วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ตาม"กรมการกงสุล" เยี่ยมแรงงานไทยในไต้หวัน(จบ)





รองอธิบดีกรมการกงสุลร่วมยินดีกับแรงงานไทย

ระหว่าง อยู่ในไต้หวัน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นางรติวัณณ สุนทรา ผอ.สนง.แรงงานไทยประจำไทเป ทำให้ทราบว่าปัญหาเดิมๆ ที่แรงงานไทยพบคือเรื่องค่าหัวขณะนี้ไม่มีแล้ว แต่กลายเป็นแรงงานกลับก่อนสัญญาจ้างทำให้นายจ้างไม่จ่ายค่าใช้จ่ายให้เพราะยกเลิกสัญญาก่อน เพราะระยะหลังหากแรงงานเจองานที่ไม่ชอบก็จะขอกลับทันที เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในไต้หวันไม่สูงตกเดือนละ 19,000 บาท จึงไม่ดึงดูดเหมือนอิสราเอลและเกาหลีใต้ บางส่วนก็รองานที่ประเทศอื่นซึ่งยังไม่เรียกตัว พอเขาเรียกก็ขอกลับเช่นกัน อีกทั้งลักษณะการทำงานในไต้หวัน มีการดูแลและมีสวัสดิการให้แต่มีการหักค่าใช้จ่าย ทำให้แรงงานไม่อยากมา อย่างไรก็ดีเชื่อว่าหากแรงงานไม่เที่ยวเตร่ ฟุ่มเฟือย หรือจีบสาว ก็น่าจะอยู่ได้ 

ผอ.รติวัณณบอกว่า แม้ดูจากสถิติตัวเลขปัจจุบัน แรงงานไทยในไต้หวันจะกลายเป็นแรงงานต่างชาติซึ่งมากเป็นกลุ่มที่ 4 โดนอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์แซงหน้า แต่นายจ้างไต้หวันก็ยังชอบคนไทยอยู่ ติดที่หาคนไม่ได้จึงต้องหันไปจ้างแรงงานจากประเทศอื่น ผอ.รติวัณณยืนยันว่าไต้หวันยังเป็นตลาดที่น่ามาสำหรับแรงงานไทย เพราะเป็นตลาดที่มีความคุ้นเคยกับแรงงานไทย และไม่ดูถูกแรงงานต่างชาติ อีกทั้งจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอีก เมื่อรวมกับค่าทำงานล่วงเวลาก็จะมีรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ กองทุนประกันภัยตามกฎหมายไต้หวันก็มีประสิทธิภาพ หากแรงงานประสบปัญหา นายจ้างและบริษัทจัดหางานก็จะร่วมกันดูแลรับผิดชอบอย่างดี

ทั้งนี้ ปัญหาที่พบมากในหมู่แรงงานไทยในช่วงหลังคือเรื่องยาเสพติด แม้พยายามประชาสัมพันธ์ไม่ให้แรงงานไทยเข้าไปพัวพัน เริ่มจากแรงงานไทยที่มักจะไปสังสรรค์เฮฮาหลังเลิกงานแล้วมีกลุ่มคนที่ขายยาเสพติดนำมาให้ลอง ที่สุดก็ติด พอไม่มีเงินซื้อก็ก้าวไปเป็นช่วยขายให้กับเพื่อนๆ แรงงานไทยด้วยกัน ขณะนี้สำนักงานแรงงานไทยก็ได้ประสานกับตำรวจไต้หวัน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงนายจ้าง เพื่อหาทางสาวไปให้ถึงต้นตอเช่นกัน


รติวัณณ สุนทรา, อำไพ เสมาเพชร



ผอ.รติวัณณยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้ไทยกำลังจัดทำระบบจ้างงานตรงออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตกับกระทรวงแรงงานไต้หวัน โดยไทยเป็นประเทศแรกที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ ซึ่งจะมีการนำรายชื่อแรงงานที่มีการขึ้นทะเบียนใส่ไว้ในบัญชีรายชื่อหรือที่เรียกว่า ?เลเบอร์ แบงก์? แล้วเปิดให้นายจ้างที่ได้รับอนุญาตเข้าไปคัดเลือก ก่อนจะจัดให้มีการสัมภาษณ์งานผ่านสไกป์ ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของผู้ที่มาทำงานเป็นผู้อนุบาลดูแลคนชรา โดยวางแผนจะขยายไปยังภาคการผลิตในอนาคต ซึ่งจะทำให้นายจ้างสามารถจ้างตรงแรงงานได้เลย 

คณะของกรมการกงสุลนำโดย ท่านรองอธิบดีประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ ยังได้ไปเยี่ยมแรงงานไทยในโรงงานต้าถุง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านซึ่งเป็นที่รู้จัก และโรงงานวาโก้ ไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเถาหยวน เมืองอุตสาหกรรมที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงไทเปนักและเป็นพื้นที่ซึ่งมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่มากที่สุดในไต้หวัน และมีแรงงานไทยอยู่ถึงกว่า 17,500 คน จากที่ได้พูดคุยกับแรงงานและนายจ้าง เดินชมหอพัก ห้องสันทนาการ และห้องอาหารที่จัดไว้ให้พนักงาน ทำให้เห็นว่า นายจ้างไต้หวันค่อนข้างใส่ใจดูแลพนักงานเป็นอย่างดี แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากย่อมต้องมีปัญหาเกิดขึ้น แต่เมื่อแจ้งให้นายจ้างทราบก็ดูจะได้รับการตอบรับในทางบวกว่าจะเร่งหาทางแก้ไข

แรงงานไทยหลายคนที่ได้พบทำงานอยู่ในไต้หวันนานแล้ว พวกเขาพูดคล้ายกันว่ารายได้จากการทำงานที่นี่เพียงพอที่จะส่งกลับไปให้กับทางบ้านทั้งเพื่อปลดหนี้และเลี้ยงดูครอบ ครัว ถ้าเพียงแต่เรารู้จักอดออม มุมานะทำงานเก็บเงิน ไม่หลงใหลไปกับสิ่งยั่วยุต่างๆ นางอำไพ เสมาเพชร ชาวชัยภูมิ ซึ่งทำงานที่โรงงานวาโก้ ไต้หวัน ทำงานในไต้หวันมาแล้วถึง 10 ปี และเคยได้รับรางวัลแรงงานดีเด่นบอกว่า การมาทำงานที่นี่ทำให้รับผิดชอบตัวเองได้ ส่งลูกเรียน มีเงินให้พ่อแม่ใช้ และมีอะไรเป็นของตัวเองจากที่ไม่มีอะไรก็กลายเป็นที่พึ่งให้ครอบครัวได้ นอกจากนี้ เมื่อได้รับรางวัลยังมีโอกาสให้ลูกชายคนเดียวมาเยี่ยมแม่ที่ทำงาน เมื่อลูกมาเห็นแม่ทำงานกลับไปก็รู้จักค่าของเงินมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนเป็นแม่ นี่คือสิ่งที่ดีใจมากที่สุด


นายจ้างดีใจกับพัทธยา



สำนักงานแรงงานไทยประจำไทเปยังพาเราไปร่วมงานประกาศรางวัลแรงงานต่างชาติดีเด่น และการประกวดภาพถ่าย ภาพวาด และกวีนิพนธ์ ซึ่งกองแรงงาน เทศบาลเมืองเถาหยวนจัดขึ้น เพื่อให้กำลังใจแก่แรงงานต่างชาติที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี และเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติได้แสดงความสามารถในด้านอื่นๆ โดยมีแรงงานไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นแรงงานต่างชาติดีเด่นของเมืองเถาหยวนประจำปีนี้ถึง 6 คน คือ นายพัทธยา เผียงสูงเนิน นายชัยชนะ คำภูแก้ว นายพรชัย พิวพรรณ์

นายสถิตย์ พินธุนิบาต และนายสมาน เจียงเพ็ง นอกจากนี้ แรงงานไทยยังชนะการประกวดกวีนิพนธ์ ถึง 2 คน คือ นายคัมภีร์ ฤกษ์น้ำเพชร เจ้าของบทกวี ?ความห่างไกลจาก 1,350 น็อต? ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และ นายเจริญชัย ชารีตุ้ม ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากบทกวี ?นักรบแรงงาน? โดยนายเจริญชัยยังพ่วงรางวัลชมเชยจากการประกวดภาพถ่ายอีกด้วย

นายพัทธยา เผียงสูงเนิน หนุ่มโคราชที่มาทำงานในไต้หวันเป็นปีที่ 9 ลูกจ้างบริษัทเทกซ์ เยียร์ อินดัสเตรียล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกาวแท่ง และได้รับรางวัลแรงงานต่างชาติดีเด่นในปีนี้แถมยังพ่วงรางวัลแรงงานดีเด่นลำดับ 2 บอกว่า ดีใจที่ได้รับรางวัลทั้งที่ไม่ได้คิดคาดหวังอะไร เขาบอกว่ามาทำงานที่โรงงานแห่งนี้ เป็นแห่งที่ 2 เมื่อครบ 3 ปีก็คงจะกลับมาทำอีกครั้ง เพราะสภาพการทำงานทุกอย่างดี ที่พักก็สะดวกสบาย มาอยู่ที่นี่เขาบอกว่าให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน เพราะนายจ้างดูแลดีมาก และดูแลทุกอย่าง พัทธยาไม่รู้สึกอะไรกับการที่มีการหักเงินรายเดือนเพราะเราไปอาศัยอยู่กับเขา อยากได้อะไรนายจ้างก็หามาให้ แถมคิดว่าคุ้มที่เขาหักเงินไปเพราะได้รับการดูแลพร้อมสรรพ

พัทธยาบอกว่า ก่อนเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันเขาไม่ได้คาดหวังอะไร แต่เมื่อได้มาก็เห็นข้อดีว่าเราได้ดูแลตัวเอง เก็บเงินเอง ไม่ต้องพึ่งใคร หากอยากได้เงินเยอะก็ต้องทำงานล่วงเวลา หากคิดถึงคนทางบ้าน ยุคนี้ก็มีอินเตอร์เน็ตให้ติดต่อกันได้ พร้อมกับฝากไปถึงคนที่สนใจมาทำงานในต่างประเทศว่า หากคิดจะมาทำงานก็ต้องตั้งใจทำ อาจจะเหนื่อยบ้าง พักบ้าง แต่ที่สำคัญคือให้คิดถึงคนอยู่ข้างหลัง 

เมื่อได้เห็นงานที่เทศบาลเมืองเถาหยวนจัดขึ้น รวมถึงเห็นบรรยากาศของการจัดงานซึ่งไม่เพียงแต่มอบรางวัลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ แต่ยังรวมถึงนายจ้างที่เป็นชาวไต้หวัน สิ่งที่สัมผัสได้คือความใส่ใจและการให้ความสำคัญกับแรงงานต่างชาติ ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไต้หวัน ได้เห็นความรักใคร่ใส่ใจจากนายจ้างที่ยกครอบครัวมาให้กำลังใจและแสดงความยินดีกับแรงงานไทยที่เป็นลูกจ้างของตน ซึ่งได้รับรางวัลในงาน 

และที่สำคัญที่สุดคือ เห็นว่าแรงงานต่างชาติในไต้หวันอยู่ในสถานะที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีเช่นกัน



วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 37 ฉบับที่ 13370 มติชนรายวัน
รายงานพิเศษ

โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ 
หน้า 22


สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ประเทศไต้หวัน
http://www.tteo.org.tw/thai/

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น