วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(20 พฤษภาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(20 พฤษภาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 23.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 15,148 ราย สูญหาย 8,881 ราย (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 20 พ.ค. 2554)

1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค (Aftershock)

- องค์กรอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ได้รายงาน Aftershock ของวันที่ 20 พ.ค. 2554 ดังนี้

เวลา 15.53 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.อิบารากิ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.6 ริกเตอร์


เวลา 14.28 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.2 ริกเตอร์


เวลา 07.46 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.อิบารากิ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.8 ริกเตอร์

ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานสึนามิและความเสียหายจากการเกิดอาฟเตอร์ช็อคข้างต้น

- มีรายงานว่า ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 จำนวนอย่างน้อย 524 คน ได้เสียชีวิตเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว นิวมอเนีย ความเหนื่อยล้า ความเครียด รวมทั้งภูมิคุ้มกันต่ำลงและความดันโลหิตสูง เนื่องจากพำนักอยู่ในศูนย์อพยพเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และมีการพบผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กอายุ 2 ขวบ เนื่องจากอาการขาดน้ำ และโรคติดต่อ

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)

- สถานการณ์ในเตาปฏิกรณ์ต่าง ๆ

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) สามารถตรวจวัดระดับปริมาณน้ำที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในระดับสูงที่ไหลรั่วลงไปที่ชั้นใต้ดินของอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 จากรอยรั่วที่เกิดจากการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว พบว่ามีความสูงอยู่ที่ประมาณ 4.2 เมตร ทั้งนี้ TEPCO มีแผนจะกำจัดน้ำที่มีกัมมันตรังสีในปริมาณสูงดังกล่าวและนำไปใช้ในระบบหล่อเย็นภายในตัวอาคารต่อไปเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 TEPCO ได้ส่งพนักงานเข้าไปในอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ครั้งแรกหลังจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2554 และมีแผนจะฉีดก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว เพื่อป้องกันการระเบิดไนโตรเจน ปริมาณกัมมันตภาพรังสีในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 อยู่ที่ปริมาณ 10,000 - 50,000 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ซึ่งต่ำกว่าปริมาณในเตาหมายเลข 1 อย่างไรก็ดี พบว่ามีปัญหาไอน้ำจำนวนมากภายในอาคารสืบเนื่องจากความร้อนของแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วจึงได้วางแผนจะติดตั้งระบบหล่อเย็นเพื่อลดปริมาณไอน้ำดังกล่าวภายในสองสัปดาห์เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2554 TEPCO ได้ส่งพนักงานเข้าไปในอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เป็นครั้งแรกหลังจากเกิดเหตุระเบิดไนโตรเจนพบว่ามีปริมาณกัมมันตภาพรังสีสูงมากถึง 160,000 – 170,000 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ใกล้ประตู containment vessel ทางบริษัทจึงวางแผนจะฉีดก๊าซไนโตรเจนจากมุมอื่นและติดตั้งแผ่นตะกั่วเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีทั้งนี้ พบปริมาณซีเซียม134 ในน้ำบริเวณเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 สูงกว่าระดับมาตรฐาน 1,800 เท่า เพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 550 เท่า ที่วัดได้เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2554 ทั้งนี้ มีการตรวจพบซีเซียม134 สูงกว่าระดับมาตรฐาน 1.8 เท่า ที่ระยะ 330 เมตร ทางทิศใต้ของประตูบำบัดน้ำเสียของอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1-4

- วันที่ 19 พ.ค. 2554 องค์การสาธารณสุขประจำ จ.โอซากา แถลงผลการสุ่มตรวจปริมาณกัมมันตรังสี ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.- 2 พ.ค. 2554 ว่า พบปริมาณสารซีเซียม134 และสารซีเซียม137 ใน จ.โอซากา สูงกว่าปริมาณที่พบปกติ 100 เท่า และสันนิษฐานว่ากัมมันตรังสีดังกล่าวลอยมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ อย่างไรก็ดี ปริมาณดังกล่าวยังน้อยกว่า 1/10,000 ของปริมาณซีเซียมที่จะได้รับตามธรรมชาติตลอดทั้งปีและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

- วันที่ 19 พ.ค. 2554 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ประกาศแผนจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษาเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 และแนวทางในการปรับปรุงระบบเตือนภัยสึนามิรวมทั้งแผนในการอพยพประชาชน โดยจะจัดการประชุมคณะกรรมการครั้งแรกในวันที่ 8 มิ.ย. 2554

- วันที่ 17 พ.ค. 2554 ซึ่งครบ 1 เดือน หลังจากที่มี roadmap ฉบับแรกออกมา รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัท

การไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ได้ประกาศ roadmap ฉบับทบทวน ดังนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น มี roadmap ที่แบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าไดอิฉิ ซึ่งเป็นการดำเนินการของ TEPCO โดยรัฐบาลจะมีหน้าที่คอยสนับสนุน เช่น ตรวจสอบความคืบหน้า ดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติงาน และความร่วมมือจากต่างประเทศ และ 2) การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นิวเคลียร์ อาทิ การจัดหาที่พักชั่วคราวแบบเบ็ดเสร็จ การหางานให้แก่ผู้อพยพ การให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และการจ่ายเงินชดเชย ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนจะกำจัดซากปรักหักพังบริเวณที่พักอาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิภายในสิ้นเดือน ส.ค. 2554 โดยจะสร้างที่พักชั่วคราวสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบและปิดศูนย์อพยพภายในกลางเดือน ส.ค. 2554 สำหรับ TEPCO ยังคงมีเป้าหมายเหมือนเดิม โดยให้การดำเนินการควบคุมสถานการณ์สำเร็จภายใน 6-9 เดือน โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากแผนเดิมคือ นำเรื่อง aftershock และประเด็นเรื่องน้ำขังที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในอาคารเตาปฏิกรณ์เข้าพิจารณาด้วย

1.4 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.4.1 ณ วันที่ 25 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 2 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และ สอท. ของอีก 2 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ

1.4.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆจำนวน 21 ประเทศออก คำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของแต่ละประเทศ

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การติดตามระดับกัมมันตรังสี

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสีที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ วันที่ 9 พ.ค 2554 เวลา 15.00 น. อยู่ที่ระดับ 19.3 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เท่ากับปริมาณที่วัดได้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2554 เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.024 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.103 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.066 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.) (ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมจาก ปส.)

การใช้บริการสายการบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2554 ดังนี้

กรุงเทพฯ – นาริตะ

เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 58.65% (ลดลงจาก 70.40% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 73.01% (ลดลงจาก 86.13% ในวันก่อน)

นาริตะ – กรุงเทพฯ

เที่ยวบิน TG643 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 59.47% (เพิ่มขึ้นจาก 45.90% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 44.55% (ลดลงจาก 44.92% ในวันก่อน)

2.2 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น

2.1.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ Aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย แต่ในชั้นนี้ยังไม่ได้รับรายงานคนไทยเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากวิบัติภัยดังกล่าว

2.1.2 ข่าวสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นฉบับล่าสุด” ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2554 มีเนื้อหาดังนี้ “ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศเตือนขอให้คนไทยติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เกี่ยวกับการเดินทางไปญี่ปุ่นนั้น ขอเรียนว่า ในชั้นนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจากอาฟเตอร์ช็อค (Aftershock) อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด”

2.1.3 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้

(1) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

(2) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ช.ม.)

(3) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp

2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.3.1 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ณ เวลา 15.00 น. จำนวน 57,743,899.83 ล้านบาท (ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้โอนเงินงวดแรกจำนวน 125 ล้านบาท ให้ สอท. ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 เพื่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวนำไปมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว)

2.3.2 รัฐบาลไทยได้จัดส่งคณะกุมารแพทย์จำนวน 2 คณะ คณะละ 2 คน เดินทางไปปฏิบัติงานร่วมกับทีมแพทย์ของญี่ปุ่นที่โรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยการแพทย์ฟุคุชิมะเพื่อดูแลผู้อพยพโดยเฉพาะเด็กในบริเวณที่พักชั่วคราวในเมืองฟุคุชิมะ ตามคำร้องขอของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยคณะที่ 1 มีกำหนดปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 9 - 20 พ.ค. 2554 และคณะที่ 2 จะปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 23 พ.ค. – 3 มิ.ย. 2554

2.4 สถิติคนไทย

2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูล สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) และจำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน)

2.4.3 ในชั้นนี้ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ มีจำนวน 157 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 42 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น