วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บัญญัติ ๑๐ ประการ ที่แรงงานไทยในยูเออี "ต้องทำ" และ "อย่าทำ"

สมชัย จรณะสมบูรณ์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี


บัญญัติ ๑๐ ประการ ที่แรงงานไทยในยูเออี "ต้องทำ"และ "อย่าทำ"


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบีเตือนแรงงานไทยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการพำนักอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 10 ประการ ดังนี้

5 ต้อง (Dos)

ต้องอ่านสัญญาจ้าง ให้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า เป็นสัญญาทำงาน 1 ปี 2 ปี หรือไม่กำหนดเวลาสิ้นสุดการจ้าง ท่านจะได้รับ ค่าจ้างจริงตามสัญญาวันละหรือเดือนละเท่าไร ทำงานวันละกี่ชั่วโมง (เกิน 8 ชม. ต้องได้รับค่าล่วงเวลา) ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องจัดอาหาร ที่พักและการขนส่งไป-กลับระหว่างที่พักกับที่ทำงานให้ฟรี มีวันหยุดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ เมื่อทำงานครบหนึ่งปีจะต้องให้หยุด 1 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง รวมทั้ง ตรวจดูในสัญญาด้วยว่า นายจ้างจะออกค่าเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านให้ทุกปีหรือทุกสองปี ทั้งนี้ เพื่อจะได้รับรู้เงื่อนไขการทำงานและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของตนอย่างถูกต้อง

ต้องพกบัตรประจำตัวแรงงาน (Labour Card) ซึ่งออกให้โดยกระทรวงแรงงานยูเออี ติดตัวไว้ตลอดเวลา ส่วนเอกสารสำคัญของไทย อาทิ หนังสือเดินทางและบัตรประชาชนของไทยนั้น ให้ถ่ายสำเนาหนึ่งชุดแล้วเก็บไว้ในที่ปลอดภัยคนละที่กับเอกสารตัวจริง

ต้องแจ้งหัวหน้างาน หรือผู้ดูแลแคมป์ทันทีที่ประสบเหตุ อันอาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาทได้ และแยกตนเองออกห่างจากเหตุการณ์ในทันที เพื่อจักได้ไม่ต้องติดร่างแหไปด้วย

ต้องเคารพและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น อาทิ (๑) หยุดกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดัง เมื่อเครื่องขยายเสียงของมัสยิดดัง ในช่วงเวลปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิม (๒) ห้ามกินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มและสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเฉพาะเวลากลางวันในช่วงเดือนรอมฎอน ที่ชาวมุสลิมถือศีลอด

ต้องแจ้งสายด่วนแรงงาน โทรฟรี 800665 ทันที เมื่อประสบปัญหาหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ทั้งนี้ ท่านเชื่อมั่นได้ว่า จนท. กระทรวงแรงงานยูเออี พร้อมที่จะรับฟังและช่วยเหลือท่าน (หากท่านพอจะอธิบายเรื่องราวเป็นภาษาอังกฤษได้) หรือร้องทุกข์ต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่ โทร 02-6421772

5 อย่า (Don’ts)

อย่าคิดว่าไม่เป็นไร เพราะท่านอาจถูกจับกุมหรือเสียค่าปรับ หากท่าน (๑) ข้ามถนนในบริเวณที่มิใช่เขตทางข้าม (ในเขตมุสซาฟาห์แรงงานจากเอเชียใต้ถูกรถชน ถูกจับและปรับเป็นประจำ) (๒) เก็บของได้แล้วนำไปใช้ (แรงงานไทยหลายรายถูกตำรวจจับ เนื่องจากนำโทรศัพท์มือถือซึ่งเก็บได้ไปใช้ แม้จะเปลี่ยนซิมเป็นของตนเองแล้วก็ตาม) (๓) มีภาพวาบหวิวหรือวิดีโอลามก ซึ่งเป็นสิ่งของต้องห้ามเด็ดขาดเช่นเดียวกับยาเสพติดไว้ในครอบครอง

อย่าดื่มสุรา เพราะเป็นสิ่งต้องห้าม ตำรวจสามารถจับกุมคุมขังท่านได้แม้จะไม่ได้กระทำความผิดอื่นใด รวมทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการทะเลาะวิวาท ถูกเลิกจ้างและส่งกลับ โดยต้องออกค่าเดินทางกลับเองและไม่ได้รับเงินสิทธิประโยชน์ใดๆ ด้วย

อย่าหนีสัญญาจ้าง เพราะท่านจะไม่สามารถเดินทางออกจากยูเออีได้แม้จะมีหนังสือเดินทางและบัตรโดยสารเครื่องบิน เนื่องจากกฏหมายกำหนดให้นายจ้างจะต้องให้ความยินยอมและยกเลิกวีซ่าของท่านก่อน มิฉะนั้น ท่านจะถูกจับกุมที่สนามบิน และหากถูกเลิกจ้างในลักษณะนี้ ท่านจะกลับเข้ามาทำงานในยูเออีอีกครั้งไม่ได้จนกว่าจะครบหนึ่งปี

อย่าเข้าใจผิด คิดว่า ประกันสุขภาพที่บริษัทนายจ้างจัดทำให้นั้น ท่านจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการไปหาหมอ (ยกเว้น การเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน ที่นายจ้างจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด) ทั้งนี้ การเจ็บป่วยทั่วไป (นอกงาน) ท่านจะต้องเสียค่าใช้บริการขั้นต้นเป็นรายครั้งๆ ละ ๒๐-๕๐ ดีแรมห์ ขึ้นอยู่กับประเภทของสถานบริการทางการแพทย์ที่ท่านไปรับการรักษา และในการรับการรักษาแต่ละโรค ท่านอาจต้องออกเงินสมทบค่ายาและค่าบริการทางการแพทย์ ตามที่มีการระบุรายการรักษาโรค/ยาฟรีและที่ต้องจ่ายเงินสมทบไว้ในกรมธรรณ์ประกันสุขภาพด้วย ซึ่งคล้ายๆ กับการประกันสังคมของไทย

อย่าลืมคิดถึงครอบครัว เพราะการนึกถึงคนที่เรารัก จะช่วยทำให้ท่านมีกำลังใจในการทำงานและต่อสู้กับความยากลำบากต่างๆ ในวันนี้ เพื่อที่จะทำงานเก็บเงินส่งไปสร้างความสุขให้แก่ครอบครัวอันเป็นที่รักของท่านในวันนี้และในอนาคตร่วมกันกับท่านต่อไป

ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดารบี http://www.mfa.go.th/web/1344.php?s=3153

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น