วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เตือนภัยอาจมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาล


เตือนภัยอาจมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาล


ครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐไฮติเมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคม 2553 ความสั่นสะเทือนวัดได้ 7.0 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 233,000 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 300,000 คน นั้น เพียงชั่วเวลาไม่ถึงเดือนถัดจากนั้นสำนักข่าวต่างประเทศเริ่มรายงานคำพยากรณ์ของนักธรณีวิทยาว่า ต่อจากไฮติจะเป็นเนปาลที่จะมีแผ่นดินไหวรุนแรงลักษณะเดียวกัน เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศเนปาลอยู่ระหว่างเปลือกโลกขนาดใหญ่ 2 แผ่น ได้แก่เปลือกเอเชีย และเปลือกอินเดีย ซึ่งเคลื่อนตัวเข้าหากันมานับล้านปีจนเกิดเป็นเทือกเขาหิมาลัย

นักธรณีวิทยาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าแผ่นดินไหวจะเกิดในเนปาล เพียงแต่จะเกิดขึ้นเมื่อใดเท่านั้น ทั้งนี้ในอดีตเนปาลเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 1934 ความสั่นสะเทือนวัดได้ 8.4 ริดเตอร์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 8,500 คน และทำลายสิ่งก่อสร้างและโบราณสถานในหุบเขากาฐมานฑุไปกว่าครึ่ง

นักธรณีวิทยาเชื่อว่าหากเกิดแผ่นดินไหวในเนปาลครั้งต่อไปคาดว่าความสั่นสะเทือนน่าจะถึง 8 ริกเตอร์ ซึ่งหากเกิดขึ้นโดยเฉพาะในบริเวณหุบเขากาฐมานฑุ จะสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินที่รุนแรงกว่าเมื่อปี ค.ศ. 1934 เนื่องจากความหนาแน่นของประชากรและสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มมากขึ้น โดยสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างให้สามารถรองรับกรณีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงได้ นอกจากนั้นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของเนปาล โดยเฉพาะถนนและเส้นทางคมนาคมต่างๆยังไม่ได้มาตรฐาน สนามบินมีเพียงรันเวย์เดียว และเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล ซึ่งทำให้การอพยพและลำเลียงความช่วยเหลือทำได้ยากและต้องใช้วลา

จากกระแสข่าวดังกล่าว บรรดาสถานทูตที่ตั้งอยู่ในกรุงกาฐมาณฑุต่างก็มิได้นิ่งนอนใจ และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 คณะทูตในกรุงกาฐมาณฑุได้นัดประชุมหารือลู่ทางในการเตรียมรับมือกับแผ่นดินไหวโดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมการเพื่อให้ผู้ประสพภัยสามารถมีชีวิตรอดให้ได้นานที่สุด ระหว่างรอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการตุนอาหารและน้ำดื่มเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทั้งนี้สำหรับน้ำเพื่อการบริโภคนั้นได้เสนอให้เตรียมการสำหรับขุดบ่อน้ำบาดาลไว้สำหรับใช้ยามฉุกเฉิน

สำหรับการติดต่อสื่อสารภายหลังแผ่นดินไหวอาจใช้วิทยุคลื่นความถี่สูง (ซึ่งปัจจุบันสำนักงานสหประชาติในเนปาลมีคลื่นวิทยุความถี่สูงสุด) หรือการใช้โทรศัพท์ดาวเทียม เพราะโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์สายปกติจะไม่สามารถใช้งานได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว นอกจากนั้นได้มีความคิดที่จะทำความตกลงพหุภาคีเพื่อช่วยเหลือและร่วมมือกันเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น

โดยที่ปัจจุบันเนปาลเป็นจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว โดยสถิติมีนักท่องที่ยวไทยไปเยือนเนปาลปีละประมาณ 5,000 คน ดังนั้นหากท่านเป็นผู้หนึ่งที่กำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศเนปาล ควรแจ้งให้ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดทราบเกี่ยวกับกำหนดการของคณะทัวร์ หรือกำหนดการที่ท่านจะเดินทางในประเทศนั้น ชื่อโรงแรมที่พัก หมายเลขโทรศัพท์ ฯลฯ เพราะหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นในระหว่างนั้นญาติของท่านจะใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นแจ้งให้สถานทูตติดตามหาท่านได้ และที่สำคัญคือท่านจะต้องไม่ประมาท ก่อนเดินทางต้องเข้าไปดูรายงานสภาพความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเนปาลและพื้นที่ใกล้เคียงจากเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ตด้วย หากมีสัญญาณความไม่ปลอดภัยและท่านไม่แน่ใจในความปลอดภัยก็อย่าเดินทาง ควรเชื่อความรู้สึกของตัวเอง

ที่มา: รายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น