วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การสัมมนาทางวิชาการเรื่องการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ

แบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิด ในภาพเลขานุการของกลุ่มที่ 2 กำลังสรุปประเด็น
ผศ. ดร.ศิริรัตน์ แอดสกุล (คนแรกขวามือ)วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานทำวิจัยเกี่ยวกับหญิงไทยสมรสกับชาวต่างชาติกำลังอภิปราย
นายสุรเดช ฉายะเกษตริน
รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประธานในพิธีเปิดการสัมมนา
การสัมมนาทางวิชาการเรื่องการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ


เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 สำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ: สถานการณ์ ผลกระทบ และทิศทางการพัฒนาสถาบันครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

การสัมมนาดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก รศ. ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุจากวิทยาลัยการปกครองมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ. ดร.ศิริรัตน์ แอดสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.วิลาศ ดวงกำเนิด นักวิชาการอิสระเป็นผู้อภิปรายในหัวเรื่องดังกล่าว โดย รศ. ดร. ชาย โพธิสิตา จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

นักวิชาการผู้วิจัยเกี่ยวกับการสมรสระหว่างหญิงไทยกับชาวต่างประเทศพบข้อสรุปว่าปัจจุบันจำนวนหญิงไทยที่สมรสกับชายชาวต่างชาติมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งที่ชีวิตสมรสราบรื่นมีความสุขดี มีครอบครัวที่อบอุ่น ประสบความสำเร็จในชีวิตสมรส แต่ก็มีบางคู่ที่ชีวิตสมรสไม่พบความสุข ประสบปัญหาต่างๆ

ผลงานการวิจัยได้ข้อสรุปอีกประการหนึ่งว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เป็นชาวตะวันตกอาทิ สวิส เยอรมัน อเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศษ ออสเตรียกำลังเป็นค่านิยมในชุมชนชนบทหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่น ที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองคายมหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สกลนคร เป็นต้น ซึ่งจากการวิจัยพบว่าสามีชาวต่างชาติที่นิยมสมรสกับหญิงไทยเนื่องจากต้องการมีชีวิตที่สะดวกสบาย สงบ เรียบง่าย และมีแม่ศรีเรือนดูแล คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในวัยชรา มีรายได้ประมาณเดือนละ 50,000 บาท ส่วนใหญ่เคยผ่านการสมรสกับหญิงชาวตะวันตกมาก่อน และหากมีลูกๆมักโตกันหมดแล้วสามารถดูแลตัวเองได้และมีงานทำกันหมดแล้ว ส่วนหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวตะวันตกส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยมีสามีเป็นคนไทยมาก่อนและมักพบว่ามีลูกติดมาด้วย ซึ่งสามีชาวตะวันตกยินดีรับผิดชอบเลี้ยงดูโดยไม่รู้สึกรังเกียจแต่อย่างใด พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้การศึกษาและอุปการะเลบี้ยงดูเป็นอย่างดีเสมือนเป็นบุตรของตน

แรงจูงใจสำคัญที่สุดที่ทำให้หญิงไทยตัดสินใจแต่งงานกับชาวตะวันตกหรือมีสามีเป็นฝรั่งคือเรื่องของความยากจน ความต้องการมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีเงินใช้ ไม่อยากมีชีวิตที่ลำบากอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย มีอาชีพทำไร่ทำนา ทำงานรับจ้าง เสิร์ฟอาหาร หญิงบริการฯลฯ ประกอบกับสถานภาพอย่าร้างกับสามีคนไทยทำให้หญิงไทยต้องรับผิดชอบครอบครัวโดยเน้นพ่อแม่และลูกเป็นสำคัญ สะท้อนให้เห็นทัศนคติของหญิงกลุ่มนี้ที่มีความกตัญญูสูงต่อพ่อแม่ ไม่อยากให้พ่อแม่ลำบาก อยากให้พ่อแม่อยู่อย่างสุขสบาย

หญิงไทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่กับชาวต่างชาติตะวันตกมักทำให้หญิงอื่นในหมู่บ้านอยากมีสามีเป็นฝรั่งบ้างเพราะเห็นว่ามีบ้านหลังใหม่ใหญ่โตและสวยงาม มีแก้งแหวนเงินทองสวมใส่ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างมาก จัดอยู่ในฐานะคนร่ำรวยของหมู่บ้าน แต่ขณะเดียวกันก็มีหญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตการสมรสไม่ประสบความสำเร็จเพราะพบว่าสามีชาวตะวันตกนิสัยไม่ดีชอบดื่มเหล้าจนเมาแล้วอาละวาดด่าทอ

โดยภาพรวมทั่วไป การมีเขยชาวตะวันเข้ามาอยู่ในชุมชนทำให้เศรษฐกิจของชุมชนและของจังหวัดดีขึ้นด้วย เนื่องจากมีการจับจ่ายใช้สอยเงินตรามากขึ้น มีร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เข้ามาตั้ง สายการบินไทยและนกแอร์มีผู้โดยสารต่างชาติมากขึ้นและเพิ่มเที่ยวบินขึ้นด้วย

การวิจัยพบว่าแม้การสมรสกับฝรั่งจะช่วยให้สภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงไทยและครอบครัวของฝ่ายหญิงดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับมีวัฒนธรรมของชาวตะวันตกเข้ามาครอบงำแทนในหลายๆด้าน โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับภาษา การบริโภค หรือแม้กระทั่งวัตถุนิยมจนทำให้มองไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นตลอดจนทำให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนในเรื่องการแต่งงานและการดำเนินชีวิต โดยชีวิตที่เคนสมถะเรียบง่ายกลายเป็นความหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเห็นพ้องกันว่าภาครัฐควรมีนโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมที่จะเข้าไปช่วยเหลือหญิงไทยที่ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ถูกกดขี่ข่มเหงจากสามีชาวต่างชาติ ให้ได้รับความเป็นธรรม ให้ได้รับการปฏิบัติจากสามีตามที่เหมาะสมและควรจะเป็น ไม่ให้ถูกสามีกระทำละเมิดทั้งร่างกายและจิตใจ รัฐควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคุ้มครองสิทธิของหญิงไทยที่แต่งงานกับสามีชาวต่างชาติขึ้นมาโดยเฉพาะ และควรมีการสร้างเครือข่ายประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย

กระทรวงการต่างประเทศในฐานะเป็นหน่วยงานคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวร่วมกับผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดจากทั่วประเทศด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น