วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาการทำงานนวดแผนไทยในฮังการี

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

ปัญหาการทำงานนวดแผนไทยในฮังการี



(ปัจจุบันมีแรงงานนวดแผนไทยเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศฮังการีกว่า 500 คน และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์จึงได้จัดทำข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในฮังการีทราบ)

ปัจจุบันมีแรงงานไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานสตรีสนใจที่จะเข้ามาทำงานนวดแผนไทยตามร้านนวดต่างๆในฮังการี ซึ่งส่วนมากเป็นร้านนวดขนาดเล็กและมีหลายแห่งตั้งอยู่ในโรงแรมต่างๆ เนื่องจากเมื่อเปรียบกับประเทศยุโรปอื่นๆแล้ว แม้ว่าจะได้เงินเดือนน้อยกว่า กล่าวคือเฉลี่ยแล้วได้เงินเดือนประมาณ 600 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 450 ยูโรต่อเดือน แต่การเข้ามาทำงานในฮังการีนั้นค่อนข้างจะสามารถกระทำได้ง่ายกว่าจึงได้รับความนิยมและมีผู้ประสงค์จะเดินทางเข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ที่ประสงค์จะทำงานที่ฮังการีและผู้ที่ประสงค์จะใช้ฮังการีเป็นฐานเพื่อย้ายไปทำงานในประเทศยุโรปอื่น โดยการเข้ามาทำงานในฮังการีนั้น ส่วนมากจะได้รับการชักชวนจากเพื่อน คนรู้จัก รวมทั้งการสืบหาข้อมูลทั้งจากโรงเรียนสอนนวดไทยต่างๆ อาทิ วัดโพธิ์ และโรงเรียนสอนนวดไทยตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการทั่วไปซึ่งตั้งอยู่ทั่วประเทศ แต่ส่วนมากจะมีตัวแทนของบริษัทและร้านนวดเป็นผู้ชักชวนและจัดหาจากประเทศไทย

โดยภาพรวมแล้ว การเข้ามาทำงานเป็นพนักงานนวดแผนไทยในฮังการี จะเป็นการเข้ามาทำงานโดยเป็นการตกลงจ้างงานระหว่างแรงงานไทยและผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากกรณีของแรงงานไทยในประเทศอื่นๆ ที่ติดต่อผ่านบริษัทจัดหางาน และเนื่องจากเป็นการจ้างงานโดยตรงจึงทำให้เกิดกรณีที่ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิพึงได้ตามกฎหมายจากผู้จ้างในกรณีต่าง ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ มักได้รับการร้องเรียน เช่น ได้รับเงินเดือนไม่ตรงตามสัญญา การจ่ายเงินเดือนล่าช้า รวมทั้งการบังคับให้ทำงานเกินที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง การค้างจ่ายเงินค่าล่วงเวลา การปฏิเสธจ่ายค่าบัตรโดยสารเครื่องบินให้แรงงานไทยเดินทางกลับเมื่อทำงานครบสัญญา เป็นต้น

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเข้มงวดกับการพิจารณาสัญญาจ้างที่นำมายื่นต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งกำหนดให้สัญญาจะต้องมีข้อความภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยประกอบควบคู่ไปกับภาษาท้องถิ่นด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถตรวจสอบข้อความในสัญญาได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้สัญญาจะต้องระบุเนื้อความต่างๆให้ชัดเจนและเป็นไปตามกฎหมายแรงงานของฮังการี เช่น ระบุเงินเดือน สถานที่ทำงาน จำนวนชั่วโมงทำงาน เงินเดือน วันจ่ายเงินเดือน การจ่ายค่าล่วงเวลา วันหยุดตามกฎหมาย เงื่อนไขในการยกเลิกสัญญา การรับผิดชอบต่อประกันสังคมและประกันสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่กระนั้นยังพบว่ามีหลายกรณีเมื่อแรงงานไทยเดินทางมาถึงฮังการีแล้ว นายจ้างได้บังคับหรือข่มขู่ให้ทำสัญญาจ้างอีกฉบับหนึ่งหรือบังคับให้ลงนามในเอกสารที่เป็นภาษาฮังการี ซึ่งแรงงานไทยไม่สามารถเข้าใจได้ถ่องแท้ และสร้างความไม่ยุติธรรมแก่แรงงานไทยเพื่อประโยชน์ของนายจ้างฝ่ายเดียว โดยนายจ้างมักอ้างว่าจะต้องใช้เอกสารดังกล่าวไปแจ้งต่อหน่วยงานฮังการีและโดยมากมิได้แจ้งสาเหตุที่แท้จริงทั้งหมดให้แรงงานทราบ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวของนายจ้างยังอาจมีจุดประสงค์อื่นๆ อาทิ เพื่อเลี่ยงภาษีของร้าน ซึ่งหากเป็นไปได้แรงงานไทยไม่ควรลงนามในเอกสารใดๆที่ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้เพื่อรักษาประโยชน์ของตน และหากมีปัญหาสามารถปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตเพื่อตรวจสอบเนื้อหาก่อนลงนามได้

นอกเหนือจากปัญหาข้างต้น ปัจจุบันปัญหาที่พบมีลักษณะที่แรงงานไทยเป็นฝ่ายกระทำผิดกฎหมายแรงงานฮังการี อาทิ การถูกชักชวนให้ไปทำงานที่ร้านอื่นในฮังการี โดยเสนอเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นเพื่อล่อใจให้ไปทำงาน และพบว่ามีพนักงานนวดหลายรายหลบหนีออกจากร้านนวดเพื่อไปทำงานในร้านใหม่ที่ให้ค่าจ้างสูงกว่า ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ขอให้โปรดพิจารณาให้รอบรอบ เนื่องจากตามกฎหมายฮังการี การย้ายร้านไปทำงานในร้านใหม่จะต้องได้รับการยินยอมจากร้านเดิมที่ทำงานอยู่ให้ลาออกก่อนเท่านั้น นอกจากนั้นยังพบด้วยว่ามีการชักชวนแรงงานไทยไปทำงานนวดแผนไทยในประเทศที่สาม เช่น อิตาลี โดยมักเป็นการชักชวนให้ไปเที่ยวพักผ่อนโดยถือโอกาสดังกล่าวทำงานด้วย ทั้งนี้เจ้าของร้านที่ทำงานใหม่มักอ้างว่าสามารถออกวีซ่าทำงานที่ประเทศนั้นๆ ได้ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับการร้องเรียนหลายกรณีว่าในท้ายที่สุดนายจ้างใหม่ก็ไม่สามารถต่อวีซ่าทำงานได้ และแรงงานต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากวีซ่าหมดอายุลง

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่พึงสังวรสำหรับแรงงานนวดไทยที่ประสงค์จะเดินทางมาทำงานที่ฮังการีและต่างประเทศ คือการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยว ทั้งจากครอบครัว และการที่ต้องทำงานในห้องที่คับแคบ หรือต้องทำงานคนเดียวหรือสองคนในร้านที่มีขนาดเล็กและอยู่ห่างไกลความเจริญ และการไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าของร้าน รวมทั้งปัญหาการทะเลาะกับเพื่อร่วมงานชาวไทย ซึ่งแรงงานจะต้องสามารถอดทน อดกลั้นอย่างมากต่อสภาวะแรงกดดันในสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีการทำงานลักษณะเดียวกันในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า มีบางกรณีได้ถูกนายจ้างหรือลูกค้าละเมิดทางเพศด้วย จึงขอให้พึงระวังก่อนตัดสินใจเดินทางมาทำงานในฮังการี


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์
3 พฤษภาคม 2554

1 ความคิดเห็น:

  1. อยากทราบว่าทำสัญญา2ปี แต่อยูไม่ครบ2ปีอยู่แค่หมดวีซ่า1ปีแล้วกลับประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง...นอกจากค่าตั๋วเครื่องบิน..

    ตอบลบ