วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ตาม"กรมการกงสุล" เยี่ยมแรงงานไทยในไต้หวัน(จบ)





รองอธิบดีกรมการกงสุลร่วมยินดีกับแรงงานไทย

ระหว่าง อยู่ในไต้หวัน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นางรติวัณณ สุนทรา ผอ.สนง.แรงงานไทยประจำไทเป ทำให้ทราบว่าปัญหาเดิมๆ ที่แรงงานไทยพบคือเรื่องค่าหัวขณะนี้ไม่มีแล้ว แต่กลายเป็นแรงงานกลับก่อนสัญญาจ้างทำให้นายจ้างไม่จ่ายค่าใช้จ่ายให้เพราะยกเลิกสัญญาก่อน เพราะระยะหลังหากแรงงานเจองานที่ไม่ชอบก็จะขอกลับทันที เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในไต้หวันไม่สูงตกเดือนละ 19,000 บาท จึงไม่ดึงดูดเหมือนอิสราเอลและเกาหลีใต้ บางส่วนก็รองานที่ประเทศอื่นซึ่งยังไม่เรียกตัว พอเขาเรียกก็ขอกลับเช่นกัน อีกทั้งลักษณะการทำงานในไต้หวัน มีการดูแลและมีสวัสดิการให้แต่มีการหักค่าใช้จ่าย ทำให้แรงงานไม่อยากมา อย่างไรก็ดีเชื่อว่าหากแรงงานไม่เที่ยวเตร่ ฟุ่มเฟือย หรือจีบสาว ก็น่าจะอยู่ได้ 

ผอ.รติวัณณบอกว่า แม้ดูจากสถิติตัวเลขปัจจุบัน แรงงานไทยในไต้หวันจะกลายเป็นแรงงานต่างชาติซึ่งมากเป็นกลุ่มที่ 4 โดนอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์แซงหน้า แต่นายจ้างไต้หวันก็ยังชอบคนไทยอยู่ ติดที่หาคนไม่ได้จึงต้องหันไปจ้างแรงงานจากประเทศอื่น ผอ.รติวัณณยืนยันว่าไต้หวันยังเป็นตลาดที่น่ามาสำหรับแรงงานไทย เพราะเป็นตลาดที่มีความคุ้นเคยกับแรงงานไทย และไม่ดูถูกแรงงานต่างชาติ อีกทั้งจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอีก เมื่อรวมกับค่าทำงานล่วงเวลาก็จะมีรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ กองทุนประกันภัยตามกฎหมายไต้หวันก็มีประสิทธิภาพ หากแรงงานประสบปัญหา นายจ้างและบริษัทจัดหางานก็จะร่วมกันดูแลรับผิดชอบอย่างดี

ทั้งนี้ ปัญหาที่พบมากในหมู่แรงงานไทยในช่วงหลังคือเรื่องยาเสพติด แม้พยายามประชาสัมพันธ์ไม่ให้แรงงานไทยเข้าไปพัวพัน เริ่มจากแรงงานไทยที่มักจะไปสังสรรค์เฮฮาหลังเลิกงานแล้วมีกลุ่มคนที่ขายยาเสพติดนำมาให้ลอง ที่สุดก็ติด พอไม่มีเงินซื้อก็ก้าวไปเป็นช่วยขายให้กับเพื่อนๆ แรงงานไทยด้วยกัน ขณะนี้สำนักงานแรงงานไทยก็ได้ประสานกับตำรวจไต้หวัน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงนายจ้าง เพื่อหาทางสาวไปให้ถึงต้นตอเช่นกัน


รติวัณณ สุนทรา, อำไพ เสมาเพชร



ผอ.รติวัณณยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้ไทยกำลังจัดทำระบบจ้างงานตรงออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตกับกระทรวงแรงงานไต้หวัน โดยไทยเป็นประเทศแรกที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ ซึ่งจะมีการนำรายชื่อแรงงานที่มีการขึ้นทะเบียนใส่ไว้ในบัญชีรายชื่อหรือที่เรียกว่า ?เลเบอร์ แบงก์? แล้วเปิดให้นายจ้างที่ได้รับอนุญาตเข้าไปคัดเลือก ก่อนจะจัดให้มีการสัมภาษณ์งานผ่านสไกป์ ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของผู้ที่มาทำงานเป็นผู้อนุบาลดูแลคนชรา โดยวางแผนจะขยายไปยังภาคการผลิตในอนาคต ซึ่งจะทำให้นายจ้างสามารถจ้างตรงแรงงานได้เลย 

คณะของกรมการกงสุลนำโดย ท่านรองอธิบดีประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ ยังได้ไปเยี่ยมแรงงานไทยในโรงงานต้าถุง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านซึ่งเป็นที่รู้จัก และโรงงานวาโก้ ไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเถาหยวน เมืองอุตสาหกรรมที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงไทเปนักและเป็นพื้นที่ซึ่งมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่มากที่สุดในไต้หวัน และมีแรงงานไทยอยู่ถึงกว่า 17,500 คน จากที่ได้พูดคุยกับแรงงานและนายจ้าง เดินชมหอพัก ห้องสันทนาการ และห้องอาหารที่จัดไว้ให้พนักงาน ทำให้เห็นว่า นายจ้างไต้หวันค่อนข้างใส่ใจดูแลพนักงานเป็นอย่างดี แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากย่อมต้องมีปัญหาเกิดขึ้น แต่เมื่อแจ้งให้นายจ้างทราบก็ดูจะได้รับการตอบรับในทางบวกว่าจะเร่งหาทางแก้ไข

แรงงานไทยหลายคนที่ได้พบทำงานอยู่ในไต้หวันนานแล้ว พวกเขาพูดคล้ายกันว่ารายได้จากการทำงานที่นี่เพียงพอที่จะส่งกลับไปให้กับทางบ้านทั้งเพื่อปลดหนี้และเลี้ยงดูครอบ ครัว ถ้าเพียงแต่เรารู้จักอดออม มุมานะทำงานเก็บเงิน ไม่หลงใหลไปกับสิ่งยั่วยุต่างๆ นางอำไพ เสมาเพชร ชาวชัยภูมิ ซึ่งทำงานที่โรงงานวาโก้ ไต้หวัน ทำงานในไต้หวันมาแล้วถึง 10 ปี และเคยได้รับรางวัลแรงงานดีเด่นบอกว่า การมาทำงานที่นี่ทำให้รับผิดชอบตัวเองได้ ส่งลูกเรียน มีเงินให้พ่อแม่ใช้ และมีอะไรเป็นของตัวเองจากที่ไม่มีอะไรก็กลายเป็นที่พึ่งให้ครอบครัวได้ นอกจากนี้ เมื่อได้รับรางวัลยังมีโอกาสให้ลูกชายคนเดียวมาเยี่ยมแม่ที่ทำงาน เมื่อลูกมาเห็นแม่ทำงานกลับไปก็รู้จักค่าของเงินมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนเป็นแม่ นี่คือสิ่งที่ดีใจมากที่สุด


นายจ้างดีใจกับพัทธยา



สำนักงานแรงงานไทยประจำไทเปยังพาเราไปร่วมงานประกาศรางวัลแรงงานต่างชาติดีเด่น และการประกวดภาพถ่าย ภาพวาด และกวีนิพนธ์ ซึ่งกองแรงงาน เทศบาลเมืองเถาหยวนจัดขึ้น เพื่อให้กำลังใจแก่แรงงานต่างชาติที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี และเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติได้แสดงความสามารถในด้านอื่นๆ โดยมีแรงงานไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นแรงงานต่างชาติดีเด่นของเมืองเถาหยวนประจำปีนี้ถึง 6 คน คือ นายพัทธยา เผียงสูงเนิน นายชัยชนะ คำภูแก้ว นายพรชัย พิวพรรณ์

นายสถิตย์ พินธุนิบาต และนายสมาน เจียงเพ็ง นอกจากนี้ แรงงานไทยยังชนะการประกวดกวีนิพนธ์ ถึง 2 คน คือ นายคัมภีร์ ฤกษ์น้ำเพชร เจ้าของบทกวี ?ความห่างไกลจาก 1,350 น็อต? ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และ นายเจริญชัย ชารีตุ้ม ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากบทกวี ?นักรบแรงงาน? โดยนายเจริญชัยยังพ่วงรางวัลชมเชยจากการประกวดภาพถ่ายอีกด้วย

นายพัทธยา เผียงสูงเนิน หนุ่มโคราชที่มาทำงานในไต้หวันเป็นปีที่ 9 ลูกจ้างบริษัทเทกซ์ เยียร์ อินดัสเตรียล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกาวแท่ง และได้รับรางวัลแรงงานต่างชาติดีเด่นในปีนี้แถมยังพ่วงรางวัลแรงงานดีเด่นลำดับ 2 บอกว่า ดีใจที่ได้รับรางวัลทั้งที่ไม่ได้คิดคาดหวังอะไร เขาบอกว่ามาทำงานที่โรงงานแห่งนี้ เป็นแห่งที่ 2 เมื่อครบ 3 ปีก็คงจะกลับมาทำอีกครั้ง เพราะสภาพการทำงานทุกอย่างดี ที่พักก็สะดวกสบาย มาอยู่ที่นี่เขาบอกว่าให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน เพราะนายจ้างดูแลดีมาก และดูแลทุกอย่าง พัทธยาไม่รู้สึกอะไรกับการที่มีการหักเงินรายเดือนเพราะเราไปอาศัยอยู่กับเขา อยากได้อะไรนายจ้างก็หามาให้ แถมคิดว่าคุ้มที่เขาหักเงินไปเพราะได้รับการดูแลพร้อมสรรพ

พัทธยาบอกว่า ก่อนเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันเขาไม่ได้คาดหวังอะไร แต่เมื่อได้มาก็เห็นข้อดีว่าเราได้ดูแลตัวเอง เก็บเงินเอง ไม่ต้องพึ่งใคร หากอยากได้เงินเยอะก็ต้องทำงานล่วงเวลา หากคิดถึงคนทางบ้าน ยุคนี้ก็มีอินเตอร์เน็ตให้ติดต่อกันได้ พร้อมกับฝากไปถึงคนที่สนใจมาทำงานในต่างประเทศว่า หากคิดจะมาทำงานก็ต้องตั้งใจทำ อาจจะเหนื่อยบ้าง พักบ้าง แต่ที่สำคัญคือให้คิดถึงคนอยู่ข้างหลัง 

เมื่อได้เห็นงานที่เทศบาลเมืองเถาหยวนจัดขึ้น รวมถึงเห็นบรรยากาศของการจัดงานซึ่งไม่เพียงแต่มอบรางวัลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ แต่ยังรวมถึงนายจ้างที่เป็นชาวไต้หวัน สิ่งที่สัมผัสได้คือความใส่ใจและการให้ความสำคัญกับแรงงานต่างชาติ ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไต้หวัน ได้เห็นความรักใคร่ใส่ใจจากนายจ้างที่ยกครอบครัวมาให้กำลังใจและแสดงความยินดีกับแรงงานไทยที่เป็นลูกจ้างของตน ซึ่งได้รับรางวัลในงาน 

และที่สำคัญที่สุดคือ เห็นว่าแรงงานต่างชาติในไต้หวันอยู่ในสถานะที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีเช่นกัน



วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 37 ฉบับที่ 13370 มติชนรายวัน
รายงานพิเศษ

โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ 
หน้า 22


สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ประเทศไต้หวัน
http://www.tteo.org.tw/thai/

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052


วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ตาม'กรมการกงสุล' เยี่ยมแรงงานไทยในไต้หวัน (1)



ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมการกงสุล กรมที่รับภารกิจหลักในการให้บริการประชาชนและดูแลช่วยเหลือคน ไทยของกระทรวงการต่างประเทศ นำโดย นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล นำคณะเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อดูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในไต้หวัน

ต้องยอมรับว่าด้วยความที่ไม่ได้เดิน ทางไปไต้หวันมานานกว่า 20 ปี และความไม่รู้ จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมต้อง "ไต้หวัน" จนได้คำตอบว่า ก็เพราะชุมชนคนไทยในไต้หวันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แม้ปัจจุบันแรงงานไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในไต้หวันจะลดลงจากในอดีต เพราะเป้าหมายของแรงงานไทยยุคนี้จะอยู่ที่เกาหลีใต้และอิสราเอลมากกว่า แต่ไต้หวันก็ยังถือเป็นหนึ่งใน "ตลาดหลัก" ของแรงงานไทยอยู่นั่นเอง

ท่านทูตเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปของไต้หวัน ให้ความกระจ่างว่า ไม่กี่ปีก่อนแรงงานไทยในไต้หวันมีมากถึงเกือบหลักแสน แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนดีขึ้น นักลงทุนไต้หวันก็ทำการย้ายฐานการผลิตไปยังจีนและพาแรงงานส่วนหนึ่งไปด้วย แรงงานไทยในไต้หวันจึงลดลงจาก 7-8 หมื่นคน เหลือเพียงเกือบ 6 หมื่นคนในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เหตุที่แรงงานไทยเดินทางมาไต้หวันน้อยลง ยังมีสาเหตุมาจากค่าจ้างที่ไต้หวันค่อนข้างต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่ไต้หวันอยู่ที่ราว 1.9 หมื่นบาทเท่านั้น อีกทั้งแรงงานยังรู้สึกว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ถูกหักอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งให้กับบริษัทนายหน้าที่พาเข้ามาหางานในไต้หวัน เนื่องจากรัฐบาลไทยและไต้หวันไม่สามารถทำการจ้างงานตรงแบบรัฐต่อรัฐได้ เพราะไทยยึดนโยบายจีนเดียว และยังมีการหักค่าที่พักและค่าอาหารอีกด้วย แม้กฎหมายไต้หวันกำหนดให้มีการเก็บค่านายหน้าไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน ซึ่งก็คืออยู่ที่ราว 6 หมื่นบาทเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากเงินนอกระบบต้องเสียดอกเบี้ยแพง จึงอาจมีรายรับไม่พอกับรายจ่าย ต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเหตุให้แนวโน้มของแรงงานไทยที่เข้ามาทำงานในไต้หวันน่าจะลดลงไปเรื่อยๆ



เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี


ปกติแล้วการเข้ามาทำงานในไต้หวันจะ มีการทำสัญญาคราวละ 3 ปี และต่อสัญญาได้ 4 ครั้ง รวมเวลาทำงานทั้งหมดคือ 12 ปี อย่างไรก็ดี ท่านทูตเกรียงศักดิ์เห็นว่า แรงงานไทยที่เคยมีประสบการณ์การทำงานกับคนไต้หวันมาก่อน ก็ยังมีโอกาสทำงานกับคนไต้หวันกว่า 1.5 แสนคนที่เข้าไปลงทุนในไทยในปัจจุบันได้ เพราะรู้จักและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการทำงานของคนไต้หวันอยู่แล้ว ปัจจุบันไต้หวันติด 1 ใน 5 ของกลุ่มที่เข้าไปลงทุนอันดับต้นๆ ในไทย แต่เชื่อหรือไม่ว่า ขนาดนายกสมาคมหอการค้าไทย-ไต้หวันที่ไปดักรอแรงงานไทยที่ครบสัญญากลับจากไต้หวัน เพื่อบอกให้ไปทำงานด้วยก็ยังหาคนไปทำงานด้วยไม่ได้ ทั้งที่พร้อมจะจ่ายเงินให้ถึง 400 บาทต่อวันเสียด้วยซ้ำ เพราะแรงงานไทยจำนวนมากยังติดค่านิยมที่อยากไปทำงานเมืองนอก

ปัจจุบันแรงงานไทยเป็นแรงงานต่างชาติกลุ่ม ใหญ่อันดับ 4 ในไต้หวัน ตามหลังอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งก็มาจากอาเซียนเหมือนๆ กัน ปัญหาที่แรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานในไต้หวันพบแบบในอดีตที่มีการเก็บค่านายหน้าแพงดูเหมือนจะลดน้อยลง เพราะทั้งต้นทางในไทยและปลายทางในไต้หวันมีการเข้มงวดกวดขันเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานมากขึ้น ที่ไต้หวันมีการเปิดสายด่วน 1955 ให้แรงงานโทรไปแจ้งปัญหาได้ทันที แถมยังจัดล่ามทุกภาษาจัดเตรียมไว้ให้เสร็จสรรพ ดังนั้นแม้จะพูดภาษาจีนไม่ได้ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการแจ้งเหตุเมื่อพบปัญหา หลังได้รับแจ้งเหตุแล้วก็มีการติดตามตรวจสอบอย่างแข็งขันด้วยเช่นกัน

ปัญหาของคนไทยอีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อยในไต้หวันคือ การแต่งงานปลอมๆ กับคนไต้หวันทั้งชายและหญิง เพื่อจะได้เข้ามาทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกตำรวจจับได้ว่าไม่ใช่การแต่งงานจริง ก็มักจะหลบหนีเข้าเมืองและอาศัยอยู่เกินวีซ่า แต่เนื่องจากระยะหลังทางการไต้หวันเข้มงวดกวดขันมาก และเล่นงานผู้กระทำผิดอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงนายจ้างด้วย สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็ต้องถูกส่งกลับไทยอยู่ดี ปัญหาลักษณะนี้ก็พบเห็นกันเป็นประจำ โดยสำนักงานฯต้องออกเอกสารสำคัญเพื่อให้เดินทางกลับประเทศ (ซีไอ) ถึงวันละ 3-4 คนเลยทีเดียว

ข้อมูลที่ฟังแล้วอึ้งอีกประการคือ ไต้หวันเป็นที่ที่มีสถิติหญิงไทยมายื่นทำเรื่องขอสละสัญชาติไทยมากที่สุดในโลกอีกด้วย

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยในไทเปได้จัดให้คณะของกรมการกงสุลพบปะกับผู้แทนชุมชนไทยในไต้หวัน ทำให้ได้ทราบว่าคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ในไต้หวันจำนวนไม่น้อยได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้การช่วยเหลือทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติอื่นๆ ที่เข้าไปทำงานในไต้หวัน โดยมีการจัดตั้งสมาคมคนไทยในไต้หวันและมูลนิธิความรักความห่วงใยของไต้หวันขึ้นเพื่อการนี้

ในฐานะที่ทำงานช่วยเหลือทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ประสบปัญหาในไต้หวันอย่างเต็มที่ ทำให้พี่ๆ อาสาสมัครคนไทยช่วยแจกแจงปัญหาที่พบให้ได้ทราบว่า ปัญหาของแรงงานไทยมักจะเป็นเรื่องทะเลาะวิวาทและยาเสพติด ส่วนสาเหตุที่ทำให้แรงงานไทยไม่อยากมาไต้หวันก็เพราะค่าแรงถูก แถมยังถูกหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ แรงงานจึงอยากให้มีการลดหรือเลิกการหักเงินรายเดือนทั้งค่านายหน้า ค่าที่พัก และค่าอาหาร ขณะที่หญิงไทยที่แต่งงานกับคนไต้หวันก็มักจะประสบปัญหาด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม

พี่ๆ อาสาสมัครชาวไทยยังช่วยให้ความกระจ่างด้วยว่า สาเหตุที่หญิงไทยในไต้หวันมีการสละสัญชาติมากเป็นอันดับหนึ่งนั้น ก็เพราะเหตุผลในเรื่องค่ารักษาพยาบาลและสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ รวมถึงปัญหาในเรื่องสิทธิครอบครองมรดกหลังคู่สมรสเสียชีวิต อีกทั้งหากแต่งงานมาแล้วเลิกรากันไป แต่ไม่มีบัตรประชาชนไต้หวันก็ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศ หากสิทธิในการดูแลบุตรไม่ได้ตกอยู่กับมารดา

ทางการไต้หวันใส่ใจในสิทธิและการดูแลคนต่างชาติที่มาอยู่ในไต้หวัน รวมถึงแรงงานต่างชาติในประเทศมาก รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งหน่วยงานที่ให้บริการกับชาวต่างชาติ โดยจ้างคนของประเทศนั้นๆ มาเป็นผู้รับฟังและแจ้งเรื่องราวให้ทางการไต้หวันทราบเพื่อหา ทางแก้ไข คุณดารกา โจว หนึ่งในคนไทยที่ทำหน้าที่นี้ที่ "ศูนย์ให้บริการนครไทเปใหม่" เล่าว่า ปัญหาที่มีการแจ้งเข้ามามากคือ เรื่องกฎหมาย อาทิ การจัดการเรื่องมรดกหลังคู่สมรสเสียชีวิต

สมาคมยังอยากฝากให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศทุกคน ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่เห็นความสำคัญนัก หากเดินทางไปในประเทศที่ไม่บังคับให้ซื้อประกันการเดินทางนำไปยื่นประกอบการขอวีซ่า เพราะเกิดปัญหากรณีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางมาเยี่ยมญาติในไต้หวันแล้วเกิดล้มเจ็บลงต้องเข้ารักษาตัว แต่ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น จึงไม่อยากให้คิดว่าการเสียเงินซื้อประกันจะเป็นเงินเสียเปล่า เพราะอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ

การใช้ชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมืองจะให้ราบรื่นสะดวกสบายได้เหมือนอยู่บ้านเกิดเมืองนอนคงเป็นไปไม่ได้ แต่จากที่ได้เห็นทำให้อดรู้สึกดีใจแทนคนไทยที่มาอยู่ในไต้หวันไม่ได้ว่า อย่างน้อยชุมชนไทยที่นี่ก็มีความเข้มแข็งและมีคนไทยด้วยกันที่มีความตั้งใจที่ดี และพร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตามกำลังความสามารถที่พอจะทำได้

แม้ปัญหาทุกอย่างจะไม่อาจแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน แต่การที่ได้รู้ว่ามีคนที่พร้อมจะรับฟังและหาทางช่วยเหลือในยามที่เราตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน ก็น่าจะทำให้มีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไปบนหนทางที่พวกเขาได้เลือกแล้ว


วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 37 ฉบับที่ 13363 มติชนรายวัน
รายงานพิเศษ

โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ 
หน้า 22


สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ประเทศไต้หวัน
http://www.tteo.org.tw/thai/

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส ร่วมทำบุญวันเข้าพรรษา



สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส ร่วมทำบุญวันเข้าพรรษา
           เอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส นำข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ร่วมบริจาคสมทบทุนสร้างวัดหลวงอาร์เจนตินา ในเทศกาลบุญเข้าพรรษา
           เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 นายเมธา พร้อมเทพ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ตลอดจนสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมงานบุญเข้าพรรษาที่วัดหลวงอาร์เจนตินา เมืองซาสโคมุส โดยได้ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ และร่วมบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนสร้างวัดเป็นจำนวนกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีพระมหาชัยพิชิต ฐานุตตโร เจ้าอาวาสวัดหลวงอาร์เจนตินาเป็นผู้รับมอบ
           วัดหลวงอาร์เจนตินาเป็นวัดที่มีพระธรรมทูตจากประเทศไทยจำพรรษาอยู่ ตั้งอยู่ที่เมืองซาสโคมุส ห่างจากกรุงบัวโนสไอเรสไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 130 กม. ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของชาวไทยและลาวในอาร์เจนตินาในการปฏิบัติธรรมและศาสนกิจในโอกาสต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งเผยแพร่ศาสนาพุทธในอาร์เจนตินาด้วย



Thai Embassy in Argentina made merits for Buddhist Lent Day
           Thai Ambassador to Argentina together with officials and staffs of the Royal Thai Embassy in Argentina gave donations to Wat Luang Argentina on the Buddhist Lent Day to help the construction of the temple.
            On 12 July 2014, Mr. Medha Promthep, Thai Ambassador to Argentina, together with officials and staffs of the Royal Thai Embassy and Thai Trade Office in Argentina participated in the merit making ceremony to cerebrate the Buddhist Lend day at Wat Luang Argentina in Chascomus. Ambassador Medha, on behalf of Embassy's delegation, offered food and donations of more than 2,000 USD for the construction of the temple to Phra Mahapichai Thanuttaro, the temple's abbot.
           Wat Luang Argentina is a Buddhist temple which is the residence of Dhammaduta (Buddhist missionary monks) from Thailand in Argentina. The temple is situated in Chascomus, a small town 130 Km. from Buenos Aires City, serves as a center for Thai and Laos community to practice Buddhist dharma and perform religious activities, as well as to teach Buddhism to Argentina people.

***********************************




สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส
ประเทศอาร์เจนตินา
http://www.thaiembargen.org

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052