วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (24 มีนาคม 2554


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (24 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 9,811 คน สูญหาย 17,541 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 24 มี.ค. 2554 เวลา 19.00 น. เวลาประเทศไทย) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 23 มี.ค. 2554 เวลา 19.00 น. จำนวน 324 คน และ 1,924 คน ตามลำดับ

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.2.1 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้เริ่มปฏิบัติการต่อเชื่อมไฟฟ้าจากภายนอกเข้าสู่เตาปฏิกรณ์อีกครั้ง ภายหลังจากต้องหยุดชะงักลงเมื่อวานนี้ (23 มี.ค. 2554) เนื่องจากพบว่ามีควันสีดำลอยออกมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 โดยวันนี้ (24 มี.ค. 2554) เจ้าหน้าที่ได้ต่อไฟเข้าสู่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 จนสามารถใช้ไฟฟ้าในห้องควบคุมหลัก (central control room) ได้แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเตาที่สองที่ประสบความสำเร็จในการต่อเชื่อมไฟจากภายนอก (เตาที่ 3 เป็นเตาแรกที่สามารถใช้ไฟฟ้าในห้องควบคุมหลักได้ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2554)

1.2.2 พนักงานของบริษัทการไฟฟ้าโตเกียวจำนวน 3 คน ได้รับบาดเจ็บจากกัมมันตภาพรังสี ระหว่างปฏิบัติการเชื่อมต่อสายเคเบิลเข้าสู่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 โดยปริมาณรังสีที่ได้รับอยู่ที่ระดับ 173,000 – 180,000 ไมโครซีเวิร์ท ทั้งนี้ เป็นที่น่าสงสัยว่า จำนวน 2 คน มีอาการของ “ผิวหนังไหม้จากรังสีเบต้า” ในขณะที่ปฏิบัติการฉีดน้ำเข้าสู่เตาหมายเลข 3 ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

1.2.3 ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม (NISA) แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการแจกจ่ายโปตัสเซียมไอโอไดด์ว่า เกณฑ์การแจกจ่ายอยู่ที่การได้รับรังสีมากกว่าระดับ 100,000 ไมโครซีเวิร์ท ซึ่งเป็นระดับที่กำหนดโดยการประชุมผู้เชี่ยวชาญของ IAEA ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 โดยเป็นระดับที่ใช้สำหรับทุกเพศทุกวัย กรณีของ จ.ฟุคุชิมะยังไม่ต้องมีผู้ต้องรับประทานยาดังกล่าวแต่อย่างใดเนื่องจากสามารถอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ยานี้จะได้ผลดีที่สุดในกรณีรับประทานก่อนได้รับรังสีหรือภายใน 8 ชม. หลังได้รับรังสี ซึ่งการแจกจ่ายจะดำเนินการโดยทางจังหวัดแจกให้แก่ทางการท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้แจกจ่ายแก่ประชาชนทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติต่อไป

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 24 มี.ค. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 10 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ เมืองฮิโรชิมา และเมืองฟุคุโอกะ
2. การดำเนินการของไทย

2.1 การประชุมศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น

2.1.1 สถานการณ์ด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

- ผู้แทน ปส. แจ้งว่า ระดับสารกัมมันตรังสีในภาพรวมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ 1 และ 3 ที่ยังน่าวิตก เนื่องจากอุณหภูมิและค่ารังสีที่ตัว reactor ยังคงสูงอยู่ ในส่วนของค่ารังสีตามเมืองต่าง ๆ นั้น จุดอันตรายอยู่ที่เมืองฟุคุชิมะ ตรงบริเวณรัศมี 30 กม. จากโรงไฟฟ้า วัดได้ประมาณ 100 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ในส่วนของกรุงโตเกียว อยู่ที่ระดับ 0.05 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ซึ่งยังไม่เกินค่ามาตรฐานและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

- ในชั้นนี้ การตรวจฝุ่นกัมมันตรังสีที่ตกสู่พื้นดิน (fall-out) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ ทั้งในลม น้ำทะเล อาหาร และน้ำประปา โดยอาหารนั้น มีระดับการปนเปื้อนสูง โดยเฉพาะในผักโขมที่ จ.อิบารากิ และในส่วนของน้ำประปานั้น ในชั้นนี้ในทุกเมืองยังไม่มีค่าที่เกินระดับมาตรฐาน และที่ตรวจพบส่วนใหญ่เป็นสารสังกะสีในไอโอดีน มี half life เพียง 8 วัน จึงทำให้ค่าในช่วงแรกจะสูง แต่ 1 อาทิตย์ถัดมาจะลดลง หากไม่มีการปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมาอีก

2.1.2 การเฝ้าระวังผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีต่อไทย

- ผู้แทน สธ. แจ้งว่า ผลการเฝ้าระวังการปนเปื้อนในอาหารโดยการสุ่มตรวจ 32 รายการที่ผ่านมาไม่พบว่ามีค่ากัมมันตภาพรังสีที่ผิดปกติ ล่าสุด (วันที่ 22 มี.ค. 2554) ได้มีการสุ่มตรวจสินค้าจากญี่ปุ่นที่ท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะอาหารทะเล เช่น ปลา ไม่พบว่ามีค่ากัมมันตภาพรังสีที่ผิดปกติแต่อย่างใด

- เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2554 ผู้แทน สอท.ญป./ปทท. ได้เข้าพบผู้แทนองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อชี้แจงเรื่องสารปนเปื้อนในอาหารว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการภายใต้ Food Sanitation Act อย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของอาหารที่พบสารปนเปื้อน รัฐบาลได้ดำเนินการอายัดและไม่ให้มีการส่งออกแล้ว

- เนื่องจากปัญหาและความกังวลได้เริ่มคลี่คลายแล้ว การให้บริการผู้โดยสารขาเข้า/ออกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงได้ปรับรูปแบบจากที่ใช้บุคลากรอยู่ประจำเป็นการสอบถามทางเอกสารแทน และได้จัดทำเอกสารแจกจ่ายที่มีรายละเอียด call center และ รพ. ต่าง ๆ ที่พร้อมให้คำปรึกษาด้วยแล้ว

- คณะจิตแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ญี่ปุ่นได้แจ้งความจำนงขอรับยาเพิ่มเติม (ยาหยอดตา ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดท้อง ฯลฯ) ซึ่งผู้แทน สธ. ได้นำมามอบให้ กต. เพื่อส่งต่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวต่อไป ในส่วนของยาเม็ดโปรแตสเซียมไอโอไดด์ที่ได้รับการร้องขอ จะรีบประสานงานอย่างเร่งด่วนต่อไป

2.1.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

- ผู้แทนกรม ศก. ได้ทำรายการสิ่งของที่คิดว่าฝ่ายญี่ปุ่นอาจต้องการและตรวจสอบราคา อย่างไรก็ดี จะสามารถจัดซื้อเมื่อได้รับการประสานยืนยันเรื่องประเภทสิ่งของและจำนวนจาก สอท. ณ กรุงโตเกียว

- ผู้แทนกรม อช.ตอ. แจ้งว่า สอท. ณ กรุงโตเกียว ขอให้ชะลอการส่งผ้าห่มและขอให้ส่งน้ำดื่มแทน เนื่องจากมีการตรวจพบสารปนเปื้อนในประปา ซึ่งตั้งแต่พรุ่งนี้ (25 มี.ค. 2554) กต. จะหยุดส่งผ้าห่มแต่จะส่งน้ำ จำนวน 5 ตันแทน ทั้งนี้ สอท. ณ กรุงโตเกียว จะประสานงานกับจังหวัดต่าง ๆ ให้มารับของบริจาคไปแจกจ่ายโดยตรงต่อไป

- ผู้แทนกรมการกงสุล แจ้งว่า วันพรุ่งนี้ (25 มี.ค. 2554) จะมีการประชุมเพื่อเตรียมการจัดส่งสิ่งของทางเรือ ทราบว่าตอนนี้กระทรวงฯ สามารถจัดส่งสิ่งของได้จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ (200 ตัน) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยอาจมีค่าขนส่งราคาประมาณ 80,000 บาท

- ที่ประชุมเห็นว่า อาจพิจารณาประสานสภากาชาดไทยเพื่อให้ประสานสภากาชาดของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการรับมอบของบริจาคจากไทย

2.2 สถิติคนไทย

2.2.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็น คนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.2.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่ง สนง. ผู้ดูแลนักเรียนแจ้งว่าติดต่อได้แล้วทุกคน

2.2.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.2.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 24 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 9,931 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 23 มี.ค. 2554 จำนวน 381 คน

2.3 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.3.1 วันที่ 23 มี.ค. 2554 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระกรุณาโปรดให้นายอิสระ สมชัย รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้แทนพระองค์มอบถุงยังชีพพระราชทาน ที่จัดหาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในวงเงิน 10,000,000 บาท

2.3.2 วันที่ 23 มี.ค. 2554 กต. ประสานงานจัดส่งถุงยังชีพ จำนวน 640 ถุง ทางสายการบินไทย ซึ่งเป็นสิ่งของที่ได้รับบริจาคจากมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2554

2.3.3 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” อยู่ที่ 65,019,438.88 บาท สถานะ ณ วันที่ 24 มี.ค. 2554 เวลา 18.00 น.

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 130 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 33 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น