วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ตาม'กรมการกงสุล' เยี่ยมแรงงานไทยในไต้หวัน (1)



ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมการกงสุล กรมที่รับภารกิจหลักในการให้บริการประชาชนและดูแลช่วยเหลือคน ไทยของกระทรวงการต่างประเทศ นำโดย นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล นำคณะเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อดูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในไต้หวัน

ต้องยอมรับว่าด้วยความที่ไม่ได้เดิน ทางไปไต้หวันมานานกว่า 20 ปี และความไม่รู้ จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมต้อง "ไต้หวัน" จนได้คำตอบว่า ก็เพราะชุมชนคนไทยในไต้หวันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แม้ปัจจุบันแรงงานไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในไต้หวันจะลดลงจากในอดีต เพราะเป้าหมายของแรงงานไทยยุคนี้จะอยู่ที่เกาหลีใต้และอิสราเอลมากกว่า แต่ไต้หวันก็ยังถือเป็นหนึ่งใน "ตลาดหลัก" ของแรงงานไทยอยู่นั่นเอง

ท่านทูตเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปของไต้หวัน ให้ความกระจ่างว่า ไม่กี่ปีก่อนแรงงานไทยในไต้หวันมีมากถึงเกือบหลักแสน แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนดีขึ้น นักลงทุนไต้หวันก็ทำการย้ายฐานการผลิตไปยังจีนและพาแรงงานส่วนหนึ่งไปด้วย แรงงานไทยในไต้หวันจึงลดลงจาก 7-8 หมื่นคน เหลือเพียงเกือบ 6 หมื่นคนในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เหตุที่แรงงานไทยเดินทางมาไต้หวันน้อยลง ยังมีสาเหตุมาจากค่าจ้างที่ไต้หวันค่อนข้างต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่ไต้หวันอยู่ที่ราว 1.9 หมื่นบาทเท่านั้น อีกทั้งแรงงานยังรู้สึกว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ถูกหักอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งให้กับบริษัทนายหน้าที่พาเข้ามาหางานในไต้หวัน เนื่องจากรัฐบาลไทยและไต้หวันไม่สามารถทำการจ้างงานตรงแบบรัฐต่อรัฐได้ เพราะไทยยึดนโยบายจีนเดียว และยังมีการหักค่าที่พักและค่าอาหารอีกด้วย แม้กฎหมายไต้หวันกำหนดให้มีการเก็บค่านายหน้าไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน ซึ่งก็คืออยู่ที่ราว 6 หมื่นบาทเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากเงินนอกระบบต้องเสียดอกเบี้ยแพง จึงอาจมีรายรับไม่พอกับรายจ่าย ต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเหตุให้แนวโน้มของแรงงานไทยที่เข้ามาทำงานในไต้หวันน่าจะลดลงไปเรื่อยๆ



เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี


ปกติแล้วการเข้ามาทำงานในไต้หวันจะ มีการทำสัญญาคราวละ 3 ปี และต่อสัญญาได้ 4 ครั้ง รวมเวลาทำงานทั้งหมดคือ 12 ปี อย่างไรก็ดี ท่านทูตเกรียงศักดิ์เห็นว่า แรงงานไทยที่เคยมีประสบการณ์การทำงานกับคนไต้หวันมาก่อน ก็ยังมีโอกาสทำงานกับคนไต้หวันกว่า 1.5 แสนคนที่เข้าไปลงทุนในไทยในปัจจุบันได้ เพราะรู้จักและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการทำงานของคนไต้หวันอยู่แล้ว ปัจจุบันไต้หวันติด 1 ใน 5 ของกลุ่มที่เข้าไปลงทุนอันดับต้นๆ ในไทย แต่เชื่อหรือไม่ว่า ขนาดนายกสมาคมหอการค้าไทย-ไต้หวันที่ไปดักรอแรงงานไทยที่ครบสัญญากลับจากไต้หวัน เพื่อบอกให้ไปทำงานด้วยก็ยังหาคนไปทำงานด้วยไม่ได้ ทั้งที่พร้อมจะจ่ายเงินให้ถึง 400 บาทต่อวันเสียด้วยซ้ำ เพราะแรงงานไทยจำนวนมากยังติดค่านิยมที่อยากไปทำงานเมืองนอก

ปัจจุบันแรงงานไทยเป็นแรงงานต่างชาติกลุ่ม ใหญ่อันดับ 4 ในไต้หวัน ตามหลังอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งก็มาจากอาเซียนเหมือนๆ กัน ปัญหาที่แรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานในไต้หวันพบแบบในอดีตที่มีการเก็บค่านายหน้าแพงดูเหมือนจะลดน้อยลง เพราะทั้งต้นทางในไทยและปลายทางในไต้หวันมีการเข้มงวดกวดขันเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานมากขึ้น ที่ไต้หวันมีการเปิดสายด่วน 1955 ให้แรงงานโทรไปแจ้งปัญหาได้ทันที แถมยังจัดล่ามทุกภาษาจัดเตรียมไว้ให้เสร็จสรรพ ดังนั้นแม้จะพูดภาษาจีนไม่ได้ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการแจ้งเหตุเมื่อพบปัญหา หลังได้รับแจ้งเหตุแล้วก็มีการติดตามตรวจสอบอย่างแข็งขันด้วยเช่นกัน

ปัญหาของคนไทยอีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อยในไต้หวันคือ การแต่งงานปลอมๆ กับคนไต้หวันทั้งชายและหญิง เพื่อจะได้เข้ามาทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกตำรวจจับได้ว่าไม่ใช่การแต่งงานจริง ก็มักจะหลบหนีเข้าเมืองและอาศัยอยู่เกินวีซ่า แต่เนื่องจากระยะหลังทางการไต้หวันเข้มงวดกวดขันมาก และเล่นงานผู้กระทำผิดอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงนายจ้างด้วย สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็ต้องถูกส่งกลับไทยอยู่ดี ปัญหาลักษณะนี้ก็พบเห็นกันเป็นประจำ โดยสำนักงานฯต้องออกเอกสารสำคัญเพื่อให้เดินทางกลับประเทศ (ซีไอ) ถึงวันละ 3-4 คนเลยทีเดียว

ข้อมูลที่ฟังแล้วอึ้งอีกประการคือ ไต้หวันเป็นที่ที่มีสถิติหญิงไทยมายื่นทำเรื่องขอสละสัญชาติไทยมากที่สุดในโลกอีกด้วย

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยในไทเปได้จัดให้คณะของกรมการกงสุลพบปะกับผู้แทนชุมชนไทยในไต้หวัน ทำให้ได้ทราบว่าคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ในไต้หวันจำนวนไม่น้อยได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้การช่วยเหลือทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติอื่นๆ ที่เข้าไปทำงานในไต้หวัน โดยมีการจัดตั้งสมาคมคนไทยในไต้หวันและมูลนิธิความรักความห่วงใยของไต้หวันขึ้นเพื่อการนี้

ในฐานะที่ทำงานช่วยเหลือทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ประสบปัญหาในไต้หวันอย่างเต็มที่ ทำให้พี่ๆ อาสาสมัครคนไทยช่วยแจกแจงปัญหาที่พบให้ได้ทราบว่า ปัญหาของแรงงานไทยมักจะเป็นเรื่องทะเลาะวิวาทและยาเสพติด ส่วนสาเหตุที่ทำให้แรงงานไทยไม่อยากมาไต้หวันก็เพราะค่าแรงถูก แถมยังถูกหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ แรงงานจึงอยากให้มีการลดหรือเลิกการหักเงินรายเดือนทั้งค่านายหน้า ค่าที่พัก และค่าอาหาร ขณะที่หญิงไทยที่แต่งงานกับคนไต้หวันก็มักจะประสบปัญหาด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม

พี่ๆ อาสาสมัครชาวไทยยังช่วยให้ความกระจ่างด้วยว่า สาเหตุที่หญิงไทยในไต้หวันมีการสละสัญชาติมากเป็นอันดับหนึ่งนั้น ก็เพราะเหตุผลในเรื่องค่ารักษาพยาบาลและสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ รวมถึงปัญหาในเรื่องสิทธิครอบครองมรดกหลังคู่สมรสเสียชีวิต อีกทั้งหากแต่งงานมาแล้วเลิกรากันไป แต่ไม่มีบัตรประชาชนไต้หวันก็ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศ หากสิทธิในการดูแลบุตรไม่ได้ตกอยู่กับมารดา

ทางการไต้หวันใส่ใจในสิทธิและการดูแลคนต่างชาติที่มาอยู่ในไต้หวัน รวมถึงแรงงานต่างชาติในประเทศมาก รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งหน่วยงานที่ให้บริการกับชาวต่างชาติ โดยจ้างคนของประเทศนั้นๆ มาเป็นผู้รับฟังและแจ้งเรื่องราวให้ทางการไต้หวันทราบเพื่อหา ทางแก้ไข คุณดารกา โจว หนึ่งในคนไทยที่ทำหน้าที่นี้ที่ "ศูนย์ให้บริการนครไทเปใหม่" เล่าว่า ปัญหาที่มีการแจ้งเข้ามามากคือ เรื่องกฎหมาย อาทิ การจัดการเรื่องมรดกหลังคู่สมรสเสียชีวิต

สมาคมยังอยากฝากให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศทุกคน ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่เห็นความสำคัญนัก หากเดินทางไปในประเทศที่ไม่บังคับให้ซื้อประกันการเดินทางนำไปยื่นประกอบการขอวีซ่า เพราะเกิดปัญหากรณีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางมาเยี่ยมญาติในไต้หวันแล้วเกิดล้มเจ็บลงต้องเข้ารักษาตัว แต่ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น จึงไม่อยากให้คิดว่าการเสียเงินซื้อประกันจะเป็นเงินเสียเปล่า เพราะอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ

การใช้ชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมืองจะให้ราบรื่นสะดวกสบายได้เหมือนอยู่บ้านเกิดเมืองนอนคงเป็นไปไม่ได้ แต่จากที่ได้เห็นทำให้อดรู้สึกดีใจแทนคนไทยที่มาอยู่ในไต้หวันไม่ได้ว่า อย่างน้อยชุมชนไทยที่นี่ก็มีความเข้มแข็งและมีคนไทยด้วยกันที่มีความตั้งใจที่ดี และพร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตามกำลังความสามารถที่พอจะทำได้

แม้ปัญหาทุกอย่างจะไม่อาจแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน แต่การที่ได้รู้ว่ามีคนที่พร้อมจะรับฟังและหาทางช่วยเหลือในยามที่เราตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน ก็น่าจะทำให้มีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไปบนหนทางที่พวกเขาได้เลือกแล้ว


วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 37 ฉบับที่ 13363 มติชนรายวัน
รายงานพิเศษ

โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ 
หน้า 22


สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ประเทศไต้หวัน
http://www.tteo.org.tw/thai/

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น