วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ข้อแนะนำ : แนวการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม


ข้อแนะนำ : แนวการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม

ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศมีการติดต่อและการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนไทยมุสลิมและมุสลิมต่างประเทศบ่อยครั้ง กองตะวันออกกลางได้จัดทำ “ข้อแนะนำ: แนวปฎิบัติ ที่เกี่ยวกับชาวมุสลิม” ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติของมุสลิม โดยข้อแนะนำตั้งบนหลักการตามคำสอนของอิสลามที่ปรากฎในคัมภีร์อัล กุรอานและแนวปฏิบัติของศาสดามูฮำมัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักพื้นฐานสากลของมุสลิม อย่างไรก็ดี การปฏิบัติของมุสลิมแต่ละกลุ่มอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยขึ้นอยู่กับนิกาย (เช่น ซุนนีย์และชีอะห์ เป็นต้น) Schools of Thoughts และวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

อาหาร

นอกจากมุสลิมจะไม่รับประทานเนื้อหมูดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว สัตว์ที่อนุมัติให้รับประทานได้ตามบทบัญญัติศาสนา เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ หากไม่ได้ผ่านการเชือดตามข้อกำหนดของศาสนาอิสลามก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อนุมัติสำหรับมุสลิมเช่นกัน ดังนั้น เนื้อไก่ เนื้อวัว หากไม่ได้ผ่านการเชือดโดยกล่าวนามของพระเจ้าก็ถือว่าไม่ฮาลาล สำหรับอาหารทะเลโดยทั่วๆ ไปแล้วเป็นที่อนุมัติให้รับประทานได้ตามนิกายซุนนีย์ แต่สำหรับนิกายชีอะห์ไม่อนุมัติให้รับประทานปลาหมึก หอย และปู ทั้งนี้ อาหารที่เป็นที่อนุมัติต้องไม่มีส่วนผสมของสิ่งที่ไม่ฮาลาล เช่น แอลกอฮอล์ ไขมันหมู (lard) ด้วยเหตนี้ มุสลิมบางคนที่มีความเคร่งครัดจึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงโดยมุสลิม เนื่องจากอาจมีความไม่มั่นใจเรื่องของกระบวนการปรุงอาหาร หรือในเรื่องของภาชนะว่าอาจมีการปนเปื้อน ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อมุสลิมที่มีความเคร่งครัดในเรื่องอาหาร การจัดสั่งอาหารจากร้านอาหารที่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและจากร้านอาหารมุสลิม จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ตัวอย่างของร้านอาหารในกรุงเทพฯ ที่ได้รับการรับรองฮาลาล จากคณะกรรมการกลางอิสลามฯ และร้านอาหารที่เจ้าของเป็นมุสลิม ได้แก่
โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ก 0 2290 0125 ext 7105 (แผนก F&B)
โรงแรมรามา การ์เดนท์

โรงแรมนิวเวิลด์ ซิตี้ 0 22815596 และ 089 120 5841

โรงแรมเฟิร์ส 0 2255 0100-20

เดอะแกลเลอรี่ 0 2556 0246

สินธร สเต๊ก เฮาส์ 0 2377 7322

ฟาฮานา อิตาเลี่ยน ฟู๊ด 0 2369 236-7

ร้านอาหารโซเฟีย 0 2314 0039

ร้านอาหารนางพญา 0 2612 0895

เครื่องดื่ม

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ เป็นที่ต้องห้ามสำหรับชาวมุสลิม ทั้งนี้ ชาวมุสลิมจำนวนมากยังคงเคร่งครัดกับการปฏิบัติตามข้อห้ามเรื่องการดื่มสุรา (แม้จะพบว่าชาวมุสลิมบางคนจะดื่ม โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงและนักการทูตจากประเทศมุสลิมบางคน) นอกจากนี้ ผู้ที่เคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจอาจถือปฏิบัติตามคำกล่าวของศาสดามูฮำมัดที่ว่า “อย่านั่งร่วมในโต๊ะที่มีการเสิร์ฟเครื่องดื่มมึนเมา” ดังนั้น บุคคลเหล่านี้จึงอาจปฏิเสธหรืออาจมีความอึดอัดใจที่จะนั่งโต๊ะร่วมกับผู้ที่ดื่มสุรา

การละหมาด

ศาสนาอิสลามกำหนดให้มุสลิมขัดเกลาจิตใจด้วยการละหมาดวันละ 5 เวลา โดยหันหน้าไปทางกิบลัต-เมกกะห์ (ในประเทศไทยคือการหันไปทางทิศตะวันตก) ทั้งนี้ อาจใช้เวลาในการละหมาดเพียง 3 - 10 นาที ในแต่ละครั้ง เวลาละหมาดได้แก่
ช่วงเช้าเมื่อมีแสงพระอาทิตย์จับขอบฟ้าถึงเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

ช่วงเที่ยงเมื่อพระอาทิตย์คล้อยถึงช่วงบ่าย (ประมาณ 13.00 – 15.30 น.)

ช่วงบ่ายถึง ช่วงค่ำก่อนพระอาทิตย์ตกดิน (ประมาณ 16.00 – 18.30 น.)

ช่วงค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดินจนถึงเวลาแสงอาทิตย์ลับจากขอบฟ้า

ช่วงกลางคืน (ประมาณ 19.30 เป็นต้นไป)

โดยมีข้อกำหนดว่ามุสลิมควรละหมาดให้ตรงเวลาที่กำหนด ดังนั้น หากมีการเชิญมุสลิมมาร่วมกิจกรรมเต็มวันและเป็นหมู่คณะ การจัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับสำหรับผู้ที่ประสงค์จะละหมาดย่อมสร้างความประทับใจแก่ชาวมุสลิม ว่าเจ้าภาพมีความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติของศาสนาอิสลาม การเตรียมสถานที่อาจทำโดยแยกห้องชายและห้องหญิงและปูผ้าบนพื้นห้อง (อาจใช้ผ้าปูโต๊ะสีขาว) โดยผู้ละหมาดจะยืนเรียงกันเป็นแถว (บ่าชิดบ่า) เว้นช่องว่างระหว่างแถวหน้าและแถวถัดไปประมาณหนึ่งเมตร (หรือมากกว่าหากมีพื้นที่พอ) สำหรับอิหม่ามผู้ทำหน้าที่ในการนำละหมาดควรจัดเตรียมพรมปูละหมาดขนาดพอดีตัวปูไว้ด้านบนสุดหน้าแถวแรก (ขอยืมพรมสำหรับปูละหมาดได้ที่กองตะวันออกกลาง) ทั้งนี้ ด้านหน้าของผู้ละหมาดต้องไม่มีรูปวาด/ปั้น ที่เป็นรูปคนหรือสัตว์แขวนหรือตั้งอยู่ ที่ผ่านมา เคยมีการจัดสถานที่สำหรับละหมาดที่ห้องรับรองซึ่งนับว่ามีความเหมาะสม (ห้องรับรองสามารถจุผู้ทำละหมาดได้ประมาณ 50 คน)

ทั้งนี้ ก่อนละหมาดมุสลิมต้องทำน้ำละหมาด (คือการล้างมือ บ้วนปาก ล้างหน้า ล้างแขน และเท้า) จึงควรแจ้งฝ่ายอาคารฯ ขอให้มีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดดูแลเช็ดพื้นบริเวณหน้าอ่างล้างมือ เนื่องจากจะมีน้ำที่หยดจากแขนและเท้าเลอะเทอะพื้นห้องน้ำ

การถือศีลอด

ในช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนแห่งการถือศีลอด) ชาวมุสลิมจะงดการรับประทานและการดื่มในช่วงเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาพระอาทิตย์ตก ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ คนชรา เด็ก และผู้ที่อยู่ระหว่างการเดินทางไกล ข้อบัญญัติทางศาสนาอนุโลมให้งดเว้นการถือศีลอดได้ รวมทั้งสตรีที่มีประจำเดือนก็ไม่ต้องถือศีลอดเช่นกัน การจัดกิจกรรมหรือจัดประชุมในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งชาวมุสลิมและศาสนิกอื่นๆ ในการปฏิบัติทั่วไปก็สามารถมีการบริการอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการประชุม โดยผู้ที่ถือศีลอดจะงดรับประทานเอง อย่างไรก็ตาม หากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดเป็นมุสลิม โดยมารยาทแล้วชาวมุสลิมที่ไม่ถือศีลอดก็จะไม่รับประทานอาหารต่อหน้าผู้ที่ถือศีลอด ในกรณีนี้ จึงอาจพิจารณางดการบริการอาหารว่างได้ อนึ่ง ในประเทศมุสลิมหลายประเทศห้ามการรับประทานอาหารและเครื่องเดื่มในที่สาธารณะในช่วงเดือนรอมฎอน โดยร้านอาหารต่างๆ จะปิดการบริหารในในช่วงเช้า-ค่ำ ซึ่งเป็นเวลาของการถือศีลอด

ของที่ระลึก

ศิลปะที่สวยงามของไทยมักมีการสลักหรือวาดภาพที่กอปรด้วยรูปเทวดา สัตว์ หรือครึ่งคนครึ่งสัตว์ เช่น กินรี แต่เนื่องจากมีคำกล่าวของศาสดามูฮำมัดเกี่ยวกับการห้ามประดับรูปภาพคนและสัตว์ในบ้าน ทำให้มุสลิมจำนวน ไม่น้อยไม่นิยมตั้งแสดงรูปภาพหรือรูปปั้นคนและสัตว์ในบ้านตน รวมทั้งไม่นิยมสวมใส่เสื้อผ้าหรือใช้สิ่งของที่มีรูปดังกล่าว ดังนั้น การเลือกของที่ระลึกเพื่อมอบให้กับชาวมุสลิมจึงอาจหลีกเลี่ยงของที่ระลึกที่มีรูปดังที่กล่าวมานี้
.............................................................................................

กองตะวันออกกลาง
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
11 กรกฎาคม 2553
ที่มา: เว็บไซต์ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางแลแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ http://sameaf.mfa.go.th/th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น