วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข้อควรรู้สำหรับแรงงานนวดแผนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ฮังการี


ข้อควรรู้สำหรับแรงงานนวดแผนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ฮังการี

(ปัจจุบันมีแรงงานนวดแผนไทยเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศฮังการีกว่า 500 คน และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์จึงได้จัดทำข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในฮังการีทราบ)

1. ก่อนการเดินทางมาทำงาน ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเอกสารสำคัญอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะมีสัญญาจ้างที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ลงนามนิติกรณ์แล้วหรือไม่ ซึ่งกรณีที่ยังไม่มีนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่สนามบินสุวรรณภูมิจะไม่อนุญาตให้แรงงานเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศได้

2. ตรวจสอบและศึกษาสัญญาจ้างที่จะต้องลงนามอย่างถี่ถ้วน โดยสัญญาจะต้องระบุเงื่อนไขการทำงานตามกฎหมายแรงงานฮังการี กล่าวคือ 1) บริษัทผู้จ้างและที่อยู่ 2) วันเริ่มและสิ้นสุดสัญญาจ้าง 3) เนื้อหาและรายละเอียดของงาน 4) สถานที่ทำงาน 5) เงินเดือนค่าจ้างและวันจ่ายเงินเดือน 6) การจ่ายค่าล่วงเวลาและอัตราที่จะได้รับ 7) ชั่วโมงทำงาน ซึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 8) วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดพักผ่อน 9) เงื่อนไขการลาป่วย การประกันสุขภาพและประกันสังคม 10) เงื่อนไขการยกเลิกสัญญาจ้าง 11) เงื่อนไขอื่น อาทิ บัตรโดยสารเครื่องบิน ที่พัก ค่าอาหาร (ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นายจ้างจัดให้เป็นพิเศษนอกเหนือจากข้อกำหนดของกฎหมายแรงงาน) ซึ่งสัญญาจ้างควรเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษที่แรงงานสามารถศึกษาเข้าใจได้ก่อนลงนาม

3. พึงระลึกว่า การสัญญาใดๆปากเปล่าโดยไม่มีระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาจ้างไม่มีผลบังคับใดๆทางกฎหมาย และไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานการฟ้องร้องใดๆต่อศาลยุติธรรมได้ นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใดๆ ในการไกล่เกลี่กับนายจ้างได้

4. การลงนามในสัญญาจ้าง หากเป็นไปได้แรงงานควรลงลายมือชื่อกำกับในเอกสารทุกหน้านอกเหนือจากการลงนามด้านล่างของสัญญาเพื่อป้องกันนายจ้างเปลี่ยนแปลงข้อความใดๆในสัญญา และแรงงานต้องลงนามในสัญญาจ้างด้วยตนเองเท่านั้น ทั้งนี้ หากสถานเอกอัครราชทูตฯ พบว่า มีการปลอมแปลงหรือทุจริตใดๆในเอกสาร จะจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยจะไม่ลงนามในสัญญาจ้างให้แก่ร้านดังกล่าวอีกต่อไป และจะแจ้งหน่วยงานฮังการีให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไปด้วย

5. แรงงานที่จะเดินทางมาทำงานจะต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้าน เช่น การสื่อสารพื้นฐาน ซึ่งควรมีความรู้พื้นฐานในด้านภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่น และควรระมัดระวังเก็บเอกสารสำคัญต่างๆไว้ด้วยตนเอง เช่น หนังสือเดินทาง ใบประกาศนียบัตรจากสถาบันนวดแผนไทย ใบอนุญาตทำงาน ฯลฯ ไม่ควรให้ผู้อื่นเก็บเอกสารดังกล่าวไว้ เพราะนอกจากอาจถูกเอารัดเอาเปรียบโดยนายจ้างใช้เป็นข้อต่อรองต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ปฏิบัติตามแล้วอาจถูกนำไปใช้ในทางมิจฉาชีพอื่นๆด้วย

6. แรงงานที่เดินทางมาทำงานควรสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่กระทรวงแรงงาน โดยจ่ายค่าสมาชิกเพียง 500 บาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อแรงงาน เพราะสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองครอบคลุมถึง ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินในการเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อตกทุกข์ได้ยาก หรือ การได้รับค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความต่อสู้คดีในศาลกรณีที่ถูกนายจ้างเอาเปรียบ

7. แรงงานจะต้องไม่ลงนามในสัญญาจ้างฉบับใหม่ใดๆ นอกเหนือจากสัญญาที่ได้รับการตรวจสอบจากสถานเอกอัครราชทูตฯ แล้ว แม้จะได้รับการขอร้องหรือบังคับจากนายจ้างซึ่งมักอ้างว่าเพื่อนำไปขอ stay permit ในฮังการี เนื่องจากจะเป็นหนทางไปสู่การหลอกลวงหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ และมักจะมีข้อความแตกต่างจากสัญญาฉบับเดิม ทั้งนี้ หากแรงงานไม่แน่ใจส่งสำเนาสัญญาจ้างฉบับใหม่ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ตรวจสอบก่อนลงนาม

8. พึงระวังการชักชวนจากแหล่งต่างๆ เกี่ยวกับการไปทำงานที่ร้านนวดแห่งใหม่ ซึ่งกำลังเป็นลู่ทางที่ได้รับความนิยมจากนายจ้าง เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่านำแรงงานนวดแผนไทยมาจากประเทศไทย ซึ่งตามกฎหมายแรงงานฮังการี การเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือย้ายร้านจะต้องได้รับการอนุมัติจากนายจ้างคนเดิม และหากหลบหนีออกจากร้านโดยพลการอาจถูกนายจ้างแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยกเลิกวีซ่าทำงานได้ ซึ่งจะเป็นผลให้แรงงานที่หลบหนีนายจ้างประสบความยากลำบากในการขออยู่ต่อหรือทำงานในฮังการีต่อไปด้วย และหลายรายจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทย นอกจากนี้ควรใช้ความระมัดระวังในการถูกชักชวนไปทำงานในประเทศที่สาม เช่น อิตาลี หรือสโลวัก โดยอาศัยช่องทางการเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนหรือท่องเที่ยว ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับแจ้งว่ามีหลายรายโดนส่งตัวกลับประเทศไทยเนื่องจากนายจ้างใหม่ไม่สามารถเดินเรื่องขอวีซ่าทำงานให้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เสียทั้งเวลาและโอกาสในการทำงานที่ฮังการีและอาจถูกบันทึกไว้ในระบบเช็งเก้นมิให้เดินทางเข้าในเขตยุโรปอีกเป็นระยะเวลา 5 ปีด้วย

9. สำหรับกรณีดังเช่นข้อ 8 ซึ่งแรงงานไทยหลบหนีออกจากร้านหรือเปลี่ยนร้านโดยพลการนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอเรียนว่าการกระทำการใดๆ โดยพลการนั้น เป็นการละเมิดสัญญาจ้างงาน และหากไม่มีความจำเป็นและเหตุผลอย่างเพียงพอแล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ ก็ไม่อยู่ในฐานะจะดำเนินการไกล่เกลี่ยหรือดำเนินการใดๆกับทางร้านได้ จึงขอให้แจ้งฝ่ายกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบถึงปัญหาของแรงงานในชั้นต้นที่หมายเลขโทรศัพท์ +361 438 4020 ก่อน

10. ขอให้แรงงานไทยตรวจสอบหนังสือเดินทางและวีซ่าทำงานอย่างสม่ำเสมอ ว่าใกล้หมดอายุแล้วหรือยัง ซึ่งการทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ควรทำล่วงหน้าก่อนหนังสือเดินทางเล่มเดิมหมดอายุ 6 เดือน และการต่ออายุวีซ่าทำงานในฮังการีจะต้องใช้เวลาล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน

11. แรงงานไทยพึงระลึกว่าการทำงานนวดแผนไทย นอกจากเป็นการทำงานเพื่อสร้างรายได้แก่ครอบครัวแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของวิชานวดแผนไทย รวมทั้งเป็นการแสดงถึงความสามารถและทักษะของแรงงานไทยให้ชาวต่างชาติได้ประจักษ์ ควรระลึกอยู่เสมอถึงความสำคัญของวิชาที่ตนได้รับลการศึกษาอบรมจากครูบาอาจารย์ต่างๆ โดยขอให้ประกอบอาชีพโดยมีจิตสำนึกและจริยธรรมอันดี หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะสร้างความเสื่อมเสียต่อวิชาที่ได้ศึกษามา

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบาดาเปสต์
3 พฤษภาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น