วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

สถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น


สถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น


สถานะ ณ เวลา 21.00 น. วันที่ 12 มีนาคม 2554

1. ข้อมูลสวัสดิภาพของคนไทยจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว


- ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นระบุว่า มีคนไทยในญี่ปุ่น 42,686 คน

- ในชั้นนี้ ไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (โดยใน 11 จังหวัด ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและซึนามิ ได้แก่ ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ กุมมะ ชิบะ โตเกียว และคาโกชิมะ มีคนไทยอยู่ 21,276 คน)

- สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ตรวจสอบความปลอดภัยคนไทยแล้ว 10,965 คน

1.1 แรงงานไทย

- จากการประสานเครือข่ายคนไทยในจังหวัดต่าง ๆ ได้รับข้อมูล ดังนี้

o จังหวัดนากาโนะ ห่างจากโตเกียวไป 130 กม. ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเล็กน้อย มีคนไทย 2,410 คน ทุกคนปลอดภัยดี และอยู่ในที่พักอาศัย

o จังหวัดไซตามะ ห่างจากโตเกียวไป 25 กม. ทางตอนเหนือ ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเล็กน้อยมีคนไทย 2,711 คน ทุกคนปลอดภัยดี

o จังหวัดชิบะ ห่างจากโตเกียวไป 72 กม. ได้รับผลกระทบจากคลื่นซึนามิมีคนไทย 5,492 คน ทุกคนปลอดภัยดี

o จังหวัดนีงาตะ ไม่มีรายงานความเสียหาย และทราบว่านักเรียน 40 คนอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว และไม่ได้รับรายงานคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

o จังหวัดโทจิหงิ บ้านเรือนเกิดความเสียหาย ร้าว ทรุดตัว และมีประกาศเตือนการเกิดสึนามิ ดังนั้น กลุ่มนักเรียนไทยได้อพยพไปยังที่สูงที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ไม่มีรายงานคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

o จังหวัดอิบารากิ ไฟดับและไม่มีน้ำใช้ โทรศัพท์ขัดข้อง ในชั้นนี้ ไม่มีรายงานคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

o จังหวัดฟุคุชิมะ ซึ่งมีการประกาศให้ประชาชนอพยพออกจากรัศมี 3 กม. รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่มีรายงานคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

o สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังพยายามประสานกับเครือข่ายคนไทยในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

- แรงงานไทย 4,000 คน (ผู้ฝึกงาน) ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของกระทรวงแรงงานปลอดภัย


1.2 นักเรียนไทย

- ข้อมูลจากสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยระบุว่า มีนักเรียนไทยในญี่ปุ่น ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของ กพ. 2,429 คน เป็นนักเรียนทุนในญี่ปุ่น 312 คนและมี ข้าราชการลาอบรม 36 คน ซึ่งในจำนวนนี้ ได้กลับไทยก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากปิดเทอม ประมาณ 60 คน ในชั้นนี้ไม่มีรายงานนักเรียนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

o มี นร. เรียนที่จังหวัดมิยาหงิ 4 คน: ได้กลับไทยไปแล้ว 1 คน อยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว 1 คน และยังอยู่ในระหว่างการติดต่ออีก 2 คน

o มี นร. เรียนที่จังหวัดฟุคุชิมะ 5 คน: ได้กลับไทยไปแล้ว 3 คน และอยู่ในระหว่างการติดต่ออีก 2 คน

o ติดต่อนักเรียนไทยในเซนไดได้แล้ว 6 คน

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายชื่อนักเรียนนักศึกษาไทยที่อยู่ในญี่ปุ่น ได้ที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน โทรศัพท์ +81 3 5424 0654 หรือตรวจสอบได้ที่เวปบอร์ดของสมาคมนักเรียนไทยในญี่ปุ่นที่ http://tsaj.org/smf/

1.3 ช่องทางติดต่อสถานเอกอัครราชทูต

- สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เปิดศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน 24 ชม. ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลขโทรศัพท์ +81 3 3222 4101 ต่อ 200 และ 275 โทรสาร +81 3 3222 4122 e-mail: rtetokyo@hotmail.com twitter: @rtetokyo


2. การดำเนินการของกระทรวงฯ

- นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีสารแสดงความเสียใจไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว

- รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท และจะ พิจารณาการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 14มีนาคม ศกนี้ต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้เปิดศูนย์รับความช่วยเหลือด้วย ผู้ที่ประสงค์จะบริจาคสิ่งของ (โดยเฉพาะผ้าห่ม อาหารแห้ง และเสื้อฝน) สามารถบริจาคได้ที่กระทรวงการต่างประเทศ หรือกรมการกงสุล สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคเงิน นั้น กระทรวงฯ ได้เปิดบัญชีออมทรัพย์ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาสามยอด ชื่อบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่น” หมายเลข 002-0-271-46-8

- ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ตรวจสอบสวัสดิภาพของคนไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว แรงงาน และนักศึกษา

- กระทรวงการต่างประเทศได้ตั้งศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อติดตามพัฒนาการของเหตุการณ์ ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ 0 2643 5521 หรือ 0 2643 5000 ต่อ 11173 โทรสาร 0 2643 5522

- สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการแจ้งหรือสอบถามข้อมูลคนไทยในญี่ปุ่น สามารถติดต่อได้ที่กองคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2575 1046-49 โทรสาร 0 2575 1052

- กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดรับบริจาคอาหารแห้ง และผ้าห่ม เพื่อส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น โดยสามารถนำสิ่งของมาส่งได้ที่

o กระทรวงการต่างประเทศ 443 ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

o กรมการกงสุล 123 ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

- เมื่อ 12 มีนาคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยพิบัติระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก และ Rescue Dogs Association ภายใต้มูลนิธิชุณหะวัณ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องในการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

o ส่งชุดค้นหาประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และสุนัขจากกรมการสัตว์ทหารบก และมูลนิธิชุณหะวัณ รวม 22 คน และสุนัข 6 ตัว ซึ่งคาดว่าจะเดินทางในวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม

o เตรียมการส่งเครื่องอุปโภค-บริโภค เช่น ผ้าห่ม อาหารแห้ง เต้นท์ และเสื้อฝน เป็นต้น ในโอกาสแรกโดยเที่ยวบินพิเศษของกองทัพอากาศ

o เตรียมความพร้อมทีมแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขและสภากาชาดไทย เพื่อให้การดูแลคนไทยทีประสบภัยพิบัติ

o เตรียมความพร้อมทีมกู้ภัย ทีมพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และทีมฟื้นฟู ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงทีมค้นหาและกู้ภัยของกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

- ทั้งนี้ เรื่องการเตรียมส่งเครื่องอุปโภค บริโภค ทีมแพทย์ และหน่วยกู้ภัยนั้น กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานกับฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งสามารถหาข้อสรุปได้ระหว่างการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่ 13 มีนาคม



3. สถานการณ์ล่าสุด (รายงานจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และสำนักข่าวต่าง ๆ ของญี่ปุ่น)


3.1 รายงานยอดผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ

- ในวันที่ 12 มีนาคม 2554 ยังคงมีการเตือนภัยซึนามิในเขตชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนใหญ่ของญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่อง

- ยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าน่ามากกว่า 1,000 คน โดยสื่อญี่ปุ่นรายงานข่าวยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน และยอดผู้สูญหายเพิ่มเป็นประมาณ 725 คน ต้องอยู่ในสถานที่หลบภัยมากกว่า 210,000 คน

o จังหวัดฟุคุชิมะ มียอดผู้เสียชีวิต 117 คน

o จังหวัดมิยาหงิ มียอดผู้เสียชีวิตที่ตรวจสอบแล้ว 79 คน มีศพลอยน้ำประมาณ 200-300 ศพ หายสาบสูญประมาณ 500 คน

o จังหวัดอิวาเตะ มียอดผู้เสียชีวิต 202 คน

o อำเภอทาคาดะ จังหวัดอิวาเตะ อาคารบ้านเรือนเสียหายประมาณร้อยละ 80

o กรุงโตเกียว มียอดผู้เสียชีวิต 4 คน

o จังหวัดชิบะ มียอดผู้เสียชีวิต 4 คน

o จังหวัดอิบารากิ มียอดผู้เสียชีวิต 3 คน

o จังหวัดโทชิหงิ มียอดผู้เสียชีวิต 1 คน

o จังหวัดคานากาวะ มียอดผู้เสียชีวิต 1 คน

o จังหวัดยามากะตะ มียอดผู้เสียชีวิต 1 คน

o จังหวัดกุมมะ มียอดผู้เสียชีวิต 1 คน

- ในกรุงโตเกียวยังคงมีแผ่นดินไหวประมาณระดับ 3 (เครื่องเรือนสั่นไหวเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวอาคาร) อยู่เป็นระยะๆ

- ในวันนี้ยังคงมีรายงานแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง สูงสุดที่ระดับ 6 (เครื่องเรือนล้มระเนระนาด อาคารที่ไม่แข็งแรงอาจได้รับความเสียหาย) ที่จังหวัดนีงาตะ ระดับ 4 (ของที่วางสูงอาจตกจากที่วาง) ที่จังหวัดนางาโนะ และระดับ 3 ที่จังหวัดอิวาเตะ โทชิหงิ และฟุคุชิมะ และคาดว่าจะยังคงมีแผ่นดินไหว aftershock ต่อไปอีกระยะหนึ่ง


3.2 การคมนาคม

- จากรายงานของกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่น ขณะนี้ ท่าอากาศยานภายในญี่ปุ่นที่ปิดให้บริการเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวมี 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานเซนได จังหวัดมิยากิ (ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากคลื่นซึนามิ) ท่าอากาศยานอิบารากิ จังหวัดอิบารากิ และท่าอากาศยานฮานามากิ จังหวัดอิวาเตะ ในวันที่ 12 มีนาคม 2554 มีการยกเลิกเที่ยวบินแล้วอย่างน้อย 215 เที่ยวบิน สำหรับท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ และฮาเนดะในกรุงโตเกียว รวมทั้งรถไฟเส้นทางที่จะไปท่าอากาศยานนาริตะและฮาเนดะเปิดให้บริการแล้ว ทั้งนี้ ควรตรวจสอบตารางการบินกับสายการบินเป็นระยะ ๆ

- ตารางเที่ยวบินของการบินไทยจากท่าอากาศยานนาริตะในวันที่ 12 มีนาคม 2554

o TG 6779 ออกจากโตเกียวเวลา 10.30 น. ไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

o TG 641 ออกจากโตเกียวเวลา 10.45 น. ไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

o TG 671 ออกจากโตเกียวเวลา 13.30 น. ไปท่าอากาศยานภูเก็ต

(เวลาญี่ปุ่นเร็วกว่าไทย 2 ชม. ใช้เวลาบินประมาณ 5.30-6 ชม.)

- ตารางเที่ยวบินของการบินไทยจากท่าอากาศยานฮาเนดะในวันที่ 12 มีนาคม 2554

o TG 660 ออกจากโตเกียวเวลา 00.20 น. ไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

- ในกรุงโตเกียว รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดินบางสายเปิดให้บริการแล้ว โดยรถไฟฟ้าวงเวียนสายหลักของกรุงโตเกียว (ยามาโนเตะ) ให้บริการประมาณร้อยละ 30-50 ของระดับปกติ

- รถไฟชินกันเซ็นสายตะวันออกเฉียงเหนือไปยังจังหวัดยามางาตะ และอะคิตะ ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ภายในวันนี้ (12 มีนาคม 2554) เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบความปลอดภัยของระบบราง สำหรับชินกันเซ็นสายโจเอ๊ทซึ ไปจังหวัดนางาโนะ เปิดให้บริการแล้ว วันนี้


3.3 สถานการณ์ความมั่นคงอื่น ๆ

- รัฐบาลญี่ปุ่นได้สั่งให้ประชาชนในพื้นที่รัศมี 20 กม. รอบ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ซึ่งได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายพิเศษเพื่อรับมือภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ธาตุกัมมันตรังสีจะรั่วไหล ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการปล่อยก๊าซที่มีธาตุกัมมันตรังสีเจือปนเพื่อลดความดันภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ออกมาบางส่วน ซึ่งบริษัทการไฟฟ้าโตเกียวซึ่งดูแลโรงไฟฟ้าดังกล่าวยืนยันว่า ก๊าซที่ปล่อยออกมามีปริมาณน้อยมากและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่หลบภัยอยู่โดยรอบ ในช่วงเช้าของวันที่ 12 มีนาคม 2554 นายนาโอโตะ คัน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ตรวจเยี่ยมสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวทางเฮลิคอปเตอร์ด้วยแล้ว ล่าสุด มีรายงานว่า เวลาประมาณ 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเสียงระเบิดขึ้นที่โรงไฟฟ้า และมีพนักงานของบริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้รับบาดเจ็บหลายคน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปิดโรงงานนิวเคลียร์ดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงของการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี

- สำนักข่าว Kyodo แจ้งว่าทางการญี่ปุ่นประกาศการอพยพผู้คนในรัศมี 20 กิโลเมตรออกนอกพื้นที่โรงงานนิวเคลียร์ รวมถึงห้ามไม่ให้ประชาชนเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือ ดื่มน้ำจากน้ำประปา หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสอากาศภายนอก ปกปิดใบหน้าด้วยผ้าปิดจมูก หรือผ้าขนหนูเปียก

- หนังสือพิมพ์ Mainichi Daily News รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมส่งกองกำลังป้องกันตนเอง (Self-Defense Force -SDF) จำนวน 8,000 นาย เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบภัย พร้อมกับเครื่องบินจำนวน 30 ลำและเรือบรรเทาสาธารณภัย 40 ลำ สำหรับการดำเนินการบรรเทาภัยพิบัติอย่างเต็มรูปแบบ

- จากการรายงานของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น มีรัฐบาลจาก 38 ประเทศ ได้ส่งสารแสดงความเสียใจแก่รัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งนี้ ออสเตรเลีย ไต้หวัน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน และรัสเซีย ได้เสนอที่จะส่งทีมช่วยเหลือและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการประสานงานกับทางกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น


3.4 ความช่วยเหลือจากภาคเอกชนไทย

- สำหรับคนไทยที่เดินทางไปญี่ปุ่นและใช้โทรศัพท์มือถือของ DTAC, AIS และ True Move ซึ่งเปิดบริการ roaming สามารถโทรศัพท์กลับมาประเทศไทยได้ในอัตราครึ่งราคา และเสียค่าบริการในอัตราเทียบเท่ากับการโทรศัพท์ภายในประเทศเมื่อรับสายจากประเทศไทย (DTAC และ AIS จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2554 True Move จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2554)


4. ประมวลข้อมูลความเป็นอยู่นักเรียนไทยจากที่ได้รับแจ้งจากอินเทอร์เน็ต

โตเกียว

- ระบบโทรคมนาคมได้รับผลกระทบอย่างหนัก โทรศัพท์มือถือติดต่อแทบไม่ได้เลย รัฐบาลญี่ปุ่นขอให้หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์เพื่อสำรองระบบไว้สำหรับการใช้งานในกรณีที่มีความเร่งด่วน

- ถนนปิดการจราจรบางสาย

- รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินบางส่วนกลับมาให้บริการแล้ว

- ไฟฟ้า น้ำประปา ยังคงมีใช้ ระบบแก๊สใช้งานไม่ได้

- แถบชานเมืองบางแห่ง ร้านค้ายังเปิดให้บริการ รถบัสระยะสั้นเริ่มวิ่งตามรอบปกติ

- รัฐบาลญี่ปุ่นขอให้ประชาชนระวัง aftershock และซึนามิอย่างต่อเนื่อง

- นักเรียนมหาวิทยาลัย Hitotsubashi (30 กม. ทางตะวันตกจากใจกลางกรุงโตเกียว) ทุกคนปลอดภัย บางส่วนรวมตัวกันที่ campus ของมหาวิทยาลัย ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ เข้าใจว่าส่วนใหญ่ยังคงติดค้างอยู่ภายนอกที่พัก และไม่สามารถติดต่อได้ทางมือถือ

นิกโก้

- นักเรียนไทยแจ้งว่า ปลอดภัย

โอซาก้า – โกเบ

- ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ไม่มีรายงานคนได้รับบาดเจ็บ



***********************

ศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน

กระทรวงการต่างประเทศ

12 มีนาคม 2554

1 ความคิดเห็น: