วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

โมชาฟ คิบบุตส์ และแรงงานไทย


โมชาฟ คิบบุตส์ และแรงงานไทย

ประเทศอิสราเอลและประเทศไทยดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กันอย่างชัดเจนเมื่อมองโดยผิวเผินทั้งจากสายตาชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้เมื่อมีเหตุการณ์คนไทย 1 คน เสียชีวิตจากจรวดที่ยิงมาจากฉนวนกาซาเมื่อเดือน มี.ค. 2553 ที่ผ่านมาจึงทำให้สำนักข่าว BBC ในขณะนั้นให้ความสนใจและทำสกูปรายงานข่าวเจาะลึกเรื่องแรงงานไทยในอิสราเอล ซึ่งเป็นการรายงานข่าวในเชิงประหลาดใจที่ทราบว่ามีแรงงานไทยทำงานอยู่ในภาค การเกษตรในอิสราเอลอยู่เกือบถึง 30,000 คน ทำไมคนอิสราเอลจึงจำเป็นต้องจ้างแรงงานไกลจากเอเชียตะวันออกและทำไมต้องเป็นประเทศไทยนี่เป็นคำถามหนึ่งที่นักข่าว BBC ชวนให้ผู้อ่านขบคิดและผมจะได้ให้คำตอบในรายละเอียดต่อไปในบทความนี้ อีกคำถามหนึ่งที่ผมได้เคยถูกถามโดยเพื่อนร่วมงานที่เมืองไทยที่พอจะมีความ รู้เรื่องอิสราเอลอยู่บ้างว่า เคยทราบว่าคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลนั้นจะทำงานในฟาร์มที่เรียกว่าโมชาฟ (Moshav) หรือ คิบบุตส์ (Kibbutz) แล้วทั้ง 2 อย่างนี้มันต่างกันยังไง ฟาร์มแบบไหนที่จะดีกับแรงงานไทยมากกว่ากัน ซึ่งผมขอยอมรับว่าตอบคำถามนี้ในตอนนั้นอย่างชัดเจนไม่ได้ จึงตั้งใจจะใช้บทความนี้อธิบายความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 อย่างละกันครับ

เอาประเด็นแรกในเรื่องทำไมคนอิสราเอลจึงจำเป็นต้องจ้างแรงงานจากประเทศที่ ห่างไกลเช่นประเทศไทยก่อน จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน แรกเริ่มเดิมทีคนไทยได้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลมาตั้งแต่ปี 2523 แต่มีจำนวนไม่มากและส่วนใหญ่ก็ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น เป็นพ่อครัว ช่างฝีมือต่างๆ ในปี 2527 แรงงานไทยก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นพันคน โดยเข้าไปทำงานในรูปอาสาสมัครตามคิบบุตส์ และ โมชาฟซึ่งผมจะอธิบายต่อไปว่าทั้ง 2 อย่างต่างกันอย่างไร ต่อมาในปี 2537 หลังจากปิดพรมแดนอิสราเอลกับเขตยึดครองเพื่อป้องกันปัญหาการก่อการร้าย จากกลุ่มปาเลสไตน์หัวรุนแรง ทางการอิสราเอลได้อนุญาตให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติแทนคนงานปาเลสไตน์ใน ภาคก่อสร้าง และภาคเกษตรทำให้คนไทยได้เข้าไปทำงานในอิสราเอลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีจำนวนประมาณ 26,700 คนในปัจจุบัน แบ่งเป็นการทำงานในภาคเกษตร ประมาณ 26,000 คน งานก่อสร้างประมาณ 70 คน ช่างเชื่อมประมาณ 30 คน งานร้านอาหารประมาณ 500 คน งานดูแลคนชราหรือคนพิการประมาณ 100 คน นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงมีแรงงานไทยอยู่มากในอิสราเอล คราวนี้ตอบคำถามที่ว่าทำไมต้องเป็นคนไทยที่เป็นแรงงานเกษตร จากที่ได้เห็นผมมีข้อสังเกตว่าแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานที่อิสราเอลนั้น มีการจัดมอบงานให้แต่ละชาติอย่างชัดเจน หรือถ้าใช้ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ก็คือมี division of labour ให้กับคนชาติต่างๆ กล่าวคือ คนฟิลิปปินส์จะทำงานเป็นคนขับรถ ทำงานดูแลผู้สูงอายุทำงานในบ้านซึ่งส่วนใหญ่งานพวกนี้ถือว่าเป็นงานที่ค่อน ข้างสบาย สาเหตุที่เค้าใช้คนฟิลิปปินส์ทำงานด้านนี้ก็เพราะคนฟิลิปปินส์สามารถสื่อสาร ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดในบรรดาแรงงานจากชาติเอเชียตะวันออก ส่วนคนจีนทำงานด้านก่อสร้าง คนไทยทำงานภาคเกษตรเนื่องจากประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งมีความชำนาญ ด้านนี้อยู่แล้ว และเมื่อนายจ้างจ้างคนไทยมาหนึ่งคนก็ต้องจ้างคนงานอื่นๆที่เป็นคนไทยมาอยู่ เป็นเพื่อนถึงจะทำงานและพูดจากันรู้เรื่อง จริง ๆ เรื่องเกี่ยวกับแรงงานไทยในอิสราเอลนี่สามารถเล่าได้เยอะมากครับทั้งเรื่อง ชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาที่เกิดจากนายจ้าง นายหน้าคนไทย คนอิสราเอล เรื่องกฎหมายของอิสราเอลที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งผมคงเล่าทั้งหมดในที่ นี้ไม่ได้และจะพยายามทยอยเล่าให้ฟังเรื่อยๆ ในโอกาสต่อๆ ไปครับ

คราวนี้มาถึงคำถามที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นว่าฟาร์มที่เรียกว่าโมชาฟและ คิบบุตส์นั้นต่างกันอย่างไร ถ้าตอบสั้นๆ โมชาฟ คือหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร ปกครองตนเองภายในชุมชนแบบประชาธิปไตยมีสมาชิกแต่ละแห่งประมาณ 60-200 ครอบครัว แต่ละครอบครัวสามารถมีที่ดินเพื่อทำการเกษตรของตนเอง มีบ้านของตนเอง มีเครื่องมือทำการเกษตรของตนเอง โดยโมชาฟรับผิดชอบด้านการตลาด และจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ให้สมาชิกในราคาถูก รวมทั้งจัดการให้สมาชิกทุกคนได้ใช้น้ำและที่ดินเท่าเทียมกัน สรุปสั้นๆคือการวมตัวของเกษตรกรหลายเจ้าเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

ในขณะที่คิบบุตส์นั้นมีมาก่อนโมชาฟ เป็นชุมชนที่ถือว่าเป็นนิติบุคคลจะมองว่าเป็นเหมือนบริษัทก็ได้ ลักษณะคล้ายคอมมูนในสมัยสังคมนิยมซึ่งสมาชิกเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกันและ ได้รับการแบ่งปันผลกำไรตามผลงานที่ทำได้ในแต่ละปี โดยสมาชิกนอกจากจะได้เงินปันผลแล้ว ถ้าทำงานในคิบบุตส์ก็ยังได้เงินเดือนจากทางคิบบุตส์อีกทางหนึ่งด้วย การจะเข้ามาเป็นสมาชิกคิบบุตส์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องสืบสายเลือดจากคนในคิบบุตส์รุ่นสู่รุ่น หรือ ถ้าจะเข้าใหม่ก็ต้องมีผู้รับรองจึงจะเข้าได้ นอกจากทั้งโมชาฟ และคิบบุตส์จะเป็นฟาร์มเกษตรแล้ว หลายแห่งยังเปิดบ้านพักที่เรียกว่าซิมเมอร์ (กระท่อม)ไว้ภายในเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักโดยตกแต่งบรรยากาศให้สวย งามร่มรื่นท่ามกลางธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีคิบบุตส์อยู่ทั้งหมดจำนวน 267 แห่ง และโมชาฟอยู่ทั้งหมด 448 แห่งทั่วประเทศ

คราวนี้ถ้าถามว่าระหว่างโมชาฟและคิบบุตส์อย่างไหนจะดีกับแรงงานไทยที่เป็น ลูกจ้างมากกว่ากัน ผมก็ขอฟันธงไปเลยครับว่าทำงานในคิบบุตส์ดีกว่าโมชาฟเนื่องจากคิบบุตส์นี่ไม่ มีนายจริงๆ ทุกคนทำงานให้คิบบุตส์โดยมีผู้จัดการคิบบุตส์ดูแลผลประโยชน์ ดังนั้นการดำเนินการต่างๆก็เป็นไปตามกฎหมายซะเป็นส่วนใหญ่และเป็นไปเพื่อ ส่วนรวม ในขณะที่โมชาฟแต่ละฟาร์มในโมชาฟจะมีเกษตรกรเป็นนายจ้างคนงานไทยซึ่งแต่ละคน ก็จะต้องหาทางลดต้นทุนในส่วนของตน ถ้าเจอนายจ้างเห็นแก่ตัวก็อาจใช้วิธีเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยอย่างผิด กฎหมายบ้างเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่เป็นที่น่าเสียใจแทนแรงงานไทยในอิสราเอลที่ปัจจุบันจำนวนคิบบุตส์นั้นลด น้อยลงไปเรื่อยๆ โดยในปีที่ผ่านมามีจำนวนลดลงไปถึง 25% โดยหลายแห่งก็เปลี่ยนการดำเนินงานมาเป็นรูปแบบโมชาฟ สาเหตุก็มีอยู่ 2 ประการคือ ประการแรกคือระบบคิบบุตส์เหมือนระบบสังคมนิยมที่ขาดแรงจูงใจให้คนทำงาน เนื่องจากไม่ว่าทำมากหรือทำน้อยก็ได้เท่ากันทำให้เกษตรกรอยากทำงานในระบบโม ชาฟมากกว่าที่ทำมากได้มากและใช้โมชาฟในการต่อรองเท่านั้น ประการที่สองคือสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปปัจจุบันคนในคิบบุตส์รุ่นหนุ่มสาวต่าง ก็ออกมาทำงานในเมืองโดยทำงานที่สบายกว่าการเกษตร เช่น งานด้านคอมพิวเตอร์ การทำงานใน Office ทำให้คนที่อาศัยและทำงานในคิบบุตส์ปัจจุบันคือผู้สูงอายุที่เคยเข้ามา บุกเบิกแผ้วถางฟาร์มไว้

จริงๆ อิสราเอล การเกษตรและแรงงานเป็นเรื่องที่พูดกันได้ไม่จบสิ้นครับ ผมเคยเดินทางไปกงสุลสัญจรทำหนังสือเดินทางให้แรงงานไทยทางภาคใต้ของอิสราเอล ซึ่งแห้งแล้งมาก ผมดูรูปถ่ายตอนเค้าเข้ามาบุกเบิกใหม่ ๆ ในปี ค.ศ. 1970 ตอนนั้นมีแต่ฝุ่นแดงๆ ไม่มีต้นหญ้าแม้แต่ต้นเดียว แต่ชนชาตินี้มีความพยายามมากสามารถที่จะพลิกฟื้นดินแดงๆที่มีแต่ฝุ่นให้กลับ มาเป็นฟาร์มที่ร่มรื่นได้ซึ่งผมจะพยายามไปสืบเสาะหาข้อมูลว่าเค้าทำอย่างไร และนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ ผมขอจบบทความผมด้วยประโยคนี้โดย Will Rogers ละกันนะครับ “The farmer has to be an optimist or he wouldn’t be a farmer.” เกษตรกรต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีไม่งั้นคงไม่มาเป็นเกษตรกร ซึ่งผมเห็นว่าจริงและนับถือในความสู้ชีวิตของแรงงานไทยในภาคเกษตรที่ อิสราเอลมาก ชีวิตพวกเค้าต้องเผชิญอะไรบ้างนั้นผมขอเล่าในโอกาสต่อไปละกันครับ
------------------------------------------------

นายศุภโชค เย็นทรวง
เลขานุการโท สอท. ณ กรุงเทลอาวีฟ

ที่มา: เรื่องจากเว็บไซต์กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา http://sameaf.mfa.go.th/th/index.php

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมอยากให้กงสุลลงมาดูแลค่าแรง ค่าโอที ตามโมชาฟหน่อยคับ พวกเราได้น้อยมาก ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอิสราเอลอีก พอเราถามนายจ้างก็บอกว่าอยู่ไม่ได้ก็ให้เปลี่ยนนายจ้าง..กรุณาลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยคับ

    ตอบลบ