วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความคืบหน้าล่าสุด เกี่ยวกับการปนเปื้อนรังสีในเนื้อวัว


ความคืบหน้าล่าสุด เกี่ยวกับการปนเปื้อนรังสีในเนื้อวัว 


ตามที่ปรากฏข่าวการปนเปื้อนรังสีในเนื้อวัวจากบริเวณ จ. ฟุคุชิมะนั้น สอท. ขอรายงานข่าวความคืบหน้าล่าสุด ดังนี้

1. ที่ว่าการกรุงโตเกียว และหน่วยงานอื่นๆ ประกาศว่าพบ Cs เกินปริมาณที่กำหนดตั้งแต่ 3 - 6.8 เท่าในเนื้อวัวจากเมืองมินามิโซมะ จ. ฟุคุชิมะที่วางจำหน่ายในกรุงโตเกียว โดยเนื้อวัวดังกล่าวมาจากวัว 11 ตัว ทั้งหมดถูกส่งออกสู่ตลาดในกรุงโตเกียว และ จ. อื่นๆ อีก 8 จ. ซึ่งผู้บริโภคซื้อไปบริโภคแล้วบางส่วน ก่อนหน้านี้ เนื้อวัวจากวัว 6 ตัวจากแหล่งเดียวกันก็ได้ถูกจำหน่ายไประหว่างวันที่ 30 พ.ค.-30 มิ.ย. 54 ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ได้มีการจัดจำหน่ายวัวไปแล้วทั้งหมดจำนวน 2,924 ตัวจากแหล่งเดียวกันตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. 54 หลังจากที่ ก. เกษตร ป่าไม้ และการประมงอนุญาตให้จำหน่ายได้หากทาง จ. ได้มีการทำตามขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย เช่น การตรวจรังสีที่ผิวของวัว และน้ำและอาหารสำหรับวัวปลอดภัยจากรังสี เป็นต้น ทั้งนี้ วัว 11 ตัวดังกล่าวได้รับการรับรองว่าปลอดภัยหลังการตรวจโดยที่ว่าการ จ. ฟุคุชิมะมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ ศ. Noboru MANABE ผู้เชี่ยวชาญจาก ม. โตเกียวกล่าวว่าการบริโภคเนื้อวัวที่มีรังสีเกินกำหนดดังกล่าวไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากปล่อยให้มีการจัดจำหน่ายเนื้อวัวปนเปื้อนรังสีเช่นนี้ อาจทำให้ผู้บริโภคเสียความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้ รบ. จึงควรตรวจรังสีในปศุสัตว์ทั้งหมดที่คาดว่ามีการปนเปื้อนต่อไป

2. จนท. กระทรวงเกษตรฯ ญป. ยอมรับว่าไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่วัวจะได้รับรังสีจากการกินฟางข้าว โดยพบว่าวัวที่ถูกจัดจำหน่ายไปยัง 37 จ. จำนวนทั้งหมด 143 ตัวมีปริมาณ Cs สูงเกินกำหนดจากการกินฟางข้าวที่เก็บไว้กลางแจ้ง 3-8 สัปดาห์หลังเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งในบางแห่งพบว่าฟางข้าวมี Cs สูงถึง 500,000 Bq/กก. โดยหลังเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฯ 1 สัปดาห์ กษ. ได้ประกาศผ่านไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นว่าหญ้าที่ให้วัวกินต้องเก็บเกี่ยวก่อนเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว และต้องเก็บไว้ในอาคารหลังเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวไม่ได้รวมถึงฟางข้าว และเมื่อ รบ. ได้ออกประกาศใหม่ในเดือน เม.ย. 54 ว่าอาหารวัวทั้งหมดต้องมีค่ารังสีต่ำกว่า 300 Bq/กก. นั้นก็ไม่ได้มีการแจ้งกับชาวนาซึ่งเป็นผู้ขายฟางให้เกษตรกร ซึ่งในขณะที่ กษ. คาดว่าฟางน่าจะเก็บอยู่ภายในอาคารในฤดูหนาว แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรจะทราบกันดีว่าในฤดูหนาวของบริเวณที่หิมะตกน้อย เกษตรกรบางรายจะทิ้งฟางไว้ให้แห้งกลางแจ้ง ทั้งนี้ ในวันที่ 18 เม.ย. 54 กษ. มีคำสั่งให้ตรวจรังสีบนตัววัวจาก จ. ฟุคุชิมะก่อนจัดจำหน่าย โดยถ้ามีรังสีต่ำกว่าที่กำหนดก็อนุญาตให้จัดจำหน่ายได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงท่าทีกังวลเนื่องจากเป็นเพียงการตรวจแค่ภายนอก ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าภายในเนื้อวัวมีปริมาณรังสีเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมามีปศุสัตว์ที่ตรวจรังสีแล้ว 12,000 ตัว พบว่าไม่มีค่ารังสีเกินกำหนด อย่างไรก็ดี คาดว่าฟางข้าวที่ใช้เลี้ยงวัวในฟาร์มแห่งหนึ่งซึ่งห่างจากโรงไฟฟ้าฯ 100 กม. เป็นฟางที่ปนเปื้อนรังสีสูง ในขณะที่ฟางข้าวที่ให้วัวในฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองโซมะเป็นฟางที่เก็บเกี่ยวใน จ. มิยางิซึ่งห่างจากโรงไฟฟ้าฯ 130 กม. แต่ก็มี Cs สูงกว่ากำหนด 13 เท่าเช่นกัน

3. คาดว่า รบ. จะออกคำสั่งห้ามจัดจำหน่ายเนื้อวัวจาก จ. ฟุคุชิมะในวันที่ 19 ก.ค. 54 ทั้งนี้ รมช. สธ.เสนอให้ตรวจปัสสาวะวัวทุกตัว หากพบว่ามีรังสีสูงเกินกำหนดก็จะส่งกลับไปยังฟาร์มเพื่อลดการปนเปื้อนด้วยการให้อาหารที่ปลอดภัย และได้เริ่มตรวจสอบช่องทางจัดจำหน่ายเนื้อวัวซึ่งอาจปนเปื้อนรังสีตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 54 หลังจากพบว่ามีการให้ฟางปนเปื้อนรังสีแก่วัวจากฟาร์มอื่นๆ ใน จ. ฟุคุชิมะ

25 กรกฎาคม 2554

ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว http://www.thaiembassy.jp/rte3/index.php?option=com_content&view=article&id=1144:2011-07-25-06-37-33&catid=36:press-release&Itemid=92

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น