วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สาวเอยจะบอกให้ "ได้ไม่คุ้มเสีย" ลอบทำงานในมาเลเซีย




ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีหญิงไทยเดินทางไปทำงานในมาเลเซียแล้วเกิดปัญหาจนต้องเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากสถานทูตจำนวนกว่า 200 กรณี
ค่านิยมผู้หญิงไทยในปัจจุบันมักต้องการลืมตาอ้าปาก มีรายได้เป็นกอบเป็นกำผ่านทางการออกไปทำงานในต่างแดน แต่ไม่มีความระแวดระวังค้นหาข้อมูลกฎหมายและสภาพสังคมวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด มาเลเซียเป็นประเทศที่ไทยประสบปัญหาคนไทยลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานมากที่สุด จากการให้สัมภาษณ์ของนายสุวัฒน์ แก้วสุข ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า หญิงไทยมักไปประกอบอาชีพบริการ เช่น นวด เด็กเสิร์ฟ โคโยตี้และเด็กนั่งเชียร์แขกตามบาร์
ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีหญิงไทยเดินทางไปทำงานในมาเลเซียแล้วเกิดปัญหาจนต้องเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากสถานทูตจำนวนกว่า 200 กรณี แต่ในความเป็นจริงอาจมีจำนวนนับพันคนในแต่ละปี แบ่งเป็นเดือนละนับร้อย ๆ คน
มาเลเซียไม่มีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าไปประกอบอาชีพประเภท นวดสปา พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ และยาม  โดยเฉพาะอาชีพนวด ซึ่งอันที่จริงแล้วคนไทยสามารถขอเอกสารอนุญาตทำงานดังกล่าวจากทางการมาเลเซียได้ เพียงแต่ รัฐบาลมาเลเซียไม่สนับสนุนจึงอาจยุ่งยากและมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น หญิงไทยจึงมักใช้สิทธิพิเศษในการไม่ต้องขอวีซ่าอันเป็นความตกลงระหว่างไทยและมาเลเซีย เดินทางเข้ามาลักลอบทำงานและสามารถอยู่ในมาเลยเซียได้ไม่เกิน 30 วัน โดยการลักลอบนี้จะมีนายหน้าจัดหาแรงงานไปนวด จะบอกกับหญิงไทยว่า พวกเธอจะได้เงินเดือนไม่ต่ำกว่า เดือนละ 40,000-50,000 บาท นับเป็นค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ทำให้เหยื่อส่วนใหญ่ตกลงยอมไปทำงานด้วยและเข้าใจว่า นายจ้างจะพาไปขอเอกสารอนุญาตทำงาน
ในกรณีที่ถูกหลอก นายสุวัฒน์เผยว่า ขั้นแรกนายจ้างจะทำการยึดหนังสือเดินทาง จากนั้นจะนำตัวลูกจ้างไปเก็บไว้ในอพาร์ตเมนต์ ห้องแถวหรือบ้านพัก ในย่านที่เป็นสถานบันเทิงแล้วก็แจกแจงค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างติดค้างไว้ ซึ่งอันที่จริงก็จะมีการตกลงกันไว้ตั้งแต่ที่เมืองไทยแล้วว่า ลูกจ้างจะต้องเป็นหนี้ แต่พอไปถึงจริง ๆ ค่าใช้จ่ายกลับงอกขึ้นมามากมายจนไปถึงหลักแสนบาท จากนั้นนายจ้างก็จะบังคับให้ทำงาน บางรายที่โชคดีก็จะได้งานนวดเพื่อสุขภาพทั่วไป แต่ถ้าโชคร้ายก็จะถูกนายจ้างบังคับให้ค้าประเวณี
ตัวอย่างของรายที่โชคร้ายคือ นางสาวเอ (นามสมมุติ) เดินทางไปทำงานที่มาเลเซียแต่ต้องไปเจอกับนายจ้างที่เป็นมาเฟียบังคับให้เธอค้าประเวณี บังคับให้เสพยาเสพติดแล้วให้รับแขกไม่หยุด จนกระทั่งเธอตั้งครรภ์ เธอจึงหาทางแจ้งให้ญาติจากทางเมืองไทยช่วย ญาติก็เดินทางไปแจ้งกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งทางการไปประสานกับตำรวจมาเลเซียเข้าทลายแก๊งค้ามนุษย์ดังกล่าวแล้วช่วยเธอออกมา ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวโดยตรง จึงไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก
การลักลอบพาคนเข้าไปทำงานในมาเลเซียนั้น ปัจจุบันนี้กระทำได้โดยง่ายดาย เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านเดินทางง่าย วีซ่าก็ไม่ต้องขอ ผู้หญิงไทยที่มักตกเป็นเป้าหมายส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่เช่น พัทยา พัฒน์พงษ์ เกาะสมุย ภูเก็ต หรือพวกบรรดาเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร เนื่องจากความลำบากในชีวิต ทำให้หญิงไทยบางคนติดกับค่านิยมที่ว่า การไปทำงานต่างแดนจะสามารถทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำหรือแม้กระทั่งสามารถยกระดับชีวิตด้วยการแต่งงานกับชาวต่างชาติ พวกมิจฉาชีพรู้ถึงช่องโหว่ของค่านิยมที่ผิด ๆ นี้จึงฉกฉวยประโยชน์จากเหยื่อที่ตกหลุมพราง ทำให้สถานทูตไทยในมาเลเซียต้องทำงานอย่างหนักในการช่วยเหลือหญิงไทยตกทุกข์ซึ่งมีทุกวัน ปัญหาอีนุงตุงนังหนักชนิดที่ว่า บางรายมายืนรอหน้าสถานทูต บางรายสถานทูตต้องรีบนำรถออกไปรับเพื่อช่วยเหลือ
ตัวเลขของคนไทยที่ต้องโทษจำคุกในมาเลเซียทั้งโทษเบาและโทษหนักรวมกันแล้วจะอยู่ที่ราว ๆ พันรายต่อปี ในจำนวนนี้หากเป็นผู้ที่ต้องโทษเบาจะได้รับการปล่อยตัวเร็ว แต่ถ้าเป็นโทษหนักอย่างเช่น คดียาเสพติด ทะเลาะวิวาท ลักลอบทำงานซ้ำซาก จะต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคดียาเสพติด ซึ่งเป็นคดีร้ายแรงของมาเลเซียและมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต โดยคนไทยที่ต้องโทษประหารจากคดียาเสพติดในมาเลเซียขณะนี้มีจำนวน 18 ราย เป็นหญิง 10 ราย และชาย 8 ราย
นอกจากนี้ ผู้หญิงไทยมักตกเป็นเหยื่อแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกให้ขนยาเสพติดโดยมีประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นทางผ่านที่สำคัญเนื่องจากเดินทางง่าย ไม่ต้องขอวีซ่า ทั้งนี้ มีทั้งผู้ที่เต็มใจและถูกหลอก กรณีที่ถูกหลอกมักเป็นผู้ที่ชอบเล่นแชตในเว็บไซต์หาคู่กับชาวต่างชาติ จนได้คู่รักเป็นชาวต่างชาติสมใจ โดยที่ชาวต่างชาติเหล่านั้นจะค่อย ๆ ตีสนิทแล้วออกตัวว่า จะพาไปเที่ยว และซื้อตั๋วแบบ e-ticket ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ซื้อ ให้เดินทางไปต่างแดน โดยจุดหมายนั้นจะเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด จากนั้นก็จะฝากสิ่งของยัดไส้ยาเสพติดมากับเที่ยวบินขากลับประเทศไทยด้วย ในกรณีที่หญิงไทยคนนั้นรู้ตัวมักได้รับค่าตอบแทน 1,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (32,600-163,000 บาท) ต่อครั้ง ขบวนการขนยาเสพติดจะไม่เดินทางไปอเมริกาใต้โดยตรงแต่จะเดินทางแวะเปลี่ยนเครื่องบินโดยใช้ประเทศในอาเซียนเป็นสถานที่เปลี่ยนเครื่อง โดยเฉพาะ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ หรือประเทศใดก็ได้ที่คนไทยไม่ต้องขอวีซ่า ทำให้ขณะนี้ หญิงไทยกลายเป็นผู้หญิงที่ถูกจับด้วยข้อหายาเสพติดในต่างแดนเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ประเทศที่คนไทยมักเดินทางไปท่องเที่ยว เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ก็ต้องระมัดระวังการเข้าเมือง เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะเข้มงวดในการสอบถามกับผู้เดินทางเข้าประเทศ อาทิ จะพักที่ไหน พักกับใคร หรือมีตั๋วเครื่องบินขากลับหรือไม่ หากตอบคำถามไม่ชัดเจนหรือเกิดข้อสงสัยขึ้นก็จะปฏิเสธการเข้าเมืองได้ ไม่ให้เข้าประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแต่งตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเกาหลีใต้และญี่ปุ่น หากผู้หญิงไทยแต่งตัวดูโป๊มากเกินไป พวกเขาจะคิดว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นไปได้ที่จะเดินทางไปค้าประเวณีมากกว่าไปท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ที่ชอบโชว์รอยสักอย่างภาคภูมิใจ แต่หารู้ไม่ว่า อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นเข้าใจผิด ทำนองว่าเป็นนักเลงหัวไม้ อาชญากร หรือกระทั่งเป็นพวกยากูซ่า พาลจะไม่ให้เข้าประเทศไปเลย
เทศกาลท่องเที่ยวในฤดูร้อนนี้กระทรวงการต่างประเทศจึงต้องการที่จะให้คำแนะนำแก่คนไทยที่เตรียมจะไปท่องเที่ยวในต่างแดนเพียง 2 ข้อเท่านั้น ข้อแรกคือ ควรทำประกันสุขภาพก่อนการเดินทาง เนื่องจากหากไปเจ็บป่วยในต่างประเทศ ค่ารักษาพยาบาลจะแพงกว่าในไทยเป็นสิบเท่า ข้อที่ 2 คือ ควรตรวจสอบข้อมูลของบริษัททัวร์ที่เดินทางไปด้วยว่า จดทะเบียนเรียบร้อยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ หากบุคคลใดที่มีความประสงค์ที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศห่างไกล ไม่มีสถานทูตไทยตั้งอยู่ในประเทศนั้น ก็ขอให้ตรวจสอบข้อมูลสังคมวัฒนธรรม ข้อห้าม ข้อมูลการขอวีซ่าและกฎหมายของประเทศดังกล่าวให้ดี เนื่องจากหากเดือดร้อนสิ่งใดขึ้นมา ความช่วยเหลืออาจไปถึงล่าช้า และหากผู้ใดต้องการร้องเรียนกรณีมีผู้ตกทุกข์ในต่างแดนสามารถติดต่อกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศได้ที่เบอร์ โทรศัพท์ 0-2575-1047 ถึง 52.
วิภาภัทร์ นิวาศะบุตร
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น