วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แรงงานต่างชาติแบบใดที่อียูต้องการ?


แรงงานต่างชาติแบบใดที่อียูต้องการ?
คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป
ศุกร์, 5 พฤศจิกายน 2553

(บทความเรื่อง "ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ แรงงานต่างชาติแบบใดที่อียูคต้องการ ?" ลงพิมพ์อยู่ในเว็บไซต์ไทยยุโรปด็อตเนต กรองยุโรปเพื่อคนไทย กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศเห็นว่าเนื้อหาสาระเป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยและการทำงานคุ้มครองเชิงรุกจึงขออนุญาตเจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวนำบทความมาลงเผยแพร่ไว้ในเว็บบล็อกแห่งนี้เพื่อผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำของบล็อกเราได้ทราบข้อมูลนี้โดยทั่วกันโดยปรับชื่อเรื่องให้ดึงดูดความสนใจในการเข้ามาอ่าน และขอขอบพระคุณเว็บไซต์ดังกล่าวมาณ ที่นี้)

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่ยุโรปหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการรัดเข็มขัด ตัดงบประมาณของรัฐ หมายถึงการจ้างงานที่น้อยลง และการว่างงานที่มากขึ้น (ปัจจุบันอัตราการว่างงานของอียูอยู่ที่ร้อยละ 9.6 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด) ด้วยภาวะดังกล่าว การมีอยู่และเข้ามาใหม่ของแรงงานต่างด้าวมักถูกมองว่าเป็นการเบียดเบียน ทรัพยากรและโอกาสที่มีจำกัดอยู่แล้ว: สื่อในเยอรมนีประโคมประเด็นที่นักการเมืองโจมตีชาวเติร์กในเยอรมนีเพื่อ คะแนนเสียงว่า “ไม่มีประโยชน์ (ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) ทำได้ก็แต่ขายผักขายผลไม้” และ “(พวกเติร์ก) กำลังจะครองเมืองเพราะมีอัตราการเกิดสูง (กว่าคนเยอรมันเอง)” ด้วยความจริงที่ว่าแรงงานต่างด้าวในยุโรปเป็นแรงงานไร้ฝีมือถึงร้อยละ 85 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด กอปรกับมีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี อียูจึงออกระเบียบส่งกลับผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (return directive) เมื่อ 9 ธันวาคม 2008 โดยให้เวลา 7 – 30 วัน ในการพิจารณาตัดสินใจเดินทางกลับประเทศของตน หรือประเทศที่ตนเดินทางผ่าน หรือประเทศอื่นโดยสมัครใจก่อน หากไม่ยินยอมก็จะถูกส่งตัวกลับ

อย่างไรก็ดี ยุโรปกำลังประสบปัญหาโครงสร้างทางประชากร เนื่องจากมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเกิดน้อยลง จนไม่สามารถทดแทนกันได้ทัน โดยภายในปี 2050 ยุโรปจะเหลือคนทำงานเพียง 2 คน ต่อการรับผิดชอบผู้รับบำนาญ 1 คน ในขณะที่ปัจจุบันอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 4:1 ซึ่งนั่นหมายถึงภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว

คณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่า ภาวะประชากรสูงวัยของยุโรป ยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะการขาดแรงงานในบางภาค โดยเฉพาะในภาควิทยาศาสตร์และเทคนิค ซึ่งทำให้ยุโรปเสี่ยงกับความล้าหลังทางการพัฒนาด้านนวัตกรรม (Innovation Development)

สภาวะดังกล่าวทำให้ประเทศสมาชิกอียูต้องการแรงงานจากประเทศที่สามเช่นกัน แต่แรงงานดังกล่าวต้องไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือหรือฝีมือต่ำที่ทำได้เพียงขายผักผลไม้อย่างที่นักการเมืองเยอรมันโจมตี แต่ต้องเป็นแรงงานทักษะสูง (professional / highly-qualified / highly skilled) ที่ในภาคที่อียูยังขาดอยู่ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ยุโรปสามารถขับเคลื่อนในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ทันประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่นสหรัฐฯ และจีน

ความต้องการแรงงานทักษะสูงจากประเทศที่สามมีผลทำให้ทิศทางของการบริหารจัดการ นโยบายเข้าเมืองของประเทศสมาชิกอียูเปลี่ยนไป กล่าวคือ จากที่เคยต่างคนต่างทำ ปัจจุบันเว็บไซท์ของกระทรวงกิจการภายใน (Directorate General Home Affairs) เทียบเท่ากระทรวงมหาดไทย ยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า เผชิญอยู่ รัฐบาลประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียูประกาศรัดเข็มขัดกันถ้วนหน้า ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจเหล่านี้ มีผลกระทบต่อพลเมืองประเทศที่สามในอียูอย่าง แรงงานทักษะสูงจากประเทศที่สาม หากได้รับการจัดการที่ดี จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรของอียูได้

ในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 2007 คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอร่างระเบียบ ว่าด้วยการรับแรงงานทักษะสูงจากประเทศที่สาม (“draft Directive on the admission of highly qualified migrants”) หรือที่นิยมเรียกกันว่าร่างระเบียบ “EU Blue Card” และร่างระเบียบว่าด้วยกระบวนการหนึ่งเดียวเบ็ดเสร็จ ในการสมัครเข้าพำนักและขอใบอนุญาตทำงาน ด้วยสิทธิโดยชอบของแรงงานจากประเทศที่สามที่พำนักอยู่ในอียูอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (“draft Directive establishing a single application procedure for a single residency and work permit and a common set of rights for third-country workers legally residing in the EU”) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าร่างระเบียบ “the Single Permit”

โดยร่างระเบียบดังกล่าวมีจุดประสงค์ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายแรงงานทักษะสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจอียูมีความต้องการ—เป็นสิทธิแบบเดียวกับที่กฎหมายการย้ายถิ่นฐานโดยเสรี (Free Movement of Persons) ในอียู ให้กับพลเมืองของตนในฐานะสิทธิพื้นฐาน

สถานะล่าสุดของ EU Blue Card Directive ปัจจุบันได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะมนตรียุโรปและมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษถาคม 2552 โดยขีดเส้นให้ประเทศสมาชิกนำระเบียบอียูดังกล่าวเข้าสู่สภาและโอนเข้าเป็นกฎหมายแห่งชาติ ภายในเดือนมิถุนายน 2011 (2 ปีหลังจากผ่านร่าง) ส่วนร่าง Single Permit Directive ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่วมรอบที่ 1 ระหว่างคณะมนตรียุโรป และสภายุโรป ภายใต้หลักการตัดสินใจร่วม (co-decision) หลังสนธิสัญญาลิสบอนให้อำนาจสภายุโรปเพิ่มมากขึ้นในการร่วมพิจารณากฎหมาย

ทั้งนี้เชื่อว่าระเบียบใหม่ดังกล่าวจะดึงดูดให้ “หัวกะทิ” ในภาคแรงงานนั้นๆ เข้ามาทำงานในอียูแทนที่จะย้ายถิ่นฐานไปสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราจ้างแรงงานคุณสมบัติสูงจากประเทศที่สามนี้—โดยเฉพาะวิศวกร ช่างเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT—มากกว่าอียูถึงกว่า 10 เท่า กล่าวคือในขณะที่ยุโรปมีแรงงานในลักษณะนี้เพียงร้องละ 5 ในขณะที่สหรัฐฯ มีถึงร้อยละ 55 (ร้อยละ 85 ของแรงงานต่างด้าวในยุโรป เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ในขณะที่สหรัฐฯ มีแรงงานลักษณะนี้เพียงร้องละ 5 เท่านั้น)

อย่างไรก็ดี Blue Card ของอียู ยังมีข้อจำกัดมากกว่า เมื่อเทียบกับ Green Card ของสหรัฐฯ อาทิ
(1) มีอายุบัตรสั้นกว่า--Blue Card: 2 ปี / Green Card: 10 ปี—ซึ่งทำให้โอกาสในการเข้าเป็นบุคคลของสัญชาตินั้นๆ เป็นไปได้ยากกว่าในสหรัฐฯ และยังทำให้แรงงานอาวุโสที่มักมองหาโอกาสการจ้างงานระยะกลางและยาว ตัดสินใจไม่เลือกทำงานในยุโรปอีกด้วย
(2) ผู้ถือบัตรไม่ได้สิทธิในการพำนักถาวร (permanent residency) อย่างที่ผู้ถือ Green Card ของสหรัฐฯได้รับ
(3) ผู้สมัครต้องได้เงินเดือนมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนในประเทศนั้นๆ ถึง 3 เท่า ซึ่งข้อกำหนดนี้ดูจะเป็นปัญหามากที่สุด เพราะไม่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันในแง่ของต้นทุนแก่ประเทศสมาชิก ดังนั้นจึงมีการเจรจากันระหว่างที่ประชุมคณะมนตรียุโรป ซึ่งทำให้เพดานดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 1.5 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนในประเทศนั้นๆ เท่านั้น

นอกจากนี้นโยบายดังกล่าวของอียูยังได้รับการวิจารณ์ว่าจะส่งผลให้วิกฤตปัญหา “สมองไหล” (brain drain) โดยเฉพาะภาคการแพทย์และพยาบาลในประเทศแถบแอฟริกา ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยองค์กรอิสระ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ ได้แนะนำให้นโยบาย Blue Card ของอียู ไม่ว่าจ้างแรงงานจากประเทศที่ภาคนั้นๆ ขาดแคลน และแรงงานที่เข้ามาทำงานในอียู เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง จะต้องเดินทางกลับเพื่อนำประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ ที่ได้ไปพัฒนาประเทศของตน (circular / return migration)

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอล่าสุด 2 ฉบับ จากคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการโยกย้ายแรงงานทักษะสูงภายในบริษัทข้ามชาติ (intra-corporate transfer regarding managerial and qualified employees for branches and subsidiaries of multinational companies) และว่าด้วยการจ้างงานเป็นฤดูกาล (seasonal employment) ที่จะต้องคอยติดตาม เพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลสัญชาติประเทศที่สาม รวมถึงคนไทยที่(จะ)เข้าไปทำงานในอียูภายใต้บริบทดังกล่าว อาทิ ตามที่มีข่าวว่าไปรับจ้างเก็บผลไม้ป่าในประเทศสแกนดิเนเวีย

การมีการจัดการเรื่องการย้ายถิ่นฐานของแรงงานทักษะสูงดังกล่าวอย่างเป็นระบบในกรอบกฎหมายระดับเหนือชาติ เป็นเครื่องยืนยันว่าอียูกำลังมุ่งสู่การมีนโยบายการเข้าเมืองของแรงงานจากประเทศที่สามแบบบูรณาการมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าด้วยอำนาจของสนธิสัญญาลิสบอน ประเด็นการเข้าเมืองฯ จะถูกตัดสินด้วยการมีเสียงข้างมาก ซึ่งหมายความว่าการใช้สิทธิยับยั้ง จากประเทศสมาชิกจะไม่มีผลอีกต่อไปก็ตาม แต่โดยที่ประเด็นดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนสำหรับประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ ระเบียบที่ออกมาในระดับอียูจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่มีผลผูกมัดซึ่งประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ให้ความยืดหยุ่นกับประเทศสมาชิกในการพิจารณาวิธีการที่จะนำหลักการดังกล่าวไปผนวกในระบบกฎหมายของประเทศตนต่อไปอย่างไร

รวมความแล้ว ต่างคนต่างก็มองและมุ่งทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ในยุโรปเขามีระบบรัฐสวัสดิการที่สูงส่ง ย่อมเป็นที่หมายมองของคนนอกอียูที่จะได้รับชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ก็เป็นที่กีดกันของคนในอียูที่ไม่อยากให้ระบบรัฐสวัสดิการ ที่ตนเสียภาษีค้ำจุนมาตลอดชีวิตต้องไปอุ้มคนอื่นที่ไม่ใช่ชาติตน

ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษประกาศมาตรการถาวรควบคุมแรงงานเข้าเมืองจากประเทศที่สาม (ที่ไม่ใช่สัญชาติอียู) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน เมษายน 2554 โดยยืนยันว่าจะให้ความยืดหยุ่น และจะไม่เป็นการกีดกันเอกชนไม่ให้ได้แรงงานทักษะสูงมาทำงาน อนึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการร้องเรียนจากหลายฝ่ายว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะความจริงแล้วแรงงานที่ทะลักเข้ามาในอังกฤษส่วนมาก มาจากประเทศยุโรปตะวันออก และมาตรการดังกล่าวเป็นการกีดกันแรงงานมีฝีมือ อย่างไรก็ดี รัฐบาลอังกฤษยืนยันความจำเป็นในการบริหารและลดจำนวนแรงงานเข้าเมืองที่เข้ามาละเมิดกฏระเบียบและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการและบริการภาครัฐของอังกฤษ อันเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

น่าจับตาดูว่าคณะกรรมาธิการยุโรป จะมองมาตรการดังกล่าวของอังกฤษ ว่าเป็นการขัดต่อหลักการและเหตุผล ภายใต้กรอบกฎหมายระดับเหนือชาติของระเบียบ Blue Card หรือไม่ อย่างไร

ที่มา: เว็บไซต์ไทยยุโรป.เน็ต กรองยุโรป เพื่อคนไทย http://news.thaieurope.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น