วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (22 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (22 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 9,079 คน สูญหาย 12,782 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 22 มี.ค. 2554 เวลา 13.00 น. เวลาประเทศไทย) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 21 มี.ค. 2554 เวลา 19.00 น. จำนวน 274 คน และ 128 คน ตามลำดับ

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ที่ 1

สถานการณ์ด้านกัมมันตภาพรังสีโดยภาพรวมยังทรงตัว โดยภายหลังจากที่มีควันออกมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 และ 3 เมื่อวันวานนี้ (21 มี.ค. 2554) ตรวจพบว่าระดับกัมมันตภาพรังสีบริเวณหน้าโรงไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,932 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. (ณ เวลา 18.30 น. วันที่ 21 มี.ค. 2554) แต่ภายหลังจากนั้นตรวจพบว่าระดับรังสีลดลงตามลำดับเป็น 331.8 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. (ณ เวลาเที่ยงคืนวันที่ 22 มี.ค. 54)

ปฏิบัติการฉีดน้ำที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และ 4 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในวันที่ 22 มี.ค. 2554 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้แถลงเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2554 ว่าได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีบริเวณ 330 ม. ไปทางทิศใต้จากปากท่อระบายน้ำสู่ทะเลในระดับสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานแต่ได้ลดลงตามลำดับเมื่อเวลาผ่านไป

ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีของญี่ปุ่นชี้ว่า สารกัมมันตรังสีประเภทไอโอดีนไม่น่าห่วงกังวลมากนักเนื่องจากไอโอดีน 131 มีค่าครึ่งชีวิต (half life) สั้นเพียง 8 วัน ในขณะที่ซีเซียมมีค่าครึ่งชีวิตนานกว่ามาก ซึ่งจะส่งผลให้มีการสะสมของสารกัมมันตรังสีในอาหารทะเลเป็นเวลานาน


2.  การดำเนินการของไทย

2.1 การประชุมศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น

2.1.1 สถานการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

- บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวสามารถควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1, 2, 4, 5 และ 6 ได้แล้ว อย่างไรก็ดี เตาหมายเลข 3 ยังน่าเป็นห่วงอยู่เนื่องจากความดันภายในเพิ่มสูงขึ้น

- ในภาพรวมระดับรังสีไม่เปลี่ยนแปลงจากวันที่ 21 มี.ค. 2554 ยกเว้นกรุงโตเกียวที่สูงขึ้นจาก 0.045 เป็น 0.125 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เนื่องจากการพัดของลม

2.1.2 การเฝ้าระวังผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีต่อไทย

- ได้มีการสุ่มตรวจอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นที่ท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลมฉบัง และตั้งจุดตรวจให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตสำหรับผู้โดยสารขาเข้า/ขาออกจากญี่ปุ่น

- คณะแพทย์จาก สธ. จำนวน 3 คน ได้เดินทางกลับถึงไทยแล้วเมื่อเช้าวันนี้ และรายงานว่าสุขภาพของคนไทยในญี่ปุ่นไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นดูแลเป็นอย่างดี และคณะจิตแพทย์ (ยังอยู่ที่ญี่ปุ่น) รายงานว่า มีคนไทยขอรับคำปรึกษา 3 ราย โดยมีความกังวลเรื่องการปนเปื้อนทางด้านรังสี อาการซึมเศร้า และอาการขาดน้ำ ตามลำดับ

- สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น ปส. ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดการปนเปื้อนรังสี ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง 1 จุด ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และให้บริการตรวจระดับการปนเปื้อนภายในร่างกายตามความสมัครใจของผู้โดยสาร

2.1.3 การให้ความช่วยเหลือ เมื่อวาน (วันที่ 21 มี.ค. 2554) ได้มีการส่งของให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 3.6 ตัน และในชั้นนี้ กต. ได้รับของบริจาคมาเป็นจำนวนมาก จึงอาจต้องพิจารณาส่งของทางเรือเพื่อสามารถระบายของออกไปญี่ปุ่นได้อีกทางหนึ่ง

2.2 สถิติคนไทย

2.2.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็น คนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 21,276 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.2.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่ง สนง. ผู้ดูแลนักเรียนแจ้งว่าติดต่อได้แล้วทุกคน

2.2.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 21 มี.ค. 2554 จำนวน 2,600 คน

2.2.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 21 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 9,162 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 21 มี.ค. 2554 จำนวน 824 คน

2.3 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.3.1 วันที่ 22 มี.ค. 2554 รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และผู้แทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ มอบทรัพย์พระราชทานฯ 1 ล้านบาท โดยมี รมว.กต. เป็นผู้แทนรับพระราชทานฯ เพื่อให้ กต. นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในญี่ปุ่น

2.3.2 วันที่ 22 มี.ค. 2554 ได้มีผู้แทนจากภาคเอกชนเข้ามอบเงินและของบริจาคแก่ รมว.กต. เพื่อ
สบทบการให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่นของ กต. ดังนี้

2.3.2.1 นายชัยพร หวังนิตย์สุข กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Asian Alliance International นายพรศักดิ์ ลิ้มบุณยประเสริฐ ผช.กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทห้องเย็น Asian Seafood และ Ms. Keiko Yamada กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Food Classic ได้มอบเงินจำนวน 20 ล้านเยนและปลาทูน่ากระป๋อง 1 ตู้คอนเทนเนอร์

2.3.2.2 นายสินธุ พูนศิริวงศ์ นายกสมาพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเชีย (Asian Confederation of Billiard Sports: ACBS) และกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ มอบเงินบริจาคช่วยผู้ประสบภัยจำนวน 5,000 เหรียญสิงคโปร์ (117,300 บาท)

2.3.2.3 ผู้แทนบริษัท ซัมมิต โชว่า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มอบเงินบริจาคช่วยผู้ประสบภัยจำนวน 500,000 บาท

2.3.3 วันที่ 22 มี.ค. 2554 กต. ได้ประสานงานจัดส่งผ้าห่ม จำนวน 150 กล่อง (6,185 ผืน) ทางสายการบินไทย

2.3.4 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” อยู่ที่ 47,191,362.14 บาท สถานะ ณ วันที่ 22 มี.ค. 2554 เวลา 18.00 น.


3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 130 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 33 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น