วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

การคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ : ศึกษาด้านกฎหมายและบทบาทของทูตในประเทศต่าง ๆ


การคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ : ศึกษาด้านกฎหมายและบทบาทของทูตในประเทศต่าง ๆ

(สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร, จิรัตน์ เขียวชอุ่ม และรัชนี คงภักดี. (2552). การคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ : ศึกษาด้านกฎหมายและบทบาทของทูตในประเทศต่าง ๆ : รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.).)

วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาสถานการณ์และสภาพปัญหาของแรงงานไทยในต่างประเทศ มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบทบาทของทูตในประเทศต่าง ๆ ในการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ

จากการศึกษาพบว่า แรงงานไทยจำนวนมากยังคงนิยมไปทำงานในต่างประเทศ แต่รูปแบบของการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ
1. การไปทำงานต่างประเทศผ่านบริษัทจัดหางานมีแนวโน้มลดลง แต่จะเป็นการไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเองมากขึ้น เนื่องจากแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศมีการศึกษาสูงขึ้น ทำให้สามารถติดต่อกับนายจ้างด้วยตนเองได้มากขึ้น และ

2. การไปทำงานต่างประเทศของแรงงานทั่วไปมีแนวโน้มที่ลดลง เพราะแรงงานในประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทยแย่งส่วนแบ่งตลาดไป ในขณะเดียวกันก็มีแรงงานที่ใช้วิชาชีพไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น

สภาพปัญหาของแรงงานไทย ยังคงเป็นปัญหาการถูกหลอกลวงและเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทจัดหางานและนายจ้างชาวต่างชาติ ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการตราพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ขึ้นมาบังคับใช้ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของแรงงานไทยในต่างประเทศให้หมดสิ้นไปได้ ในขณะเดียวกันถึงแม้ในประเทศปลายทางจะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ให้มีการคุ้มครองแรงงานไทยในระดับที่ดี เท่าเทียมกับแรงงานท้องถิ่น แต่ก็ยังมีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยจากนายจ้างอยู่ ในด้านบทบาทของทูต สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ มีบทบาทอย่างมากในการให้การคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ แต่ยังต้องมีสิ่งที่ควรปรับปรุงเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเสนอแนะจากการวิจัยคือ
1. การเปิดเสรีให้แรงงานวิชาชีพไปทำงานต่างประเทศ โดยการอนุญาตให้มีการโฆษณารับสมัครแรงงานวิชาชีพไปทำงานต่างประเทศ

2. ควรมีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนสำหรับดูแลเรื่องกฎระเบียบแรงงาน

3. ให้สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ เพิ่มการหาตลาดสำหรับแรงงานไทย

4. ควรดำเนินการอบรมงานกงสุลให้แก่เจ้าหน้าที่แรงงานที่ประจำในต่างประเทศ และมอบหมายงานกงสุลที่เกี่ยวเนื่องกับแรงงานให้เจ้าหน้าที่แรงงานปฏิบัติ

5. สถานทูตและสำนักงานแรงงานไทยควรมีการจัดหาล่ามไว้บริการแรงงานไทยอย่างเพียงพอ และ

6. ส่งแพทย์ไปตรวจรักษาแรงงานไทยในต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มโครงการสอนภาษาอังกฤษหรือภาษาท้องถิ่นให้แก่แรงงานไทยด้วย

ที่มา: เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://library.cmu.ac.th/rsc/?newsdetail.php&id=127

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น