วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อัครราชทูตไทยในสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการค้ามนุษย์


อัครราชทูตไทยในสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการค้ามนุษย์


เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 นายมนชัย พัชนี อัครราชทูตได้ให้สัมภาษณ์รายการ Get Real ดำเนินรายการโดยนางสาวเจอราดีน โซ ซึ่งแพร่ภาพทางช่องแชนเนล นิวส์ เอเชีย เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในสิงคโปร์ ซึ่งรายการดังกล่าวได้แพร่ภาพออกอากาศเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 เวลา 20.30 น. ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. การค้ามนุษย์ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะที่สิงคโปร์และเมื่อใดก็ตามที่การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ประกอบด้วยประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่านและประเทศปลายทาง ประเทศเหล่านี้ควรมีความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพราะประเทศเดียวจะแก้ไขปัญหาเพียงลำพังไม่สำเร็จ ทั้งนี้ไทยยินดีและพร้อมที่จะให้ควสามร่วมมือกับทางการสิงคโปร์ในเรื่องดังกล่าว เมื่อใดก็ตามที่มีเหยื่อชาวไทย ล่าสุดประเทศไทยเริ่มมีการเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือกับมาเลเซีย

2. อัครราชทูตมนชัยฯ ชี้แจงสถิติจำนวนคนไทยที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในปี 2553 เปรียบเทียบกับปี 2552 ดังนี้

2.1 ปี 2553 ไม่ปรากฏเหยื่อค้ามนุษย์ชาวไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นหญิงไทยที่เคยทำงานบริการทางเพศและเคยเป็นพนักงานนวดหรือสปามาก่อนแล้วในประเทศไทย

2.2 หญิงไทยที่มาติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานทูตส่วนใหญ่ถูกกักกันตัวเป็นพยานในคดีที่เกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ทมางเพศจากสตรีและค้ามนุษย์ในสิงคโปร์โดยไม่รู้ระยะเวลาการดำเนินคดีดังกล่าว

2.3 จากการเก็บข้อมูลของสถานทูตตามที่ผู้ร้องทุกข์ชาวไทยติดต่อขอความช่วยเหลือมีข้อมูลสสถิติดังนี้ 1) ปี 2551 ผู้ร้องทุกข์จำนวน 30 คน ไม่มีเหยื่อค้ามนุษย์ 2) ปี 2552 ผู้ร้องทุกข์จำนวน 20 คน โดย 2 คนเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และปี 2553 มีผู้ร้องทุกข์ 48 คน โดย 1 คน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และ 18 คน ได้เดินทางกลับประเทศไทยหลังจากการสืบสวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว

3. ต่อคำถามที่ว่าสิงคโปร์ควรจะมีกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์หรือไม่ อัครราชทูตมนชัยฯ ตอบว่า ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน กฎหมายในเรื่องนี้จะมีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่สำหรับประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนษย์ 2551 ซึ่งมีคำนิยาม บทลงโทษผู้กระทำผิด การให้ความช่วยเหลือเหยื่อ แนวทางการฟื้นฟูจิตใจ และทีมผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพในแต่ละสาขาที่บูรณาการความร่วมมือกัน โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และการให้คำแนะนำทางด้านจิตใจ ที่สำคัญคือมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ

4. อัครราชทูตมนชัยฯ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทางการสิงคโปร์ยังไม่มีกระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่พยานในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากสตรีและการค้ามนุษย์ในสิงคโปร์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายเพื่อให้บุคคลที่ถูกกันตัวเป็นพยานรู้จักสิทธิพื้นฐานของตนและสามารถปฏิบัติตัวระหว่างรอการสืบพยานคดีในสิงคโปร์ได้อย่างถูกต้องโดยไม่มีการกระทำผิดซ้ำซ้อน รวมทั้งไม่มีการให้คำปรึกษาแนะนำทางด้านจิตใจเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจหรือบรรเทาความเครียดแก่ชาวต่างชาติที่ถูกกักตัวไว้เป็นพยานในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ต้องมีระเบียบหรือข้อกฎหมายมารองรับเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณและการให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ดังนั้นการปล่อยปะละเลยให้บุคคลที่ถูกกันตัวเป็นพยานในคดีฯต้องรอระยะเวลาสิ้นสุดการสืบพยานโดยไม่รู้ระยะเวลาที่แน่นอน จึงส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของบุคคลที่ถูกกันตัวเป็นพยานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น