วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (3 เมษายน 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (3 เมษายน 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2554



1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 12,087 คน สูญหาย 15,552 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 3 เม.ย. 2554 เวลา 18.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.2.1 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวประสบปัญหาในการเทคอนกรีตเพื่ออุดรอยรั่วบริเวณอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2554 เนื่องจากน้ำที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ในระดับสูงยังคงไหลออกจากบริเวณรอยรั่วดังกล่าวตลอดเวลาทำให้คอนกรีตที่เทลงไปไม่แข็งตัว ในการนี้ เมื่อช่วงบ่ายวันที่

3 เม.ย. 2554 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้เริ่มทดลองใช้สารที่มีส่วนผสมของโพลีเมอร์ที่ใช้ในการดูดซับเวลาน้ำท่วมเข้าช่วยรวมทั้งได้พยายามตรวจสอบว่ามีรอยร้าวที่บริเวณอื่นอีกบ้างหรือไม่ ทั้งนี้ โดยที่พบว่าระดับอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ที่ 1 และ 2 เริ่มอยู่ในระดับที่ค่อนข้างเสถียร จึงได้พยายามเริ่มลดปริมาณน้ำที่เทเข้าไปก่อนหน้าเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว

1.2.2 รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้ตัดสินใจที่จะเริ่มตรวจวัดระดับปริมาณกัมมันตรังสีในอากาศในรัศมี 20 กม. ห่างจากโรงไฟฟ้า ในขณะที่ผ่านมาไม่ได้มีการตรวจวัดระดับกัมมันตรังสีในบริเวณดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าประชาชนส่วนมากที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้อพยพออกจากพื้นที่แล้ว และเห็นว่าการเข้าไปตรวจวัดระดับกัมมันตรังสีในบริเวณดังกล่าวมีความอันตราย อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้ถูกท้วงติงว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการตรวจวัดระดับการกระจายของสารกัมมันตรังสีในอากาศ

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 3 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 6 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 7 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ

1.3.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศ ออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่นรวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น

2. การดำเนินการของไทย

2.1 สถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสี ที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ วันที่ 3 เม.ย. 2554 เวลา 19.30 น. อยู่ที่ระดับ 32.7 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เท่ากับปริมาณที่วัดได้เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2554 เวลา 11.00 น. ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.025 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.176 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.091 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.)

2.2 การใช้บริการสายการบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 ดังนี้

กรุงเทพฯ – นาริตะ

เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 53.21% (เพิ่มขึ้นจาก 39.1% ของวันก่อน)

เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 75.84% (ลดลงจาก 78.67% ของวันก่อน)

นาริตะ – กรุงเทพฯ

เที่ยวบิน TG671 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 50.39% (ลดลงจาก 66.93% ของวันก่อน)

เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 28.21% (ลดลงจาก 40.06% ของวันก่อน)

2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 1 เมษายน 2554 อยู่ที่ 131,469,503.18 บาท

2.4 สถิติคนไทย

2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

2.4.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.4.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 31 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 12,837 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 134 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น