วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องมรดกของผู้ตาย


นายฤทธิชัย ทับสุวรรณ

กงสุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์ฟิร์ต


การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องมรดกของผู้ตาย




เมื่อเร็วๆนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับการสอบถามจากศาลเยอรมันกรณีบุคคลสัญชาติไทยเสียชีวิตในเยอรมนีมีมรดกเป็นห้องชุดและมิได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ โดยศาลสอบถามว่าควรใช้กฎหมายมรดกของไทยหรือของเยอรมนีในการพิจารณาคดีมรดก การเลียงลำดับทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง การสละมรดกหรือขอไม่รับมรดก ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯได้สอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ขอเรียนสรุปให้พี่น้องชาวไทยที่สนใจรับทราบดังนี้

1. มรดกเท่าที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ ในกรณีที่ผู้ตายเป็นบุคคลสัญชาติไทยเสียชีวิตในเยอรมนี จึงควรใช้กฎหมายเยอรมันในการพิจารณาคดีมรดก

2. การเลียงลำดับทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 กำหนดว่าทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมีอยู่ทั้งสิ้น 6 ลำดับ โดยแต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

- ผู้สืบสันดาน

- บิดามารดา

- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

- พี่น้องร่วมบิดาหรือพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน

- ปู่ ย่า ตา ยาย

- ลุงป้าน้าอา

3. การสละมรดกหรือการไม่รับมรดก

ทายาท ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพิน้ยกรรมที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อไม่ประสงค์จะรับมรดก กฎหมายเปิดช่องให้สละมรดกได้ โดยการสละมรดกต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นแล้วการสละมรดกก็จะไม่มีผลตามกฎหมายแต่อย่างใด

การสละมรดกกระทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1619 กำหนดว่าผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งสิทธิอันจะมีภายหน้าในการสืบมรดกของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้ หากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วการสละมรดกจะกระทำเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า ห้ามการสละมรดกเมื่อเจ้ามรดกตายไปแล้วนานเท่าใด และการสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1615 วรรคแรกบัญญัติไว้

วิธีและแบบในการสละมรดกนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1612 กำหนดให้การสละมรดกต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความ

การสละมรดกโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น หนังสือต้องมีข้อความแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งว่าสละมรดก และทายาทต้องลงลายมือชื่อของตนในหนังสือสละมรดก โดยเป็นไปตามแบบและพิธีการสละมรดก ตามแบบ พ.ก. 6 และพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้แก่ นายอำเภอ ตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2481 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495

สำหรับการสละมรดกโดยการทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความที่จะเป็นการสละมรดกต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ 851 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปของสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย กล่าวคือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาที่ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะมีขึ้น การทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงต้องมีข้อพิพาทหรืออาจจะมีข้อพิพาทเรื่องมรดก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2332/2524) สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาสองฝ่ายจึงต้องมีคู่สัญญาและคู่สัญญาต้องเป็นทายาททั้งสองฝ่าย ดังนั้นการสละมรดกโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต้องอาศัยการแสดงเจตนาของทายาทสองฝ่าย ลำพังการแสดงเจตนาสละมรดกเพียงฝ่ายเดียวไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การสละมรดกจึงไม่มีผลตามกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2513)

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตร 1612 กำหนดว่าการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ และเมื่อสละมรดกแล้วจะถอนการสละมรดกไม่ได้



นายฤทธิชัย ทับสุวรรณ
กงสุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์ฟิร์ต



ที่มา: วารสารชาวไทย ฉบับประจำเดือนมกราคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น