วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (17 เมษายน 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (17 เมษายน 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 13,802 ราย สูญหาย 14,129 ราย (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 17 เม.ย. 2554 เวลาประเทศไทย 16.00 น.)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)

1.2.1 ระดับน้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนสูงในอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่า ในช่วงกลางสัปดาห์เจ้าหน้าที่บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ได้ถ่ายเทน้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนสูงประมาณ 660 ตัน จากอาคารเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวไปไว้ใน turbine condenser tank แล้วก็ตาม โดยในช่วงเช้าของวันที่ 17 เม.ย. 2554 ระดับน้ำดังกล่าวอยู่ห่างจากพื้นผิวดินเพียง 85 ซม. ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่าน้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนจะล้นออกสู่ทะเล ขณะนี้ TEPCO อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า ไม่มีรอยรั่วในถังเก็บกากนิวเคลียร์ใช้แล้วที่สามารถบรรจุน้ำได้ถึง 30,000 ตัน โดยหวังว่าในช่วงสัปดาห์นี้จะสามารถเริ่มถ่ายเทน้ำไปใส่ในถังเก็บกากนิวเคลียร์ใช้แล้วดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าน้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนเกิดจากการที่ฉีดน้ำเปล่าใส่เตาปฏิกรณ์เพื่อลดอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ลง

1.2.2 นอกจากจะตรวจพบกัมมันตรังสีในตัวอย่างน้ำใต้ดินที่อาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 แล้ว TEPCO รายงานว่า ตรวจพบสารกัมมันตรังสี iodine-131 และ cesium-137 ในสัดส่วนที่เกินกว่ากำหนดถึง 6,500 เท่า และ 1,400 เท่าตามลำดับ จากตัวอย่างน้ำทะเลใกล้บริเวณอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ซึ่ง TEPCO ได้ติดตั้งแผ่นเหล็กและอุปกรณ์กั้นขวางใต้น้ำไม่ให้น้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนรั่วไหลลงทะเลแล้ว แต่ขณะนี้ ยังหาจุดที่เกิดการรั่วซึมยังไม่พบ ทั้งนี้ TEPCO ได้นำถุงทรายบรรจุสาร zeolite (ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จะช่วยดูดซับ cesium) ใส่ลงในทะเลบริเวณใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 เพื่อช่วยลดอัตราการแพร่กระจายของน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี

1.2.3 ในวันที่ 17 เม.ย. 2554 นี้ TEPCO จะเริ่มใช้หุ่นยนต์ของสหรัฐฯ ในการตรวจวัดอุณหภูมิ ระดับกัมมันตรังสี และความหนาแน่นของออกซิเจน ตลอดจนถ่ายภาพภายในอาคารเตาปฏิกรณ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่เจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ได้เพราะมีระดับกัมมันตรังสีอยู่สูงมาก

1.2.4 ในการแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2554 ประธาน TEPCO ได้กล่าวแสดงความเสียใจและความรับผิดชอบต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งประกาศแถลงแผนงานในการควบคุมสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 6 - 9 เดือน โดยในช่วง 3 เดือนแรก จะ (1) เติมน้ำเปล่าใส่ในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 3 (2) ปิดซีเมนต์ในส่วนที่ชำรุดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 (3) เติมไนโตรเจนในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 และ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการระเบิดของไฮโดรเจน และ (4) ขจัดการปนเปื้อนในน้ำทะเลและน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ส่วนในช่วง 6-9 เดือน จะต้องทำให้เตาปฏิกรณ์เข้าสู่สภาวะ ‘cold shutdown’ และปกคลุมอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 3 และ 4 ด้วยคอนกรีตหรือวัสดุทำนองดังกล่าว

1.3 ระดับกัมมันตรังสี

กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการกีฬา (MEXT) ญี่ปุ่น รายงานว่า ระดับสารกัมมันตรังสีสะสมที่เมืองนามิเอะ (ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 เป็นระยะทาง 30 กม.) สูงถึง 17,010 ไมโครซีเวิร์ท ส่วนที่ไอตาเตะ และมินามิโซมะ ระดับสารกัมมันตรังสีสะสมเท่ากับ 9,850 และ 495 ไมโคร-ซีเวิร์ทตามลำดับ ทั้งนี้ ระดับสะสมที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ไม่ควรเกิน 1,000 ไมโครซีเวิร์ทต่อปี

1.4 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.4.1 ณ วันที่ 17 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 4 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 4 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ

1.4.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศต่าง ๆ



2. การดำเนินการของไทย

2.1 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น

2.1.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย

2.1.2 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้

(1) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

(2) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ช.ม.)

(3) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp

2.2 การใช้บริการสายการบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2554 ดังนี้

กรุงเทพฯ – นาริตะ

เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 41.67% (เพิ่มขึ้นจาก 31.09% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 77.87% (เพิ่มขึ้นจาก 68.64% ในวันก่อน)

นาริตะ – กรุงเทพฯ

เที่ยวบิน TG671 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 48.07% (เพิ่มขึ้นจาก 30.33% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 35.26% (เพิ่มขึ้นจาก 31.09% ในวันก่อน)



2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.3.1 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 12 เมษายน 2554 ณ เวลา 14.00 น. จำนวน 198,196,544.30 บาท (หักเงินที่โอนให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวจำนวน 125 ล้านบาทเพื่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวเตรียมมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการโอนเงินบริจาคจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จำนวน 150 ล้านบาท แก่ สอท.ญป./ปทท. และจำนวน 20 ล้านบาท แก่ สอท. ณ กรุงโตเกียว)

2.4 สถิติคนไทย

2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

2.4.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.4.4 จำนวนคนไทยที่ตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัยรวม 11,156 คน (ข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตฯ รวบรวมจากทุกสำนักงานฯ และเครือข่ายชุมชนคนไทย)

2.4.5 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.- 15 เม.ย. 2554 จำนวน 18,039 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)


3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ ณ วันที่ 15 เม.ย. 2554 มีจำนวน 136 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น