วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คำเตือนสำหรับแรงงานไทยที่ประสงค์เข้าไปทำงานในมาเลเซีย


คำเตือนสำหรับแรงงานไทยที่ประสงค์เข้าไปทำงานในมาเลเซีย

ปัจจุบันมีมีแรงงานไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียจับกุมและส่งฟ้องศาลเนื่องจากทำผิดกฎหมายเข้าเมืองและกฎหมายแรงงานมาเลเซีย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์จึงจัดทำประเด็นคำเตือนสำหรับแรงงานไทยที่จะเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียดังนี้

1. หากเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียเพื่อการท่องเที่ยว โดยยกเว้นวีซ่า ซึ่งอนญาตให้พำนักในมาเลเซียได้ไม่เกิน 30 วัน ห้ามพำนักเกินกำหนดอนุญาตโดยเด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่มาเลเซียตรวจพบจะถูกปรับวันละ 30 ริงกิต และอาจถูกจำคุก 3-6 เดือน เมื่อพ้นโทษจะถูกนำไปกักขังตามสถานกักกันเพื่อรอส่งกลับประเทศต้นทางอีก 1-2 เดือนก่อนถูกเนรเทศ (1 ริงกิต = 10 บาท)

2. หากเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียโดยยกเว้นวีซ่า 30 วันห้ามหลบเลี่ยงแอบทำงานทุกประเภทเด็ดขาด โดยเฉพาะหญิงไทยที่ได้รับว่าจ้างไปร้องเพลงหรือเต้นรำโคโยตี้ตามสถานบันเทิงต่างๆ หากถูกจับกุมจะถูกดำเนินคดีข้อหาทำงานไม่มีใบอนุญาต และข้อหารอรับแขกเพื่อการค้าประเวณี ซึ่งในการดำเนินคดีข้อกล่าวหาว่ารอรับแขกเพื่อการค้าประเวณี เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจคุมขังผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนได้ครั้งละ 14 วัน 2 ครั้ง และหากการสอบสวนไม่แล้วเสร็จจะขออนุญาตศาลฝากขังได้อีกครั้งละ 14 วัน ซึ่งหากศาลตัดสินจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-12 เดือน

3. หากประสงค์จะไปทำงาน ควรขอวีซ่าทำงานให้ถูกต้องจากสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร หรือสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียที่จังหวัดสงขลา(สอบถามข้อมูลการทำงานได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด) เมื่อเดินทางถึงมาเลเซียให้นายจ้างดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้ถูกต้องในทันที หากวีซ่าจะหมดอายุและยังไม่ได้ใบอนุญาตทำงาน ขอแนะนำให้เดินทางกลับประเทศไทยก่อน ความผิดจากการทำงานไม่มีใบอนุญาต ลูกจ้างจะถูกปรับไม่ต่ำกว่า 200 ริงกิต หรือจำคุก 2-6 เดือนนายจ้างจะถูกปรับรายละ 5,000 ริงกิต หรือจำคุก 6-12 เดือน กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าปรับลูกจ้างจะถูกจำคุกจนกว่าจะตามตัวนายจ้างมาดำเนินคดีได้

4. ปัจจุบันคนต่างด้าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน 4 ประเภท คือพนักงานรักษาความปลอดภัย (security guard) พนักงานเก็บเงิน (cashier) พนักงานนวด (masseur) และพนักงานเสิร์ฟอาหาร (waiter and waitress) หากหญิงหรือชายไทยได้รับการชักชวนให้ไปทำงาน 4 ประเภทดังกล่าวที่ประเทศมาเลเซีย เชื่อได้ว่าจะเป็นการหลอกลวงไปค้าแรงงาน (กรณีที่มีหญิงไทยทำงานนวดอย่างถูกต้องในปัจจุบันเป็นโควต้าใบอนุญาตเดิม ซึ่งทำได้โดยนายจ้างหรือลูกจ้างต้องชำระค่าใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000 ริงกิต แต่ทางการมาเลเซียได้ระงับการให้โควต้างานนวด (massage)แล้ว ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

5. ความผิดกรณีลักลอบนำยาเสพติดทุกประเภทเข้าประเทศมาเลเซียมีโทษสูงสุดประหารชีวิต โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้ายาเสพติดด้วยการกลืนหรือซุกซ่อนในร่างกายจะไม่มีเหตุให้ได้รับลดหย่อนโทษโดยเด็ดขาด
ปรับปรุง: 17 ธันวาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น