วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

เตือนแล้วไม่ฟัง หนุ่มไทยลองของโดนจับอีกที่ไนโรบี

ตามที่ได้นำเสนอกรณี 2 หนุ่มไทยถูกจับกุมที่สนามบินไนโรบี ประเทศเคนยา ในข้อหามีสร้อยทำด้วยงาช้างไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านกงสุลที่ไนโรบี ประเทศเคนยา ก็มีอันต้องสะดุ้งอีกครั้งเมื่อมีโทรศัพท์สายร้อนเข้ามาแจ้งว่ามีคนไทยถูกจับที่สนามบิน "อีกแล้ว" ขอให้ไปช่วยเหลือด่วน

ท่านกงสุลจึงได้ตรวจสอบไปยังสนามบินไนโรบี ทราบว่ามีคนไทยถูกจับกุมจริง ตอนนี้ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่โรงพัก ถ้าสถานทูตจะไปเยี่ยมก็เชิญได้ตามสบาย ท่านกงสุลพร้อมด้วยล่ามไม่รอช้ารุดไปที่ สน. ทันที เพื่อขอเยี่ยมผู้ต้องหารายนี้ ปรากฏว่า ผู้ต้องหาเป็นหนุ่มใหญ่จากเมืองสุโขทัย ทำงานที่อยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ กำลังจะเดินทางกลับเมืองไทยโดยสายการบินเคนยาแอร์เวย์และแวะเปลี่ยนเครื่องที่ไนโรบี ถูกจับกุมระหว่างกำลังจะเปลี่ยนเที่ยวบินในข้อหามีงาช้างในครอบครอง รวม 5 ชิ้น น้ำหนักรวม 1.0 กิโลกรัม ( เป็นส่วนของงาช้าง 3 ท่อน และกำไลมือ 2 อัน) จึงถูกส่งตัวไปดำเนินคดีและกำลังรอขึ้นศาลอยู่ที่ สน.

จากการสอบถามหนุ่มไทยให้การว่างาช้างดังกล่าวเป็นของเพื่อนฝากให้นำกลับเมืองไทย บรรจุหีบห่ออย่างมิดชิดแต่เจ้าหน้าที่สนามบินก็ตรวจพบและแกะออกมาวางถ่ายรูปกับตนไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐาน 

ข้างฝ่ายผู้หมวด คุณตำรวจรูปหล่อ บอกว่าตอนที่ถูกจับกุม งาช้างไม่ได้บรรจุในหีบห่อตามที่ผู้ต้องหาหนุ่มไทยกล่าวอ้างแต่อย่างใด พร้อมกับสบตาท่านกงสุลรอดูว่าคราวนี้จะใช้มุขไหนมากล่าวอ้างเพื่อช่วยผู้ต้องหาอีก

ท่านกงสุลจึงได้โทรศัพท์ข้ามประเทศไปยังแอฟริกาใต้เพื่อสอบถามหัวหน้าคนงานที่หนุ่มไทยรายนี้ทำงานอยู่ ได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทได้เรียกประชุมคนงานอย่างสม่ำเสมอ และกำชับคนงานทุกคนไม่ให้ขนงาช้างหรือมีงาช้างติดตัวเวลาเดินทาง กรณีคนงานที่ถูกจับกุมดังกล่าวคงเป็นเพราะไม่เชื่อฟังคำเตือนและคงอยากลองดีทั้งที่เพื่อนคนงาน 2 คน เพิ่งจะถูกจับกุมไปเมื่อเดือนที่แล้วในข้อหาเดียวกัน

เจอเข้าแบบนี้ ท่านกงสุลก็คงไม่มีหน้าจะไปขอตำรวจหรือศาลของเคนยาให้ลดหย่อนโทษโดยอ้างว่าผู้ต้องหาไม่รู้กฎหมาย เพราะเพิ่งจะใช้มุขนี้ไปเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง คงทำได้แค่ต่อโทรศัพท์ให้หนุ่มไทยได้คุยกับญาติที่เมืองไทยเพื่อให้คลายกังวล และรอขึ้นศาลก้มหน้ารับคำตัดสินกันต่อไปแต่โดยดี

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า คนเรานี่บางทีก็คิดอะไรแปลกๆ ทำผิดทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย ได้รับการเตือนก็แล้ว เห็นเพื่อนๆ ของตัวเองก็เคยถูกจับในข้อหาเดียวกันก็แล้ว ยังจะทำผิดอีก เมื่อจงใจทำผิดแบบนี้ ก็ต้องรับผิดแบบเต็มๆ สถานทูตไม่สามารถไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของต่างประเทศได้ และเมื่อเป็นการทำผิดโดยเจตนา การเจรจาหรือต่อรองเพื่อให้ได้ผ่อนหนักผ่อนเบาก็คงลำบาก เรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลยคงเหลือทำได้อย่างมากก็เข้าไปเยี่ยมในคุกและอำนวยความสะดวกให้เดินทางกลับบ้านเมื่อพ้นโทษแล้วเท่านั้น

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี
       : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
       กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ  

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12 มีนาคม 2556 เวลา 03:52

    การถูกจับเป็นคดีความในต่างประเทศลำบากมาก เพราะที่โน่นไม่มีใคร การดำเนินคดี ยุ่งยาก ไม่รู้ว่าได้รับความเป็นธรรมแค่ไหน

    ตอบลบ