วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

นักสิทธิมนุษยชนไทยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโกดติวัวร์

ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์

นักสิทธิมนุษยชนไทยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโกดติวัวร์



ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแนวหน้าของไทย ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโกดติวัวร์ โดยประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศโกตดิวัวร์ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน โดยระบุว่า

1. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์วิทิตฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสืบสวนฯ ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศ

2. คณะกรรมการสืบสวนดังกล่าวมีหน้าที่ในการสืบสวนข้อเท็จจริงและสถานการณ์ทั่วไปที่มีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุยชนอย่างรุนแรงในประเทศโกดติวัวร์ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เพื่อสืบหาผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวและนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการสืบสวนฯ จะนำเสนอรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในเดือนมิถุนายน ศกนี้ เพื่อให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติพิจารณาต่อไป

3. ศาสตราจารย์วิทิตฯ เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์วิทิตฯ เคยดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในสหประชาชาติ รวมถึงตำแหน่งผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการค้าเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่ออนาจารที่เกี่ยวกับเด็ก ระหว่างปี 2533-2537 และตำแหน่งผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ระหว่างปี 2547-2553 นอกจากนี้ ศาสตราจารย์วิทิตฯ ยังได้รับรางวัลจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติด้านการศึกษาสิทธิมนุษยชนในปี 2547

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอีก 2 คนที่ได้รับการแต่งตั้งในคณะกรรมการสืบสวนฯ ได้แก่นาย Suliman Baldo จากซูดาน และนาง Reine Alapini Gansou จากเบนิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น