วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

งานเสวนาด้านวัฒนธรรมไทย – จีนที่นครเซี่ยงไฮ้

ฯพณฯนายสาโรจน์ ชวนะวิรัช เลขาธิการมูลนิธิไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดการเสวนา"ภายหลัง 35 ปี แห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน : ความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมไทย-จีน ในมุมมองของประชาชน"เมื่อ 14 มิถุนายน 2554 ที่นครเซี่ยงไฮ้


งานเสวนาด้านวัฒนธรรมไทย – จีนที่นครเซี่ยงไฮ้


ฯพณฯนาย สาโรจน์ ชวนะวิรัช เลขาธิการมูลนิธิไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เกียรติกล่าวเปิดการเสวนาด้านวัฒนธรรมไทย - จีน ภายหลัง 35 ปี แห่งความสัมพันธ์ไทย - จีน : ความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมไทย - จีน ในมุมมองของประชาชน ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ East China Normal University จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา

ฯพณฯนาย สาโรจน์ฯ ได้กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีอย่างลึกซึ้งระหว่างประชาชนไทยและจีน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงทางมิติวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสายใยที่ผูกพันของประเทศทั้งสองมาตั้งแต่โบราณกาล ตั้งแต่เริ่มมีการลงบันทึกในประวัติศาสตร์เมื่อสมัยสุโขทัย ประมาณ 700 ถึง 800 ปี มาแล้ว ก่อนที่จะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2518

ความสัมพันธ์ไทยจีนมีวิวัฒนการความคืบหน้าในทุกมิติและทุกระดับอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม อันเป็นเสาหลักของความร่วมมือ ซึ่งมีส่วนสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ไทยจีนเป็นคู่ความสำพันธ์ที่ดีที่สุดในโลกคู่หนึ่ง

นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ของไทยก็ได้ทรงเสด็จมาเยือนจีนอย่างต่อเนื่อง และได้ทรงสร้างคุณูปราการที่สำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ไทยจีน อย่างล้นเหลือ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนจีนแล้ว ถึง 33 ครั้ง ทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกของโลกที่ได้เสด็จเยือนจีนครบทุกมณฑล และทรงได้รับทรงคัดเลือกให้เป็นมิตรนานาชาติ 10 อันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่ความรู้ และความเข้าใจอันดีงาม พระองค์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ได้บ่มเพาะมิตรภาพระหว่างประชาชนไทยและจีนให้แน่นแฟ้นยิ้งขึ้น พระองค์จึงทรงเป็นมิตรของประเทศของจีนอย่างแท้จริง

ด้วยพระอัจจริยภาพทางด้านดนตรีและพระปณิธานที่มุ่งมั่นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ก็ ได้ทรงสนับสนุนการจัดงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดินขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ทรงถ่ายทอดให้เห็นพลังและความงดงามของวัฒนธรรมทางดนตรีของจีนและไทย การจัดงานสามสัมพันธ์สองแผ่นดินครั้งล่าสุดคือ คือครั้งที่ 4 ได้ จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 พระองค์ได้ทรงดนตรีกูเจิงซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโบราณของจีนด้วนพระองค์เอง นับเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการหลอมรวมกันระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีนในด้านศิลปะการแสดงและในด้านดนตรีที่มีคุณค่า และในการงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดินครั้งที่ 5 จะ มีการจัดขึ้นใน เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่ประเทศไทย ซึ่งจะประจวบเหมาะกับโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเดือนธันวาคม ที่ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันที่จะเทิดพระเกียรติให้พระองค์ท่าน

นอกจากความสัมพันธ์ไทย-จีนระดับรัฐบาลแล้ว ความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานและสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและประชาชนจีน ที่เริ่มจากที่ชาวจีนโพ้นทะเลไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยอยู่เป็นจำนวนมากในสมัยโบราณ ได้สร้างครอบครัวและอยู่ร่วมกันกับชาวไทยอย่างร่มเย็นเป็นสุข อันส่งผลให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวจีนได้หล่อหลอมกันเป็นหนึ่งอย่างเดียวกันกับการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทย จนมีคำกล่าวขานกันมาตลอดว่า ไทย-จีนมิใช่อื่นไกลเป็นพี่น้องกัน ซึ่งสะท้องถึงความสัมพันธภาพญาติพี่น้อง ที่สืบเนื่องมาผ่านบรรพบุรุษหลายยุคหลายสมัย ซึ่งความสัมพันธ์ที่พิเศษนี้ เป็นสิ่งที่ทั้งไทยและจีนควรทะนุถนอมและรักษาไว้ และช่วยกันทำนุบำรุงให้งอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป


ที่มา: เว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ http://www.thaishanghai.com/th/shanghai-update/detail.php?news=424

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น