วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเชี่ยงไฮ้เชิญชวนชาวไทยทุกคนเข้าร่วมงานพิธีพระราชทานพระพุทธรูป ณ วัดจิ้งอัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้


สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเชี่ยงไฮ้เชิญชวนชาวไทยทุกคนเข้าร่วมงานพิธีพระราชทานพระพุทธรูป ณ วัดจิ้งอัน

นายพิรุณ ลายสมิต กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศเชิญชวนชุมชนชาวไทยในนครเซี่ยงไฮ้ทุกท่านร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีจะเสด็จมาเป็นประธานในพิธีพระราชทานพระพุทธรูป “พระศาสดา” ณ วัดจิ้งอัน ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 โดยพร้อมเพรียงกัน และโดยที่จะมีผู้เข้าร่วมในงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ทุกท่านเดินทางไปให้ถึงก่อน เวลา 08.00 น.

สถานกงสุลใหญ่ได้อันเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวมาประดิษฐานยังวัดจิ้งอัน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายร่วมสักการะบูชาในโอกาสครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์ไทย – จีน

“พระศาสดา” จัดสร้างโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลก (พ.ส.ล.) เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเป็นแบบอย่างพุทธมามกะ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมในการปกครองแผ่นดิน ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกในฝ่ายฆราวาส เป็นลำดับที่หนึ่ง และทรงมีคุณูปการต่อองค์การ พ.ส.ล. นับแต่เริ่มก่อตั้ง

ทั้งนี้องค์การ พ.ส.ล.ร่วมกับองค์กรเครือข่ายศูนย์ภาคี วัดบวรนิเวศวิหาร และพุทธศาสนิกชน จัดสร้าง พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย พุทธลักษณะ พระศาสดา หล่อด้วยโลหะปิดทอง ขนาดหน้าตัก ๑๙ นิ้ว ๑๙ องค์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย และขอพระราชทาน เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัด และ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ในประเทศสมาชิกที่สำคัญขององค์การ พ.ส.ล. จำนวน ๑๙ ประเทศ ประกอบด้วย เกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย ศรีลังกา อินเดีย บังคลาเทศ พม่า ฝรั่งเศส ราชอาณาจักรภูฏาน สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฮ่องกง และประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาของพระศาสดา

พระศาสดา เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย สร้างในคราวเดียวกับ พระพุทธชินราช และ พระพุทธชินสีห์ สมัยกรุงสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.๑๕๐๐

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดา เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในพระอารามหลวงมาแต่โบราณ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญเมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖

ต่อมาได้ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดา และ พระพุทธชินสีห์ เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นใน วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญ พระศาสดา จากวัดสุทัศนเทพวราราม มาประดิษฐานไว้ในพระวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพ.ศ.๒๔๐๖ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น