วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สิทธิที่แรงงานได้รับตามกฎหมายแรงงานบาห์เรน


สิทธิที่แรงงานได้รับตามกฎหมายแรงงานบาห์เรน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงหลังๆ ที่แรงงานไทยเข้ามาขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตประเด็นปัญหาส่วนมากเป็นเรื่องการทำงานครบสัญญาจ้างแล้ว นายจ้างไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย สารสนเทศฉบับนี้จึงขอสรุปประเด็นต่างๆ ที่น่ารู้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับชาวไทยในบาห์เรน ทั้งผู้ที่เป็นนายจ้างและลูกจ้าง ดังนี้


- เวลาทำงานต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจะต้องไม่ทำงานติดต่อกันเกินว่า 6 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพัก

- กำหนดเวลาทำงานพื้นฐานและทำงานล่วงเวลา (overtime) ต้องไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

- ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าทำงานล่วงเวลาเป็นรายชั่วโมง โดยคิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ของค่าจ้างปกติสำหรับการทำงานในช่วงกลางวัน และร้อยละ 50 สำหรับการทำงานในช่วงกลางคืน หากลูกจ้างต้องทำงานในวันหยุดราชการที่สำคัญๆ ทางศาสนาของบาห์เรน ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างงานร้อยละ 150 ของค่าจ้างปกติ

- ลูกจ้างที่ผ่านช่วงทดลองงานแล้ว หากมีใบรับรองแพทย์จะได้รับสิทธิลาป่วย 15 วันโดยได้รับเงินเดือนเต็มและอีก 15 วันโดยได้รับเงินเดือนครึ่งหนึ่ง และอีก 15 วันโดยไม่รับเงินเดือน แต่ทั้งนี้เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 182 วัน

- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีจะได้รับสิทธิลาพักไม่น้อยกว่า 21 วันในแต่ละปีโดยได้รับเงินเดือนเต็ม และไม่น้อยกว่า 28 วันต่อปีหลังจากได้ทำงานติดต่อกันครบ 5 ปีแล้ว ลูกจ้างที่ไม่ใช้สิทธิลาพักจะขอรับเป็นเงินค่าจ้างแทนวันลาพักก็ได้ ทั้งนี้ในช่วงวันลาพักดังกล่าว ห้ามลูกจ้างรับงานจากนายจ้างรายอื่น โดยหากมีกรณีดังกล่าว นายจ้างอาจยึดเงินค่าจ้างคืนสำหรับช่วงวันลาพักดังกล่าวได้

- สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาแน่นอนจะสิ้นสุดโดยอัตโนมัติเมื่อครบกำหนด และหากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะยึดถือสัญญาจ้างฉบับเดิมต่อไป ให้ถือว่าสัญญาจ้างฉบับดังกล่าวได้ต่ออายุไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา และภายใต้เงื่อนไขเดิม

- คู่สัญญาสามารถบอกเลิกสัญญาได้โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน คู่สัญญาที่ยกเลิกสัญญาโดยไม่แจ้งล่วงหน้าจะต้องชดเชยให้กับคู่สัญญาอีกฝ่ายเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างจำนวน 30 วัน

- ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกเลิกสัญญาจ้าง ที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน ก่อนวันสิ้นสุดสัญญา และก่อให้เกิดความเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ ฝ่ายยกเลิกสัญญาจะต้องชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่การยกเลิกสัญญาจ้างโดยเหตุแห่งมาตรา 113 สำหรับนายจ้าง และมาตรา 115 สำหรับลูกจ้าง

- ในกรณีการสิ้นสุดสัญญาจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างในอัตราค่าจ้าง 15 วัน x จำนวนปี สำหรับระยะเวลาทำงาน 3 ปีแรก และอัตราค่าจ้างเต็มเดือน x จำนวนปีที่ทำงานเกินกว่า 3 ปี อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างเป็นฝ่ายยกเลิกสัญญาจ้าง ที่มิใช่เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดด้วยเหตุแห่งมาตรา 113 ลูกจ้างจะได้รับบำเหน็จในอัตรา 1 ใน 3 ของเงินเดือน x จำนวนปีที่ทำงาน หากทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปีแต่ไม่เกิน 5 ปี และจะได้รับในอัตราค่าจ้างเต็มเดือน x จำนวนปีที่ทำงาน หากทำงานติดต่อกันเกิน 5 ปี

- ในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตในช่วงเวลาสัญญาจ้างงาน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนสำหรับเดือนที่ลูกจ้างเสียชีวิต และสำหรับเดือนถัดไป หากลูกจ้างที่เสียชีวิตทำงานกับนายจ้างดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา http://www.thaiembassybahrain.org/information/62554.html#worker

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น