วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (7 เมษายน 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (7 เมษายน 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันพุธที่ 7 เมษายน 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 12,608 คน สูญหาย 15,073 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 7 เม.ย. 2554 เวลา 14.00 น. ประเทศไทย)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.2.1 นายยุกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรฐานในการประกาศให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ โดยอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายจากปัจจุบันที่ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระยะ 20 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อพยพ และแนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณ 30 กม. ปิดหน้าต่างและพยายามไม่ออกนอกตัวอาคารโดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะประกาศให้ประชาชนที่อาศัยห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระยะทางมากกว่า 30 กม. อพยพออกจากพื้นที่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์คาดว่าในการแก้ไขปัญหาระบบหล่อเย็นและการควบคุมการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจะต้องใช้เวลา และอาจทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการได้รับปริมาณรังสีสะสม

1.2.2 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) กล่าวว่า แม้จะสามารถอุดรูรั่วบริเวณอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ได้แล้ว แต่ยังคงพบว่าน้ำทะเลบริเวณโรงไฟฟ้ายังคงมีปริมาณกัมมันตรังสีปนเปื้อนในระดับสูงกว่ามาตรฐานถึง 140,000 เท่า อย่างไรก็ดี ระดับการปนเปื้อนดังกล่าวลดลงจากวันก่อนหน้าซึ่งพบปริมาณกัมมันตรังสีปนเปื้อนในระดับสูงกว่ามาตรฐาน 280,000 เท่า นอกจากนี้ พบว่าในช่วงเวลา 24 ชม. ที่ผ่านมา ระดับน้ำที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนระดับสูงในบ่อคอนกรีตในอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เพิ่มสูงขึ้น 5 ซม. อย่างไรก็ดี ยังต่ำกว่าระดับพื้นดินประมาณ 1 เมตรและ TEPCO กำลังพยายามตรวจตราเพื่อไม่ให้ระดับน้ำสูงขึ้นมาจนท่วมระดับพื้นดิน ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน TEPCO ได้ระบายน้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนในระดับต่ำลงสู่ทะเลแล้วประมาณ 7,300 ตัน

1.2.3 ที่ปรึกษาศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รายงานว่า ความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารและน้ำดื่มมีแนวโน้มลดลง

1.2.4 ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น รายงานว่า จากการตรวจการปนเปื้อนในอาหารพบว่า มีปลา sand lance จาก จ. อิบารากิเพียงตัวอย่างเดียวที่มีการตรวจพบระดับการปนเปื้อนสารซีเซียมในระดับที่สูงกว่ามาตรฐาน ในขณะที่การตรวจอื่น ๆ เช่นผักจาก จ.กุมมะ ที่เคยมีค่าการปนเปื้อนเกินมาตรฐานก็มีค่ารังสีลดลง

1.2.5 ผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมงญี่ปุ่น รายงานว่า ขณะนี้ในบริเวณ จ.ฟุคุชิมะ และ จ. ที่ได้รับผลกระทบสึนามิยังไม่สามารถทำการประมงได้ ส่วนที่ จ. อิบารากิ พบว่ามีปลา sand lance ที่มีปริมาณรังสีสูงและได้ขอความร่วมมือให้ชาวประมงงดการจับปลาประเภทนี้ โดยกรมประมงจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจการปนเปื้อน และจะเผยแพร่ผลให้ทราบต่อไป

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 7 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 7 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 5 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ

1.3.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆจำนวน 21 ประเทศ ออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น โดยรวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น


2. การดำเนินการของไทย

2.1 การติดตามระดับกัมมันตรังสี

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสี ที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ วันที่ 6 เม.ย. 2554 เวลา 12.00 น. อยู่ที่ระดับ 26 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เท่ากับปริมาณที่วัดได้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงหรือเท่าเดิมโดยยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.025 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.163 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.089 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.) (ไม่มีรายงานเพิ่มเติมจาก ปส.)

2.2 การใช้บริการสายการบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2554 ดังนี้

กรุงเทพฯ – นาริตะ

เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 47.57% (ลดลงจาก 57.05% ของวันก่อน)

เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 80.00% (เพิ่มขึ้นจาก 68.38% ของวันก่อน)

นาริตะ – กรุงเทพฯ

เที่ยวบิน TG643 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 59.64% (เพิ่มขึ้นจาก 43.19% ของวันก่อน)

เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 29.45% (เพิ่มขึ้นจาก 22.12% ของวันก่อน)

2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

- ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 7 เมษายน 2554 อยู่ที่ 12,572,118.54 บาท (หักเงินที่โอนให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวจำนวน 125 ล้านบาทเพื่อให้ สอท.ณ กรุงโตเกียวเตรียมมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว)

2.4 สถิติคนไทย

2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

2.4.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.4.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.- 6 เม.ย. 2554 อยู่ที่ 16,137 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 134 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น