วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

การให้ความช่วยเหลือคนไทยในลิเบิย

นายธานี ทองภักดี
อธิบดีกรมสารนิเทศ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ



การให้ความช่วยเหลือคนไทยในลิเบิย


ภายหลังจากการที่บริษัทจ้างงานและรัฐบาลไทยได้ช่วยเหลืออพยพคนไทยออกจากลิเบียแล้วจำนวนประมาณกว่า 11,000 คน และต่อมา ได้มีการปฏิบัติการทางทหารต่อลิเบียตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 เวลา 12.00 น. นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายสุพจน์ บุญเจริญ ผู้อำนวยการกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ยังพำนักอยู่ในลิเบีย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ในขณะนี้ มีคนไทยเหลืออยู่ในลิเบียจำนวน 86 คน โดยส่วนหนึ่งประมาณ 40 คนเป็นแรงงานที่ยังทำงานอยู่และไม่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งเป็นคนที่ตั้งรกรากและมีครอบครัวอยู่ในลิเบีย โดยอาศัยในกรุงตริโปลีจำนวน 35 คน และในเมืองเบนกาซีจำนวนประมาณ 14-15 คน และที่เหลืออาศัยอยู่กระจัดกระจายในลิเบีย

2. โดยที่สถานการณ์ภายในลิเบียมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ติดต่อประสานงานกับคนไทยทั้ง 86 คนเพื่อตรวจสอบสถานภาพ และสอบถามความประสงค์ในการเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งนี้ หากมีคนไทยรายใดประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี จะช่วยประสานงานและอำนวยความสะดวกเพื่อให้สามารถเดินทางกลับโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากออกมาทางบก ในขณะนี้ ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ให้ความช่วยเหลือที่เมืองซาลูน บริเวณชายแดนลิเบีย-อียิปต์ และบริเวณชายแดนลิเบีย-ตูนีเซีย

3. จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีคนไทยในลิเบียรายใดแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับประเทศไทย แต่มีเพียงญาติของแรงงานในประเทศไทยที่ได้ติดต่อศูนย์ของกระทรวงแรงงานแจ้งความประสงค์อยากให้แรงงานที่เมืองเบนกาซีเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี อยู่ระหว่างการสอบถามความประสงค์ของแรงงานทั้ง 14 รายดังกล่าว

4. สำหรับพื้นที่ในลิเบียที่ถูกโจมตีนั้น ส่วนใหญ่เป็นเป้าหมายทางทหารที่ตั้งอยู่ห่างจากแหล่งชุมชน และมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงเป้าหมายที่เป็นพลเรือน

5. ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับท่าทีไทยต่อปฏิบัติการทางทหารตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น ไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ มีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดและหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

6. สำหรับสถานการณ์ในลิเบีย ไทยหวังว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะคลี่คลายและไม่ส่งผลกระทบต่อพลเรือน และไทยอยากเห็นทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและความปลอดภัยของพลเรือนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะชาวต่างชาติในลิเบีย

ที่มา: ข่าวสารนิเทศ วันที่ 21 มีนาคม 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น