วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (27 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (27 มีนาคม 2554)สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 10,668 คน สูญหาย 16,574คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 27 มี.ค. 2554 เวลา 16.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 ระบบสาธารณูปโภค

กระทรวงสาธารณสุขและแรงงานของญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2554 ว่าประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของญี่ปุ่นประมาณ 4.9 แสนครัวเรือนยังคงประสบปัญหาไม่มีน้ำประปาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นประชาชนใน จ.มิยากิ จำนวน 3.3 แสนครัวเรือน จ.ฟุคุชิมะ จำนวน 5 หมื่นครัวเรือน จ.อิวาเตะ จำนวน 5 หมื่นครัวเรือน จ.อิบารากิ จำนวน 5 หมื่นครัวเรือน จ.ชิบะจำนวน 1 หมื่นครัวเรือน ทำให้ทางการญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้รถบรรทุกน้ำดื่มแจกจ่ายแก่ประชาชน 347 คัน

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.3.1 วันที่ 27 มี.ค. 2554 ผลการตรวจวัดระดับกัมมันตภาพรังสีในจังหวัดฟุคุชิมะและจังหวัดใกล้เคียง พบว่าแม้จะยังมีค่าสูงกว่าค่าปกติแต่ก็มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ

1.3.2 ผลการตรวจวัดระดับสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในน้ำทะเลบริเวณใกล้กับปากท่อระบายน้ำของโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2554 พบว่ามีไอโอดีน-131 ปนเปื้อนอยู่มากกว่าค่ามาตรฐานปกติถึง 1850.5 เท่า ซีเซียม-134 196.7 เท่า ซึ่งบริษัทการไฟฟ้าโตเกียวกำลังตรวจสอบหาสาเหตุและเส้นทางการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีดังกล่าวอยู่

1.3.3 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวตรวจพบว่า น้ำที่ขังอยู่บริเวณเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่สูงกว่าน้ำในเตาถึง 10 ล้านเท่า ซึ่งสาเหตุเป็นที่คาดการณ์ว่าเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณ suppression pool ทำให้เกิดการรั่วไหลดังกล่าว

1.3.4 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้ฉีดน้ำเพื่อควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ได้เปลี่ยนจากน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืดแทน เนื่องจากเกรงว่าตะกอนเกลือจะไปขัดขวางระบบการไหลเวียนของเตา ทั้งนี้ เตาที่ 1, 2 และ 3 ได้เปลี่ยนมาเป็นการฉีดน้ำจืดเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2554 และมีแผนที่จะเปลี่ยนเป็นการฉีดน้ำจืดบริเวณส่วนที่เก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วของเตา 2, 3 และ 4 ในวันนี้ (27 มี.ค. 2554)

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 26 มี.ค. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 11 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ เมืองฮิโรชิมา และเมืองฟุคุโอกะ

1.3.2 ประเทศต่าง ๆ จำนวน 20 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น

1.3.3 หลายประเทศ อาทิ รัสเซีย ฮ่องกง สหรัฐฯ สิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ได้ประกาศมาตรการตรวจสอบ/ห้ามนำเข้าสินค้าบริโภคประเภทต่าง ๆ จากญี่ปุ่น อาทิ ออสเตรเลียประกาศกักสินค้าประเภทนม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักผลไม้สด สาหร่ายทะเล อาหารทะเลทั้งสดและแช่แข็ง ที่มีแหล่งผลิตในจังหวัดฟุคุชิมะ อิบารากิ โทจิกิ และกุนมะ สิงคโปร์ประกาศว่า จากการสุ่มตรวจ 161 ตัวอย่าง ได้ตรวจพบการปนเปื้อนรังสีใน 4 ตัวอย่างสินค้าอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น


2. การดำเนินการของไทย

2.1 การปรับยุทธศาสตร์การบินเส้นทางสุวรรณภูมิ – นาริตะ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 บ. การบินไทยฯ ได้จัดการประชุมภายในเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์การบินเส้นทางสุวรรณภูมิ – นาริตะ สรุปผลได้ดังนี้

- ยกเลิกเที่ยวบิน TG640/BKK-NRT ระหว่าง 27 มี.ค. – 25 เม.ย. 2554 และเที่ยวบิน TG641/NRT – BKK ระหว่าง 28 มี.ค. – 26 เม.ย. 2554

- เที่ยวบิน TG642/BKK-NRT วันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ อาทิตย์ ระหว่าง 27 มี.ค. – 25 เม.ย. 2554 และ TG643/NRT-BKK วันจันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ อาทิตย์ ระหว่าง 28 มี.ค. – 26 เม.ย. 2554 เปลี่ยนแบบเครื่องบินจาก 747 เป็น 777 – 200

- เที่ยวบิน TG642/BKK-NRT วันพุธ วันศุกร์ ระหว่าง 30 มี.ค. – 22 เม.ย. 2554 และ TG671 วันพฤหัสบดี วันเสาร์ ระหว่าง 31 มี.ค. – 23 เม.ย. 2554 เปลี่ยนแบบเครื่องบินจาก 747 เป็น 777 – 200 และปรับเปลี่ยนเส้นทาง
บิน TG671/NRT – BKK เป็น NRT – HKT – BKK เวลาบิน NRT: 12.00 BKK: 16.30

ทั้งนี้ สาเหตุที่ได้ตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินและปรับขนาดเที่ยวบินสุวรรณภูมิ – นาริตะ และนาริตะ – สุวรรณภูมิ ดังกล่าว เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการสายการบินมีน้อย (ณ วันที่ 25 มี.ค. 2554 จำนวนผู้ใช้บริการเที่ยวบินสุวรรณภูมิ – นาริตะ อยู่ที่ร้อยละ 34.14 จำนวนผู้ใช้บริการเที่ยวบินนาริตะ – สุวรรณภูมิ อยู่ที่ร้อยละ 52.71)

2.2 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

- ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 25 มีนาคม 2554 อยู่ที่ 109,094,096.42 บาท

2.3 สถิติคนไทย

- จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

- จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 567 คน

- จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

- จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 25 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 10,632 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 24 มี.ค. 2554 จำนวน 701 คน


3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 133 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น