วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (28 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (28 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2554



1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 10,901 คน สูญหาย 17,621 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 28 มี.ค. 2554 เวลา 20.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 อาฟเตอร์ช็อค

ในช่วงเช้าของวันที่ 28 มี.ค. 2554 พบว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อคที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น วัดขนาดได้ 6.5 ริกเตอร์ โดยทางการญี่ปุ่นได้ประกาศเตือนภัยการเกิดสึนามิภายหลังจากอาฟเตอร์ช็อคดังกล่าวด้วย แต่ได้ประกาศยกเลิกคำเตือนในเวลาต่อมา

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.3.1 วันที่ 28 มี.ค. 2554 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวตรวจพบว่า น้ำที่ขังอยู่บริเวณอุโมงค์ในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในระดับ 1 ล้านไมโครซีเวิร์ท/ ชม. ในขณะที่น้ำขังในบริวเวณเตาหมายเลข 1 ตรวจพบได้ที่ระดับ 400 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. ขณะนี้บริษัทฯ กำลังตรวจหาสาเหตุของการรั่วไหลอยู่

1.3.2 วันที่ 28 มี.ค. 2554 พนักงานบริษัทการไฟฟ้าโตเกียวจำนวน 3 คน ที่สัมผัสโดนน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีและได้รับบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติงานที่เตาที่ 2 ได้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว โดยในขณะนี้ยังไม่พบอาการผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างใด

1.3.3 วันที่ 28 มี.ค. 2554 ตรวจวัดระดับกัมมันตภาพรังสีสูงสุดได้ที่ จ.ฟุคุชิมะ ที่ระดับ 45 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. จ.อิวาเตะ 0.028 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. จ.อิบารากิ 0.234 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. โตเกียว 0.112 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. ซึ่งโดยภาพรวมระดับกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับคงตัวหรือลดลง และยังไม่มีผลต่อร่างกายแต่อย่างใด

1.4 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.4.1 ณ วันที่ 28 มี.ค. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 11 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ เมืองฮิโรชิมา และเมืองฟุคุโอกะ

1.4.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศได้ออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น โดยรวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น

1.4.3 หลายประเทศ อาทิ รัสเซีย ฮ่องกง สหรัฐฯ สิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ได้ประกาศมาตรการตรวจสอบ/ห้ามนำเข้าสินค้าบริโภคประเภทต่าง ๆ จากญี่ปุ่น อาทิ ออสเตรเลียประกาศกักสินค้าประเภทนม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักผลไม้สด สาหร่ายทะเล อาหารทะเลทั้งสดและแช่แข็ง ที่มีแหล่งผลิตในจังหวัดฟุคุชิมะ อิบารากิ โทจิกิ และกุนมะ สิงคโปร์ประกาศว่า จากการสุ่มตรวจ 161 ตัวอย่าง ได้ตรวจพบการปนเปื้อนรังสีใน 4 ตัวอย่างสินค้าอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การเฝ้าระวังเรื่องกัมมันตภาพรังสีและสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น

- การตรวจวัดกัมมันตรังสีในไทยยังอยู่ในระดับปกติ นอกจากนี้ ปส. ยังจัดการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีที่ต่อมไทรอยส์ในตัวคน ที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ซึ่งยังไม่พบการปนเปื้อน

- ระหว่างวันที่ 16 – 27 มี.ค. 2554 มีการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น รวม 94 ตัวอย่าง ขณะนี้มีการตรวจวัดระดับสารกัมมันตรังสีแล้ว 74 ตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างทั้งหมดมีค่าปกติ ทั้งนี้ อาหารส่วนใหญ่ที่มีการสุ่มตรวจเป็นประเภทปลาสด

- ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2554 เป็นต้นไปจะปรับเปลี่ยนมาตรการเฝ้าระวังผู้โดยสารขาเข้าเป็นการแจกแบบสอบถามให้ผู้เดินทางกรอกข้อมูลแทน ทั้งนี้ หากผู้เดินทางต้องการขอรับคำปรึกษาด้านสุขภาพสามารถขอรับได้ที่ด่านของ สธ.

2.2 การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่คนไทยในญี่ปุ่น

- การดำเนินงานของทีมจิตแพทย์ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2554 เดินทางไปตรวจสุขภาพคนไทยที่ จ. ชิซึโอกะ พบว่ามี 17 รายที่อยู่ในสภาวะเครียดสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านและหญิงให้บริการที่มีความเครียดสูงอยู่แล้ว ทั้งนี้ คณะจิตแพทย์ประเมินว่า ควรจัดให้มีการตรวจและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตต่อเนื่องต่อไป ซึ่งประธาน สนับสนุน เนื่องจากการให้การรักษาและคำปรึกษาด้านจิตใจควรเป็นหมอที่สามารถสื่อสารภาษาเดียวกันและเข้าใจขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม

- จากผลการประเมินของทีมจิตแพทย์ที่อยู่ที่ญี่ปุ่นขณะนี้ สธ. จะจัดทีมจิตแพทย์ชุดใหม่ (ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน) เดินทางไปแทนทีมชุดเดิมที่จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 28 มี.ค. 2554 โดยจะเดินทางไปญี่ปุ่นในวันที่ 30 มี.ค. 2554 ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้ในการจัดทีมจิตแพทย์ไปญี่ปุ่นคือประมาณ 3 แสนบาทต่อ 1 ทีม (รวมค่ายาประมาณ 5 หมื่นบาทด้วย) และใน 1 เดือนจะส่งทีมจิตแพทย์ไปรวม 3 ทีม โดยจะแจ้งยืนยันค่าใช้จ่ายอีกครั้ง ในส่วนของค่ายาอาจพิจารณาใช้งบประมาณจากช่องทางปกติ แต่สำหรับค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง และค่าที่พักสามารถเบิกได้จากงบประมาณกลางในการให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่นฯ

- ทีมจิตแพทย์ชุดที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นในวันที่ 30 มี.ค. 2554 จะเป็นผู้ประเมินและแจ้งรายละเอียดจำนวนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการรับยาโพแทสเซียมไอโอไดด์เพื่อ สธ. จะดำเนินการจัดส่งให้ต่อไป

2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

- ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 28 มีนาคม 2554 ณ เวลา 18.00 น. อยู่ที่ 118,072,823.42 บาท

2.4 สถิติคนไทย

- จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

- จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

- จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

- จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 27 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 11,466 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 133 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น