วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความรู้และแนวปฏิบัติ สำหรับแรงงานไทยที่จะมาทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี



ความรู้และแนวปฏิบัติ สำหรับแรงงานไทยที่จะมาทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี


1. คุณสมบัติของแรงงานไทยที่สามารถเข้ามาทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
2. สาขาอาชีพเฉพาะที่คนไทยสามารถเดินทางเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ ได้โดยตรง
3. ขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับนายจ้างในการนำแรงงานไทยเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ
- กรณีที่นายจ้างต้องการให้กรมการจัดหางานจัดหาแรงงานไทยให้
- กรณีที่นายจ้างได้คัดเลือกแรงงานไทยแล้วเรียบร้อย


1. คุณสมบัติของแรงงานไทยที่สามารถเข้ามาทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
สำหรับคนต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สหพันธ์ฯ จะให้สิทธิพิเศษกับบุคคลสัญชาติในสหภาพยุโรปเป็นอันดับแรก ได้แก่ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบอร์ก มอลต้า เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย โปรตุเกส สวีเดน สเปน สหรัฐราชอาณาจักร และไซปรัส บุคคลสัญชาติดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตในการทำงานในสหพันธ์ฯ และสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมนีได้โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิพิเศษดังกล่าวยังสงวนไว้ให้กับประเทศในสหภาพยุโรปรุ่นก่อนเท่านั้น ประเทศสมาชิกใหม่ในสหภาพยุโรป ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเชื่อมต่อและปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ ในประเทศให้เข้ากับสภาพยุโรป ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดบางประการในการเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ ประเทศสหภาพยุโรปในกลุ่มนี้ ได้แก่ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวาเนีย เช็ค และฮังการี บุคคลสัญชาติดังกล่าวจะสามารถทำงานในสหพันธ์ฯ ได้ในกรณีที่ดำเนินเรื่องขอใบอนุญาตจากสำนักงาน จัดหางานในส่วนที่ดูแลกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

เป็นที่คาดการณ์ว่าเมื่อไรก็ตามที่พ้นช่วงการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศที่เคยมีข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมันก็จะได้รับสิทธิพิเศษเหมือนประเทศสหภาพยุโรปรุ่นเก่าและเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมนีได้โดยเสรี

สำหรับบุคคลที่มาจากประเทศไทยหรือประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ( European Union) หรือกลุ่มเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area-EEA) หรือบุคคลสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่าง ๆ คือ บุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุญาตให้พำนักอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเสียก่อน และการพำนักอยู่ในสหพันธ์ฯ นั้นจะต้องเป็นลักษณะที่อนุญาตให้ทำงานเลี้ยงชีพในสหพันธ์ฯ ได้ด้วย

บุคคลสัญชาติออสเตรีย อิสราเอล ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกาสามารถยื่นขอสิทธิการพำนักในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อทำงานได้ภายหลังจากที่เดินทางเข้ามาในสหพันธ์ฯ แล้ว โดยการยื่นเรื่องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเยอรมัน ส่วนบุคคลที่มีสัญชาติอื่นจะต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าที่เหมาะสมก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

สรุป แรงงานไทยที่สามารถจะทำงานในสหพันธ์ฯ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. มีถิ่นพำนักอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

2. การพำนักอยู่ในสหพันธ์ฯ จะต้องเป็นลักษณะที่อนุญาตให้ทำงานเลี้ยงชีพในสหพันธ์ฯ ได้ด้วย

3. นักศึกษาที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาในสหพันธ์ฯ จะได้รับวีซ่าให้หางานทำในสหพันธ์ฯ 1-2 ปี หลังจากจบการศึกษา

2. สาขาอาชีพเฉพาะที่คนไทยสามารถเดินทางเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ ได้โดยตรง

2.1. พ่อครัว แม่ครัว
หลักเกณฑ์ในการนำพ่อครัว แม่ครัวเข้ามาทำงานในร้านอาหารไทยในสหพันธ์ฯ ตามระเบียบ พ่อครัว แม่ครัว ต้องมีหลักฐานแสดงการสำเร็จการเรียนหรืออบรมการเป็นพ่อครัว แม่ครัว โดยเฉพาะในร้านอาหารที่ได้รับการรับรองอย่างน้อย 2 ปี สำหรับในบางประเทศที่มีระบบการเรียนหรืออบรมด้านอาชีพแตกต่างออกไป สามารถใช้หลักฐานที่แสดงการทำงานในฐานะพ่อครัว แม่ครัวในร้านอาหารต่างชาติ โดยเฉพาะในประเทศนั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี

- ในประเทศไทย พ่อครัว แม่ครัวจะต้องผ่านการสอบคุณสมบัติจากสถาบันใดสถาบันหนึ่งดังต่อไปนี้

1. สถาบันการศึกษาครัวไทย – สวิส (Thai – Swiss Culinary Education Center)
ที่อยู่ 21/848 หมู่ 2 ซอย 4 บางนา-ตราด บางนา กรุงเทพฯ 10260

2. วิทยาลัยดุสิตธานี (Dusit Thani College)
ที่อยู่ 902 หมู่ 6 ต. ศรีนครินทร์ อ. ประเวศ กรุงเทพฯ 10260

3. มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต (Rajabhat Institute Suan Dusit)
ที่อยู่ 295 ถ. ราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

2.2. พนักงานนวด

- พนักงานนวดจะต้องสำเร็จการศึกษาด้านการนวดแผนไทย ตามกำหนดที่นายจ้างต้องการหรือกำหนดไว้ ซึ่งรวมถึงประสบการณ์ และความสามารถในการใช้ภาษาเยอรมัน หรืออังกฤษด้วย

- นายจ้างจะต้องยื่นเรื่องในการขอพนักงานนวดจากประเทศไทยให้เข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ ที่สำนักงานจัดหางานสหพันธ์ฯ ในเขตพื้นที่ที่ร้านตั้งอยู่เสียก่อน ขั้นตอนและรายละเอียดต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับสำนักงานจัดหางานในแต่ละเขตต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่


3. ขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับนายจ้างในการนำแรงงานไทยเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ (พ่อครัว แม่ครัว หรือพนักงานนวด)
3.1. กรณีนายจ้างต้องการให้กรมการจัดหางานในประเทศไทยจัดหาคนงานไทยให้ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. นายจ้างต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

1). หนังสือมอบอำนาจ (Power of Atteorney) ให้กรมการจัดหางานหาคนงานและยื่นเรื่องขอวีซ่าให้คนงานดังกล่าว

2). หนังสือแจ้งความต้องการที่จะจ้างแรงงานไทย (Demand Letter) โดยระบุสาขาอาชีพที่ต้องการ ลักษณะงาน จำนวนลูกจ้าง คุณสมบัติต่าง ๆ

3). สำเนาใบทะเบียนการค้าหรือจัดตั้งบริษัท

4). สัญญาการจ้างงานเป็นภาษาอังกฤษ

5). หลักฐานต่าง ๆ เพื่อประกอบการยื่นขอวีซ่าให้แรงงานไทย อาทิ No Objection Certificate

2. นายจ้างยื่นเอกสารตามข้อ 1 ให้สำนักงานแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลในต่างประเทศ เพื่อส่งเรื่องต่อให้กับกรมการจัดหางานในประเทศไทย

3.2. กรณีนายจ้างได้คัดเลือกแรงงานไทยที่จะนำเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ แล้ว มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. นายจ้างจะต้องแปลสัญญาจ้างภาษาเยอรมัน หรืออังกฤษ เป็นภาษาไทยโดยล่ามที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง

2. นายจ้างและลูกจ้างจะต้องลงนามในสัญญาจ้างทั้งฉบับภาษาเยอรมันหรืออังกฤษและภาษาไทยหลังจากแปลแล้ว

3. นายจ้างส่งใบสัญญาจ้างฉบับจริง ทั้งภาษาเยอรมันหรืออังกฤษ และภาษาไทย พร้อมทั้งสำเนาการจัดตั้งร้านอาหารหรือการจดทะเบียนการค้ามาให้ฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินตรวจสอบ

ที่อยู่ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ดังนี้

Office of Labour Affairs
Royal Thai Embassy
Lepsiusstr. 64-66
12163 Berlin
โทร. + 49 30 79481231 – 2
โทรสาร. + 49 30 79481518


4. เมื่อฝ่ายแรงงานฯ ตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายแรงงานฯ จะประทับตรารับรองให้ในสัญญาจ้าง และส่งต่อให้นายจ้าง เพื่อให้นายจ้างส่งกลับไปให้ลูกจ้างในประเทศไทย เพื่อถือติดตัวในการเดินทางมายังสหพันธ์ฯ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ณ ท่าอากาศยานในประเทศไทยจะตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ในการทำงานของลูกจ้าง หากไม่มีการรับรองจากฝ่ายแรงงานหรือสถานเอกอัครราชทูตหรือ สถานกงสุลในต่างประเทศ ลูกจ้างอาจไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศไทยได้

การตรวจสอบและรับรองเอกสารของฝ่ายแรงงาน ฯ จะไม่เสียค่าธรรมเนียมในการประทับตราหนังสือรับรองใด ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ นายจ้างและลูกจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการและจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ในการยื่นขอวีซ่าเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ เอง ฝ่ายแรงงานฯ จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการยื่นเรื่องขอหรือการอนุญาตให้หรือไม่ให้วีซ่าของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันในประเทศไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจสอบและรับรองสัญญาจ้างงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเรียบร้อย นายจ้างสามารถส่งตัวอย่างสัญญาจ้างที่เตรียมไว้และแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วให้ฝ่ายแรงงานฯตรวจสอบในชั้นแรกก่อนได้ทางโทรสารที่หมายเลข + 49 30 79481518 หรือติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์ได้ก่อนที่หมายเลข + 49 30 79481231-2


ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน http://www.thaiembassy.de/th/component/content/article/40-announcements/233-alias

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น