วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การอบรมความรู้ด้านกงสุลแก่อาสาสมัครชาวไทยในไต้หวัน

ท่านผู้อำนวยการใหญ่ วิบูลย์ คูสกุล กล่าวเปิดการอบรม

บรรยากาศการอบรมความรู้ด้านกงสุลเมื่อ 26 เมษายน 2554 ณ ห้องประชุมที่ทำการสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ซึ่งคุณโสรัจ สุขถาวร เลขานุการเอก (คนที่สามจากซ้ายมือ) และคุณกิตติวุฒิ ภิญโญวิทย์ เลขานุการโท (ที่สามจากขวามือ) เป็นวิทยากร

ผู้เข้ารับการอบรมถ่ายภาพร่วมกับคุณโสรัจ สุขถาวร เลขานุการเอก

ที่ตั้งสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป
No. 168, 12th Floor,
Sung Chiang Road,
Chungshan District, Taipei 104
Tel. (88-62) 2581-1979
Fax. (88-62) 2581-8707
E-mail : tteo@ms22.hinet.net


การอบรมความรู้ด้านกงสุลแก่อาสาสมัครชาวไทยในไต้หวัน



สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 สำนักงานฯได้จัดอบรมความรู้ด้านกงสุลให้แก่อาสาสสมัครชาวไทย จำนวน 13 คน จากมูลนิธิไซ่เจินจู และฝ่ายบริการนานาชาติของเขตนครไทเปใหม่ รวมทั้งสายด่วน 1955 (สายด่วนสำหรับแรงงานไทยในไต้หวัน) ณ ที่ทำการสำนักงานการค้าฯ

อาสาสมัครดังกล่าวเป็นผู้ช่วยตอบปัญหาทางโทรศัพท์ให้แก่คู่สมรสชาวไทยในไต้หวัน ซึ่งมีประมาณ 7,000 คน (ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน) โดยคู่สมรสชาวไทยสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลได้ที่มูลนิธิไซ่เจินจู (หมายเลขโทรศัพท์ 0800-088-885) และฝ่ายบริการนานาชาติของนครไทเปใหม่ (หมายเลขโทรศัพท์ 1999 หรือ 02-2960-3456 ต่อ 5123) รวมทั้งสายด่วนสำหรับแรงงานไทย (หมายเลขโทรศัพท์ 1955) ทั้งนี้ อาสาสมัครที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้มีความสนใจเรื่องข้อมูลและขั้นตอนของการสละสัญชาติไทย และการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ถูกกักกันชาวไทยในสถานกักกันต่างๆ

นายวิบูลย์ คูสกุล ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าฯ ได้กล่าวเปิดการอบรมและขอบคุณอาสาสมัครทุกคนที่สละเวลาของตนเพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในไต้หวัน โดยผู้อำนวยการใหญ่ฯ ได้บรรยายสรุปสถานะล่าสุดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวันให้อาสาสมัครทราบเพื่อเป็นข้อมูลด้วย

นายโสรัจ สุขถาวร เลขานุการเอก ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขอสละสัญชาติไทยให้อาสาสมัครทราบตามคำร้องขอเพื่ออาสาสมัครจะได้สามารถช่วยตอบคำถามและให้คำแนะนำในเบื้องต้นแก่คู่สมรสไทยที่โทรศัพท์ไปสอบถาม

นายกิตติวุฒิ ภิญโญวิทย์ เลขานุการโท ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและดูแลคนไทยได้ชี้แจงเบื้องต้นเกี่ยวกับกรณีแรงงานไทยถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันจับกุมในข้อหาปลอมแปลงเอกสารจากการเปลี่ยนชื่อ – นามสกุล ว่า ปัจจุบันสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันมีความเข้มงวดในการตรวจสอบประวัติแรงงานไทยจากฐานข้อมูล ลายนิ้วมือ ทำให้มีแรงงานไทยที่เปลี่ยนชื่อ – สกุล ก่อนกลับเข้ามาทำงานในไต้หวันอีกครั้ง ถูกจับกุมหลายราย ซึ่งสำนักงานการค้าฯ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการท้องถิ่น และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วไต้หวันชี้แจงเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ-สกุลของคนไทยว่า เป็นสิทธิที่คนไทยสามารถเปลี่ยนชื่อ-สกุลได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ต่างจากกฎหมายไต้หวัน นอกจากนี้ สำนักงานการค้ายังให้ความช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมในกรณีดังกล่าว โดยประสานกับสำนักงานแรงงานเพื่อติดต่อกับบริษัทจัดหางานให้คืนค่านายหน้าบางส่วนแก่แรงงานที่ถูกจับกุม เนื่องจากแรงงานยังมิได้เริ่มและไม่มีโอกาสทำงานกับบริษัทนายจ้างในไต้หวันอีกต่อไป รวมทั้งได้ยกตัวอย่างกรณีนายอมฤต สุรภีร์ แรงงานไทยซึ่งสำนักงานการค้าฯ และสำนักงานแรงงานไทยไทเป ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายจนกระทั่งสำนักงานอัยการท้องถิ่นไถจงได้ตัดสินว่าการเปลี่ยนชื่อ-สกุลไม่ถือว่าเป็นความผิดในคดีปลอมแปลงเอกสาร แต่นายอมฤตฯ มีความผิดในการเจตนาให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อกลับเข้าไปทำงานในไต้หวันเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ 9 ปี อย่างไรก็ตาม สำนักอัยการฯ ไม่ติดใจส่งฟ้องคดีดังกล่าวและได้พิจารณาเนรเทศนายอมฤตฯ กลับประเทศไทยแทน

อาสาสมัครฯ ได้ขอบคุณสำนักงานการค้าฯ ที่จัดการพบปะหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลงานด้านกงสุลกับอาสาสมัครฯอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งแจ้งว่ามูลนิธิไซ่เจินจูและฝ่ายบริการนานาชาติของเขตนครไทเปใหม่มีความชื่นชมสำนักงานการค้าที่ให้ความสำคัญกับอาสาสมัครชาวไทยโดยจัดการอบรมให้ความรู้ต่างๆแก่อาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง และทั้งสองหน่วยงานเห็นพ้องว่าสำนักงานการค้าฯ เป็นสำนักงานที่ให้ความช่วยเหลือดูแลคนชาติอย่างจริงจังและจริงใจมากกว่าทุกสำนักงานผู้แทนประเทศอื่นๆ ที่มีแรงงานของชาติคนในไต้หวัน

สำนักงานการค้าฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไต้หวันเพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลคนไทยในไต้หวันอย่างต่อเนื่องเพราะตระหนักถึงบทบาทและหน้า ที่ขององค์กรและหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งได้มีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยเหลือดูแลคนไทยในไต้หวัน โดยสำนักงานการค้าฯ ได้ร่วมมือกับอาสาสมัครชาวไทยอย่างใกล้ชิดและเชิญอาสาสมัครเข้าร่วมอบรมโครงการต่างๆ อาทิ “การอบรมสุขภาพจิตของผู้ให้บริการตอบคำถามทางโทรศัพท์ และความรู้เรื่องการคุ้มครองสิทธิ” ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานการค้าฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2553 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำอัยการคุ้มครองสิทธิ และนักสุขภาพจิตไปดูแลแรงงานไทยในไต้หวัน รวมทั้งเชิญเข้าร่วมโครงการอบรมเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ไทเปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553



ที่มา: สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น