วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประวัติสมาคมนักเรียนไทยไคโร ในพระบรมราชูปถัมภ์


ประวัติสมาคมนักเรียนไทยไคโร ในพระบรมราชูปถัมภ์


สมาคมนักเรียนไทยในกรุงโคโรจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2498 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่นักเรียนไทยจากทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่มาศึกษาต่อที่ประเทศอียิปต์ สมาคมฯเสมือนบ้านกลางของพวกเรานักเรียนไทยทุกคน เป็นสถานที่ๆ คอยให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนนักศึกษาทุกคน รวมไปถึงการเป็นตัวแทนและหน้าตาให้กับประเทศชาติตามโอกาสต่างๆ ที่ฝ่ายอียิปต์ขอมา ส่วนกิจกรรมต่างๆ ที่สมาคมฯ จัดขึ้นนั้น ก็เพื่อให้สมาชิกสามารถดำรงชีพอย่างสะดวกและถูกต้องตามหลักกฎหมายและวัฒนธรรม มีความรู้เพิ่มเติมด้านการศึกษา สังคม ศาสนา และแนวคิดที่เหมาะสม สามารถดำรงความเป็นคนไทยและเป็นสมาชิกของสมาคมฯ อย่างภาคภูมิใจ ได้รับประโยชน์จากการเป็นคนไทยและเป็นสมาชิกของสมาคมฯ รวมทั้งส่งเสริมด้านสุขภาพพลานามัย การออกกำลังกายและการเล่นกีฬา เพื่อเป็นพลเมือง/ผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมต่อไป

ปัจจุบันสมาคมฯ มีบทบาทมากขึ้นเพราะจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จากสมาชิก 14คน ในระยะเริ่มแรกของการจัดตั้ง จนมาถึงปัจจุบัน มีสมาชิกประมาณ 1,700 คน (นักศึกษาไทยมุสลิมในไคโรมีประมาณ 2,600 คน) แต่จะมีสักกี่คนที่รู้และเข้าใจความเป็นมาของสมาคมฯ และหลายเรื่องราวที่กำลังประสบอยู่ ดังนั้นวันนี้ ผมจึงขอเสนอประวัติของสมาคมฯ ที่มีรุ่นพี่เคยเขียนเก็บเอาไว้และวันนี้ผมจะพาย้อนยุคไปนะครับ ให้พวกเราได้รู้ว่าสมาคมฯ ซึ่งได้ก่อตั้งมาครบ 52 ปี ในปี 2550 นี้มี
ความเป็นมาอย่างไรและมีความสำคัญแค่ไหน

แต่เดิมนั้นมีนักเรียนจากประเทศไทยและมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มาศึกษาเล่าเรียนศาสนา ปรัชญา กฎหมาย ฯลฯ ที่กรุงไคโรจำนวนน้อยนับคนได้ ครั้นนานปีเข้า จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น ก็รวมตัวกันตั้งสมาคมขึ้นมีชื่อว่า อัลคอยรียะห์ นักเรียนไทยก็ได้เป็นสมาชิกและกรรมการของสมาคมนี้ด้วย ต่อมานักศึกษาของแต่ละชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้น ก็ได้จัดตั้งสมาคมของตนเองขึ้นเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในต่างแดน

สำหรับชาติไทยเราก็ได้มีการประชุมนักเรียนไทยซึ่งมีอยู่ 14 คนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2498แล้วได้จัดตั้งสมาคมขึ้นใช้ชื่อว่า “สมาคมนักเรียนไทยไคโร” หรือภาษาอาหรับว่า ยัมอียะ อัตตอลาบะ อัตไตแลนดียีน บิล กอฮีเราะห์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างนักศึกษาไทย เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกระชับไมตรีกับชาวอียิปต์ และนักเรียนต่างชาติในกรุงไคโร รวมทั้งเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทยและเพื่อติดต่อกับองค์กรทั่วไป

คณะกรรมการชุดแรกหรือยุคบุกเบิกประกอบไปด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
1. นาย ยูซุฟ อิดริส นายกสมาคม ฯ
2. นาย อะหมัด สมาดี อุปนายกฯ
3. นาย อะหมัด อุสมาน เลขานุการ
4. นายอับดุลเลาะห์ การีมี รองเลขานุการ
5. นาย สนั่น เพชรทองคำ เหรัญญิก
6. นาย อะหมัด ฮุซเซน กรรมการ

ต่อมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498 คณะกรรมการฯ ได้แจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบเรื่องการจัดตั้งและจุดมุ่งหมายของสมาคมฯ (หลวงดิษฐการภักดีเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศ อียิปต์ในเวลานั้น) หลังการจัดตั้ง สมาคมฯ มีการติดต่อกับสมาคมนักเรียนไทย ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สมาคมนักเรียนอินโดนีเซีย และสันนิบาตอิสลามกรุงไคโร ต่อมาได้มีการเปลี่ยนตัวนายกสมาคมฯ เป็น นาย อะหมัด ฮุซเซน (ผู้แทนนักเรียนสันนิบาตอิสลาม) กิจกรรมในช่วงนี้ของสมาคมฯ มีหลากหลาย เช่น การส่งนายอะหมัด ฮุซเซน เข้าประชุมสันนิบาตอิสลามกรุงการาจี ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับเพื่อนบ้าน เพื่อจัดตั้งสหพันธ์สมาคมนักศึกษาแห่งเอเชียอาคเนย์ ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมตามคำเชิญของเลขาธิการอิสลามิกคองเกรสไคโรเพื่อคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยไปประชุมยุวมุสลิมนานาชาติที่กรุงการาจี เป็นต้น การจัดกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ได้รับการดูแลจากสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างใกล้ชิด

ปี พ.ศ. 2500 มีการติดต่อกับบุคคลและสถาบันต่างๆในประเทศไทยมากขึ้น มีการขอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยและมุสลิมไทย เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมสันนิบาตอิสลามที่เมืองอเล็กซานเดรีย มีการติดต่อขอหลักสูตรการเรียนจากอิสลามวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อนำมาเทียบการศึกษาซึ่งได้รับการตอบสนองที่ดีจากอิสลามวิทยาลัยในเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ สมาคมฯยังจัดการพบปะสังสรรค์และการแข่งขันกีฬากับนักเรียนของประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้เชิญข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมด้วย

ปี พ.ศ. 2504 ดาโต๊ะยุติธรรมจังหวัดยะลาเดินทางเยือนไคโร สมาคมฯ ได้ช่วยเหลือในการติดต่อกับมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรและกระทรวงสาธารณสมบัติเกี่ยวกับเรื่องครูและตำราเรียนซึ่งได้รับหนังสือ 300 เล่ม เป็นอภินันทนาการแก่นักเรียนไทย ปีนี้ มีนักศึกษาไทยรวม 45 คน ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร 34 คน มหาวิทยาลัย ไคโร 3 คน และในโรงเรียนรัฐบาลอีก 8 คน ในโอกาสที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร เดินทางไปเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาคมฯ ได้แจ้งให้สำนักจุฬาราชมนตรีทราบเพื่อเชิญอธิการบดีเยี่ยมพบปะกับมุสลิมในประเทศไทยด้วย

ในปี 2502-2506 นักศึกษาเริ่มมีมากขึ้นและได้มีการปรับปรุงกรรมการหลายตำแหน่งเพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น มีสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 37 คน สมาคมฯ ได้จัดหาเครื่องพิมพ์ดีดมาใช้งานแทนการเขียนด้วยมือ ในช่วงนั้นสมาคมฯ ยังไม่มีที่ทำงานเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยที่พักของนักเรียนไทยเป็นที่ทำงาน การทำกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นไปตามแต่ฐานะจะอำนวย บางครั้งก็ใช้ทำเนียบเอกอัครราชทูตเป็นที่ชุมนุม ในปี 2503 สมาคมฯ มีดำริจะหาที่ทำงานให้เป็นสัดส่วน จึงได้ขอเงินสนับสนุนจากสมาคมต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งได้รับจากอัลอิสลาห์สมาคมเพียงแห่งเดียวเป็นจำนวน 70 เหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีหนังสือขอความสนับสนุนเรื่องนี้ไปยังเอกอัครราชทูตหลวงดิษฐ์การภักดีด้วย ในปี 2504 ทำหนังสือถึงจอมพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมา นายกรัฐมนตรีก็ได้มีหนังสือสอบถามรายละเอียดจากสถานเอกอัครราชทูตฯ

ปี พ.ศ. 2506 สมาคมฯ ได้มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูต ม.ร.ว.ทวยเทพ เทวกุล ให้ช่วยขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อเป็นค่าเช่าสถานที่ทำงาน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยรายงานไปยังกระทรวงต่างประเทศซึ่งก็ได้เสนอไปยังเลขาธิการนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้งพร้อมทั้งแจ้งความสนับสนุน (ตามหนังสือของสถานเอกอัครราชทูตฯ ถึงสมาคมฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2507)

ปี พ.ศ. 2507 สมาคมฯ มีสมาชิกเพิ่มเป็น 100 คน และได้มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูตภูษณอาภรณ์ ไกรฤกษ์ ร้องขอความช่วยเหลือเรื่องที่ทำงานอีก ซึ่งก็ได้รับความกรุณาเอาใจใส่และให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ในโอกาสที่นายไพโรจน์ ชัยนาม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มาเยือนกรุงไคโรและได้ประสบกับข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง จึงได้นำความกราบเรียนนายกรัฐมนตรีทราบ และท่านนายกฯได้มีบัญชาให้สำนักงานงบประมาณพิจารณาจัดสรรเงินทุนพิเศษอุดหนุนสมาคมฯ ซึ่งสำนักงานกพ.ได้รับเรื่องนี้ไปพิจารณา

ปี พ.ศ.2508 ในเดือนพฤษภาคม 2508 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งให้สมาคมฯ ทราบว่ารัฐบาลได้ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เช่าสถานที่เพิ่มเติมเพื่อให้สมาคมฯ ขอยืมใช้เป็นที่ทำงานและให้หาสถานที่ที่เหมาะสมในอัตราค่าเช่าเดือนละ 15-20 ปอนด์อียิปต์ สำหรับใช้เป็นที่ทำการขอสมาคมฯและรายงานให้กระทรวงต่างประเทศพิจารณาต่อไป ที่ทำการของสมาคมฯ แห่งแรกตั้งอยู่ที่ “อาตาบาห์” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรมากนัก

ในปีเดียวกันนี้ รัฐบาล (จอมพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้อนุมัติให้สถานเอกอัคร ราชทูตฯ พิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะสมในการเช่าเป็นที่ทำงานของสมาคมฯ และเมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2508 (ครบรอบปีที่ 10 ของการก่อตั้งสมาคมฯ) สมาคมฯ ได้จัดพิธีเปิดป้ายที่ทำการของสมาคมฯ (ตั้งอยู่เลขที่ 3 Hareth, el-Souphir, Opera Square เขตดาวทาวน์ กรุงไคโร) โดยเอกอัครราชทูตภูษณอาภรณ์ ไกรฤกษ์เป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างสมเกียรติ และในโอกาสที่สมาคมฯ ได้ก่อตั้งมาครบ 10 ปี สมาคมฯ ได้รับเงินช่วยเหลือจากสำนักงาน กพ. ปีละ 4,800 บาท สำหรับเป็นค่าเช่าเดือนละ 40 ปอนด์อียิปต์ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นผู้ทำสัญญาเช่าสถานที่ทำงานให้กับสมาคมฯ

วันที่ 15 มีนาคม 2548 คณะกรรมการสมาคมฯ ได้มีมติให้ย้ายที่ทำการใหม่ เนื่องจากเจ้าของบ้านได้ขอขึ้นค่าเช่า โดยได้ย้ายไปอยู่ที่ 6 Jamaluddin, Ash-shai yal St., Nasr City, กรุงไคโร ซึ่งเป็นแหล่งที่นักศึกษาส่วนใหญ่พักอยู่ ทำให้นักศึกษาเดินทางไปสมาคมฯ สะดวกกว่าเดิม ค่าเช่าก็ไม่แพงเพราะไม่ใช่ย่านธุรกิจ แต่ที่ทำการสมาคมฯ แห่งนี้เล็กและคับแคบ เป็นเพียงห้องเล็กๆ มีห้องประชุมรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 40 คน ห้องรับแขก 1 ห้อง ห้องสมุด 1 ห้อง ห้องทำงานและห้องน้ำเล็กๆ1 ห้อง

ในเดือนเมษายน 2549 เมื่อเอกอัครราชทูตนภดล เทพพิทักษ์ เดินทางมารับหน้าที่ ก็ได้พบปะหารือกับนักศึกษาที่ที่ทำการสมาคมฯ แห่งนี้ และได้ทราบถึงความต้องการอย่างแรงกล้าของนักศึกษาที่จะขอให้สมาคมฯ เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ อันเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย รวมทั้งเป็นการแสดงออกถึงความเป็นคนไทยอันแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้ว ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้พยายามยกเรื่องนี้ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตฯ หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและการปฏิวัติในประเทศไทยหลายครั้ง ดังนั้น เอกอัครราชทูตนภดลฯ จึงได้รับเรื่องนี้มาดำเนินการเพื่อขอให้สมาคมฯอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกครั้ง อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ และกรรมการสมาคมฯมีความเห็นพ้องกันว่าควรที่จะย้ายสถานที่ทำการใหม่อีกครั้ง เนื่องจากที่ตั้งเดิมมีสภาพที่ไม่เหมาะสมในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเงินค่าเช่าเป็นจำนวน30,000 ปอนด์อียิปต์ แต่ในอนาคต สมาคมฯ จะต้องบริหารค่าใช้จ่ายและหารายได้เป็นของตนเองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ ดังนั้น ในเดือนสิงหาคม 2549 สมาคมฯ จึงได้ย้ายที่ทำการไปที่ใหม่ คือ เลขที่ 6 Alfareek Muhammed Ibrahim St., Nasr City กรุงไคโร ซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่พักอาศัยของนักศึกษาไทยเดินทางสัญจรไปมาสะดวก มีรถประจำทางผ่านหลายสาย ทำให้สมาคมฯกลายเป็นจุดศูนย์รวมของนักศึกษาอย่างแท้จริงมากกว่าเดิม

วันที่ 18 พฤษภาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อย่างเป็นทางการ ชื่อของสมาคมฯ จึงเปลี่ยนเป็น สมาคมนักเรียนไทยในกรุงไคโร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเพื่อให้สมฐานะที่มีเกียรติยิ่งนี้ประกอบกับจำนวนสมาชิกและคณะผู้มาเยือนสมาคมฯ มีมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การจัดกิจกรรมต่างๆสำหรับนักเรียนไทยเป็นไปอย่างเรียบร้อย เอกอัครราชทูตนภดลฯ และกรรมการสมาคมฯ จึงเห็นพ้องกันว่าสมควรย้ายที่ทำการสมาคมฯ และให้ร่วมกันพิจารณาหาสถานที่แห่งใหม่ โดยเร็ว ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทำเรื่องของบประมาณจากกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเป็นค่าเช่าสถานที่แห่งใหม่ด้วยแล้ว

การจัดตั้งประธานสภาชมรมและประธานภาค จากการที่นักศึกษาไทยที่มาเรียนที่ประเทศอียิปต์มาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยและได้รวมตัวกันในนามชมรมต่างๆ และแต่ละชมรมก็มีการเลือกผู้แทนขึ้นเป็นประธานของตนเองด้วย ดังนั้น เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จึงได้มีการจัดตั้งประธานภาคขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนชาวไทยมุสลิมจากภาคนั้นๆ และเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างสมาคมฯ กับนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีตำu3649 .หน่งประธานสภาชมรมเพื่อกำกับดูแลการทำงานและการบริหารงานของสมาคมฯ ด้วย ดังนั้น การทำงานของสมาคมฯ จึงประกอบด้วยประธานสภาชมรม ประธานภาค และประธานชมรมโดยมีรายละเอียดแต่ละตำแหน่ง ดังนี้

1. ประธานสภาชมรม มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 1 ปี ประธานชมรมต่างๆ จะลงคะแนนเสียงคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานภาคต่างๆ ในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าทำงานในสมาคมฯ และเป็นผู้ที่มีสิทธิที่จะสอบถามการดำเนินงานต่างๆ ของคณะกรรมการสมาคมฯหากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ประธานสภาคนปัจจุบัน คือ นายสมศักดิ์ พิกุลกาญจน์

2. ประธานภาค มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 1 ปี ประธานชมรมต่างๆ ของแต่ละภาค (กลางเหนือ และใต้) จะเป็นผู้เลือกประธานภาคของตน ทำหน้าที่ดูแลและให้คำปรึกษากับประธานชมรมต่างๆ รวมทั้งนักศึกษาของภาคนั้นๆ และเป็นผู้ประกาศให้ประธานชมรมในภาคของตนเตรียมคัดเลือกผู้ที่จะเข้าทำงานในสมาคมฯ ทั้งหมด และเป็นผู้ประกาศให้ประธานสภาชมรมเป็นผู้ตัดสินการส่งตัวนักศึกษาจากภาคนั้นๆ เข้าทำงานสมาคมฯ ในแต่ละปี

ปัจจุบันมีประธานภาค 2 คน คือนายนรา เหมือนทิพย์ เป็นประธานภาคกลางและภาคเหนือและนายนูร์ ฮาซัน เป็นประธานภาคใต้

รายชื่อคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน (ปี 2550-2551) มีดังนี้
1. นายไอยุบ บินมะหมุด นายกสมาคมฯ
2. นายมูฮำมหมัดอัรกอม มาปะ อุปนายกสมาคมฯ
3. นายนรา เหมือนทิพย์ เลขานุการ
4. นายสมศักดิ์ พิกุลกาญจน์ เลขานุการ
5. นายวิโรจน์ มีสุวรรณ เลขานุการ
6. นางสาวนิพากร โต๊ะอิ้ เลขานุการ (ประสานงานกับนักศึกษาหญิง)
7. นายธนา มูฮำหมัดซัลลีม กิจการนักศึกษา
8. นายฟารีส สือรี ประสานงาน
9. นายมะรอเซ๊ะ สาแม็ง ทัศนศึกษา
10. นายมะยัมรี ลาแม เหรัญญิก
11. นายปรีชา วังส์ตัง ปฏิคม
12. นายศักราช มิตรน้อย ทะเบียน
13.นายศักดิ์ดา ยอมิน สาราณียกร
14.นายซาบูเลาะ มามะ บรรณารักษ์
15.นายมูฮำหมัดดายีย์ ประเสริฐดำ ประชาสัมพันธ์และวัฒนธรรม
16. นายสมสกุล ทรัพย์สมบุญ กีฬา

ปัจจุบันถือได้ว่าสมาคมฯ เป็นศูนย์กลางและตัวแทนที่แท้จริงของนักศึกษาและคนไทยในอียิปต์ โดยไม่เลือกสถานที่ศึกษา ไม่เลือกภูมิภาคหรือจังหวัดที่เป็นถิ่นฐานบ้านเกิด ไม่เลือกเพศ วัย ศาสนา วัฒนธรรม สาขาที่ศึกษา ฯลฯ บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของสมาคมฯ ส่งผลต่อนักศึกษาไทยมุสลิมอย่างมากมาย สมาคมฯ เป็นแกนกลางที่ช่วยเชื่อมโยงชมรม และนักศึกษากลุ่มต่างๆ กับสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนนักศึกษาไทยในอียิปต์ในโอกาสต่างๆ ด้วย เช่น ให้การต้อนรับคณะผู้มาเยือน ส่งผู้แทนไปแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยในโอกาสและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เท่าที่โอกาส/กำลังทรัพย์จะอำนวย เช่น การจัดกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหา กษัตริย์ กิจกรรมการส่งเสริมความสามัคคีต่างๆ อาทิ จัดการจัดทัศนศึกษา แข่งขันกีฬา การรับน้องใหม่ รวมทั้งบริการห้องสมุดแก่สมาชิก เป็นต้น

แม้ว่าสมาคมฯ จะมีสถานที่ทำการไม่ใหญ่โตนักเมื่อเทียบกับสมาคมนักเรียนของประเทศอาเซียนอื่นๆ เช่น มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย แต่ถนนทุกสายก็มุ่งมาสู่สมาคมฯ มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและกิจกรรมของสมาคมฯ ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้การสนับสนุนก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

สมาคมฯ เป็นองค์กรนักศึกษาไทยที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของชุมชนคนไทยในต่างประเทศทั่วโลก มีบทบาทและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนไทยในต่างประเทศมาต่อเนื่องยาวนานเป็นที่ประจักษ์ กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตฯได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนให้สมาคมฯ มีบทบาทที่แข็งขันขึ้นในการทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนประเทศไทยและในการช่วยเหลือราชการในในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนไทยมุสลิมและสังคมไทยในอียิปต์ซึ่งปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ

ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น