วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(17 พฤษภาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(17 พฤษภาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 23.00 น. วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2554



1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 15,093 ราย สูญหาย 9,093 ราย (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 17 พ.ค. 2554)

1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค (Aftershock)

- องค์กรอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ได้รายงาน Aftershock ของวันที่ 17 พ.ค. 2554 ดังนี้

เวลา 20.41 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.อิบารากิ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.0 ริกเตอร์

เวลา 08.03 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.2 ริกเตอร์ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานสึนามิและความเสียหายจากการเกิดอาฟเตอร์ช็อคข้างต้น

- มีรายงานว่า ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 จำนวนอย่างน้อย 524 คน ได้เสียชีวิตเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว นิวมอเนีย ความเหนื่อยล้า ความเครียด รวมทั้งภูมิคุ้มกันต่ำลงและความดันโลหิตสูง เนื่องจากพำนักอยู่ในศูนย์อพยพเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และมีการพบผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กอายุ 2 ขวบ เนื่องจากอาการขาดน้ำ และโรคติดต่อ

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)

วันนี้ (17 พ.ค. 2554) ที่ประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีนายนาโอโตะ คัน นรม. ญี่ปุ่นเป็นประธานและมีคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้าร่วม ได้มีมติให้ผู้ประสบภัยจากปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็น “ผู้ประสบภัยจากนโยบายระดับชาติ” ซึ่งรัฐบาลจะรับผิดชอบการเยียวยาจนถึงที่สุด โดยรายละเอียดมาตรการเยียวยาที่ได้ประกาศสรุปได้ดังนี้

- บ้านพักชั่วคราว จำนวน 15,200 หลัง มีกำหนดสร้างเสร็จภายในเดือน ส.ค. 2554

- การให้บริการดูแลรักษาสุขภาพในระยะยาว

- กำหนดให้บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) กำหนดตัวเลขค่าชดเชยที่จะจ่ายให้กับผู้ประสบภัยภายในเดือน ก.ค. 2554 หลังจากนั้น รัฐบาลจะกำหนดจำนวนเงินเพิ่มเติมที่จะสบทบให้ตามความจำเป็น

- ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2554 เป็นต้นไป รัฐบาลจะปล่อยเงินกู้แบบไร้ดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมไปถึงเงินกู้ระยะยาวเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ด้วย

- เริ่มทำวิจัยการปรับปรุงคุณภาพดิน และหลังจากปัญหาเริ่มคลี่คลายจะดำเนินการตามผลการวิจัยดังกล่าว เพื่อให้สามารถมีพื้นที่เพาะปลูกที่ปลอดสารปนเปื้อนและอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

1.4 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.4.1 ณ วันที่ 25 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 2 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และ สอท. ของอีก 2 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ 

1.4.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆรวม 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่นรวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของแต่ละประเทศ

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การติดตามระดับกัมมันตรังสี

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสีที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ วันที่ 9 พ.ค 2554 เวลา 15.00 น. อยู่ที่ระดับ 19.3 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เท่ากับปริมาณที่วัดได้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2554 เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.024 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.103 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.066 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.) (ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมจาก ปส.)

การใช้บริการสายการบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2554 ดังนี้

กรุงเทพฯ – นาริตะ

เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 42.95% (ลดลงจาก 91.35% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 55.47% (ลดลงจาก 79.43% ในวันก่อน)

นาริตะ – กรุงเทพฯ

เที่ยวบิน TG643 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 78.15% (ลดลงจาก 84.32% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 59.62% (เพิ่มขึ้นจาก 57.05% ในวันก่อน)

2.2 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น

2.1.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ Aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย แต่ในชั้นนี้ยังไม่ได้รับรายงานคนไทยเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากวิบัติภัยดังกล่าว

2.1.2 ข่าวสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นฉบับล่าสุด” ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2554 มีเนื้อหาดังนี้

“ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศเตือนขอให้คนไทยติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เกี่ยวกับการเดินทางไปญี่ปุ่นนั้น ขอเรียนว่า ในชั้นนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจากอาฟเตอร์ช็อค (Aftershock) อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด”

2.1.3 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้

(1) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

(2) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ช.ม.)

(3) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp

2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.3.1 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ณ เวลา 15.00 น. จำนวน 57,743,899.83 ล้านบาท (ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้โอนเงินงวดแรกจำนวน 125 ล้านบาท ให้ สอท. ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 เพื่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวนำไปมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว)

2.3.2 รัฐบาลไทยได้จัดส่งคณะกุมารแพทย์จำนวน 2 คณะ คณะละ 2 คน เดินทางไปปฏิบัติงานร่วมกับทีมแพทย์ของญี่ปุ่นที่โรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยการแพทย์ฟุคุชิมะเพื่อดูแลผู้อพยพโดยเฉพาะเด็กในบริเวณที่พักชั่วคราวในเมืองฟุคุชิมะ ตามคำร้องขอของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยคณะที่ 1 มีกำหนดปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 9 - 20 พ.ค. 2554 และคณะที่ 2 จะปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 23 พ.ค. – 3 มิ.ย. 2554

2.4 สถิติคนไทย

2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูล สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) และจำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน)

2.4.3 ในชั้นนี้ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ มีจำนวน 156 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 41 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น