วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

อุปทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน เข้าพบ ผอ.กรมราชทัณฑ์ของบรูไนและเยี่ยมชมกิจการของทัณฑสถานบรูไน

คุณธวัช สุมิตรเหมาะ
อุปทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน


อุปทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน เข้าพบ ผอ.กรมราชทัณฑ์ของบรูไนและเยี่ยมชมกิจการของทัณฑสถานบรูไน



เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554 ระหว่างเวลา 09.30 - 11.00 น. นายธวัช สุมิตรเหมาะ อุปทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน พร้อมด้วย นายอับดุลวารีส บิลังโหลด จนท. /ผู้ช่วยด้านการเมืองและเศรษฐกิจ และ น.ส. ศรีลักษณ์ พาร์สันส์ จนท. ล่าม สถานเอกอัครราชทูตได้เข้าเยี่ยมคารวะ Haji Jusni bin Haji Abd Latiff ผู้อำนวยการกรมราชทัณฑ์ บรูไน ณ ทัณฑสถานเจรูดอง (Jerudong) โดยมี เจ้าหน้าที่อาวุโส และฝ่ายบริหารของทัณฑสถาน ร่วมให้การต้อนรับ

อุปทูต แจ้งทัณฑสถานว่า ขณะนี้มีนักโทษไทยชาย จำนวน 5 คนที่ถูกกุมขังอยู่ในทัณฑสถานแห่งนี้ (โทษประหารชีวิต 1 คน จำคุกตลอดชีวิต 1 คน โทษระยะสั้น 2 คน และรอขึ้นศาล 1 คน) เดิมมีนักโทษหญิงอยู่บ้างแต่ได้พ้นโทษไปแล้ว ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตได้มาเยี่ยมนักโทษเดือนละครั้ง โดยได้รับความอนุเคราะห์อย่างดีจาก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และได้ทราบว่านักโทษทุกรายได้รับการดูแลอย่างดีและมีความสุขตามอัตภาพ จึงขอขอบคุณทัณฑสถานมา ณ ที่นี้ และหากมีสิ่งใดที่ทางทัณฑสถานต้องการให้ สถานเอกอัครราชทูตสื่อไปยังนักโทษหรือเผยแพร่ข้อพึงระวังแก่คนไทยที่พำนักในบรูไนก็ขอให้แจ้งมาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตได้รายงานข้อกฎหมายของบรูไน/ข้อเตือนใจของการใช้ชีวิตในบรูไนไปยัง กระทรวงการต่างประเทศของไทยมาโดยตลอดอยู่แล้ว เพื่อให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชนไทยก่อนเดินทางมายังบรูไน อันเป็นการช่วยให้ความรู้เพื่อการป้องกันปัญหาที่ต้นทาง ตามแนวนโยบายของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ให้ความสำคัญแก่งานการคุ้มครองดูแลคนไทยในต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง และได้ติดตามการดำเนินการด้านนี้ ของ สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ อย่างใกล้ชิดโดยตลอด

ผู้อำนวยการJusni ได้กล่าวสรุปภารกิจของทัณฑสถาน รายละเอียดของนักโทษไทย และกิจวัตรประจำวันต่างๆ โดยที่ผ่านมานักโทษไทยมีความประพฤติดี ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ทัณฑสถานต้องหนักใจ อาจจะมีปัญหาบ้างในการสื่อข้อความ ซึ่งนักโทษมักจะพูดภาษาอังกฤษ/มลายูไม่ได้ ก็อาจจะเขียนเป็นภาษาไทยลงในกระดาษ ซึ่งทัณฑสถานก็จะติดต่อ สอท.เพื่อขอให้ช่วยแปลข้อความเป็นครั้งๆ ไป โดยปกติทัณฑสถานก็จะจัดกิจกรรมผ่อนคลายให้แก่นักโทษทุกสัปดาห์ อยู่แล้ว อาทิ การนำออกกำลังกายนอกห้องขัง การจัดให้คำปรึกษา การจัดแพทย์มาตรวจสุขภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ ทัณฑสถานยังอนุญาตให้ญาติมิตรของนักโทษสามารถเข้าเยี่ยมนักโทษที่ทัณฑสถานได้ทุก 6 สัปดาห์

ภายหลังการหารือ อุปทูตได้มอบกระเช้าผลไม้ (มะม่วงเขียวเสวย) ซึ่งสั่งซื้อจากร้านค้าของคนไทยในบันดาร์เสรีเบกาวันให้แก่ ผู้อำนวยการJusni หลังจากนั้น ผู้อำนวยการJusni ได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมห้องจัดแสดงนิทรรศการของทัณฑสถาน ที่น่าสนใจ ได้แก่ ห้องขังเดี่ยว (จำลอง) เครื่องมืออุปกรณ์ในการลงโทษด้วยการโบย แท่นประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และตัวอย่างสินค้าหัตถกรรมจากผู้ต้องขัง

ก่อนเดินทางกลับ อุปทูตฯ ได้รับเกียรติให้ลงนามในสมุดเยี่ยมของทัณฑสถาน และถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

บรูไนเป็นประเทศอิสลามที่เคร่งครัด มีบทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงตรงไปตรงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโบยและแขวนคอ (ยังมีบทลงโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคออยู่ แต่ไม่มีการลงโทษจริงตั้งแต่ ปี พ.ศ.2539) ดังจะพบได้ว่าโทษโบยซึ่งมีตั้งแต่ 1 -24 ครั้งแล้วแต่ความหนักเบาของการกระทำผิด ก็น่าจะมีส่วนให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกิดความยับยั้งชั่งใจไม่น้อย โดยเฉพาะโทษข่มขืน จะต้องได้รับโทษเบื้องต้นโดยถูกโบยถึง 24 ครั้ง คราวเดียวจนครบ (การลงหวายแต่ละครั้งจะมีช่วงเว้นประมาณ 15 วินาที) และเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายของบาดแผลที่เกิดจากการโบย 24 ครั้ง ที่ จนท.ทัณฑสถานนำมาแสดงประกอบ (แผลที่เกิดหลังโบยใหม่ๆ และแผลเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน) จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เพราะเหตุใดสังคมบรูไนจึงสงบสุข และมีอัตราอาชญากรรม/อาชญากรรมรุนแรงในระดับที่ต่ำมาก

ที่มา: ข่าวสารนิเทศ วันที่ 20 มกราคม 2554 สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดาลุสซาลัม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น