สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา รายงานการให้ความช่วยเหลือหนุ่มไทย 2 ราย ที่ถูกจับกุมที่สนามบินนานาชาติเคนยา ว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 เจ้าหน้าที่สถานทูตได้เดินทางไปยังศาลซึ่งเป็นที่พิจารณาคดี 2 หนุ่มไทยในข้อหามีสร้อยทำด้วยงาช้าง นำหนัก 200 กรัม ราคา ประมาณ 1,800 บาท ไว้ในครอบครองคนละ 1 เส้น โดยไม่มีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า
เจ้าหน้าที่สถานทูตได้สอบถามข้อเท็จจริงจาก 2 หนุ่ม ทราบว่า ทั้งสองคนทำงานอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้และซื้อสร้อยดังกล่าวจากคนพื้นเมืองที่นำไปขายให้ถึงที่พักคนงาน 2 หนุ่ม อ้างว่าที่แอฟริกาใต้มีคนสวมใส่สร้อยงาช้างกันมากและไม่ถือเป็นความผิด ทั้ง 2 คนยังได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนๆ ด้วยว่าเคยมีคนไทยอื่นๆ สวมใส่สร้อยงาช้างในเวลาเดินทางกลับประเทศไทยได้ไม่มีปัญหาอะไร พวกตนจึงสวมสร้อยดังกล่าวขณะโดยสารเครื่องบินของสายการบินเคนยากลับประเทศไทยซึ่งต้องแวะเปลี่ยนเที่ยวบินที่สนามบินในเคนยา และระหว่างเดินผ่านเครื่องตรวจโลหะเพื่อขึ้นเครื่องก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและส่งตัวดำเนินดคีในเวลาต่อมา
ศาลเคนยาแจ้งว่าที่พิจารณาคดีล่าช้าเนื่องจากไม่มีล่าม และขอให้เจ้าหน้าที่สถานทูตช่วยเป็นล่ามให้ด้วย เพื่อจะได้พิจารณาคดีให้แล้วเสร็จ ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตจึงต้องรับหน้าที่เป็นล่ามให้ผู้ต้องหาหนุ่มไทยทั้งสองคน ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นล่ามให้แล้วยังต้องคอยช่วยชี้แจงแก่ศาลว่าทั้งสองคนไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมาย เพราะหากทราบก็คงจะไม่กระทำเช่นนี้อย่างแน่นอน ส่วนในประเด็นกล่าวหาอื่นๆ ผู้ต้องหาไทยทั้ง 2 คน รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ในที่สุดศาลจึงตัดสินลงโทษเฉพาะโทษปรับเป็นเงินคนละ 30,000 ชิลลิงเคนยา
เมื่อสิ้นสุดกระบวนการทางศาลแล้ว สถานทูตก็ต้องประสานงานช่วยเหลือส่งตัวทั้ง 2 หนุ่มกลับประเทศไทยต่อไป ซึ่งกว่าที่ทั้ง 2 คน จะสามารถเดินทางออกจากเคนยาได้ก็เล่นเอาเหงื่อหยด แต่ในที่สุดหนุ่มไทยทั้งคู่ก็ได้กลับบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทางสถานทูต ได้ฝากเตือนมายังผู้ที่จะต้องเดินทางผ่านไปยังประเทศเคนยา และอีกหลายๆ ประเทศในแอฟริกาที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามมีงาช้างหรืออวัยวะสัตว์อื่นในครอบครอง หลักเลี่ยงการประดับ สวมใส่หรือพกพาเครื่องประดับที่ทำจากงาช้างหรืออวัยวะสัตว์อื่นซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมายของประเทศนั้นหรืออย่างน้อยที่สุดควรมีหนังสือแสดงแหล่งกำเนิดสินค้าติดตัวไว้แสดงเมื่อถูกตรวจสอบ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนำติดตัวหรือสวมใส่เครื่องประดับที่มีค่าหรือทำจากทองคำที่มีราคาแพง รวมทั้งประดับด้วยทองคำ ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมาย/เหยื่อของเจ้าหน้าที่นอกรีตหรือมิจฉาชีพได้ง่าย
ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขอบคุณครับ สำหรับคำแนะนำในวรรคสุดท้าย
ตอบลบ