วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(30 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(30 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันพุธที่ 30 มีนาคม 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 11,362 คน สูญหาย 16,290 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 29 มี.ค. 2554 เวลา 19.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.2.1 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้แถลงว่า บริษัทจะพยายามปฏิบัติการเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์อย่างเต็มความสามารถและจะพยายามกอบกู้ระบบหล่อเย็นให้ได้โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่าน้ำที่ขังในบริเวณอุโมงค์ซ่อมบำรุงมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีระดับสูงมากจึงทำให้พนักงานไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่

1.2.2 ผลการเฝ้าระวังทางรังสีตรวจพบสารไอโอดีน 131 ในทะเลบริเวณรอบโรงไฟฟ้าระดับสูงเป็น 3,355 เท่าของค่ามาตรฐานซึ่งเป็นค่าที่สูงสุดตั้งแต่เคยตรวจพบมา ซึ่งนายยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แถลงในช่วงบ่ายวันที่ 30 มี.ค. 2554 ว่า เป็นที่คาดการณ์ว่า การปนเปื้อนดังกล่าวจะเกิดจากสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาจากน้ำของโรงไฟฟ้าซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบอยู่ ทั้งนี้ การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัตว์ทะเล

1.2.3 จากการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีในอากาศตรวจพบว่า ค่ากัมมันตรังสีใน จ.ฟุคุชิมะ จ. อิบารากิ และ จ. อื่น ๆ มีค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง

1.2.4 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งทีมให้ความช่วยเหลือแก่ญี่ปุ่น 4 ทีม เพื่อพิจารณาเรื่อง (1) มาตรการในการป้องกันการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีในอากาศและในทะเล (2) การพิจารณาหามาตรการในการใช้เครื่องจักรกลในการปฏิบัติงานเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้พนักงานต้องได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสี (3) มาตรการในการจัดการกับแท่งเชื้อเพลิง (4) การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณรอบโรงไฟฟ้า

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 30 มี.ค. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 8 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 10 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ

1.3.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆจำนวน 21 ประเทศได้ออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น

2. การดำเนินการของไทย

2.1 สถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสี ที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ เวลา 18.30 น. อยู่ที่ระดับ 32.2 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ลดลงจากระดับ 43 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เมื่อเวลา 08.00 น. ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.027 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.215 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.108 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.)

2.2 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.2.1 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 30 มีนาคม 2554 ณ เวลา 09.00 น. อยู่ที่ประมาณ 121,274,034.81 บาท

2.2.2 วันที่ 29 มี.ค. 2554 กต. ได้ประสานงานจัดส่งอาหารแห้งจำนวน 286 กล่อง (จำนวน 2 ตัน) โดยเที่ยวบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

2.3 สถิติคนไทย

2.3.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ

คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.3.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

2.3.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.3.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 29 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 12,162 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 134 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น