งทำให้เกิดความไว้วางใจ จึงได้ตกลงจ่ายเงินค่าดำเนินการให้แก่นายหน้าชาวเคนยาคนดังกล่าวไปจำนวนหนึ่ง โดยก่อนวันเดินทางมายังไทยนายหน้าคนดังกล่าวได้นำเอกสารต้นฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ ใบรับรองการส่งออกแร่ทองคำ ใบจดทะเบียนบริษัท หนังสือเดินทาง มาให้ดู ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจมากยิ่งขึ้น วันรุ่งขึ้นจึงนัดไปเจอกันที่สนามบินเคนยาเพื่อเดินทางไปประเทศไทยพร้อมกัน เมื่อถึงเวลานัดที่สนามบิน แน่นอนว่า ชายคนดังกล่าวไม่ปรากฏตัวและปิดโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่สามารถติดต่อเขาได้

รายที่สองเป็นนักธุรกิจติดต่อกับคู่ค้าที่คองโกโดยตรง ตกลงชำระเงินค่าแร่ทองคำเป็นจำนวนหลายหมื่นเหรียญ โดยที่ยังไม่ได้เห็นสินค้า ต่อมา นักธุรกิจไทยรายนี้ได้รับแจ้งว่า ขณะนี้ทองคำที่สั่งได้ส่งมาจากคองโกถึงสนามบินเคนยาและพร้อมจะส่งต่อไปยังประเทศไทยแล้ว นักธุรกิจคนดังกล่าวจึงเดินทางมาจากประเทศไทยเพื่อมารับของด้วยตนเอง แต่เมื่อเดินทางมาถึงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่สนามบินเคนยาไม่ยอมให้นำของขึ้นเครื่องโดยอ้างว่า เอกสารที่มาพร้อมสินค้านั้นเป็นเพียงสำเนา ต้องการดูต้นฉบับเพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งแน่นอนว่าทำได้ลำบากเนื่องจากเอกสารต้นฉบับอยู่ที่คู่ค้าที่คองโก ต้องใช้เวลาส่งเอกสารอีกพอสมควร เจ้าหน้าที่ศุลกากรกลุ่มดังกล่าวจึงได้เสนอความช่วยเหลือโดยอ้างว่าสามารถจัดของขึ้นเครื่องบินเที่ยวเดียวกับที่นักธุรกิจไทยจะใช้เดินทางกลับประเทศไทยได้เลย แต่ขอเรียกรับค่าดำเนินการจำนวน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งสองกรณี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ได้แนะนำให้ผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุเพื่อเป็นหลักฐานและดำเนินการในขั้นตอนการสืบสวนต่อไป จากการเข้าร่วมแจ้งความกับผู้เสียหายรายหนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเคนยาว่า ในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ มีกรณีฉ้อโกงและหลอกลวงทางธุรกิจเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการใช้เอกสารปลอม ฉ้อโกง แร่ทองคำปลอม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถตามจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ และส่วนมากความเสียหายต่อทรัพย์สินก็ได้เกิดขึ้นแล้ว บางกรณีผู้เสียหายถึงกับได้เห็นและสัมผัสทองคำมาแล้วแต่ก็ยังถูกฉ้อโกงจนได้ ผู้กระทำความผิดหลายคนไม่ได้มีสัญชาติเคนยาหรือถือหนังสือเดินทางปลอม

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะช่วยกันกวดขันอย่างเต็มที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องเงินโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ แต่ด้วยกำลังคนที่ไม่เพียงพอต่ออัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศนี้ จึงขอให้หน่วยราชการไทย ช่วยเตือนไปยังนักธุรกิจไทยที่ยังคงแสวงหาโอกาสในการเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับทองคำและอัญมณีในประเทศแถบนี้ให้เพิ่มความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างละเอียดรอบคอบ ที่นี่นักต้มตุ๋นล้วนแล้วแต่มืออาชีพทั้งสิ้น นักธุรกิจที่ไม่มีความระแวดระวังหรือไม่มีประสบการณ์มักจะตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ

นายประสิทธิพรฯ สรุปว่า กรมการกงสุลขอเตือนนักธุรกิจที่เข้าไปเสี่ยงโชคในภูมิภาคแอฟริกาว่าไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่ายและราคาถูก แร่ทองคำหรืออัญมณีที่นี่เองก็ได้รับการบอกเล่าจากคนท้องถิ่นว่า ไม่ได้หาได้ง่ายๆ แล้ว ทำอะไรขอให้มีสติและระวังตัวไว้ก่อนย่อมดีกว่ามาแก้ไขภายหลังที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว

อุทกภัยครั้งใหญ่ในมณฑลฟูเจี้ยน คนไทยปลอดภัย

นายเจษฎา ชวาลภาคย์ กงสุลใหญ่ ณ เซี่ยเหมิน


อุทกภัยครั้งใหญ่ในมณฑลฟูเจี้ยน คนไทยปลอดภัย


นายเจษฎา ชวาลภาคย์ กงสุลใหญ่ ณ เซี่ยเหมินเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี ที่อำเภอไท่หนิงมณฑลฝูเจี้ยน เส้นทางคมนาคมหลายสายถูกตัดขาดเป็นผลให้หมู่บ้านกว่า 700 หมู่บ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ขณะนี้ทางการสามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้แล้วโดยนำน้ำ อาหารและเครื่องนุ่งห่มไปแจกจ่าย และเจ้าหน้าที่กำลังเร่งกู้ระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร

นายเจษฎาฯยืนยันว่าไม่มีรายงานคนไทยที่พำนักอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยนได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหายในเหตุอุทกภัยครั้งนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองโดยเฉพาะบนเกาะเซี่ยเหมิน

ปัจจุบันมีคนไทยพำนักอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน จำนวน 700 คน เป็นนักเรียนนักศึกษา จำนวน 500 คน นักธุรกิจ 100 คน และเป็นชาวจีนโพ้นทะเล 100 คน

อุบัติภัยน้ำท่วม แผ่นดินไหวในมณฑลหูหนาน คนไทยปลอดภัย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง

อุบัติภัยน้ำท่วม แผ่นดินไหวในมณฑลหูหนาน คนไทยปลอดภัย

นายวิชิต ชิตวิมาน กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง
แถลงว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 มีรายงานฝนตกหนักแถบภาคใต้ของประเทศจีนเป็นผลให้เกิน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มฉับพลันและก่อความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ 74 เมือง ของ 6 มณฑล ได้แก่ ฟูเจี้ยน กวางตุ้ง หูหนาน เจียงซี กวางซีและเสฉวน โดยประชาชนกว่า 2.56 ล้านคนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ ทั้งนี้มีประชาชน 238,000 รายต้องอพยพออกจากบ้านเรือนตนเอง มีรายงานว่าบ้านเรือนของราษฎรถล่มเสียหายมากกว่า 33,000 หลังคาเรือน และประมาณว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมีมูลค่า 2.72 พันล้านหยวน (398 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเป็นผลจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบประมาณ 126,700 เฮกตาร์

พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่พื้นที่ 3 มณฑล ประกอบด้วย ฟูเจี้ยน กวางซี และเสฉวน โดยเฉพาะในมณฑลฟูเจี้ยนนั้น จากการที่น้ำท่วมและแผ่นดินถล่มทำให้รถไฟระหว่างฝูโจวและฉางซาต้องหยุดให้บริการชั่วคราวระหว่างวันที่ 18 และ 19 มิถุนายน 2553

นายวิชิตฯ เปิดเผยว่า ได้ประสานกับสำนักงานต่างประเทศมณฑลหูหนานแล้ว ทราบว่าไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ช่วงเวลาน้ำท่วมในประเทศจีนจะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน ทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกหนักใน

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เตือนคนไทยในกรุงไนโรบีให้ระมัดระวังความปลอดภัย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี


เตือนคนไทยในกรุงไนโรบีให้ระมัดระวังความปลอดภัย

นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยาว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2553 เวลา 04.00 น. คนร้าย 4 คน พร้อมอาวุธครบมือได้บุกเข้าปล้นบ้านเลขที่ 59 ถนนเป็บโปนี เขตเวสต์แลนด์ กรุงไนโรบี ซึ่งเป็นสถานประกอบการนวดแผนไทย Thai Massage and Spa ซึ่งภายหลังเกิดเหตุการปล้นดังกล่าวชุมชนไทยได้รายงานให้สถานทูตทราบ ซึ่งนายโฆษิต ฉัตรไพบูลย์ เอกอัครราชทูต ได้มอบให้นายธวัช ขวัญจิตร์ และนายภาณุพันธ์ ชัยรังสิยากร เลขานุการโทไปเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าทุกข์ยังสถานที่เกิดเหตุในทันที

นางคำพา บรรหารซึ่งพักอยู่ในบ้านดังกล่าวเพียงลำพังให้การว่า คนร้ายงัดรั้วบ้านด้านหลังซึ่งติดทางเดินและเปลี่ยวมาก ไม่ค่อยมีคนสัญจร แล้วใช้เครื่องมือตัดกุญแจจำนวน 5 ดอก และงัดเหล็กดัดหน้าต่างห้องโถงเข้าไปในบ้าน เมื่อคนร้านเข้ามาในบ้านได้ทำร้ายนางคำพาฯ โดยใช้ของแข็งตีบริเวณหน้าผากและบังคับให้บอกที่ซ่อนเงิน ซึ่งนายคำพาฯ ไม่ได้ขัดขืนแต่ประการใดเนื่องจากเกรงว่าหากขัดขืนจะถูกทำร้ายร่างกายถึงตายได้ ทั้งนี้คนร้ายได้รื้อค้นทรัพย์สินและได้หยิบสิ่งของ และเงินสดจำนวนหนึ่งไปด้วย

อธิบดีกรมการกงสุลแถลงด้วยว่า ปัจจุบันสถิติอาชญากรรมในกรุงไนโรบีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเกือบทั่วประเทศ ไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง และไม่อาจคาดเดาได้ว่าเหตุร้ายจะเกิดขึ้นกับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นเมือง นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงไนโรบีจะต้องตื่นตัว ทั้งนี้ สถิติการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น อาจเนื่องมาจากภาวะค่าครองชีพและการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมด้านต่างๆ เช่น การลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของเคนยา ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แต่ด้วยเหตุที่มีกำลังไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้อย่างทันท่วงทีและไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ทุกกรณี โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2553 หน่วยงานสหประชาชาติในกรุงไนโรบีรายงานว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในกรุงไนโรบีถึง 5 ครั้ง

อธิบดีกรมการกงสุลกล่าวสรุปว่า ขณะนี้สถานทูตไทยที่ประเทศเคนยาได้แจ้งเตือนชุมชนไทยทั้งที่อาศัยในกรุงไนโรบีและเมืองอื่นๆเป็นระยะ ให้ระมัดระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนโดยไม่ประมาท รวมทั้งให้ตรวจสอบความเรียบร้อยของหน้าต่างประตูทุกบาน และคอยจับตาดูพฤติกรรมของคนรับใช้และพนักงานรักษาความปลอดภัยในบ้าน ซึ่งอาจจะเป็นสายให้คนร้ายเข้าปล้นชิงทรัพย์ในบ้านได้ นอกจากนั้นในการใช้ชีวิตประจำวัน ควรมีความระมัดระวัง เช่น การไม่เดินทางไปไหนเพียงลำพัง ไม่ไปในที่เปลี่ยว ระมัดระวังในการติดต่อกับธนาคาร ซึ่งอาจมีคนร้ายคอยสังเกตพฤติกรรมการฝาก-ถอนเงินได้ และสำหรับผู้ที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นจะต้องล็อกประตูรถไว้เสมอ และไม่เปิดกระจกทิ้งไว้อันจะเป็นเหตุให้คนร้ายฉวยโอกาสปล้นจี้ได้

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์สนับสนุนโครงการชุมชนไทยเข้มแข็งในภาคตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย



รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์สนับสนุนโครงการชุมชนไทยเข้มแข็งในภาคตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2553 เวลา 13.00 น. นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ พร้อมด้วยรองกงสุลใหญ่ และอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ได้ให้การต้อนรับนายโดรุแม วาแม ประธานชมรมชาวไทย ในภาคตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย และคณะที่ปรึกษาชมรมฯ ซึ่งประกอบด้วยนายชูเดช อินทรวงศ์ อดีตประธานชมรมชาวไทยฯ คนแรก และนายสมศักดิ์ ชุ่มชื่น อดีตรองประธานชมรมฯ เพื่อพบหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานของชมรมชาวไทยฯ การสนับสนุนกิจกรรมของสถานกงสุลใหญ่ฯ ในโอกาสต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและความเข้มแข็งในหมู่ชุมชนคนไทย อาทิ โครงการสอนภาษาไทย และศูนย์การเรียน กศน. เจดดาห์ฯ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ ให้การสนับสนุนอยู่ในปัจจุบัน การจัดงานการกุศลเพื่อหารายได้สนับสนุนศูนย์การเรียน กศน.ฯ งานประเพณีไทยและท้องถิ่น เป็นต้น

รักษาการกงสุลใหญ่ได้กล่าวแสดงความขอบคุณชมรมชาวไทยฯ ที่ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมของสถานกงสุลใหญ่ฯ ด้วยดีเสมอมา และขอให้ชมรมฯ ดำเนินกิจกรรมโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขที่จะเกิดแก่ชุมชนชาวไทย โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของยุวชนไทย และดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองและความเป็นชุมชนไทยเข้มแข็ง ทั้งนี้ เพื่อความเป็นเอกภาพของความเป็นไทย อีกทั้งจะเป็นการแสดงภาพลักษณ์ที่ดีต่อชาวซาอุดีฯ และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบียด้วย

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยในไต้หวันชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทยต่อสมาคมคนไทยในไต้หวัน

ท่านรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฯ แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำสมาคมคนไทยในไต้หวัน
เมื่อท่านพูดคนไทยรับฟัง
การสื่อสารสองฝ่าย
บรรยากาศการชี้แจงจริงจัง แต่เป็นกันเอง
รับฟังคำถาม
คุณวันทนีย์ วิพุธวงศ์สกุล(ที่ 6 จากซ้าย เสื้อดำ) ถ่ายภาพร่วมกับชุมชนไทยที่เข้ารับฟังการชี้แจงสถานการณ์เมืองไทยปัจจุบัน

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยในไต้หวันชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทยต่อสมาคมคนไทยในไต้หวัน

นางสาววันทนีย์ วิพุธวงศ์สกุล รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย แถลงว่าเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ได้ประชุมร่วมกับนายประสาท แซ่จอง นายกสมาคมคนไทยในไต้หวันและสมาชิกสมาคมฯ ที่ห้องประชุมธนาคารกรุงเทพ สาขาไถจง เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ในประเทศไทย โดยชาวไทยที่เข้าร่วมประกอบด้วยนักศึกษา ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในภาคกลางของไต้หวัน

นางสาววันทนีย์ฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยได้คืนสู่ภาวะปกติ ทุกฝ่ายต่างเร่งฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินแผนปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อ และปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา

ในการนี้ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าฯ ได้ขอให้ชาวไทยช่วยกันเสนอความเห็นในทางบวกเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

ชาวไทยกลุ่มที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวได้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิดทั้งจากข่าวทาง นสพ. วิทยุ โทรทัศน์ไทย (ผ่านดาวเทียม) และทางอินเตอร์เนต ทั้งนี้ ในช่วงที่สถานการณ์ในเมืองไทยมีความขัดแย้งรุนแรงปรากฏว่าชุมชนไทยในไต้หวันรักและสามัคคีกลมเกลียวกันดี ทั้งยังได้ช่วยชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ชาวไต้หวันและชาวต่างชาติในไต้หวันได้ทราบถึงสถานการณ์การเมืองไทยอีกด้วย

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ทูตไทยในปากีสถานประชุมร่วมกับนักศึกษาไทย

ท่านทูตมารุตฯ ถ่ายภาพร่วมกับนักศึกษาไทยในกรุงอิสลามาบัดเพื่อเป็นที่ระลึกภายหลังการประชุม
นักศึกษาในกรุงอิสลามาบัดที่รับเชิญไปร่วมการประชุมกำลังฟังคำปราศรัยอย่างตั้งใจ
ท่านทูตมารุต จิตปฏิมา กล่าวคำปราศรัย

ทูตไทยในปากีสถานประชุมร่วมกับนักศึกษาไทย

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 นายมารุต จิตปฏิมา เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด ได้เชิญนักศึกษาไทยเข้าร่วมการประชุมหารือเกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษาไทยและโครงการกงสุลสัมพันธ์ที่จะจัดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนของชมรมนักศึกษาไทย ณ กรุงอิสลามาบัด เอกอัครราชทูตฯ ได้ถือโอกาสดังกล่าวเลี้ยงอาหารค่ำแก่นักศึกษาไทย เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษาไทยและข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ และเป็นการขอบคุณชมรมนักศึกษาฯ ที่ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนกิจกรรมของสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นอย่างดีมาโดยตลอด

กิจกรรมกงสุลสัญจรในประเทศแคนาดาเพื่อชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทย

ท่านทูตอดิศักดิ์ฯ มอบเงินสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมคนไทยในวินนิเป็กโดยคุณบุหงา ไชยสิทธิ์ นายกสมาคมเป็นผู้รับมอบ
ท่านทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ถ่ายภาพร่วมกับชุมชนไทยเป็นที่ระลึก

กิจกรรมกงสุลสัญจรในประเทศแคนาดาเพื่อชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทย

นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดาแถลงว่า เมื่อวันที่ 11-13 มิถุนายน 2553 สถานทูตได้เดินทางไปเปิดให้บริการกงสุลสัญจรและเยี่ยมชุมชนไทยและแรงงานไทยที่เมืองวินนิเป็ก มณฑลมานิโตบา (ห่างจากกรุงออดตาวาประมาณ 2,400 กิโลเมตร) โดยมีนางบุหงาไชยสิทธิ์นายกสมาคมคนไทยในวินนิเป็กนำสมาชิกอาสาสมัครไปร่วมอำนวยความสะดวกแก่ผู้มารับบริการด้วย ปรากฏว่ามีคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองวินนิเป็กและเขตปริมณฑลไปรับบริการหนังสือเดินทางรวม 32 ราย และขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับนิติกรณ์อาทิ การจดทะเบียนสมรส จดทูติบัตร การนำญาติจากประเทศไทยไปทำงานที่แคนาดา จำนวน 14 ราย

ในค่ำวันที่ 123 มิถุนายน 2553 ท่านทูตได้นัดพบกับคณะกรรมการสมาคมไทยในวินิเป็กเพื่อชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับการดูแลให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนไทยในต่างแดน สภาพและความเป็นอยู่ของคนไทยและแรงงานไทยในเมืองและมณฑลอื่นๆ รวมทั้งชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทย นอกจากนั้นท่านทูตยังได้แนะนำให้สมาคมรวบรวมรายชื่อ ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของคนไทยเพื่อสถานทูตสามารถให้การช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหาได้ทันท่วงที รวมทั้งได้ประกาศเตือนให้คนไทยเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นหากจำเป็นต้องออกไปในที่สาธารณะ ที่เปลี่ยวในยามวิกาล ในโอกาศดังกล่าวได้มอบเงินจำนวน 1,600 ดอลลาร์(ประมาณ 51,200 บาท) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมไทยในวินนิเป็ก

สมาคมคนไทยในวินนิเป็ก ตั้งขึ้นโดยกลุ่มแรงงานไทยรุ่นแรก ที่เข้าไปทำงานเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา และทันทีที่ไปถึงก็ถูกนายจ้างลอยแพ ทำให้ตกทุกข์ได้ยาก สถานทูตส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปให้การช่วยเหลือ และในปัจจุบันกลุ่มคนไทยดังกล่าวเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยหลายคน

ท่านทูตอดิศัดิ์ฯ กล่าวว่าปัจจุบันมีคนไทยพำนักอาศัยอยู่ในมณฑลมานิโตบาประมาณ 200 คน โดยจำนวนนี้อาศัยอยู่ในเมืองวินนิเป็กและพื้นที่ใกล้เคียงประมาณ 60 คน ส่วนที่เหลือพำนักอยู่กระจัดกระจายตามเมืองต่างๆในมณฑลมานิโตบา คนไทยในวินนิเป็กมีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี มีความสามัคคี ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและให้ให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับสมาคมฯ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่วนรวม

สถานทูตไทยในออสเตรียจัดกิจกรรมกงสุลสัญจร

ระหว่างรอรับบริการก็จับกลุ่มสนทนา กิจกรรมนี้เป็นโอกาสพบปะสังสรรค์ของคนไทยในพื้นที่
ถ่ายรูปและแสกนนิ้วมือเพื่อทำหนังสือเดินทาง
เจ้าหน้าที่กำลังทำเรื่องรับรองเอกสารให้คนไทยที่มารับบริการ
สถานทูตไทยในออสเตรียจัดกิจกรรมกงสุลสัญจร

นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนาแถลงว่า สถานเอกอัครราชทูตได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมือง Meiningen จังหวัด Vorarlberg และเมือง Innsbruck จังหวัด Tirol เมื่อวันที่ 5 - 6 มิถุนายน 2553 ตามลำดับ

ที่จังหวัด Vorarlberg ชุมชนไทยที่พำนักอยู่จังหวัดดังกล่าวประมาณ 214 คน ได้มาใช้บริการทำหนังสือเดินทาง หนังสือมอบอำนาจ จดสูติบัตร และลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรรวม 50 รายการ โดยคนไทยพร้อมครอบครัวได้มาร่วมพบปะสังสรรค์ ณ สถานที่จัดกงสุลสัญจรประมาณ 80 คน บางส่วนต้องการมาทำความรู้จัก หรือสอบถามข้อมูลในเรื่องต่างๆ กับเจ้าหน้าที่

จากการพูดคุยพบว่าชุมชนไทยมีความพอใจเป็นอย่างมากที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร และประสงค์ให้จัดกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้เป็นประจำทุกปี เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวทำให้พวกตนสามาถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่กรุงเวียนนา ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัด Vorarlberg ถึง 645 กิโลเมตร ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ครอบครัว กล่าวคือ บุตรไม่ต้องหยุดเรียน คู่สมรสชาวออสเตรียไม่ต้องลางานเพื่อมาลงลายมือชื่อและลงนามรับรองในการยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางของบุตร นอกจากนี้ การอำนวยความสะดวกในการรับจดทะเบียนสูติบัตรและทำหนังสือเดินทางให้แก่บุตรในคราวเดียวกัน ทำให้ผู้ร้องไม่ต้องหอบหิ้วทารกเดินทางไกลมาถึงเวียนนา

ที่เมือง Meiningen และเมืองใกล้เคียง อาทิ Hörbeanz Schönwies Dornbirn Höchst Feldkirch Bregenz Alberschwende เป็นเมืองชายแดน ลักษณะการพำนักอาศัยของชุมชนไทยจะอยู่กระจัดกระจาย อย่างไรก็ดี ชุมชนไทยในเมืองดังกล่าวมีความเข้มแข็งมาก เนื่องจากมีผู้นำชุมชนที่มีบทบาทสร้างสรรค์ คอยทำหน้าที่ประสานงานและประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุท้องถิ่น และไม่พบว่ามีปัญหาในชีวิตสมรสเมื่อเทียบกับเมืองหรือจังหวัดอื่นๆ ของออสเตรีย หญิงไทยที่มีทั้งที่เป็นแม่บ้าน ทำงานในร้านอาหาร บริษัทเอกชน ตลอดจนเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร ที่พักขนาดเล็ก เป็นต้น

ส่วนที่เมือง Innsbruck เมืองหลวงของจังหวัด Tirol ก็เช่นเดียวกัน ชุมชนไทยที่มาใช้บริการจากเมือง Kufstein Lienz Volders Kirchbichl Hall Brixlegg Seefeld Ladis ต่างพอใจต่อการให้บริการของสถานทูต อย่างไรก็ดี มีผู้มาใช้บริการไม่มากนัก

เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัด Vorarlberg การรวมตัวของชุมชนไทยมีลักษณะหลวมๆ เป็นกลุ่มๆ ขึ้นอยู่กับกิจกรรม อาชีพ และพื้นฐานการศึกษา และส่วนใหญ่มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ตามลักษณะสภาพของเมืองหลวงทั่วไป

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สถานทูตที่กรุงลอนดอนจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์

สถานทูตที่กรุงลอนดอนจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์


นายกิตติ วสีนนท์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรแถลงว่าเมื่อวันที่ 12-13 มิถุนายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักรได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2553 ไปที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ โดยใช้บ้านของคุณระวีวรรณ สมุลเลนสมาชิกสมาคมไทย-ไอร์แลนด์ เป็นที่ตั้งสำนักงาน

ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีชาวไทยในประเทศไอร์แลนด์เดินทางไปขอรับบริการ จำนวน 174 คน โดยเป็นผู้ไปติดต่อขอทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ 116 ราย ขอหนังสือเดินทางชั่วคราว 5 ราย ขอเอกสาร Certificate of Identity 2 ราย ขอสูติบัตร 33 ราย รับรองเอกสาร 10 ราย (เอกสาร 26 รายการ) และขอคำปรึกษาด้านกงสุล 8 ราย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่กรุงดับลินเป็นประจำทุกปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งแต่ละครั้งมีจำนวนผู้มาขอรับบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เป็นผลจากการที่สถานทูตได้พยายามขยายเครือข่ายคนไทยในประเทศไอร์แลนด์ ทำให้คนไทยได้รับทราบเกี่ยวกับการให้บริการกงสุลสัญจรมากขึ้นเป็นลำดับ โดยกงสุลสัญจรทุกครั้งที่ผ่านมาจะจัดในช่วงสัปดาห์วันวิสาขบูชา และสถานทูตจะประสานกับสมาคมไทย-ไอร์แลนด์ในการจัดงานทำบุญเลี้ยงพระในวันเดียวกันที่บ้านของคุณระวิวรรณ สมุลเลน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญของคนไทยในกรุงดับลินทุกปี ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยในไอร์แลนด์ได้รับบริการด้านกงสุลพร้อมกับได้เข้าร่วมงานทำบุญเลี้ยงพระในโอกาสสำคัญดังกล่าว

การจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรในครั้งนี้ สถานทูตเปิดให้ผู้ประสงค์จะรับบริการลงทะเบียนล่วงหน้าทางเว็บไซต์ของสถานทูต ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ลงทะเบียนมากจนสถานทูตต้องปิดการลงทะเบียน และเปิดให้ลงทะเบียนสำรอง เกี่ยวกับเรื่องนี้สมาคมไทย-ไอร์แลนด์และคนไทยที่มารับบริการได้เสนอให้สถานทูตจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรเพิ่มเป็นปีละสองครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากคนไทยในไอร์แลนด์ประสบความลำบากในการเดินทางมาทำหนังสือเดินทางที่กรุงลอนดอนเพราะจะต้องขอวีซ่าเข้าสหราชอาณาจักรก่อนเดินทาง และมีค่าใช้จ่ายด้านวีซ่าและค่าเดินทางสูง ประกอบกับหากหนังสือเดินทางหมดอายุไปแล้วหรือใกล้หมดอายุ จะไม่สามารถเดินทางได้

เรื่องการเพิ่มกิจกรรมกงสุลสัญจรไปที่กรุงดับลินนี้สถานทูตรับต่อคนไทยว่าหากมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมและงบประมาณเพียงพอสถานทูตอาจพิจารณาจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรอีกครั้งหนึ่งในปีงบประมาณ 2553

ในการประชุมร่วมกับคนไทยระหว่างการทำกิจกรรมกงสุลสัญจรนี้ สถานทูตได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการปรับปรุงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้เป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งรวบรวมคำร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเพื่อปรับปรุงรายชื่อ นอกจากนั้นได้ใช้โอกาสดังกล่าวรวบรวมรายชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของคนไทยที่อาศัยอยู่ในไอร์แลนด์เพื่อเป็นฐานข้อมูลคนไทยด้วย

ไม่มีคนไทยเสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในทะเลใกล้เกาะปาปัวและเกาะสุลาเวสี

ไม่มีคนไทยเสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในทะเลใกล้เกาะปาปัวและเกาะสุลาเวสี


นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล แถลงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ว่าตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553 เวลา 12.06 น. ตามเวลาท้องถิ่น บริเวณเกาะไบแอ็ก (Biak) ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะปาปัว โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ความลึก 10 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไบแอ็ก วัดความสั่นสะเทือนได้ 6.2 ริกเตอร์ และต่อมาประมาณ 10 นาที เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 7 ริกเตอร์ ที่บริเวณช่องแคบมาคัสซา ทางตะวันตกของเกาะสุลาเวสี โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ความลึก 10 กิโลเมตร ในบริเวณช่องแคบมาคัสซา ซึ่งภายหลังเกิดแผ่นดินไหวสำนักงานอุตุนิยมและธรณีวิทยาอินโดนีเซียได้ประกาศเตือนภัยสึนามิและได้ยกเลิกการเตือนภัยในเวลาต่อมา

เหตุแผ่นดินไหวทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนที่เมืองมามูจู ทางตะวันตกของเกาะสุลาเวสีและมีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวน 92 หลัง รวมทั้งมีบ้านที่พังทลายราบคาบอีก 14 หลัง สำหรับที่เกาปาปัวมีผู้เสียชีวิต 2 คน ที่เมืองเซรุย บ้านเรือนเสียหาย 20 หลัง และเกิดเพลิงไหม้ 7 หลัง

อธิบดีกรมการกงสุลกล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตาได้ตรวจสอบแล้วพบว่ายังไม่ปรากฎมีคนไทยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการ OIC ชี้แจงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

บรรยากาศการหารือฉันท์มิตร
คุณชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์สนทนากับศาสตราจารย์เอ็กเมเล็ดดิน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการองค์การประชุมอิสลาม เมื่อ 13 มิถุนายน 2553

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการ OIC ชี้แจงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2553 เวลา 12.00 น. นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้เข้าเยี่ยมคารวะศาสตราจารย์เอ็กเมเลดดิน อิห์ซาโนกลู (Prof. Ekmeleddin Ihsanoglu) เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม (The Organization of the Islamic Conference – OIC) ณ สำนักงานเลขาธิการ OIC เพื่อแนะนำตัวในโอกาสที่เดินทางเข้ารับหน้าที่ และหารือข้อราชการในประเด็นต่างๆ

นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวขอบคุณ OIC ที่ได้ให้ความร่วมมือแก่คณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมประชุมในเวที OIC และสถานกงสุลใหญ่ฯ เป็นอย่างดีเสมอมา จนสามารถทำให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงได้รับทราบบทบาทของรัฐบาลในการดำเนินโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยยึดหลักพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นแนวทางในการดำเนินแผนพัฒนาดังกล่าว

ในโอกาสเดียวกันนี้ รักษาการกงสุลใหญ่ฯ ยังได้ชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสถานการณ์การเมืองของไทยในปัจจุบัน และรับทราบถึงข้อเท็จจริงและพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนมาตรการในการเยียวยารักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว

ศาสตราจารย์เอ็กเมเล็ดดิน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการ OIC ได้กล่าวแสดงความยินดีกับการเดินทางเข้ารับหน้าที่ของรักษาการกงสุลใหญ่ฯ และกล่าวชื่นชมความพยายามและความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่ดังกล่าวได้อย่างถาวร และได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงหวังว่า รัฐบาลไทยจะสามารถนำความสงบสุขและความสมานฉันท์ของภาคสังคมและการเมืองกลับคืนมาโดยเร็ว

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กระทรวงการต่างประเทศมอบเงินสิทธิประโยชน์แก่ญาติคนไทยที่เสียชีวิต

นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุลถ่ายภาพร่วมกับบรรดาญาติของผู้รับเงินสิทธิประโยชน์บริเวณหน้าสำนักงานเลขานุการกรมการกงสุล
นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุลต้อนรับผู้เข้าร่วมพิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์และมอบเช็กเงินสิทธิประโยช์แก่ญาติของผู้เสียชีวิต

กระทรวงการต่างประเทศมอบเงินสิทธิประโยชน์แก่ญาติคนไทยที่เสียชีวิต


เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2553 กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้จัดพิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์แก่ญาติของคนไทยที่เสียชีวิต / เกิดข้อพิพาทในต่างประเทศ ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2553 ประกอบด้วยผู้เสียชีวิต 3 รายได้แก่นายอุ่นเรือน เตชะพลี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) นายมาโนช ปันทะนันท์ (สาธารณัฐเกาหลี) นายกว้าง นวลงาม (ซาอุดีอาระเบีย) และเป็นกรณีพิพาทค่าจ้างแรงงานและสิทธิประโยชน์ 1 ราย คือนาย วัฒนา ทวีทรัพย์ (อิตาลี) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1, 664, 171.88 บาท(หนึ่งล้านหกแสนหกหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเอ็ดบาทแปดสิบแปดสตางค์) โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตเข้ารับมอบเช็กเงินสิทธิประโยชน์ ที่อาคารกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ

ในปีงบประมาณ 2553 กรมการกงสุลได้จัดพิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์แก่ญาติของคนไทยที่เสียชีวิตและที่เกิดข้อพิพาทในต่างประเทศรวม 6 ครั้ง สำหรับคนไทย 25 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19, 687, 293.35 บาท (สิบเก้าล้านหกแสนแปดหมื่นเจ็ดพันสองร้อยเก้าสิบสามบาทสามสิบห้าสตางค์)

วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ชี้แจงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองแก่สื่อมวลชนซาอุดี อาระเบีย

คุณชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์สนทนากับดร. โมฮัมเม็ด โชคานี รักษาการบรรณาธิการใหญ่หนังสือพิมพ์ Saudi Gazette

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ชี้แจงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองแก่สื่อมวลชนซาอุดี อาระเบีย

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เวลา 13.00 น. นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้เข้าพบ ดร. โมฮัมเม็ด โชคานี (Dr. Mohammed N. Shoukany) รักษาการบรรณาธิการใหญ่ หนังสือพิมพ์ Saudi Gazette ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มีผู้นิยมอ่านอย่างกว้างขวางในประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อแนะนำตัวในโอกาสที่เดินทางเข้ารับหน้าที่

ในโอกาสนี้รักษาการกงสุลใหญ่ ได้กล่าวขอบคุณรักษาการบรรณาธิการใหญ่ฯ ที่ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนโดยการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และกิจกรรมของสถานกงสุลใหญ่ฯ ผ่านทางหนังสือพิมพ์ Saudi Gazette ด้วยดีเสมอมา อีกทั้งยังได้ถือโอกาสดังกล่าวชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสถานการณ์การเมืองของไทยในปัจจุบัน และรับทราบถึงข้อเท็จจริงและพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนมาตรการในการเยียวยารักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว

ดร. โมฮัมเม็ด รักษาการบรรณาธิการใหญ่ฯ ได้แสดงความเข้าใจต่อเหตุการณ์ และยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทย เพียงแต่แสดงความกังวลโดยเห็นว่า หากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองของไทยยังคงยืดเยื้อต่อไป ก็จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และมองว่า ประเทศไทยยังคงมีศักยภาพและมีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยหนังสือพิมพ์ Saudi Gazette ยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของสถานกงสุลใหญ่ฯ ต่อไป

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กระทรวงสาธารณสุขและสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์วางแผนปรับปรุงการบริการจัดการคนไทยไปประกอบพิธีฮัจย์

เจ้าภาพและแขกถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก
มอบของที่ระลึก
ท่านรักษาการกงสุลใหญ่ฯ และภริยาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงคณะของท่านรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในค่ำวันที่ 8 มิถุนายน 2553
ท่านรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะกำลังประชุมหารือกับท่านรักษาการกงสุลใหญ่ฯ
คุณชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์(นั่งกลาง)ให้การต้อนรับนายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ซ้ายมือ)และคณะ

กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์วางแผนปรับปรุงการบริหารจัดการคนไทยไปประกอบพิธีฮัจย์


เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ให้การต้อนรับนายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเดินทางไปประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อประชุมหารือร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ และคณะผู้แทนฮัจย์ทางการไทย ในการจัดเช่าสำนักงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน คือ สถานกงสุลใหญ่ฯ หน่วยพยาบาลไทย และคณะผู้แทนฮัจย์ทางการไทย ที่เมืองมักกะห์ เพื่อใช้เป็นที่ทำการในช่วงเทศกาลฮัจย์ที่จะถึงนี้ ในโอกาสนี้ รักษาการกงสุลใหญ่ ได้หารือกับคณะฯ ในประเด็นการปรับปรุงการบริหารจัดการเรื่องฮัจย์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน รักษาการกงสุลใหญ่ฯ และภริยา ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะด้วย

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สถานทูตไทยเตือนภัยภูเขาไฟตาล (Taal) ในฟิลิปปินส์


สถานทูตไทยเตือนภัยภูเขาไฟตาล (Taal) ในฟิลิปปินส์

นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่าตามที่เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 สถาบันติดตามภาวะแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดประเทศฟิลิปปินส์ได้ประกาศเตือนภัยพิบัติจากภูเขาไฟตาล (Taal) ในระดับ 2 ซึ่งหมายถึงมีโอกาสที่จะพ่นลาวาขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการไปท่องเที่ยวบริเวณภูเขาไฟนั้น

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลาได้ออกประกาศแจ้งความเตือนคนไทยที่พำนักอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆกับภูเขาไฟให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินทางและการท่องเที่ยวในพื้นที่บริเวณดังกล่าวโดยไม่จำเป็นรวมทั้งขอความร่วมมือชุมชนชาวไทยและครอบครัวในฟิลิปปินส์ติดตามข่าวสารและประกาศต่างๆจากทางการฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดและกรณีที่ทราบข่าวว่ามีคนไทยประสบเหตุภัยขอให้แจ้งสถานเอกอัครราชทูตทราบโดยด่วนด้วยเพื่อเข้าไปให้การช่วยเหลือ

อธิบดีกรมการกงสุลแถลงด้วยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฟิลิปปินส์เฝ้าติดตามสถานการณ์การปะทุของภูเขาไฟตาลมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 จนกระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน 2553 จึงตัดสินใจออกประกาศเตือนภัยพิบัติแก่สาธารณชน ดังนั้น คนไทยที่มีคามประสงค์จะเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์โปรดติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภูเขาไฟตาลด้วย เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการเดินทาง

การสัมมนาทางวิชาการเรื่องการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ

แบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิด ในภาพเลขานุการของกลุ่มที่ 2 กำลังสรุปประเด็น
ผศ. ดร.ศิริรัตน์ แอดสกุล (คนแรกขวามือ)วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานทำวิจัยเกี่ยวกับหญิงไทยสมรสกับชาวต่างชาติกำลังอภิปราย
นายสุรเดช ฉายะเกษตริน
รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประธานในพิธีเปิดการสัมมนา
การสัมมนาทางวิชาการเรื่องการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ


เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 สำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ: สถานการณ์ ผลกระทบ และทิศทางการพัฒนาสถาบันครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

การสัมมนาดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก รศ. ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุจากวิทยาลัยการปกครองมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ. ดร.ศิริรัตน์ แอดสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.วิลาศ ดวงกำเนิด นักวิชาการอิสระเป็นผู้อภิปรายในหัวเรื่องดังกล่าว โดย รศ. ดร. ชาย โพธิสิตา จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

นักวิชาการผู้วิจัยเกี่ยวกับการสมรสระหว่างหญิงไทยกับชาวต่างประเทศพบข้อสรุปว่าปัจจุบันจำนวนหญิงไทยที่สมรสกับชายชาวต่างชาติมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งที่ชีวิตสมรสราบรื่นมีความสุขดี มีครอบครัวที่อบอุ่น ประสบความสำเร็จในชีวิตสมรส แต่ก็มีบางคู่ที่ชีวิตสมรสไม่พบความสุข ประสบปัญหาต่างๆ

ผลงานการวิจัยได้ข้อสรุปอีกประการหนึ่งว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เป็นชาวตะวันตกอาทิ สวิส เยอรมัน อเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศษ ออสเตรียกำลังเป็นค่านิยมในชุมชนชนบทหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่น ที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองคายมหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สกลนคร เป็นต้น ซึ่งจากการวิจัยพบว่าสามีชาวต่างชาติที่นิยมสมรสกับหญิงไทยเนื่องจากต้องการมีชีวิตที่สะดวกสบาย สงบ เรียบง่าย และมีแม่ศรีเรือนดูแล คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในวัยชรา มีรายได้ประมาณเดือนละ 50,000 บาท ส่วนใหญ่เคยผ่านการสมรสกับหญิงชาวตะวันตกมาก่อน และหากมีลูกๆมักโตกันหมดแล้วสามารถดูแลตัวเองได้และมีงานทำกันหมดแล้ว ส่วนหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวตะวันตกส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยมีสามีเป็นคนไทยมาก่อนและมักพบว่ามีลูกติดมาด้วย ซึ่งสามีชาวตะวันตกยินดีรับผิดชอบเลี้ยงดูโดยไม่รู้สึกรังเกียจแต่อย่างใด พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้การศึกษาและอุปการะเลบี้ยงดูเป็นอย่างดีเสมือนเป็นบุตรของตน

แรงจูงใจสำคัญที่สุดที่ทำให้หญิงไทยตัดสินใจแต่งงานกับชาวตะวันตกหรือมีสามีเป็นฝรั่งคือเรื่องของความยากจน ความต้องการมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีเงินใช้ ไม่อยากมีชีวิตที่ลำบากอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย มีอาชีพทำไร่ทำนา ทำงานรับจ้าง เสิร์ฟอาหาร หญิงบริการฯลฯ ประกอบกับสถานภาพอย่าร้างกับสามีคนไทยทำให้หญิงไทยต้องรับผิดชอบครอบครัวโดยเน้นพ่อแม่และลูกเป็นสำคัญ สะท้อนให้เห็นทัศนคติของหญิงกลุ่มนี้ที่มีความกตัญญูสูงต่อพ่อแม่ ไม่อยากให้พ่อแม่ลำบาก อยากให้พ่อแม่อยู่อย่างสุขสบาย

หญิงไทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่กับชาวต่างชาติตะวันตกมักทำให้หญิงอื่นในหมู่บ้านอยากมีสามีเป็นฝรั่งบ้างเพราะเห็นว่ามีบ้านหลังใหม่ใหญ่โตและสวยงาม มีแก้งแหวนเงินทองสวมใส่ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างมาก จัดอยู่ในฐานะคนร่ำรวยของหมู่บ้าน แต่ขณะเดียวกันก็มีหญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตการสมรสไม่ประสบความสำเร็จเพราะพบว่าสามีชาวตะวันตกนิสัยไม่ดีชอบดื่มเหล้าจนเมาแล้วอาละวาดด่าทอ

โดยภาพรวมทั่วไป การมีเขยชาวตะวันเข้ามาอยู่ในชุมชนทำให้เศรษฐกิจของชุมชนและของจังหวัดดีขึ้นด้วย เนื่องจากมีการจับจ่ายใช้สอยเงินตรามากขึ้น มีร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เข้ามาตั้ง สายการบินไทยและนกแอร์มีผู้โดยสารต่างชาติมากขึ้นและเพิ่มเที่ยวบินขึ้นด้วย

การวิจัยพบว่าแม้การสมรสกับฝรั่งจะช่วยให้สภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงไทยและครอบครัวของฝ่ายหญิงดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับมีวัฒนธรรมของชาวตะวันตกเข้ามาครอบงำแทนในหลายๆด้าน โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับภาษา การบริโภค หรือแม้กระทั่งวัตถุนิยมจนทำให้มองไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นตลอดจนทำให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนในเรื่องการแต่งงานและการดำเนินชีวิต โดยชีวิตที่เคนสมถะเรียบง่ายกลายเป็นความหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเห็นพ้องกันว่าภาครัฐควรมีนโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมที่จะเข้าไปช่วยเหลือหญิงไทยที่ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ถูกกดขี่ข่มเหงจากสามีชาวต่างชาติ ให้ได้รับความเป็นธรรม ให้ได้รับการปฏิบัติจากสามีตามที่เหมาะสมและควรจะเป็น ไม่ให้ถูกสามีกระทำละเมิดทั้งร่างกายและจิตใจ รัฐควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคุ้มครองสิทธิของหญิงไทยที่แต่งงานกับสามีชาวต่างชาติขึ้นมาโดยเฉพาะ และควรมีการสร้างเครือข่ายประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย

กระทรวงการต่างประเทศในฐานะเป็นหน่วยงานคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวร่วมกับผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดจากทั่วประเทศด้วย

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เข้าพบหารือประธานคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารกิจการฮัจย์กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายชาลีฯ มอบของที่ระลึกแก่นาย Zuher Sedayu ก่อนอำลากลับ
การหารือเป็นไปในบรรยากาศฉันท์มิตร
นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ฯ เข้าเยี่ยมคารวะนาย Zuher Sedayu ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การกิจการฮัจย์หรือมูอัซซาซะห์

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เข้าพบหารือประธานคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารกิจการฮัจย์กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 เวลา 13.00 น. นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ พร้อมด้วยนายหาลิม แวนะไล กงสุลฮัจย์ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย Zuher Sedayu ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารกิจการฮัจย์กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือมูอัซซาซะห์ ที่สำนักงานที่เมืองมักกะห์ โดยรักษาการกงสุลใหญ่ ในนามรัฐบาลไทย ได้กล่าวขอบคุณมูอัซซาซะห์ที่ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในด้านกิจการฮัจย์เป็นอย่างดีมาโดยตลอด และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดีเช่นนี้ต่อไป

นายชาลีฯ กล่าวด้วยว่า ทราบดีว่าการบริหารจัดการเรื่องฮัจย์ของไทยยังมีประเด็นปัญหาอีกมากที่ต้องร่วมกันปรับปรุงแก้ไข ซึ่งฝ่ายไทยมิได้นิ่งนอนใจและกำลังพยายามในทุกวิถีทางเพื่อพัฒนาปรับปรุง และยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการเรื่องฮัจย์อย่างต่อเนื่องต่อไป

ประธานมูอัซซาซะห์ ได้กล่าวว่า ในแต่ละปีรัฐบาลซาอุดีฯ ต้องรับผิดชอบดูแลผู้แสวงบุญทั้งที่พำนักอยู่ในซาอุดีฯ และจากนานาประเทศ จำนวนประมาณ 3 ล้านคน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาบ้าง แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลซาอุดีฯ ได้พยายามเพิ่มประสิทธิภาพการบริการมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้แสวงบุญได้รับความสะดวกสบายมากที่สุดเท่าที่อาคันตุกะของพระผู้เป็นเจ้าพึงจะได้รับ พร้อมกันนั้น ยังได้กล่าวชื่นชมการทำงานของคณะผู้แทนฮัจย์ไทยและสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ที่ได้ทุ่มเทเพื่อจัดระเบียยการดำเนินการในด้านฮัจย์ ซึ่งได้มีพัฒนาการในหลายๆ ด้านอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเด็นปัญหาด้านการบริหารจัดการอยู่บ้างที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาหนทางแก้ไขต่อไป

บรรยากาศของการหารือกันในครั้งนี้ เป็นไปอย่างฉันท์มิตร โดยหลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้แลกของที่ระลึกให้แก่กัน

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ระวังการถูกชักชวนไปทำงานในดูไบโดยวีซ่านักท่องเที่ยว

ระวังการถูกชักชวนไปทำงานในดูไบโดยวีซ่านักท่องเที่ยว


นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศแถลงว่า ได้รับรายงานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 สถานกงสุลได้รับโทรศัพท์ขอคำปรึกษาจากหญิงไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในดูไบและรัฐใกล้เคียง

หญิงไทยที่ตกเป็นผู้เสียหายถูกหลอกไปทำงานส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในร้านนวดและสปา ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่เป้าหมายการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอยู่เป็นประจำ ดังนั้นนายจ้างจึงหลีกเลี่ยงการรับพนักงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายโดยจัดทำวีซ่านักท่องเที่ยวให้ผู้เสียหายไปทำงานในช่วงเวลาที่กฎหมายอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศ โดยนายจ้างอ้างเงื่อนไขว่าแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต้องทดลองงานก่อน หากใครผ่านการทดลองงานนายจ้างจึงจะขอวีซ่าทำงานให้ โดยจะส่งพนักงานออกไปรอวีซ่าทำงานในประเทศใกล้เคียง อาทิ โอมาน อิหร่าน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นพนักงานจำนวนน้อยมากที่จะได้รับวีซ่าทำงาน ส่วนใหญ่จะถูกนายจ้างหลอกโดยอ้างว่าไม่ผ่านการทดลองงาน และนายจ้างบังคับให้ผู้สียหาย ซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินกลับด้วยตนเองและให้ไปรับหนังสือเดินทางซึ่งนายจ้างเก็บไว้เมื่อผู้เสียหายเดินทางเข้าประเทศครั้งแรกจากนายจ้างที่สนามบินในวันเดินทางกลับ ผู้เสียหายในกรณีนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างตามสัญญา บางคนไม่ได้รับเงินเดือนเลย

กรมการกงสุลจึงขอเตือนแรงงานไทยที่ได้รับการชักชวนให้เดินทางไปทำงานอาชีพนวด/สปาในรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่าหลงเชื่อเดินทางไปทำงานโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เพราะโอกาสที่จะไปขอวีซ่าทำงานในประเทศต่างๆเป็นไปได้น้อยมาก และมีโอกาสที่จะถูกนายจ้างโกงค่าจ้างได้ด้วย

สถานทูตไทยที่เกาหลีใต้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร


สถานทูตไทยที่เกาหลีใต้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณัฐเกาหลีจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลเมืองอันซันให้ใช้พื้นที่ของศูนย์บริการชุมชนอพยพของศาลาว่าการเมืองอันซันสำหรับจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรครั้งนี้

การจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรในครั้งนี้มีชาวไทยมาติดต่อขอรับบริการด้านต่างๆกว่า 200 คน ทั้งการทำหนังสือเดินทาง การรับรองเอกสาร การจดสูติบัตร การจดทะเบียนสมรส ฯลฯ รวมทั้งขอคำปรึกษาปัญหาแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะการทำหนังสือเดินทางนั้นในวันดังกล่าวสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเรื่องจัดทำหนังสือเดินทางใหม่ให้แก่ชาวไทยในพื้นที่ทั้งสิ้น 113 ราย

เมืองอันซันเป็นเมืองบริวารของกรุงโซลมีแรงงานชาวต่างชาติพำนักอาศัยอยู่กว่า 50,000 คน โดยมีแรงงานไทยทำงานและพำนักอาศัยอยู่ประมาณ 8,000 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานขนาดกลางและย่อม แรงงานไทยเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายและไม่กล้าเดินทางออกนอกพื้นที่ จึงทำให้ขาดการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต การจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรไปยังพื้นที่ที่แรงงานเหล่านี้พำนักอาศัยมีส่วนช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่แรงงานไทยกลุ่มนี้อย่างมาก

การจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ในรอบปีงบประมาณ 2553 โดยการจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรทุกครั้งฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมไปกับคณะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุลด้วยเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้แรงงานไทย ทั้งการรับเรื่องร้องทุกข์และการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ

สถานเอกอัครราชทูตฯ กำหนดจะจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรครั้งที่ 6 ที่เมืองแดกู ในพื้นที่ภาคกลางของเกากลีใต้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 ผู้ที่สนใจโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณพรพงศ์ กนิษฐานนท์ โทรศัพท์ (882)790-0095 ต่อ 101 ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ pornponk@mfa.go.th

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบประชุมชุมชนไทย

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบประชุมชุมชนไทย


เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 เวลา 17.00-19.30 น. สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้จัดประชุมโครงการเสริมสร้างความรู้และสร้างเครือข่ายคนไทยเฝ้าระวัง ครั้งที่ 2 ปี 2553 ณ โรงแรมดุสิต เรสิเดนท์ โดยมีหัวหน้าและเจ้าหน้าที่สำนักงานไทย ซึ่งประกอบไปด้วยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานดูไบและผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท SCG จำกัด บริษัท Index จำกัด บริษัทรถไฟฟ้าดูไบ จำกัด โรงแรมดุสิต เรสิเดนท์ และผู้ประกอบการร้านอาหารในรัฐดูไบเข้าร่วมการประชุม วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และขอรับความสนับสนุนจากชุมชนไทยในดูไบเป็นหูเป็นตาและเป็นเครือข่ายให้แก่สถานกงสุลใหญ่ อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานไทยที่ถูกหลอกลวง แรงงานไทยที่ประสบปัญหาในร้านนวด/สปา

โอกาสดังกล่าวนายปสันน์ เทพรักษ์ กงสุลใหญ่ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์และเหตุการณ์คืนสู่ภาวะปกติแล้ว โดยรัฐบาลเน้นการสร้างความปรองดองสมานฉันท์และร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไป และขอความร่วมมือหน่วยงานทีมประเทศไทย และชุมชนไทยในดูไบร่วมกันชี้แจงให้แก่ชาวต่างประเทศ ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนงานของสำนักงานการค้าเพื่อส่งออกสินค้าไทยไปยังดูไบ ร่วมสนับสนุนงานของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งการใช้บริการของบริษัทการบินไทย เป็นต้น เพื่อร่วมส่งเสริมความก้าวหน้าให้แก่ประเทศไทยขึ้นมาใหม่ในฐานะคนไทยในต่างประเทศ

ปัจจุบันมีคนไทยพำนักอยู่ในรัฐดูไบจำนวน 8,500 คนและมีชมรมคนไทย 1 ชมรม

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เตือนภัยผู้เดินทางไปรัฐเบงกอลตะวันตกประเทศอินเดีย


เตือนภัยผู้เดินทางไปรัฐเบงกอลตะวันตกประเทศอินเดีย


นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์รถไฟตกรางในเขตรัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 เวลา 01.25 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 145 คน และบาดเจ็บ 200 คน นั้น บัดนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ได้รายงานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการก่อวินาศกรรมของกลุ่มการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีคนร้ายปล้นขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าในรัฐฉัตติสครห์ และได้ยึดสารแอมโมเนียม ไนเตรต ไปจำนวน 16 ตัน( ซึ่งวัตถุเคมีดังกล่าวใช้ทำวัตถุระเบิดได้) และเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 เกิดเหตุวินาศกรรมระเบิดรางรถไฟบริเวณภาคตะวันออกของรัฐพิหาร ซึ่งเป็นเหตุให้ขบวนรถไฟบรรทุกน้ำมันจำนวน 15 ตู้ ตกราง พลิกคว่ำและเกิดระเบิดขึ้น

โดยที่เป้าหมายของการก่อวินาศกรรมที่ผ่านมามุ่งไปที่ขบวนรถไฟเป็นสำคัญ กรมการกงสุลจึงขอให้คนไทยที่เดินทางไปประกอบธุรกิจหรือท่องเที่ยวในประเทศอินเดียหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถไฟ โดยเฉพาะเส้นทางที่ผ่านเข้าไปในพื้นที่และเขตอิทธิพลของกลุ่มนิยมลัมธิเมา รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลาค่ำคืนด้วย


ปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในประเทศอินเดียจำนวน 1200 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงนิวเดลีและเมืองใหญ่ของอินเดีย โดยมากเป็นนักเรียนนักศึกษา พระสงฆ์ และแม่บ้านติดตามคู่สมรสไปทำงานในประเทศอินเดีย